การเสพติด
ภาคผนวก: การเลือกผู้อุปถัมภ์


“ภาคผนวก: การเลือกผู้อุปถัมภ์,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)

‌“การเลือกผู้อุปถัมภ์,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด

การเลือกผู้อุปถัมภ์

การทํางานกับผู้อุปถัมภ์จะช่วยให้การบำบัดของท่านดีขึ้น ผู้อุปถัมภ์สามารถช่วยเหลือท่านในการเติบโตและความตั้งใจจะเอาชนะความท้าทาย การพึ่งพา หรือพฤติกรรมเสพติดที่ท่านกําลังประสบ ‌ในเส้นทางการบำบัดของท่าน ท่านจะไม่โดดเดี่ยว ‌ผู้อุปถัมภ์คือคนที่ “เต็มใจ … ปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 18:9) โปรดพิจารณาทํางานกับ‌ผู้อุปถัมภ์ให้เร็วที่สุด

‌ผู้อุปถัมภ์คืออะไร?

ผู้อุปถัมภ์คือผู้ที่พบการบำบัดจากการปฏิบัติ 12 ขั้นตอน พวกเขาอาจเข้าใจความท้าทายบางอย่างเกี่ยวกับการบําบัดแม้ท่านอาจไม่รู้ ผู้อุปถัมภ์ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของท่าน แต่บทบาทของผู้อุปถัมภ์คือช่วยให้ท่านปฏิบัติตามขั้นตอนการบำบัด

การหาผู้อุปถัมภ์

ในโปรแกรมบำบัดการเสพติดของศาสนจักร ไม่มีการกำหนดผู้อุปถัมภ์ไว้ให้ท่าน ท่านสามารถหาการอุปถัมภ์ในรูปแบบที่เหมาะสมกับประสบการณ์ ความต้องการ และบุคลิกภาพของท่านเอง การเป็นผู้อุปถัมภ์เป็นการตัดสินใจร่วมกันโดยท่าน ผู้อุปถัมภ์ และพระเจ้า

การหาคนมาเป็นผู้อุปถัมภ์ของท่านอาจดูลำบากใจ แต่คนอื่นสามารถช่วยท่านได้ วิธีดีที่สุดที่จะหาผู้อุปถัมภ์คือเข้าร่วมการประชุมบําบัด คนที่เผชิญกับความท้าทายคล้ายๆ กันมักจะมีความสามารถในการเข้าใจความยากลำบากของท่านได้มากกว่า แนวคิดต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเรื่องผู้อุปถัมภ์ที่เหมาะสม:

  1. แสวงหาการนําทางทางวิญญาณจากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการสวดอ้อนวอนและการอดอาหารเพื่อขอการชี้นำว่าใครจะเป็นผู้อุปถัมภ์ท่าน

  2. ท่านอาจเลือกคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการบำบัดและปฏิบัติ 12 ขั้นตอนแล้ว

  3. ฟังคนอื่นแบ่งปันประสบการณ์ในการบำบัดและพิจารณาว่าท่านอาจเชื่อมโยงกับใครได้

  4. ผู้นำกลุ่มและวิทยากรกระบวนการอาจแนะนําให้ท่านรู้จักผู้มีสิทธิ์ที่เหมาะสมและเต็มใจ

  5. สอบถามคนที่ท่านรู้สึกว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม

  6. ท่านควรเลือกผู้อุปถัมภ์ที่เป็นเพศเดียวกับท่าน (เว้นแต่ผู้อุปถัมภ์จะเป็นญาติ)

  7. เมื่อท่านเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลง ท่านอาจเปราะบางทางร่างกาย อารมณ์ และวิญญาณ จงระวังอย่าพัฒนาความสัมพันธ์แบบพึ่งพิงกับผู้อุปถัมภ์ของท่าน

  8. ท่านสามารถขอให้ใครบางคนเป็นผู้อุปถัมภ์ท่านชั่วคราวได้เสมอ ท่านสามารถเปลี่ยนผู้อุปถัมภ์ได้ทุกเมื่อ

การเป็นผู้อุปถัมภ์ที่มีประสิทธิภาพ

การเป็นผู้อุปถัมภ์เป็นการรับใช้ที่ยอดเยี่ยมเมื่อท่านแบ่งปันประสบการณ์ ศรัทธา และความหวังที่ท่านพบจากการปฏิบัติ 12 ขั้นตอนของการบําบัดและเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ ผู้อุปถัมภ์ตั้งคำถามชวนคิด ชี้แนะแหล่งข้อมูล แบ่งปันความช่วยเหลือที่ปฏิบัติได้จริงเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ และกระตุ้นคนที่พวกเขาอุปถัมภ์ให้เข้าร่วมการประชุมบำบัด ผู้อุปถัมภ์เข้าใจว่าคนอื่นอาจมีบทบาทในการบําบัดของบุคคลนั้นและจะไม่ขุ่นเคืองหากผู้ที่ตนอุปถัมภ์ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือเลือกเปลี่ยนผู้อุปถัมภ์ ต่อไปนี้เป็นหลักธรรมบางประการสำหรับการเป็นผู้อุปถัมภ์ที่มีประสิทธิภาพ:

  1. ให้พระผู้เป็นเจ้ามาก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด ระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลาและช่วยให้คนที่ท่านอุปถัมภ์พึ่งพาพระองค์ ระวังอย่าปล่อยให้คนที่ท่านอุปถัมภ์พึ่งพาท่านมากเกินไป ความรับผิดชอบของท่านในฐานะผู้อุปถัมภ์คือกระตุ้นให้ผู้อื่นหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อขอการนําทางและพลังอำนาจ บทบาทของท่านคือแบ่งปันประสบการณ์แห่งศรัทธาและความหวังของท่านเพื่อช่วยให้คนที่ท่านสนับสนุนรู้สึกว่าได้รับความรักของพระผู้เป็นเจ้า

  2. เป็นผู้มีส่วนร่วมที่แข็งขันในการบําบัด ผู้อุปถัมภ์ต้องบำบัดนานพอสมควรก่อนอุปถัมภ์ใครก็ตาม (โดยทั่วไปอย่างน้อย 12 เดือนขึ้นไป) และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการนำหลักธรรมแห่งการบำบัดไปใช้และศึกษา ท่านอาจรู้สึกกดดันเพิ่มขึ้นในการบำบัดของท่านเองเมื่อท่านเริ่มอุปถัมภ์ผู้อื่น ระวังอย่าให้การเป็นผู้อุปถัมภ์บุคคลอื่นส่งผลเสียต่อการบำบัดของท่านเอง ผู้อุปถัมภ์จะต้องฝึกดูแลตนเองและขอความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนเมื่อต้องการ

  3. จงอ่อนน้อมถ่อมตน ในฐานะผู้อุปถัมภ์ บทบาทของท่านคือการใช้ข้อดีของท่านเพื่อให้การสนับสนุนและคำแนะนำ

  4. เคารพสิทธิ์เสรีของผู้อื่นและใช้ความอดทน การอุปถัมภ์ที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้น “โดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง; โดยความกรุณา,และความรู้บริสุทธิ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–42) หลีกเลี่ยงการพยายามแก้ไขผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ช่วยผู้อื่นพิจารณาหลักธรรมและหลักปฏิบัติ แล้วสนับสนุนพวกเขาขณะตัดสินใจด้วยตนเอง เคารพสิทธิ์เสรีของพวกเขาและมีความหวังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขาหันไปหาพระองค์ บุคคลที่ท่านช่วยเหลืออาจยังไม่พร้อมเดินหน้าต่อไป เขาอาจทําพฤติกรรมที่ไม่ดีซ้ำอีกหรือเชื่องช้าที่จะนําหลักธรรมและหลักปฏิบัติของการเปลี่ยนแปลงที่จริงใจมาใช้ ผู้อุปถัมภ์ต้องอดทนกับผู้อื่นขณะที่พวกเขาเริ่มบําบัด

  5. รับใช้โดยไม่เห็นแก่ตัว การรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัวต้องให้โดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน ผู้อุปถัมภ์ควรมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและเต็มใจอุทิศเวลาและความพยายามให้กับผู้ที่ตนรับผิดชอบ หลีกเลี่ยงการแสวงหาคําสรรเสริญ ความชื่นชม ความจงรักภักดี หรือรางวัลทางอารมณ์อื่นๆ จากคนที่ท่านอุปถัมภ์

  6. เคารพคํามั่นสัญญาส่วนตัวของท่าน การเป็นผู้อุปถัมภ์ไม่ได้หมายความว่าคนที่ท่านอุปถัมภ์ควรใช้เวลาและแหล่งช่วยของท่านได้ไม่จํากัด ท่านสามารถเป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสําคัญของขอบเขตที่ดีได้โดยให้เกียรติคํามั่นสัญญาอื่นๆ ของท่าน รวมถึงคํามั่นสัญญาเหล่านั้นต่อครอบครัวท่าน ศาสนจักร อาชีพของท่าน และเวลาส่วนตัวของท่าน พึงระลึกถึงคำแนะนำที่ของกษัตริย์เบ็นจามินให้ใน โมไซยาห์ 4:27: “และจงดูว่าทำสิ่งทั้งหมดนี้ด้วยปัญญาและระเบียบ; เพราะไม่จำเป็นที่คนจะวิ่งไปเร็วเกินกำลังของตน”

  7. จงสวดอ้อนวอน ทุกครั้งที่ท่านเลือกอุปถัมภ์ใครบางคน จงแสวงหาการนําทางจากพระเจ้าเพื่อรู้ว่าหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติใดจะเป็นประโยชน์ต่อความต้องการในปัจจุบันของบุคคลนั้นมากที่สุด จงสวดอ้อนวอนขณะพิจารณาวิธีรับใช้ พยายามให้พระวิญญาณทรงนําเสมอ

  8. เป็นพยานถึงความจริง ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้แบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าท่านสามารถเชื่อมโยงได้ ท่านอาจแสดงประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและเดชานุภาพการเยียวยาของพระองค์ ความจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์เป็นกุญแจสําคัญ (ดู โมโรไน 7:29) การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระเมตตาและพระคุณของพระองค์อาจเป็นการรับใช้ที่สําคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ท่านสามารถมอบให้ได้

  9. รักษาความลับ ในฐานะผู้อุปถัมภ์ ท่านมีความรับผิดชอบในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น การไม่เปิดเผยและการรักษาความลับเป็นหลักธรรมสําคัญในการเสริมสร้างความสามารถของท่านในการอุปถัมภ์และช่วยเหลือผู้อื่น