การเสพติด
ขั้นตอนที่ 6: ยินยอมพร้อมใจเต็มที่ให้พระผู้เป็นเจ้า‌ทรงขจัดความอ่อนแอทั้งหมดของอุปนิสัยของเราออกไป


“ขั้นตอนที่ 6: ยินยอมพร้อมใจเต็มที่ให้พระผู้เป็นเจ้า‌ทรงขจัดความอ่อนแอทั้งหมดของอุปนิสัยของเราออกไป” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)

“ขั้นตอนที่ 6” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด

ผู้ชายยิ้มอยู่ในกลุ่มคน

ขั้นตอนที่ 6:ยินยอมพร้อมใจเต็มที่ให้พระผู้เป็นเจ้า‌ทรงขจัดความอ่อนแอทั้งหมดของอุปนิสัยของเราออกไป

4:4

หลักธรรมสําคัญ: การเปลี่ยนแปลงในใจ

หลายคนพบความสําเร็จและการเยียวยาผ่านขั้นตอนที่ 5 เรารู้สึกอัศจรรย์ใจและสํานึกคุณต่อการเปลี่ยนแปลงในตัวเรา พวกเราส่วนใหญ่พบว่าอาการเสพติดของเรามีแรงดึงดูดน้อยลงทั้งความรุนแรงและความถี่ บางคนเริ่มเห็นพรของการบําบัดแล้ว เราทุกคนรู้สึกใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นและมีสันติสุขมากขึ้นในชีวิต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ บางคนสงสัยว่านี่คือทั้งหมดที่เราต้องทำหรือไม่ แต่เรายังต้องการการเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อมุ่งหน้าและบำบัดต่อไป

เราสังเกตว่าการงดเว้นทําให้เห็นความอ่อนแอของอุปนิสัยเราชัดเจนมากขึ้น เพราะเราไม่ใช้การเสพติดเป็นทางออกอีกต่อไป เราจึงเห็นปัญหาของเราชัดเจนขึ้น เราพยายามควบคุมความคิดและความรู้สึกด้านลบ แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงกลับมาหลอกหลอนเราและคุกคามชีวิตใหม่ในการบำบัดของเรา เราถูกล่อลวงให้ใช้พฤติกรรมเสพติดและความเอาแต่ใจของตัวเราเองเพื่อพยายามควบคุมความอ่อนแอของอุปนิสัยในตัวเราและรับมือกับความเครียดเช่นเดียวกับที่เราเคยทำมาในอดีต

ผู้ที่เข้าใจผลทางวิญญาณของการบำบัดกระตุ้นให้เราตระหนักว่าแม้การเปลี่ยนแปลงภายนอกชีวิตเราจะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่พระเยซูคริสต์ทรงมีพรให้เรามากยิ่งกว่า คนอื่นๆ ช่วยให้เราเข้าใจว่า ถ้าเราไม่เพียงต้องการหลีกเลี่ยงการเสพติด แต่ต้องการที่จะตัดขาดความอยากที่จะกลับไปเสพอีก เราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในใจ ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงในใจนี้คือจุดประสงค์ของขั้นตอนที่ 6

ท่านอาจสงสัยว่าท่านจะทําให้การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นบรรลุผลสําเร็จได้อย่างไร เช่นเดียวกับขั้นตอนก่อนหน้านี้ ขั้นตอนที่ 6 อาจดูเหมือนเป็นความท้าทายที่น่าหนักใจ อย่าท้อกับความรู้สึกเหล่านี้ แม้อาจจะเจ็บปวด แต่ท่านต้องยอมรับ เช่นเดียวกับที่เราทํา ว่าการสำนึกผิด และการสารภาพความอ่อนแอของอุปนิสัยตัวเราเองในขั้นตอนที่ 4 และ 5 นั้น ไม่ได้หมายความว่าเราพร้อมจะยอมแพ้ เราอาจยังยึดติดกับวิธีเดิมๆ ขณะพยายามรับมือกับความเครียด

สิ่งที่นอบน้อมที่สุดที่จะยอมรับคือ เราอาจจะพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า ขั้นตอนที่ 6 ทำให้เรายอมวางความจองหองและความเอาแต่ใจของตนเองที่ยังคงเหลืออยู่ให้แด่พระเจ้า เช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 1 และ 2 ขั้นตอนที่ 6 ต้องการให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างต่อเนื่อง และยอมรับว่าเราต้องการเดชานุภาพการไถ่และการเปลี่ยนแปลงของพระคริสต์ ท้ายที่สุดแล้ว การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์เปิดทางให้เราผ่านพ้นแต่ละขั้นตอนจนมาถึงจุดนี้ ขั้นตอนที่ 6 ก็ไม่มีข้อยกเว้น

เมื่อเรามาหาพระเยซูคริสต์และขอความช่วยเหลือในขั้นตอนนี้ เราจะไม่ผิดหวัง หากเราวางใจพระองค์และมีความอดทนต่อกระบวนการนี้ เราจะเห็นความจองหองของเราค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์จะทรงอดทนรอคอยให้เราเหนื่อยหน่ายจากความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองโดยลำพัง โดยปราศจากความช่วยเหลือ ทันทีที่เราหันไปหาพระองค์ เราจะเห็นความรักและเดชานุภาพของพระองค์อีกครั้ง แทนที่จะยึดติดกับพฤติกรรมแบบเก่า เราสามารถเปิดความคิดขณะที่พระวิญญาณทรงแนะนําอย่างอ่อนโยนถึงวิธีดําเนินชีวิตที่ดีขึ้น ความกลัวการเปลี่ยนแปลงของเราจะลดน้อยลง เมื่อเราตระหนักว่าพระเยซูคริสต์ทรงเข้าใจความเจ็บปวดและความยากลำบากที่จำเป็นต้องมี สิ่งนี้เกิดขึ้นอีกครั้งตามเวลาและแตกต่างกันไปในแต่ละคน นี่เป็นการฝึกมอบเจตนารมณ์ของเราแด่พระเจ้าอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

เมื่อกระบวนการของการมาหาพระคริสต์เกิดขึ้นในใจเรา ความเชื่อผิดๆ ที่เคยเป็นเชื้อไฟให้ความคิดและความรู้สึกด้านลบของเราจะถูกแทนที่ด้วยความจริง เราจะยิ่งเข้มแข็งขึ้น เมื่อเราหมั่นศึกษาและประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านประจักษ์พยานของผู้อื่น พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเรียนรู้ว่าเราไม่ได้อยู่นอกเหนือเกินกว่าพลังอํานาจของพระองค์ที่จะเยียวยาได้ ความต้องการโทษคนอื่นหรือหาเหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการที่ท้าทายนี้ จะถูกแทนที่ด้วยความปรารถนาที่จะรับผิดชอบต่อพระองค์ และยอมตามพระประสงค์ของพระองค์ พระเจ้าทรงประกาศผ่านศาสดาพยากรณ์เอเสเคียลว่า “ใจใหม่ เราจะให้พวกเจ้า และเราจะบรรณาการใหม่ไว้ภาย ในของเจ้าทั้งหลาย และเราจะเอาใจหินออกจากเนื้อของเจ้า” (เอเสเคียล 36:26)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการอวยพรเราและเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของเรา เมื่อเราปล่อยให้พระองค์ทําเช่นนั้น เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์มากขึ้น เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาบนสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เราพักจากความโดดเดี่ยวและความกลัวที่เป็นสาเหตุของการเสพติดของเรา พระองค์ทรงต้องการอวยพรเราด้วยพระคุณและเดชานุภาพของพระองค์ที่มีให้เราผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

เมื่อเรายอมต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณและแสวงหาความรอดจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่เพียงแต่เรื่องการเสพติดเท่านั้น แต่จากความอ่อนแอของอุปนิสัยด้วย พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงลักษณะและอุปนิสัยของเราถ้าเราเต็มใจ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยเตรียมเราให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติวิสัยของเรา ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันอธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้ดังนี้:

“พระเจ้ามักจะทำงานจากภายในสู่ภายนอก โลกทำงานจากภายนอกสู่ภายใน โลกจะนำผู้คนออกจากสลัม พระคริสต์ทรงนำสลัมออกจากผู้คน จากนั้นพวกเขาจะพาตนเองออกจากสลัม โลกจะหล่อหลอม [มนุษย์] โดยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของพวกเขา พระคริสต์ทรงเปลี่ยน [มนุษย์] จากนั้นมนุษย์จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของตน โลกจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ แต่พระคริสต์ทรงเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ …

“ขอให้เราเชื่อมั่นว่าพระเยซูคือพระคริสต์ เลือกติดตามพระองค์ เปลี่ยนแปลงเพื่อพระองค์ ให้พระองค์ทรงนำ ถูกเผาไหม้ในพระองค์ และบังเกิดใหม่” (“Born of God,” Ensign, Nov. 1985, 6–7)

ขั้นตอนการปฏิบัติ

นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่าการ “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา

เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงผ่านเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อเราเรียนรู้ขั้นตอนที่ 6 ครั้งแรก พวกเราบางคนพูดว่า “แน่นอน ฉันพร้อมให้พระผู้เป็นเจ้าทรงขจัดความอ่อนแอของฉัน!” เรารู้สึกพ่ายแพ้ต่อความพยายามหลายครั้งที่ล้มเหลวเพื่อเอาชนะความอ่อนแอด้วยตัวเราเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไตร่ตรองและได้รับข้อมูลจากผู้อุปถัมภ์ เราตระหนักว่าเราลังเลที่จะละทิ้งความอ่อนแอของเรามากกว่าที่เราคิด

พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และคนอื่นๆ ช่วยให้เราเห็นว่าเรามักใช้ความอ่อนแอของเราเป็นกลไกป้องกันหรือเป็นวิธีเพิ่มอัตตาของเรา ตัวอย่างเช่น บางคนหันไปใช้ความขุ่นเคืองและความรู้สึกเหนือกว่าเมื่อเรารู้สึกว่าถูกคุกคาม เราชอบรู้สึกว่าตนเองถูก แม้ว่าเราจะผิดบ่อยครั้ง

บางคนดูถูกตนเองและลดทอนธรรมชาติแห่งสวรรค์ของเราเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นทําร้ายเรา เราคิดว่าถ้าเราชิงว่ากล่าวตนเองก่อน คนอื่นที่พูดจาไม่ดีกับเรา ก็แค่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิดไว้แล้วเท่านั้น

แต่การตอบสนองต่อความท้าทายที่ไม่ส่งผลดีเหล่านี้มีที่มาจากความอ่อนแอของอุปนิสัยเรา ไม่ใช่ข้อดี เรากลัวว่าถ้าเราปล่อยวางความอ่อนแอของเรา เราจะอ่อนแอมากขึ้น แต่เมื่อเราปล่อยให้พระผู้เป็นเจ้าทรงขจัดความอ่อนแอของเราและทํางานกับผู้อุปถัมภ์ เราค้นพบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงห่วงใยเรามากเพียงใด

เราเชื้อเชิญให้ท่านเข้าใจคุณค่าแท้จริงของท่านและวางใจในความห่วงใยของพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะปกป้องตนเอง

ค้นหาการเชื่อมโยงกับผู้อื่นในการบําบัดและที่โบสถ์

เมื่อเราสบายใจมากขึ้นกับผู้อื่นในการบําบัด เราเริ่มเห็นว่าพวกเขาเหมือนเรามากกว่าที่เราคิด เมื่อเราเล่าเรื่องราวของเราและตั้งใจฟังผู้อื่นเล่าเรื่องของเขา ความเมตตาของเราก็เพิ่มพูนขึ้น เราเริ่มมองเห็นสภาพการณ์ร่วมกันของบุตรธิดาของพระเจ้าทุกคน และรู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้นเมื่ออยู่ท่ามกลางพวกเขา ครอบครัว เพื่อน และผู้นําศาสนจักรเชื้อเชิญให้เรากลับมาที่โบสถ์หรือเพื่อเสริมสร้างคํามั่นสัญญาปัจจุบันของเรา แทนที่จะขัดขืนหรือแก้ตัว เราตัดสินใจไปโบสถ์ เราค่อยๆ พบว่าหลายสิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับการประชุมบําบัดเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการที่โบสถ์ด้วย

เมื่อเรารับบัพติศมา มีเพียงไม่กี่คนในพวกเราที่เข้าใจกระบวนการตลอดชีวิตของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์อธิบายอย่างแจ้งชัดว่า “ในคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริง ความปรารถนาในสิ่งที่ขัดแย้งกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สูญสิ้นไป และด้วยเหตุนี้จึงถูกแทนที่ด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า พร้อมด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่คอยนำทางให้รักษาพระบัญญัติของพระองค์” (ใน Conference Report, Guatemala Area Conference 1977, 8)

เมื่อเราประสบกับปาฏิหาริย์ของการบําบัดอย่างต่อเนื่อง—เริ่มต้นจากพฤติกรรมเสพติด ไปสู่ความอ่อนแอของอุปนิสัย—เราจะประสบกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริง เราจะเข้าใจและ​สำนึก‍ตัว​ได้เช่นเดียวกับบุตรที่หายไป “​สำนึก‍ตัว​” (ลูกา 15:17)

ศึกษาและทำความเข้าใจ

พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานเขียนของเราเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนนั้น

จงทิ้งบาปทั้งหมดของท่าน

“กษัตริย์กล่าว: … ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร เพื่อจะเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า, โดยขุดเอารากของวิญญาณชั่วร้ายนี้ออกจากอกข้าพเจ้า, และได้รับพระวิญญาณของพระองค์, เพื่อข้าพเจ้าจะเปี่ยมด้วยปีติ … ? ข้าพเจ้าจะสละสิ่งทั้งปวงที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของ … เพื่อจะรับความปรีดียิ่งนี้ …

“พระราชาทรงน้อมกายลง ณ เบื้องพระพักตร์พระเจ้า, โดยคุกเข่าลง แท้จริงแล้ว, แม้เขาทอดตัวลงฟุบกับพื้นดิน, และร้องด้วยสุดกำลัง, มีความว่า:

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์จะทิ้งบาปทั้งหมดของข้าพระองค์เพื่อรู้จักพระองค์ และเพื่อพระองค์จะทรงยกข้าพระองค์ขึ้นจากบรรดาคนตาย และได้รับการช่วยให้รอดในวันสุดท้าย” (แอลมา 22:15, 17–18)

  • อ่านข้อเหล่านี้อย่างละเอียดอีกครั้ง อุปสรรคใดบ้าง รวมถึงเจตคติและความรู้สึก ที่ขัดขวางไม่ให้ฉันละทิ้ง “บาปทั้งปวงของฉัน” และรับพระวิญญาณได้อย่างเต็มที่มากขึ้น?

มีส่วนร่วมในการผูกมิตรของศาสนจักร

“และบัดนี้, เพราะพันธสัญญาที่ท่านทำไว้จะเรียกท่านว่าลูก ๆ ของพระคริสต์, บุตรของพระองค์, และธิดาของพระองค์; เพราะดูเถิด, วันนี้พระองค์ทรงให้กำเนิดท่านทางวิญญาณ; เพราะท่านกล่าวว่าใจท่านเปลี่ยนแปลงแล้วโดยผ่านศรัทธาในพระนามของพระองค์; ฉะนั้น, ท่านจึงถือกำเนิดจากพระองค์และกลายเป็นบุตรของพระองค์และธิดาของพระองค์” (โมไซยาห์ 5:7)

เมื่อเรารับพระนามของพระคริสต์ไว้กับตัวเราและพระวิญญาณของพระองค์เสริมสร้างความเข้มแข็ง เราเริ่มเป็นเหมือนวิสุทธิชน—พี่น้องชายหญิงที่รับบัพติศมาและเข้ามาในครอบครัวของพระองค์บนแผ่นดินโลก

  • เมื่อฉันรู้จักเพื่อนวิสุทธิชนมากขึ้น ฉันเต็มใจมีส่วนร่วมในการผูกมิตรของศาสนจักรมากขึ้นอย่างไร?

ประสบกับการไถ่

“เพราะมนุษย์ปุถุชนเป็นศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้า, และเป็นมาแล้วนับแต่การตกของอาดัม, และจะเป็นไป, ตลอดกาลและตลอดไป, เว้นแต่เขาจะยอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์, และทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า, และกลายเป็นดังเด็ก, ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, เปี่ยมด้วยความรัก” (โมไซยาห์ 3:19)

พวกเราหลายคนเป็นวิสุทธิชนในนามเมื่อรับบัพติศมาเท่านั้นและใช้ชีวิตที่เหลือดิ้นรนเพื่อ “ทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน” และพัฒนาลักษณะนิสัยที่ระบุไว้ในข้อนี้

  • การต่อสู้ครั้งนี้ได้เตรียมฉันอย่างไรให้ยอมรับว่าการไถ่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการการชดใช้ของพระคริสต์เท่านั้น—โดยการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์—ฉันจึงจะได้รับการไถ่?

มาหาพระคริสต์

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์สอนว่า “ไม่ว่าที่มาของความยากลําบากคืออะไรและไม่ว่าท่านจะเริ่มได้รับการบรรเทาทุกข์อย่างไร—ผ่านนักบําบัดมืออาชีพ แพทย์ ผู้นําฐานะปุโรหิต เพื่อน บิดามารดาที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่ท่านรัก—ไม่ว่าท่านจะเริ่มต้นอย่างไร ทางออกเหล่านั้นจะไม่มีวันให้คําตอบครบถ้วน การเยียวยาครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นโดยศรัทธาในพระเยซูคริสต์และคําสอนของพระองค์ ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สํานึกผิดและการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์” (“To Be Healed,” Ensign, May 1994, 9)

ไม่ว่าความช่วยเหลือหรือสัมพันธภาพจะมากเพียงใด—แม้แต่ในกลุ่มบำบัดหรือที่ประชุมของศาสนจักร—ก็ไม่นํามาซึ่งความรอดได้ คนอื่นอาจสนับสนุนและเป็นพรแก่เราในการเดินทาง แต่สุดท้ายเราต้องมาหาพระคริสต์ด้วยพระองค์เอง

  • เส้นทางการบําบัดของฉันเริ่มต้นอย่างไร?

  • ใครมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ฉันเข้าสู่เส้นทางแห่งการกลับใจและการบําบัด? แบบอย่างของพวกเขาชี้นำให้ฉันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

  • ฉันได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่ช่วยหรือมีอิทธิพลให้ฉันปรารถนาหรือสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง?

จงอดทนกับกระบวนการ

‌“เจ้าเป็นเด็กน้อยและเจ้าไม่อาจทนทุกสิ่งได้ขณะนี้; เจ้าต้องเติบโตในพระคุณและในความรู้เรื่องความจริง

“อย่ากลัวเลย, เด็กน้อยทั้งหลาย, เพราะเจ้าเป็นของเรา, และเราชนะโลกแล้ว, …

“และไม่มีใครในบรรดาคนเหล่านั้นที่พระบิดาของเราประทานให้เราจะหายไป” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:40–42)

บางครั้งเราก็รู้สึกร้อนใจหรือท้อแท้ที่การบำบัดเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความอดทนของพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์ที่มีต่อเราในฐานะ “เด็กน้อย” นำข้อพระคัมภีร์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับตัวท่านโดยการเขียนให้เสมือนว่ากำลังพูดถึงท่านเป็นการส่วนตัว

  • สัญญาในพระคัมภีร์ข้อนี้จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ฉันได้อย่างไรเมื่อฉันท้อแท้?

ได้รับความช่วยเหลือจากพระเยซูคริสต์

‌“พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า, หลังจากท่านเข้าไปในทางคับแคบและแคบนี้แล้ว, ข้าพเจ้าอยากถามว่าทำทุกอย่างแล้วหรือ? ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ไม่เลย; เพราะท่านมาถึงตรงนี้ไม่ได้นอกจากเป็นไปโดยพระวจนะของพระคริสต์พร้อมด้วยศรัทธาอันไม่สั่นคลอนในพระองค์; โดยวางใจอย่างเต็มที่ในคุณงามความดีของพระองค์ผู้ทรงอานุภาพที่จะช่วยให้รอด

“ดังนั้น, ท่านต้องมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง ดังนั้น, หากท่านจะมุ่งหน้า, ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว, ดูเถิด, พระบิดาตรัสดังนี้: เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:19–20)

  • พระเยซูคริสต์ทรงช่วยฉันตามทางคับแคบและแคบอย่างไร?

  • ความรักที่เพิ่มขึ้นของฉันต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นช่วยให้ฉันหลุดพ้นจากการเสพติด ช่วยให้ฉันอดทนต่อไป และฟื้นฟูความหวังในชีวิตนิรันดร์ได้อย่างไร?