“ภาคผนวก: รู้จักและต้อนรับผู้มาใหม่” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)
“รู้จักและต้อนรับผู้มาใหม่” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด
รู้จักและต้อนรับผู้มาใหม่
ผู้มาใหม่คือบุคคลที่ยังใหม่ต่อการประชุมบำบัด เขามักเป็นคนที่อยู่ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่กลับมาหลังจากกลับไปเสพซ้ำ หรือเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่มีปัญหากับการเสพติด ใครก็ตามที่เราไม่รู้จักอาจเป็นผู้มาใหม่ และเนื่องจากการประชุมสองสามครั้งแรกที่ผู้มาใหม่เข้าร่วมมักมีความสําคัญเป็นพิเศษ จึงเป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทําให้บุคคลเหล่านี้รู้สึกสบายใจและได้รับการต้อนรับ
ผู้ที่มาใหม่มักไม่มั่นใจและวิตกกังวล จําไว้ว่าบุคคลต้องกล้าหาญมากจึงจะยอมรับว่าตนเองมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่เป็นภัย จัดการชีวิตไม่ได้ และต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวต้องกล้าพูดถึงผลของการเสพติดในชีวิตคนที่พวกเขารักและในชีวิตพวกเขาเองเช่นกัน เป้าหมายของเราคือการช่วยให้ผู้มาใหม่ต้องการกลับมาอีก
เรามีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างบรรยากาศการต้อนรับที่อบอุ่นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชุมแต่ละครั้ง วางใจว่าพระวิญญาณจะทรงนําทางผู้มาใหม่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลง โปรดจําไว้ว่าผู้มาใหม่มักจะรู้สึกหนักใจ ดังนั้นจงแสดงความรักและความอ่อนโยนในการเข้าถึงพวกเขา ความรัก การสนับสนุน และกําลังใจเป็นองค์ประกอบสำคัญของความรู้สึกได้รับการต้อนรับและเป็นส่วนหนึ่ง
เราได้รับคําแนะนําจากศาสนจักรว่าการประชุมบำบัดมีไว้สําหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากมีบุคคลอายุน้อยกว่า 18 ปี กระตุ้นให้พวกเขาปรึกษากับบิดามารดา อธิการ และผู้ให้การดูแลสุขภาพจิตหรือสุขภาพร่างกายเพื่อดูทางเลือกอื่นที่อาจเป็นประโยชน์ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม แนะนำให้ติดต่อผู้จัดการหน่วยงานศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวในพื้นที่ เมื่อท่านแจ้งให้พวกเขาทราบถึงกฎแล้ว หากพวกเขายังคงเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ต้องเตือนกฎซ้ำ และไม่ต้องบังคับใช้กฎ
คําแนะนําต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์เมื่อท่านพูดคุยกับผู้มาใหม่ก่อนและหลังการประชุม:
-
เมื่อทักทายคนที่ท่านไม่รู้จัก ให้แนะนําตัวและถามว่าเขาเคยเข้าการประชุมบำบัดมาก่อนหรือไม่
-
สร้างความมั่นใจให้กับผู้มาใหม่ว่าพวกเขาอยู่ในที่ปลอดภัย อธิบายว่าเราให้ความสำคัญกับความลับส่วนบุคคล และขอให้ใช้เพียงชื่อต้นเท่านั้น บอกให้พวกเขารู้ด้วยว่าหากไม่สะดวกใจจะอ่าน หรือแบ่งปันในการประชุม พวกเขาสามารถฟังเฉยๆ ได้
-
ให้ผู้มาใหม่แบ่งปันเฉพาะสิ่งที่พวกเขาต้องการแบ่งปัน พึงตระหนักว่าพวกเขามักรู้สึกไม่สบายใจในการอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงเข้าร่วมการประชุม
-
แนะนำให้ผู้เข้าร่วมใหม่ฟังสิ่งที่ตรงกันกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ผู้มาใหม่จะรู้สึกอยากกลับมาประชุมมากขึ้นเมื่อสามารถเชื่อมโยงกับผู้ที่แบ่งปันได้ อธิบายว่าเนื่องจากการประชุมของเราเปิดกว้างสําหรับบุคคลที่ทนทุกข์จากพฤติกรรมบ่อนทําลายหลายรูปแบบ สมาชิกกลุ่มอาจไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนกันเสมอไป แต่บ่อยครั้งจะรู้สึกคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกหรือพฤติกรรมของผู้อื่น เชิญผู้มาใหม่อยู่ต่อหลังการประชุมหากมีคําถาม
-
เชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมใหม่จะเข้าใจโปรแกรมได้โดยไม่ต้องฟังรายละเอียดทุกอย่าง ให้ผู้มาใหม่ดู Healing through the Savior: The Addiction Recovery Program 12-Step Recovery Guide หรือ Support Guide: Help for Spouses and Family of Those in Recovery และกระตุ้นให้พวกเขาใช้แหล่งช่วยเหล่านี้ (มีอยู่ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณในหมวด “Addiction” ของ Life Help) อธิบายให้ผู้มาใหม่ฟังว่าโดยการฟังพระวิญญาณ เข้าร่วมการประชุม และศึกษาคู่มือ พวกเขาอาจจะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้น รวมทั้งประยุกต์ใช้หลักธรรมและแนวทางปฏิบัติที่นําไปสู่การเปลี่ยนแปลง
-
แนะนําวิทยากรกระบวนการให้รู้จักผู้มาใหม่ วิทยากรกระบวนการจําได้ว่าการมาประชุมครั้งแรกเป็นอย่างไร พวกเขาเป็นแบบอย่างแก่ผู้เข้าร่วมและสามารถเป็นพยานส่วนตัวได้ว่าโปรแกรมได้นําการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตพวกเขาอย่างไร
-
หากมีปัญหาเกี่ยวกับผู้มาใหม่ที่แบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา ให้ท่านตอบสนองอ่อนโยนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัญหาและคำถามส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ดีกว่าหลังการประชุมมากกว่าระหว่างการประชุม เมื่อเวลาผ่านไปผู้มาใหม่จะเข้าใจมารยาทในการประชุม
-
แจ้งผู้มาใหม่ที่เป็นครอบครัวหรือคนที่พวกเขารักของผู้มีปัญหาการใช้สื่อลามกหรือสารเสพติดว่า มีการประชุมกลุ่มสนับสนุนคู่สมรสและครอบครัว
-
หลังจากการประชุม ขอบคุณผู้มาใหม่เป็นการส่วนตัวสําหรับการเข้าร่วมประชุม
-
จําไว้ว่าผู้มาใหม่เป็นพรแก่กลุ่ม ผู้มาใหม่ให้โอกาสอย่างต่อเนื่องในการรับใช้ สนับสนุน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน