“บทนํา,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)
“บทนํา,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด
บทนำ
อันดับแรก เราขอให้ท่านรู้ว่ายังมีความหวังที่จะฟื้นฟูจากการเสพติด (“เรา” หมายถึง ชายหญิงที่เคยประสบกับผลร้ายแรงจากการเสพติดรูปแบบต่างๆ และผ่านการบําบัดระยะยาว) เราเคยประสบความโศกเศร้าอันใหญ่หลวง แต่เราได้เห็นพลังของพระผู้ช่วยให้รอดที่เปลี่ยนความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายที่สุดของเราให้กลายเป็นชัยชนะอันรุ่งโรจน์ ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่กับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความกลัว และความโกรธที่คอยบั่นทอนในทุกวัน แต่ตอนนี้เราได้สัมผัสกับกับปีติและสันติสุข เราได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ทั้งในชีวิตของเราเอง และในชีวิตของผู้อื่นที่เคยติดอยู่ในวังวนของการเสพติด
เราต้องแลกด้วยความเจ็บปวดและทนทุกข์อย่างร้ายแรงเพราะการเสพติดของเรา แต่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรแก่เรา ขณะที่เราดําเนินการในแต่ละก้าวเพื่อบำบัด เราเริ่มมองตัวเราเป็นบุตรธิดาที่รักของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อมีการตื่นตัวทางวิญญาณแล้ว เรามุ่งมั่นพัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ตัวเราเอง และผู้อื่นในทุกๆ วัน สรุปแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําเพื่อเราในสิ่งที่เราทําด้วยตนเองไม่ได้
บางคนคิดว่าการเสพติดเป็นแค่นิสัยไม่ดีที่เราสามารถเอาชนะได้ด้วยพลังใจเพียงอย่างเดียว แต่เรากลับพึ่งพิงพฤติกรรมหรือสารเสพติดบางอย่างจนมองไม่เห็นทางที่จะเลิกได้ เราสูญเสียมุมมองและความรู้สึกถึงสิ่งสำคัญอื่นๆ ในชีวิตของเรา ไม่มีอะไรสําคัญไปกว่าการสนองความต้องการอันสิ้นหวังของเรา เมื่อเราพยายามหยุด เราต้องเผชิญกับอาการอยากทั้งทางร่างกาย จิตใจ และ อารมณ์อย่างรุนแรง เมื่อเรายอมจํานนต่อความอยากและการเสพติด ความสามารถในการใช้สิทธิ์เสรีของเราก็ลดลงหรือถูกจํากัด ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์สอนว่า “การเสพติดสามารถตัดขาดความประสงค์ของมนุษย์และทําให้สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมเป็นโมฆะ” (“Revelation in a Changing World,” Ensign, Nov. 1989, 14)
เราเริ่มกระบวนการบำบัดด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความซื่อสัตย์ โดยการทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและ ผู้อื่น ตลอดจนปฏิบัติตามแนวทางที่ระบุไว้ในคู่มือเล่มนี้ การบําบัด 12 ขั้นตอนสอนเราให้รู้วิธีประยุกต์ใช้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับชีวิตเรา ประธานเจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์กล่าวว่า: “ท่านกำลังสู้รบกับปีศาจร้ายแห่งการเสพติดหรือเปล่า—บุหรี่หรือยาเสพติดหรือการพนันหรือ … สื่อลามก? … ไม่ว่าท่านจะต้องใช้กระบวนการอื่นใดก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก่อนอื่น จงมาสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” (“แตกสลายแต่ซ่อมได้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 85)
ขั้นตอนที่ 1–3 สอนเราถึงวิธีใช้ศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ขั้นตอนที่ 4–9 นําเราผ่านขั้นตอนการกลับใจอย่างสมบูรณ์ ขั้นตอนที่ 10–12 กระตุ้นให้เรามีความรับผิดชอบ แสวงหาการนําทางและพลังอํานาจจากเบื้องบนเพื่ออยู่บนเส้นทางพันธสัญญา แบ่งปันปาฏิหาริย์ที่เข้ามาในชีวิตเรากับผู้อื่น และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่
พวกเราหลายคนที่กําลังอยู่ในช่วงบําบัดยังคงเข้าร่วมโปรแกรมบําบัดการเสพติด เราพบการสนับสนุนอย่างมากในความมุ่งมั่นที่จะรักษาอิสรภาพของเราจากการเสพติด และเราได้รับพรเมื่อพยายามช่วยผู้อื่นที่อยู่ในพันธนาการของการเสพติด เราเชื่อมั่นว่าเราได้รับการเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เหมือนชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮในพระคัมภีร์มอรมอน (ดู แอลมา 24:17–19) เราได้รับการเยียวยาและการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติวิสัยของเราผ่านพระคุณและเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ เราไม่อยากสูญเสียของประทานนั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลือกที่จะจดจำว่าเราพึ่งพาพระองค์โดยสมบูรณ์ทุกวัน ตลอดระยะเวลาที่เราเข้าร่วมโปรแกรมบำบัดการเสพติด เราได้รับการย้ำเตือนอยู่เสมอว่าสิ่งเสพติดมีพลังร้ายแรง และหากเราละเลยความจริงเหล่านี้ เราอาจกลับไปเสพติดอีก แทนที่จะหันไปหาพระผู้เป็นเจ้า ความปรารถนาของเราคือรักษาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราด้วยความกรุณา
หากท่านรู้สึกติดสิ่งเสพติดและมีความปรารถนาแม้เพียงเล็กน้อยที่จะหลุดพ้นและเต็มใจที่จะ “ทดลอง” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (แอลมา 32:27) เราเชื้อเชิญให้ท่านร่วมกับเราในการศึกษาและประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ตามที่สอนในคู่มือเล่มนี้ ประสบการณ์ของเราแสดงให้เห็นว่าหากท่านเดินตามเส้นทางนี้ด้วยความจริงใจ ท่านจะพบพลังที่ต้องใช้บําบัดการเสพติด พลังอำนาจนี้เรียกว่าพระคุณ “พระคุณของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเราได้ทุกวัน อีกทั้งเสริมกําลังให้เราทํางานดีที่เราทําเองไม่ได้” (Topics and Questions, “Grace,” คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) เมื่อท่านประยุกต์ใช้แต่ละขั้นตอนใน 12 ขั้นตอนอย่างซื่อสัตย์ พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงเสริมกำลังท่านและท่านจะ “รู้จักสัจจะ และสัจจะจะทำให้ท่านเป็นไท” (ยอห์น 8:32)
เรารู้ด้วยประสบการณ์ของเราเองว่าท่านสามารถหลุดพ้นจากโซ่ตรวนของการเสพติดได้ ไม่ว่าท่านจะรู้สึกสูญเสียหรือสิ้นหวังเพียงใด ท่านยังคงเป็นบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก หากท่านไม่รับรู้ความจริงข้อนี้ หลักธรรมที่อธิบายในคู่มือนี้จะช่วยให้ท่านค้นพบความจริงนี้อีกครั้งและฝังลึกไว้ในใจของท่าน หลักธรรมเหล่านี้จะช่วยให้ท่านมาหาพระคริสต์และยินยอมให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงท่าน เมื่อท่านประยุกต์ใช้ขั้นตอนต่างๆ ท่านจะดึงเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดมาใช้และพระองค์จะทรงปลดปล่อยท่านจากพันธนาการ
พวกเราที่อยู่ในช่วงบําบัดเชื้อเชิญท่านด้วยความเห็นใจและความรักให้มาร่วมกับเราในชีวิตอันรุ่งโรจน์แห่งความหวัง อิสรภาพ และปีติ ซึ่งโอบอุ้มไว้ในอ้อมแขนของพระเยซูคริสต์พระผู้ไถ่ของเรา เช่นเดียวกับที่เราฟื้นตัวได้ ท่านก็สามารถฟื้นตัวและได้รับพรทั้งปวงจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เช่นกัน
ขั้นตอนการปฏิบัติ
นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนำขั้นตอนต่างๆ มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่าการ “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการบําบัดของเราต่อไป โปรดอย่าลืมทํางานร่วมกับผู้อุปถัมภ์ของท่าน
มุ่งเน้นอัตลักษณ์นิรันดร์ของเรา
เมื่อมีคนถามประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันว่าจะช่วยผู้ที่ทนทุกข์กับการเสพติดอย่างไร ท่านตอบว่า “สอนพวกเขาถึงอัตลักษณ์และจุดประสงค์ของพวกเขา” (ใน แทด อาร์. คอลลิสเตอร์, “Our Identity and Our Destiny” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 14 ส.ค. 2012], speeches.byu.edu) เราแต่ละคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก เรารู้ว่าพระองค์ทรงรักเราและทรงดูแลเราอยู่เสมอ
แต่เราไม่ได้คิดเช่นนี้เสมอไป บางคนเชื่อว่าพระองค์ไม่มีอยู่จริง บางคนไม่สนใจแต่อย่างใด บางคนเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์ แต่พระองค์ทรงโกรธหรือผิดหวังในตัวเราเกินกว่าจะช่วย สําหรับพวกเราเกือบทุกคน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางเราไม่ให้หันไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้ แต่เรากลับหันไปใช้สารเสพติดหรือพฤติกรรมเสพติดเพื่อช่วยเรารับมือกับความท้าทายของชีวิต เรามักเข้าสู่วัฏจักรที่เลวร้าย เราประพฤติตัวไม่เหมาะสมซึ่งนําไปสู่ความรู้สึกผิดและความละอายใจ ซึ่งสิ่งนี้นําไปสู่การประพฤติตัวไม่เหมาะสมซ้ำขึ้นเพื่อปกปิดความเจ็บปวดของอารมณ์เหล่านี้ ความเข้าใจอัตลักษณ์และจุดประสงค์ของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ทำให้เรามีพลังทําลายวัฏจักรเหล่านี้
เราเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างความรู้สึกผิดกับความละอายใจเช่นกัน ความรู้สึกผิดคือความรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่เราทํา และความละอายใจคือความรู้สึกแย่กับสิ่งที่เราเป็น เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายคุณค่าของความรู้สึกผิดดังนี้ “ความรู้สึกผิดในวิญญาณคือความเจ็บปวดที่มีต่อร่างกาย—เป็นการเตือนถึงอันตรายและเป็นการป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม” (“เราเชื่อในการเป็นคนบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 44) ก่อนรับการบำบัด หลายคนกลับรู้สึกละอายใจ ด่วนสรุปคิดว่าตนเองแตกสลายและไม่มีค่าควรแก่ความรักจากพระผู้เป็นเจ้าหรือใครก็ตาม
ทว่า เมื่อเราเห็นธรรมชาติอันสูงส่งของเรา และ ยอมรับว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากสวรรค์เพื่อบําบัดการเสพติด เราจะเริ่มมองตนเองดังที่พระเยซูคริสต์ทรงมองเรา นั่นคือชายหญิงที่ป่วยทางวิญญาณผู้พยายามเยียวยาผ่านพระคุณของพระองค์แทนที่จะเป็นคนเลวที่พยายามเป็นคนดีเพื่อได้รับความรักจากพระองค์
เราเชื้อเชิญให้ท่านฝึกเชื่อว่าท่านเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ทรงรักท่านไม่ว่าท่านจะทําอะไรลงไป แม้จะเป็นจริงที่ว่าการเลือกผิดพลาดจะจำกัดโอกาสของเรา แต่คุณค่าของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงรักเราเพราะเราเป็นบุตรธิดาของพระองค์ ไม่ใช่เพราะการเลือกของเรา: “แม้เราจะไม่สมบูรณ์ แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเราอย่างสมบูรณ์ แม้เราจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่พระองค์ทรงรักเราอย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้เราจะรู้สึกหลงทางและไม่มีเข็มทิศ แต่ความรักของพระผู้เป็นเจ้าล้อมเราไว้ทุกด้าน” (ดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟ, “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 22)
เต็มใจเลิก
ในที่สุดเราเต็มใจเลิกเมื่อความเจ็บปวดจากปัญหาเลวร้ายกว่าความเจ็บปวดจากการแก้ปัญหา ท่านมาถึงจุดนั้นหรือยัง? หากไม่และยังคงเสพต่อไป ท่านจะถึงจุดนั้นแน่นอนเพราะการเสพติดเป็นปัญหาที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ เป็นความเจ็บป่วยที่ทำให้เสื่อมลงซึ่งทำให้เราไม่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้ตามปกติ
ในตอนแรก การเลิกเสพอย่างเด็ดขาดดูเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับเรา แต่เมื่อเราได้ยินประสบการณ์จากผู้อื่นที่พบความสงบสุขและความมั่นคงที่เราปรารถนา เราเริ่มเชื่อว่าเราเองก็สามารถบำบัดได้เช่นกัน
ก่อนเราจะเริ่มกระบวนการบําบัด เราต้องมีความปรารถนาที่จะบำบัดก่อน (ดู แอลมา 32:27) อิสรภาพจากการเสพติดเริ่มจากความตั้งใจแม้เพียงเล็กน้อย หากวันนี้ความปรารถนาของท่านยังน้อยและไม่แน่นอน ขออย่ากังวล เมื่อท่านลงมือทํา ความปรารถนาจะมากขึ้น! เราเรียนรู้ว่าการกระทําทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งที่เราสามารถทําได้คือการสวดอ้อนวอนและทูลขอพระผู้เป็นเจ้าให้ทรงเพิ่มความปรารถนาของเราที่จะเลิก
หากยังไม่มีความปรารถนาที่จะเริ่มการบำบัด ท่านสามารถยอมรับความไม่เต็มใจของตนเองและพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดจากการเสพติดของท่าน เขียนสิ่งที่สําคัญต่อท่าน พิจารณาความสัมพันธ์ของท่านกับครอบครัวและมิตรสหาย ความสัมพันธ์ของท่านกับพระผู้เป็นเจ้า ความเข้มแข็งทางวิญญาณของท่าน ความสามารถในการช่วยเหลือและเป็นพรแก่ผู้อื่น และสุขภาพของท่าน จากนั้นมองหาความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ท่านเชื่อกับความหวังและพฤติกรรมของท่าน พิจารณาว่าการกระทําของท่านบั่นทอนสิ่งที่ท่านให้คุณค่าอย่างไร สวดอ้อนวอนขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้ท่านมองตนเองและชีวิตท่านดังที่พระองค์ทรงมอง—ด้วยศักยภาพอันสูงส่งทั้งหมดของท่าน—สิ่งที่ท่านเสี่ยงที่จะสูญเสีย หากยังคงเสพติดต่อไป
การรับรู้ว่าท่านสูญเสียอะไรไปจากการหมกมุ่นอยู่กับการเสพติดจะช่วยให้ท่านพบความปรารถนาที่จะหยุดได้ หากท่านสามารถค้นพบแม้ความปรารถนาที่น้อยที่สุด ท่านก็จะมีพื้นที่ให้เริ่มต้น และเมื่อท่านก้าวหน้าไปตามขั้นตอนต่างๆ ของโปรแกรมนี้และเห็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความปรารถนาของท่านก็จะเพิ่มขึ้น
หมายเหตุ: ขึ้นอยู่กับลักษณะการเสพติด ท่านอาจต้องรับการดูแลทางการแพทย์ก่อนที่จะเริ่มการบำบัด โปรดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ขอความช่วยเหลือ
หนทางสู่การบําบัดและการเยียวยานั้นยาวนานและยากลําบาก แต่เราไม่ต้องทำเพียงลําพัง การดำเนินชีวิตในช่วงบําบัดต้องใช้ความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง การปฏิเสธ การหลอกลวงตนเอง และการตีตนออกห่างทำให้การบรรลุความก้าวหน้าในการบำบัดที่ยั่งยืนและสม่ำเสมอเป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญสำหรับเราคือการได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่นโดยเร็วที่สุด หลายคนเต็มใจสนับสนุนและช่วยเหลือเรา ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงสังเกตเห็นเรา และทรงดูแลเรา แต่ปกติพระองค์จะทรงตอบสนองความต้องการของเราผ่านผู้อื่น” (คําสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2011], 82)
การขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและคนอื่นๆ จะไม่เพียงให้กำลังใจที่เราต้องการในการเดินหน้าต่อไปเท่านั้น แต่จะช่วยให้เราระลึกได้ว่าเราคู่ควรได้รับความช่วยเหลือด้วย เมื่อท่านขอความช่วยเหลือ ท่านอาจแปลกใจกับความรัก และการยอมรับที่ท่านพบเจอ ยิ่งท่านเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นมากเท่าใด ท่านจะยิ่งมีโอกาสได้รับความรักและการสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้นในการค้นพบการเยียวยาและการบําบัดที่แท้จริง
พิจารณาแหล่งสนับสนุนต่างๆ ที่มีให้ท่านและวิธีขอความช่วยเหลือ เราขอแนะนําให้ค้นหาและทํางานร่วมกับผู้อุปถัมภ์ที่เคยใช้ทั้ง 12 ขั้นตอนได้สําเร็จ ไม่มีการมอบหมายผู้อุปถัมภ์ให้ ขอให้ท่านพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าจะขอให้ใครมาเป็นผู้อุปถัมภ์ให้กับท่านโดยเร็วที่สุด สถานที่ยอดเยี่ยมในการหาผู้อุปถัมภ์คือการประชุมบำบัด การประชุมบำบัดเป็นสถานที่ปลอดภัยสําหรับเราในการแบ่งปันและเรียนรู้เกี่ยวกับการบำบัด
แหล่งสนับสนุนที่สําคัญอื่นๆ ได้แก่ สมาชิกครอบครัว เพื่อน ผู้นําศาสนจักร และนักบําบัด แหล่งสนับสนุนสูงสุดคือพระบิดาบนสวรรค์ การตัดสินใจว่าจะขอการสนับสนุนจากใครและเมื่อใดเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ในบางกรณี การไว้วางใจหรือขอความช่วยเหลือจากสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนบางคนอาจไม่ปลอดภัยหรือไม่เป็นประโยชน์สําหรับเรา อย่างไรก็ตาม สิ่งสําคัญคือเราต้องได้รับการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ ให้มากที่สุด สําหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดทบทวนหมวด “การสนับสนุนในการบำบัด” ที่อยู่ในภาคผนวกของคู่มือนี้
เราอาจรู้สึกละอายหรือลำบากใจที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เราอาจไม่ต้องการให้ใครรู้ปัญหาหรือความผิดของเรา เราอาจไม่ต้องการเป็นภาระหรืออาจรู้สึกว่าเราไม่คู่ควรแก่ความช่วยเหลือ แต่เราจะพบว่าผู้คนจะได้รับพรเมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพวกเขา ขั้นตอนที่ 12 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับใช้และการช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อผู้ที่อยู่ในช่วงบําบัดรับใช้ผู้อื่น พวกเขาจะเข้มแข็งขึ้นในการบำบัดของตนเอง
ศึกษาและทำความเข้าใจ
ข้อพระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรจะช่วยให้ท่านเริ่มการบําบัด ใช้สําหรับการทําสมาธิ การศึกษา และบันทึกส่วนตัว พึงระลึกว่าท่านควรเขียนด้วยความซื่อสัตย์และเจาะจง
อัตลักษณ์อันสูงส่งของฉัน
“มองย้อนกลับไป พึงระลึกว่าท่านพิสูจน์ความมีค่าควรของท่านแล้วในสภาวะก่อนเกิด ท่านเป็นบุตรที่องอาจของพระผู้เป็นเจ้า และ ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ ท่านสามารถมีชัยชนะในสงครามของโลกที่ตกนี้ได้ ท่านเคยทำมาแล้ว และท่านทำอีกได้
“มองไปข้างหน้า ปัญหาและความโศกเศร้าของท่านเป็นเรื่องจริง แต่จะไม่ดำรงอยู่ตลอดไป” (นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “บาดเจ็บ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 85; เน้นตัวเอน)
-
เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันเคยต่อสู้และชนะอะไรมาแล้วบ้าง?
-
เมื่อใดที่ฉันได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าในชีวิต?
“ข้าพเจ้าได้ยินหลายคนประสบปัญหานี้ทั่วศาสนจักร ‘ฉันไม่ดีพอ’ ‘ฉันทำได้ต่ำกว่าที่ควรทำไว้มาก’ ‘ฉันจะไม่มีวันเทียบเท่า’
“… ในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราไม่ควรลดค่าและให้ร้ายตัวเราเอง ราวกับว่าการทำร้ายตนเองจะทำให้เรากลายเป็นบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราเป็น ไม่!” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม—ในที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 40)
-
ฉันจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองได้อย่างไรในขณะที่ยังคงระลึกถึงคุณค่าของฉันในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า?
-
ฉันคิดอย่างไรเกี่ยวกับการใช้คําว่า ในที่สุด ของประธานฮอลแลนด์ในชื่อคําปราศรัยของท่าน?
ความสัมพันธ์ของฉันกับพระเยซูคริสต์
“และพวกเขาเห็นตนเองอยู่ในสภาพทางเนื้อหนังของตน, แม้น้อยกว่าผงธุลีของแผ่นดินโลก และพวกเขาทั้งหมดร้องออกมาเป็นเสียงเดียวกัน, มีความว่า : โอ้ทรงโปรดเมตตา, แล้วทรงโปรดใช้พระโลหิตที่ชดใช้ของพระคริสต์เพื่อพวกข้าพระองค์จะได้รับการให้อภัยบาปของพวกข้าพระองค์, และใจพวกข้าพระองค์จะถูกทำให้บริสุทธิ์; เพราะพวกข้าพระองค์เชื่อในพระเยซูคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก, และสิ่งทั้งปวง; ผู้จะเสด็จลงมาในบรรดาลูกหลานมนุษย์” (โมไซยาห์ 4:2)
กระบวนการบําบัดจะเกิดขึ้นเมื่อเรามุ่งเน้นการแก้ปัญหามากกว่าที่ปัญหา เมื่อเรากระชับความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ให้แน่นแฟ้น พระองค์จะประทานพลังและสันติสุขที่เราต้องการเพื่อดําเนินชีวิตในการบําบัด
-
ความสัมพันธ์ของฉันกับพระเยซูคริสต์คืออะไร? ฉันวางใจว่าพระองค์จะทรงช่วยฉันหรือไม่?
-
เมื่อฉันตระหนักถึงความอ่อนแอของตนเอง ฉันมีความกล้าที่จะหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อขออํานาจการไถ่ของพระองค์หรือไม่? เหตุใดจึงคิดหรือไม่คิดเช่นนั้น? หากไม่ ฉันจะเริ่มอย่างไร?
“พระคัมภีร์นิยามหลักคําสอนของพระคริสต์ว่าเป็นการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ กลับใจ รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ [ดู 2 นีไฟ 31]
“การชดใช้ของพระคริสต์สร้างเงื่อนไขให้เราพึ่งพา ‘ความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์’ [2 นีไฟ 2:8], ‘ได้รับการทำให้ดีพร้อมใน [พระคริสต์]’ [โมโรไน 10:32] ได้รับสิ่งดีทุกอย่าง และรับชีวิตนิรันดร์
“หลักคําสอนของพระคริสต์คือหนทาง—หนทางเดียว—ที่เราจะได้รับพรทั้งหมดที่มีให้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซู” (ไบรอัน เค. แอชตัน, “หลักคําสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 106)
-
12 ขั้นตอนของการบําบัดบางครั้งเรียกว่า “ก้าวหัดเดิน” เพราะเป็นขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไปในกระบวนการนำหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์มาใช้แก้ปัญหาการเสพติด การทำตาม “ก้าวหัดเดิน” เหล่านี้จะช่วยให้ฉันได้รับพรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
ความปรารถนาของฉันที่จะเลิกเสพติด
“เมื่อท่านหันความสนใจของท่านออกจากสิ่งรบกวนทางโลก บางสิ่งที่ดูเหมือนสำคัญกับท่านตอนนี้จะลดความสำคัญลง ท่านอาจต้องปฏิเสธบางสิ่ง แม้ว่าสิ่งนั้นจะดูไม่มีอันตรายก็ตาม เมื่อท่านเริ่มต้นและดำเนินการต่อเนื่องในกระบวนการอุทิศชีวิตของท่านแด่พระเจ้าตลอดชีวิต การเปลี่ยนแปลงในทัศนคติ ความรู้สึก และความเข้มแข็งทางวิญญาณของท่านจะทำให้ท่านประหลาดใจ!” (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 77)
คําสัญญานี้โดยศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อเรามุ่งจุดสนใจของเราไปที่พระเจ้า
-
ฉันจะทําอะไรในแต่ละวันเพื่อจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสต์?
-
สิ่งรบกวนทางโลกอะไรบ้างที่ฉันควรปฏิเสธ โดยเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านั้นจะ “ลดความสำคัญลง”?
“และพระเจ้าตรัสกับ [แอลมา]: อย่าประหลาดใจเลยที่มนุษย์ทั้งปวง, แท้จริงแล้ว, ชายและหญิง, ประชาชาติ, ตระกูล, ภาษาและผู้คนทั้งปวง, ต้องเกิดใหม่; แท้จริงแล้ว, เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า, เปลี่ยนจากสภาพทางเนื้อหนังและสภาพที่ตกของพวกเขา, มาสู่สภาพแห่งความชอบธรรม, โดยได้รับการไถ่จากพระผู้เป็นเจ้า, กลายเป็นบุตรและธิดาของพระองค์” (โมไซยาห์ 27:25)
-
ความเต็มใจของฉันที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญในการไถ่บาปจาก “สภาพที่ตก” ของฉัน ฉันมีความปรารถนาจะเลิกเสพติดหรือไม่? ฉันรู้สึกไม่เต็มใจหรือไม่? หากใช่ เพราะเหตุใด?
-
ความเต็มใจจะเกิดขึ้นเมื่อฉันพิจารณาว่าการเสพติดของฉันส่งผลกระทบอะไรบ้างให้กับตนเองและผู้อื่น การเสพติดของฉันมีผลกระทบอะไรบ้าง?
-
ผลกระทบต่อสุขภาพของฉันคืออะไร?
-
ผลกระทบต่อครอบครัว ความสัมพันธ์ และความสามารถในการช่วยผู้อื่นมีอะไรบ้าง?
-
การเสพติดของฉันมีผลต่อความสัมพันธ์ของฉันกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?
ค้นหาความช่วยเหลือ
“ในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ เราไม่ได้รับการละเว้นจากการท้าทายและการทดลองในชีวิต เรามักถูกเรียกร้องให้ทำสิ่งยากๆ ซึ่งถ้าพยายามทำตามลำพังจะรู้สึกหนักใจและอาจเป็นไปไม่ได้ เมื่อเรายอมรับพระดํารัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ ‘มาหาเรา’ [มัทธิว 11:28] พระองค์จะทรงให้ความช่วยเหลือ การปลอบโยน และสันติสุขที่จําเป็น” (จอห์น เอ. แม็คคูน, “มาหาพระคริสต์—ดําเนินชีวิตเฉกเช่นวิสุทธิชนยุคสุดท้าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 36)
-
พระผู้ช่วยให้รอดประทานความช่วยเหลือ การปลอบโยน และสันติสุขที่จําเป็นในการทำสิ่งที่ยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้ ฉันจะพบการสนับสนุนและการปลอบโยนที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ได้อย่างไร?
-
การบำบัดดูเหมือนเป็นเรื่องที่หนักเกินไป หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ หากฉันพยายามทำคนเดียวหรือไม่?
-
การรู้ว่าไม่มีใครรอดพ้นจากการทดลองในชีวิตพวกเขาและเราทุกคนต้องการการสนับสนุน ช่วยให้ฉันละทิ้งความลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้อย่างไร?
-
ฉันเคยสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับคนที่ควรเป็นผู้อุปถัมภ์ของฉันหรือไม่? มีชื่อใดเข้ามาในความคิดของฉันหรือไม่?
“ทำนองเดียวกัน โดยผ่านพระคุณของพระเจ้า ผ่านศรัทธาในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการกลับใจจากบาป แต่ละคนได้รับพลังและความช่วยเหลือเพื่อทำงานดีที่พวกเขาจะไม่สามารถทำได้หากปล่อยให้ทำตามวิธีของพวกเขาเอง พระคุณดังกล่าวคือพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถซึ่งยอมให้ชายหญิงได้รับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งหลังจากพวกเขาได้พยายามสุดความสามารถแล้ว” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ”)
-
มีหลายครั้งที่ฉันสามารถเลิกเสพติดได้ระยะหนึ่ง แม้ในยามเครียดหรือท้อแท้ ฉันจะอยู่ห่างไกลจากการเสพติดอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร?