การเสพติด
ขั้นตอนที่ 3: ตัดสินใจมอบเจตนารมณ์และชีวิตของเราให้อยู่ในความดูแลของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ และพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์


“ขั้นตอนที่ 3: ตัดสินใจมอบเจตนารมณ์และชีวิตของเราให้อยู่ในความดูแลของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ และพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)

“ขั้นตอนที่ 3,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด

สตรีสองคนให้กำลังใจกัน

ขั้นตอนที่ 3: ตัดสินใจมอบเจตนารมณ์และชีวิตของเราให้อยู่ในความดูแลของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ และพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์

5:29

หลักธรรมสําคัญ: วางใจในพระผู้เป็นเจ้า

ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนการตัดสินใจ ในสองขั้นตอนแรก เรายอมรับสิ่งที่เราทําด้วยตนเองไม่ได้และสิ่งที่เราต้องการให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทําเพื่อเรา ในขั้นตอนที่ 3 เราได้รู้จักสิ่งเดียวที่เราทําได้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถตัดสินใจเปิดเผยตนเองต่อพระองค์และยอมมอบทั้งชีวิตของเรา—อดีต ปัจจุบัน และอนาคต—ตลอดจนความประสงค์ของเราไว้กับพระองค์ ขั้นตอนที่ 3 เป็นการกระทําของสิทธิ์เสรี นี่เป็นการเลือกครั้งสําคัญที่สุดที่เราทําในชีวิตนี้

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “การยอมตามความประสงค์ของคนๆ หนึ่งนั้นจริงๆ แล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่เราต้องวางไว้บนแท่นบูชาของพระผู้เป็นเจ้า เป็นหลักคําสอนที่ยากแต่จริง อีกหลายสิ่งที่เราถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า แม้จะดีต่อเราเพียงใด แท้ที่จริงเป็นสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราแล้ว และพระองค์ทรงให้เรายืม แต่เมื่อเราเริ่มยอมตนโดยให้ความประสงค์ของเรากลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้นเรากําลังถวายบางสิ่งแด่พระองค์จริงๆ” (“Insights from My Life,” Ensign, Aug. 2000, 9)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์อธิบายถึงการตัดสินใจของท่านที่จะยอมถวายความประสงค์แด่พระผู้เป็นเจ้าและอิสรภาพที่การตัดสินใจนั้นมอบให้ท่านว่า “บางทีการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตซึ่งแน่นอนว่าเป็นความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นเมื่อในที่สุดข้าพเจ้าเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าจนข้าพเจ้าจะมอบสิทธิ์เสรีของข้าพเจ้าให้พระองค์—โดยปราศจากการบังคับหรือแรงกดดัน … ‌เรียกได้ว่า … ใช้สิทธิ์เสรีของตน และพูดว่า ‘เราจะทําตามที่สั่ง’ หลังจากนั้นจะเรียนรู้ว่าในการทําเช่นนั้นท่านจะครอบครองมากขึ้น” (Obedience, Brigham Young University Speeches of the Year [7 ธ.ค., 1971], 4)

เมื่อเราเข้าร่วมการประชุมบำบัดครั้งแรก เราอาจรู้สึกกดดันหรือแม้กระทั่งถูกบังคับจากผู้อื่นให้มาอยู่ที่นั่น แต่ในการปฏิบัติขั้นตอนที่ 3 เราต้องตัดสินใจที่จะกระทําด้วยตนเอง เราตระหนักว่าการเปลี่ยนชีวิตต้องเป็นการตัดสินใจของเราเอง ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนของเราคิดหรือต้องการ เราต้องเต็มใจบำบัดโดยไม่คํานึงถึงความคิดเห็นหรือการเลือกของคนอื่น

เมื่อเราพยายามทําขั้นตอนที่ 3 เราเรียนรู้ว่าการบำบัดเป็นผลจากความพยายามของพระเจ้ามากกว่าของเรา พระองค์ทรงทําปาฏิหาริย์เมื่อเราเชิญพระองค์เข้ามาในชีวิตเรา เราเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงบำบัดและไถ่เรา เราตัดสินใจให้พระองค์ทรงนําทางชีวิตเรา โดยจําไว้ว่าพระองค์ทรงเคารพสิทธิ์เสรีของเราเสมอ เราวางชีวิตไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์เมื่อเราตัดสินใจดําเนินโปรแกรมบำบัดที่เน้นทางวิญญาณนี้ต่อไป

เมื่อเราปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ เราอาจรู้สึกกลัวสิ่งที่ไม่รู้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรานอบน้อมถ่อมตน ยอมมอบชีวิตและเจตนารมย์ของเราให้อยู่ในความดูแลของพระผู้เป็นเจ้าโดยสมบูรณ์? สําหรับหลายคน วัยเด็กนั้นยากลำบากมาก และเรากลัวว่าจะอ่อนแอเหมือนเด็กเล็กๆ อีกครั้ง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราจึงเชื่อว่าการมุ่งมั่นที่จะบําบัดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เราเห็นคนอื่นฝ่าฝืนคํามั่นสัญญามากเกินไป และตัวเราเองก็ผิดสัญญาไว้มากเกินไปเช่นกัน แต่เราตัดสินใจลองทําสิ่งที่เพื่อนที่หายดีแล้วแนะนําว่า “อย่าเสพ ไปร่วมการประชุม และขอความช่วยเหลือ” คนที่เคยปฏิบัติตามขั้นตอนการบําบัดก่อนเราเชื้อเชิญให้เราทดลองวิถีชีวิตใหม่นี้ พวกเขาอดทนรอให้เราเต็มใจเปิดประตูรับพระผู้เป็นเจ้าทีละนิด

พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญเช่นเดียวกัน “เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขาและจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา” (วิวรณ์ 3:20)

ช่วงแรกความพยายามของเรานั้นเต็มไปด้วยความกังวลและไม่ค่อยราบรื่น เรามอบความไว้วางใจของเราให้พระเยซูคริสต์เสมอจากนั้นก็ไม่วางใจ เรากังวลว่าพระองค์จะไม่พอพระทัยความไม่เสมอต้นเสมอปลายของเราและทรงถอนการสนับสนุนและความรักจากเรา แต่พระองค์ไม่ทรงทำเช่นนั้น!

เราค่อยๆ ยินยอมให้พระเยซูคริสต์แสดงเดชานุภาพการเยียวยาของพระองค์และความปลอดภัยในการดําเนินตามทางของพระองค์ เราแต่ละคนตระหนักว่าเราไม่เพียงต้องเลิกเสพติดเท่านั้น แต่เราต้องมอบความประสงค์และชีวิตทั้งหมดของเราแด่พระผู้เป็นเจ้าด้วย เมื่อเราทําเช่นนั้น เราพบว่าพระองค์ทรงอดทนและทรงยอมรับความพยายามอันไม่ย่อท้อของเราที่จะยอมต่อพระองค์ในทุกสิ่ง

เวลานี้ความสามารถของเราในการต้านทานการล่อลวงยึดเหนี่ยวกับการยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตน เราแสดงให้เห็นว่าเราต้องการพลังแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด และเราเริ่มรู้สึกถึงพลังนั้นในตัวเรา ซึ่งเสริมกําลังให้เราป้องกันการล่อลวงครั้งต่อไป เราได้เรียนรู้ที่จะยอมรับชีวิตตามเงื่อนไขของพระผู้ช่วยให้รอด

การยอมต่อพระผู้เป็นเจ้าอาจเป็นเรื่องยากสําหรับเรา เพราะเราจำเป็นต้องหมั่นอุทิศตนในพระประสงค์ของพระองค์ทุกวัน บางครั้งทุกชั่วโมง หรือแม้กระทั่งทุกวินาที เมื่อเราเต็มใจทําเช่นนั้น เราจะพบพระคุณและพลังความสามารถในการทําสิ่งที่เราทําด้วยตนเองไม่ได้

การยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความเครียดและทําให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น เราจะหงุดหงิดน้อยลงกับสิ่งเล็กน้อยที่เคยรบกวนจิตใจเรา เรายอมรับความรับผิดชอบต่อการกระทําของเรา เราปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงปฏิบัติ ดวงตา ความคิด และใจของเราเปิดรับความจริงที่ว่าความเป็นมรรตัยเป็นเรื่องท้าทายและมักจะนําความโศกเศร้า ความคับข้องใจ ตลอดจนความสุขมาให้เราเสมอ

แต่ละวันเราต่อคํามั่นสัญญาของเราที่จะยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า นี่คือสิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่หมายถึงเมื่อเราพูดว่า “ทีละวัน” เราตัดสินใจละทิ้งความประสงค์ของตนเองและการใฝ่ต่ำอันเป็นต้นตอของการเสพติดของเรา และเราตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอีกวันอย่างสงบสุขและแข็งแกร่งที่มาจากการวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและในพระคุณความดี เดชานุภาพ และความรักของพระองค์

ขั้นตอนที่ 1, 2 และ 3 ช่วยให้เราเข้าใจวิธีใช้ศรัทธา ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งของการปฏิบัติขั้นตอนที่ 3 คือเราเต็มใจที่จะวางใจพระผู้เป็นเจ้ามากพอที่จะดำเนินไปยังขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนการปฏิบัติ

นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา

ตัดสินใจวางใจและเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า

ถ้อยคําเหล่านี้—ดัดแปลงมาจาก “คำสวดอ้อนวอนขอความสงบ” โดย ไรน์โฮลด์ นีเบอร์—ช่วยเราเมื่อเราตัดสินใจวางใจและเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า: “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานความสงบให้ข้าพระองค์เพื่อยอมรับสิ่งที่ข้าพระองค์เปลี่ยนไม่ได้ กล้าเปลี่ยนสิ่งที่ข้าพระองค์เปลี่ยนได้ และมีสติปัญญาในการแยกแยะ” ถ้อยคำเหล่านี้คล้องจองอย่างไพเราะกับถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17: “ฉะนั้น, … ให้เราทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริงเถิด; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์”

พระผู้เป็นเจ้าประทานความสงบสุขแก่เราเมื่อเราวางใจว่าพระองค์ทรงสามารถช่วยเราได้ เรายอมรับว่าแม้เราไม่สามารถควบคุมการเลือกและการกระทําของผู้อื่นได้ แต่เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะทําอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ที่เราเผชิญ เราตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะวางใจพระบิดาในสวรรค์และทําตามพระประสงค์ของพระองค์ เรามอบเจตนารมณ์และชีวิตเราให้พระองค์ทรงดูแล เราตัดสินใจที่จะเชื่อฟังพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์

ในการบําบัด เราพบว่าเราต้องฝึกขั้นตอนที่ 3 บ่อยๆ บางครั้งดูเหมือนว่าเราจําเป็นต้องเริ่มมุ่งมั่นใหม่ซ้ำๆ ในแต่ละช่วงเวลาหรือในแต่ละวัน ไม่สําคัญว่าเราต้องเริ่มใหม่อีกกี่ครั้ง ทุกครั้งที่เราเริ่มใหม่ เรารู้สึกถึงความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าและความรักของพระองค์ และเราเข้มแข็งขึ้นในการบำบัดของเรา เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์เตือนเราว่า “การศิโรราบทางวิญญาณไม่ลุล่วงในพริบตา แต่ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนการใช้ศิลาข้ามสายธารติดต่อกัน ศิลาข้ามสายธารวางไว้ให้ทีละก้าว … จนในที่สุดเจตนารมณ์ของเราจะ ‘ถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระบิดา’ เรา ‘จะยอม … ดังเด็กยินยอมต่อบิดาของตน’ (ดู โมไซยาห์ 15:7; 3:19)” (“จงอุทิศการกระทําของท่าน,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 45)

ทบทวนและต่อพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

การวางใจพระผู้เป็นเจ้าในทุกสิ่งเปรียบเสมือนการสวมแว่นตาคู่ใหม่และมองเห็นทุกสิ่งอย่างชัดเจน เมื่อเราตัดสินใจมอบเจตนารมณ์ของเราให้พระผู้เป็นเจ้า เราจะเริ่มประสบกับการปลอบโยนและปีติที่มาจากการแสวงหาและทําตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ วิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรายินดีวางใจพระผู้เป็นเจ้าคือการเตรียมรับศีลระลึกอย่างมีค่าควร

พูดคุยกับอธิการหรือประธานสาขาเกี่ยวกับการเสพติดและการตัดสินใจทําตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ตั้งใจเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกทุกสัปดาห์ ขณะที่ท่านนมัสการ จงตั้งใจฟังคําสวดอ้อนวอนศีลระลึกและพิจารณาของประทานที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานให้ท่าน จากนั้นให้ต่อคํามั่นสัญญาของท่านที่จะยอมรับและทําตามพระประสงค์ของพระองค์สําหรับชีวิตท่านโดยรับส่วนศีลระลึกหากอธิการหรือประธานสาขาเห็นชอบว่าท่านพร้อมจะทําเช่นนั้น

ขณะการบำบัดดําเนินไป ท่านจะพบว่าตนเองเต็มใจมากขึ้นที่จะอยู่ท่ามกลางผู้ที่ให้เกียรติการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะเริ่มสัมผัสกับความจริงที่ว่า “ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทําไม่ได้” (ลูกา 1:37)

ศึกษาและทำความเข้าใจ

พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยในการบำบัดของเรา เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก นิสัยโดยทั่วไปของเรามักมองหาทางบำบัดที่ง่ายและสบายที่สุด แต่ตอนนี้เรารู้ว่าการเป็นคนซื่อสัตย์และแน่วแน่มีประโยชน์มากกว่า เมื่อเราทบทวนคําตอบของคําถามต่อไปนี้กับผู้อุปถัมภ์และคนอื่นๆ เราจะเห็นมุมมองและแรงจูงใจของเราอย่างชัดเจน

พบความสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

“จงคืนดีกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า, และมิใช่กับความประสงค์ของมารและเนื้อหนัง; และจงจำไว้, หลังจากท่านคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ว่าเป็นไปในและโดยผ่านพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ท่านได้รับการช่วยให้รอด” (2 นีไฟ 10:24)

  • คำว่า คืนดี หมายถึงอะไร?

  • การดําเนินชีวิตของฉันให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร?

  • ฉันจะรู้สึกถึงเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตได้อย่างไรเมื่อฉันหันไปหาพระองค์?

  • ฉันรู้สึกอย่างไรกับการให้พระผู้เป็นเจ้าทรงนําชีวิตฉัน?

  • มีสิ่งใดขัดขวางไม่ให้พระองค์ทรงชี้นําชีวิตฉัน?

การยอมรับต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

“สัมภาระซึ่งวางอยู่บนแอลมาและพี่น้องของท่านเบาลง; แท้จริงแล้ว, พระเจ้าทรงเพิ่มพละกำลังให้พวกเขา เพื่อพวกเขาจะทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย, และพวกเขายอมรับอย่างชื่นบานและด้วยความอดทนต่อพระประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้า” (โมไซยาห์ 24:15)

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงขจัดภาระของแอลมากับผู้คนของเขาได้ แต่พระองค์ทรงเสริมกำลังเพื่อให้พวกเขา “ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย” สังเกตว่าพวกเขาไม่บ่นแต่ยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างร่าเริงและอดทน ลองนึกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จำเป็นต้องมีเมื่อเราเต็มใจยอมให้ภาระเบาลงทีละน้อยแทนที่จะเบาในทันที

  • การยอมต่อพระผู้เป็นเจ้ามีความหมายอย่างไร?

  • ฉันจะยอมตามได้อย่างไร?

  • ฉันรู้สึกอย่างไรกับการยอมต่อจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความเต็มใจและอดทน?

  • ฉันจะมีกำลังใจที่จะพยายามทำตามพระประสงค์ของพระองค์ต่อไปได้อย่างไร?

อดอาหารและสวดอ้อนวอน

“‌เขาอดอาหารและสวดอ้อนวอนบ่อยครั้ง, และเข้มแข็งยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในความนอบน้อมของตน, และมั่นคงยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในศรัทธาแห่งพระคริสต์, จนถึงการทำให้จิตวิญญาณพวกเขาเปี่ยมด้วยปีติและการปลอบประโลม, แท้จริงแล้ว, แม้ถึงการชำระและทำให้ใจพวกเขาบริสุทธิ์, ซึ่งการชำระให้บริสุทธิ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะการยอมถวายใจพวกเขาต่อพระผู้เป็นเจ้า” (ฮีลามัน 3:35).

  • ข้อนี้บรรยายถึงผู้ที่ยอมถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้า การอดอาหารช่วยให้ฉันถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเสพติดได้อย่างไร?

  • ฉันจะมุ่งมั่นสวดอ้อนวอนในเวลาที่ถูกล่อลวงเพื่อทูลขอความนอบน้อมถ่อมตนและศรัทธาในพระคริสต์หรือไม่? เหตุใดจึงคิดหรือไม่คิดเช่นนั้น?

  • ฉันเต็มใจที่จะถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้าแทนการเสพติดมากน้อยเพียงใด?

นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า

“แต่ดูเถิด, พระองค์ทรงปลดปล่อยพวกเขาเพราะพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระองค์; และเพราะพวกเขาร้องทูลอย่างสุดกำลังต่อพระองค์ พระองค์จึงทรงปลดปล่อยพวกเขาออกจากความเป็นทาส; และดังนั้นพระเจ้าจึงทรงทำงานด้วยเดชานุภาพของพระองค์ในทุกเรื่องในบรรดาลูกหลานมนุษย์, โดยทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้คนที่มอบความไว้วางใจของพวกเขาในพระองค์” (โมไซยาห์ 29:20)

การนอบน้อมถ่อมตนเป็นการตัดสินใจ เราอาจถูกล่อลวงให้เชื่อว่าถึงแม้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยคนอื่นแล้ว แต่พระองค์จะไม่ทรงช่วยเราเพราะเราหมดหนทางและสิ้นหวัง เราสามารถรับรู้ได้ว่านี่เป็นคำโกหกหลอกลวง ในความจริงแล้ว เราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

  • ความรู้นี้ช่วยให้ฉันนอบน้อมถ่อมตนและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

  • มีความคิดและความเชื่อผิดๆ อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและเกี่ยวกับฉันที่กีดกั้นฉันจากการร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าอย่างสุดกําลังเพื่อขอการปลดปล่อยจากพันธนาการ?

เลือกที่จะวางใจพระผู้เป็นเจ้า

“‌ข้าพเจ้าอยากให้ท่านถ่อมตน, และว่าง่ายและอ่อนโยน; รับฟังคำวิงวอนจากผู้อื่น; เปี่ยมด้วยความอดทนและความอดกลั้น; รู้จักยับยั้งตนในทุกสิ่ง; ขยันหมั่นเพียรในการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา; ขอในสิ่งใดก็ตามที่ท่านขัดสน, ทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก; น้อมขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าเสมอในสิ่งใดก็ตามที่ท่านได้รับ” (แอลมา 7:23)

การวางใจพระผู้เป็นเจ้าเป็นการเลือก การบำบัดเกิดขึ้นโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าแต่ก็เฉพาะหลังจากที่เราเลือกยอมตามพระประสงค์ของพระองค์เท่านั้น การตัดสินใจของเราเปิดช่องทางให้เดชานุภาพของพระองค์หลั่งไหลเข้ามาในชีวิตเรา พระคัมภีร์ข้อนี้พูดถึงคุณสมบัติที่เราต้องมีเพื่อยอมให้ชีวิตและเจตนารมณ์ของเราอยู่ในความดูแลของพระผู้เป็นเจ้า

  • ฉันขาดคุณสมบัติข้อใดต่อไปนี้?

  • ใครสามารถช่วยฉันพัฒนาคุณสมบัติที่ฉันขาดได้?

  • คุณสมบัติใดที่ฉันสามารถพัฒนาได้ในวันนี้?

  • ฉันจะทําอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อเริ่มพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้?

เป็นเหมือนเด็ก

“‌มนุษย์ปุถุชนเป็นศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้า, และเป็นมาแล้วนับแต่การตกของอาดัม, และจะเป็นไป, ตลอดกาลและตลอดไป, เว้นแต่เขาจะยอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์, และทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า, และกลายเป็นดังเด็ก, ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, เปี่ยมด้วยความรัก, เต็มใจยอมในสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงเห็นควรจะอุบัติแก่เขา, แม้ดังเด็กยินยอมต่อบิดาตน” (โมไซยาห์ 3:19)

พวกเราหลายคนได้รับการปฏิบัติอย่างไร้เมตตาจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ดังนั้นการเป็น “เด็ก” จึงเป็นเรื่องท้าทายและอาจแม้กระทั่งน่ากลัว

  • นี่เป็นกรณีของฉันหรือไม่? ฉันมีปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไขกับบิดาหรือมารดาหรือไม่?

  • ฉันจะทําอะไรได้บ้างเพื่อแยกความรู้สึกเกี่ยวกับบิดามารดาออกจากความรู้สึกที่ฉันมีต่อพระผู้เป็นเจ้า?

สื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้า

“[พระเยซูคริสต์] ทรงคุกเข่าลงอธิษฐานว่า ข้า‍แต่พระ‍บิดา ถ้าพระ‍องค์พอ‍พระ‍ทัย ขอให้ถ้วยนี้เลื่อน‍พ้น‍ไปจากข้า‍พระ‍องค์ แต่อย่าง‍ไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตาม‍ใจข้า‍พระ‍องค์ แต่ให้เป็นไปตามพระ‍ทัยของพระ‍องค์” [ลูกา 22:41–42]

ในคําสวดอ้อนวอนนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เห็นถึงความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะยอมต่อพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ทรงแสดงความปรารถนา แต่จากนั้นทรงทําตามพระประสงค์ของพระบิดาอย่างนอบน้อมถ่อมตน นับเป็นพรที่สามารถบอกความรู้สึกของเรากับพระผู้เป็นเจ้าได้

  • การรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเข้าใจความกลัว ความเจ็บปวด หรืออะไรก็ตามที่ฉันรู้สึกช่วยให้ฉันพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” ได้อย่างไร?