“ขั้นตอนที่ 7: ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์อย่างนอบน้อมถ่อมตนให้ทรงขจัดข้อบกพร่องของเรา” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)
“ขั้นตอนที่ 7,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด
ขั้นตอนที่ 7: ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์อย่างนอบน้อมถ่อมตนให้ทรงขจัดข้อบกพร่องของเรา
หลักธรรมสําคัญ: ความนอบน้อมถ่อมตน
ขั้นตอนก่อนหน้านี้ทั้งหมดได้เตรียมเราสําหรับขั้นตอนนี้ ขั้นตอนที่ 1 ช่วยให้เรานอบน้อมถ่อมตนและยอมรับว่าเราไม่มีพลังเหนือการเสพติดของเรา ขั้นตอนที่ 2 และ 3 ช่วยให้เรามีศรัทธาและความเชื่อมั่นในพระเจ้ามากพอที่จะทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ รายการสำรวจตนเองจากขั้นตอนที่ 4 ช่วยให้เราเห็นอุปนิสัยและพฤติกรรมของเราชัดเจนขึ้น การปฏิบัติขั้นตอนที่ 5 แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของเราที่จะซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อตัวเราเอง และต่อผู้อื่น ขั้นตอนที่ 6 ช่วยให้เราพร้อมและเต็มใจทิ้งความอ่อนแอของอุปนิสัย ตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะดําเนินการขั้นตอนที่ 7 เรามุ่งเน้น “วิธี” ในการปฏิบัติแต่ละขั้นตอน: นอบน้อมถ่อมตน เปิดใจกว้าง และเต็มใจ
ทุกขั้นตอนต้องอาศัยความนอบน้อมถ่อมตน แต่ขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยมากที่สุด นั่นคือ “ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์อย่างนอบน้อมถ่อมตนให้ทรงขจัดข้อบกพร่องของเรา” เมื่อเราพยายามผ่านสองสามขั้นตอนแรกในการบำบัด เราเรียนรู้ว่าไม่ว่าเราจะพยายามหนักเพียงใด เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพบการบำบัดได้หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระเจ้า ขั้นตอนนี้ก็ไม่ต่างกัน แน่วแน่ต่อศรัทธา อธิบายความนอบน้อมถ่อมตนไว้ดังนี้ “นอบน้อมถ่อมตนคือยอมรับด้วยความกตัญญูว่าท่านต้องพึ่งพาพระเจ้า—เข้าใจว่าท่านต้องการการสนับสนุนจากพระองค์ตลอดเวลา” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004],86)
บางคนเริ่มกลับเข้าไปในวิถีเดิมๆ และพยายามเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง แต่เมื่อเรารับรู้ข้อบกพร่องและความอ่อนแอมากมายของเรา เราเรียนรู้ว่าเราต้องพึ่งพาพระเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงช่วยเปลี่ยนแปลง แม้เราจะปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 7 แต่เราไม่ได้รับการยกเว้นจากงานที่เราต้องทำ เราต้องอดทนและ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์” (2 นีไฟ 31:20) เราต้องมีเครื่องเตือนใจอยู่เสมอเพื่อหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าและทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์
เราสงสัยว่าปาฏิหาริย์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร ซึ่งแตกต่างกันสําหรับเราแต่ละคน แต่มีบางสิ่งที่คล้ายกันอยู่บ้าง น้อยครั้งที่ผู้คนจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงตัวตนอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด กระบวนการค่อยเป็นค่อยไปของขั้นตอนที่ 6 และ 7 มักจะเกิดขึ้นในแบบที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายไว้:
“เราในฐานะสมาชิกศาสนจักรมีแนวโน้มที่จะเน้นเรื่องการแสดงให้ประจักษ์ทางวิญญาณอันอัศจรรย์และน่าตื่นเต้นประทับใจจนเราอาจไม่เห็นคุณค่าและแม้แต่มองข้ามแบบแผนดั้งเดิมที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใช้ทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ … [ซึ่งเกิดขึ้นผ่าน] การกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่เพิ่มขึ้นทีละน้อย” (“วิญญาณแห่งการเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 111)
เมื่อเราเลือกยอมจํานนต่อพระผู้เป็นเจ้าและทําให้ความประสงค์ของเราสอดคล้องกับพระองค์ ทุกๆ วันของเราจะเต็มไปด้วยช่วงเวลาเล็กๆ ซึ่งพระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เราหยุดการตอบสนองแบบเดิมๆ และตอบโต้ตามอารมณ์ เพื่อหันมาพึ่งพาเดชานุภาพของพระองค์ในการช่วยเหลือ หนุนใจ และรักแทน ซิสเตอร์รีเบกกา แอล. เครเวนสอนว่า “อย่าท้อแท้ การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการตลอดชีวิต … เมื่อเราดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนแปลง พระเจ้าทรงอดทนกับเรา” (“เก็บการเปลี่ยนแปลง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 59)
ไม่ว่าการเสพติดของเราเป็นแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การพนัน ตัณหาทางเพศ รูปแบบการกินที่ส่งผลเสียต่อตนเอง การใช้จ่ายแบบควบคุมไม่ได้ หรือพฤติกรรมหรือสารเสพติดอื่นๆ ที่เราเคยใช้รับมือกับความเครียดในชีวิต พระผู้ช่วยให้รอดจะทรง “ช่วย [เรา] ตามความทุพพลภาพ [ของเรา]” (แอลมา 7:12) เมื่อเราเต็มใจเปลี่ยนโดยมาหาพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับเดชานุภาพการเยียวยาของพระองค์
ขณะปฏิบัติขั้นตอนนี้ พวกเราหลายคนพบว่าเราต้องต่อสู้กับแนวโน้มที่จะรู้สึกละอายใจ การมองดูข้อบกพร่องของเราทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ดีพอหรือเราล้มเหลวอีกครั้ง แต่การปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ และการมาหาพระคริสต์ทําให้เรามีวิธีใหม่ในการมองตนเอง เรารู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเราในฐานะบุตรธิดาที่รักของพระองค์ ความรักนี้ช่วยเราขจัดความรู้สึกอับอายและสงสารตัวเอง
เราเริ่มมองว่าข้อบกพร่องและความอ่อนแอเป็นโอกาสทูลขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตนเพื่อมุ่งหน้าต่อไปในเส้นทางบําบัดของเรา
ขั้นตอนการปฏิบัติ
นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่าการ “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา
ทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทําสิ่งที่เราทําด้วยตนเองไม่ได้
ในทุกๆ วันเราดําเนินชีวิตตามขั้นตอนที่ 7 อย่างไร? เราหยุดพักตัวเราเองในช่วงเวลาของวันเมื่อความเอาแต่ใจของเรากลับมาหรือเมื่อเราเห็นความอ่อนแอของเราเอง ในช่วงเวลาเหล่านี้ เรายอมจํานนและรับฟัง เราจําได้ว่าเราไม่มีพลังเปลี่ยนแปลงตนเองโดยลําพัง และเราวางใจว่าพระเจ้าทรงสามารถเปลี่ยนเราได้ จากนั้นเรามุ่งหน้าต่อไปโดยพึ่งพาพระองค์ เราปล่อยวางในสิ่งที่เราทําไม่ได้ และเราทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเรา
สิ่งนี้เรียกร้องให้หันไปหาพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอน “เราแต่ละคนมีปัญหาที่เราแก้ไม่ได้และความอ่อนแอที่เราเอาชนะไม่ได้หากไม่ยื่นมือออกไปโดยการสวดอ้อนวอนไปยังแหล่งพลังที่สูงกว่า” (เจมส์. เฟาสท์, “การสวดอ้อนวอนเป็นเสมือนเชือกช่วยชีวิต” เลียโฮนา, พ.ค. 2002, 59)
เมื่อเราสวดอ้อนวอนอย่างมีความหมายและอย่างมีจุดประสงค์ เราจะเข้าถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเรายอมให้ตนเองมีเวลาและสถานที่สงบสุขเพื่อเชื่อมต่อกับพระเจ้า เราจะสามารถสร้างและกระชับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าได้ โดยการสวดอ้อนวอนที่เรียบง่ายเสมอในใจเรา เช่น “พระเจ้า พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทําอะไร?” (กิจการของอัครทูต 9:6) หรือ “ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 109:44) เราจะระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องพึ่งพาพระเจ้าทั้งหมด ความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราจะช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ซึ่งเราสามารถสละตัวตนทั้งหมดของเรา
ศึกษาคําสวดอ้อนวอนศีลระลึก
คําสวดอ้อนวอนศีลระลึกเป็นการแสดงออกที่ยอดเยี่ยมถึงความนอบน้อมถ่อมตนและเจตนาเบื้องหลังขั้นตอนที่ 7 เรามีโอกาสรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์และไตร่ตรองคําสวดอ้อนวอนศีลระลึก
เราแนะนําให้อ่าน โมโรไน 4:3; 5:2 และประยุกต์ใช้ถ้อยคําอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อย่างนอบน้อมถ่อมตนในเสียงของท่านเองดังนี้: “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, [ข้าพระองค์] ทูลขอพระองค์ในพระนามของพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์, โปรดประทานพรและทําให้ขนมปังนี้ศักดิ์สิทธิ์แก่ [จิตวิญญาณของข้าพระองค์ขณะที่ข้าพระองค์] รับส่วนขนมปังนั้น; เพื่อ [ข้าพระองค์] จะรับประทานในความระลึกถึงพระวรกายของพระบุตรของพระองค์, และเป็นพยานต่อพระองค์, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, ว่า [ข้าพระองค์] เต็มใจรับพระนามของพระบุตรของพระองค์ไว้กับ [ข้าพระองค์เอง], และระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา, และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ซึ่งพระองค์ประทานให้ [ข้าพระองค์], เพื่อ [ข้าพระองค์] จะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [ข้าพระองค์] ตลอดเวลา” (โมโรไน 4:3)
เมื่อเรานึกถึงคําสวดอ้อนวอนศีลระลึกในลักษณะนี้ เราสามารถเข้าเฝ้าพระผู้ช่วยให้รอดเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สํานึกผิด เมื่อเรานึกถึงความอ่อนแอของเราหรือความผิดพลาดที่เราอาจเคยทํา เราสามารถหันใจไปหาพระองค์ได้ เราสามารถทูลขอให้พระองค์ทรงช่วยให้เรากลับใจ เป็นคนดีขึ้น และขจัดข้อบกพร่องเหล่านี้
ศึกษาและทำความเข้าใจ
พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานเขียนของเราเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนนั้น
พระคุณของพระองค์เพียงพอ
“และหากมนุษย์มาหาเรา เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา. เราให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะนอบน้อม; และพระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา; เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27)
เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ เราทุกคนจึงมีความอ่อนแอมากมาย ในพระคัมภีร์ข้อนี้ พระเจ้าทรงอธิบายว่าจุดประสงค์ของพระองค์ที่ให้เราประสบความเป็นมรรตัยและเผชิญความอ่อนแอเช่นนั้นก็เพื่อช่วยให้เรานอบน้อมถ่อมตน สังเกตว่าเรา เลือก ที่จะนอบน้อมถ่อมตน
-
วลี “พระคุณของเราเพียงพอสําหรับคนทั้งปวง” มีความหมายต่อฉันอย่างไร?
-
ฉันมีศรัทธาหรือไม่ว่าพระคุณของพระเจ้าเพียงพอสําหรับฉัน?
-
ฉันจะนอบน้อมถ่อมตนได้อย่างไรต่อเบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า?
-
ระบุความอ่อนแอของอุปนิสัยของท่าน ข้างๆ ความอ่อนแอที่เขียนนั้น ให้เขียนความเข้มแข็งที่อาจมีเมื่อท่านมาหาพระคริสต์
จงเลือกที่จะนอบน้อมถ่อมตน
“และบัดนี้, ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ว่าเพราะท่านถูกบีบบังคับให้ถ่อมตนท่านจึงได้รับพร, ท่านคิดหรือไม่ว่าคนที่นอบน้อมถ่อมตนโดยแท้เพราะพระวจนะจะได้รับพรมากกว่า” (แอลมา 32:14)
พวกเราส่วนใหญ่มาเข้าการประชุมบำบัดด้วยความสิ้นหวัง แรงจูงใจของเรามาจากผลกระทบของการเสพติดของเรา เราถูกบีบบังคับให้นอบน้อมถ่อมตน แต่ความนอบน้อมถ่อมตนที่อธิบายไว้ในขั้นตอนนี้เป็นความสมัครใจ เป็นผลจากการเลือกของเราที่จะนอบน้อมถ่อมตน
-
ความรู้สึกนอบน้อมถ่อมตนของฉันเปลี่ยนไปอย่างไรตั้งแต่ฉันเริ่มบำบัด?
เปี่ยมด้วยปีติ
“และพวกเขาเห็นตนเองอยู่ในสภาพทางเนื้อหนังของตน, แม้น้อยกว่าผงธุลีของแผ่นดินโลก และพวกเขาทั้งหมดร้องออกมาเป็นเสียงเดียวกัน, มีความว่า: โอ้ทรงโปรดเมตตา, แล้วทรงโปรดใช้พระโลหิตที่ชดใช้ของพระคริสต์เพื่อพวกข้าพระองค์จะได้รับการให้อภัยบาปของพวกข้าพระองค์, และใจพวกข้าพระองค์จะถูกทำให้บริสุทธิ์; เพราะพวกข้าพระองค์เชื่อในพระเยซูคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก, และสิ่งทั้งปวง; ผู้จะเสด็จลงมาในบรรดาลูกหลานมนุษย์
“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือหลังจากพวกเขาพูดถ้อยคำนี้แล้วพระวิญญาณของพระเจ้าเสด็จมาบนพวกเขา, และพวกเขาเปี่ยมด้วยปีติ, โดยที่ได้รับการปลดบาปของพวกเขา, และโดยที่มีความสงบในมโนธรรม, เพราะศรัทธายิ่งที่พวกเขามีในพระเยซูคริสต์ผู้จะเสด็จมา” (โมไซยาห์ 4:2–3)
ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินถวายคําสวดอ้อนวอนแบบที่เราสวดขณะที่เราปฏิบัติขั้นตอนที่ 7 พวกเขารู้สึกถึงสันติสุขและปีติเมื่อพระวิญญาณของพระเจ้าเสด็จมาบนพวกเขาและประทานการปลดบาปแก่พวกเขา
-
ฉันเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างเมื่อรู้สึกถึงสันติสุขและปีติ?
-
ความรู้สึกที่จะมีสันติสุขและปีติในชีวิตทุกวันเป็นอย่างไร?
เชื่อฟังพระบัญญัติ
“จงติดสนิทอยู่กับเราและเราติดสนิทอยู่กับพวกท่าน แขนงจะออกผลเองไม่ได้นอกจากจะติดสนิทอยู่กับเถา พวกท่านก็เช่นเดียวกัน จะเกิดผลไม่ได้นอกจาก จะติดสนิทอยู่กับเรา
“เราเป็นเถาองุ่น พวกท่านเป็นแขนง คนที่ติดสนิทอยู่กับเรา และเราติดสนิทอยู่กับเขา คนนั้นจะเกิดผล มาก เพราะว่าถ้าแยกจากเราแล้ว พวกท่านจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย
“ถ้าพวกท่านประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะติดสนิทอยู่กับความรักของเรา เหมือนอย่างที่เรา ประพฤติตามบัญญัติของพระบิดา และติดสนิทอยู่กับความรักของพระองค์
“เราบอกสิ่งเหล่านี้กับพวกท่านแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่ในท่าน และให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม” (ยอห์น 15:4–5, 10–11)
-
ถ้าฉันรักษาพระบัญญัติของพระผู้ช่วยให้รอด “[ฉัน] จะติดสนิทอยู่กับความรัก [ของพระองค์]” หมายความว่าอย่างไร? (ข้อ 10)
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พรที่สัญญาไว้จากการติดสนิทอยู่กับพระองค์มีอะไรบ้าง?
-
วันนี้ฉันรู้สึกอย่างไรกับการรักษาพระบัญญัติของพระผู้ช่วยให้รอด?
-
การรักษาพระบัญญัติเป็นการแสดงความรักที่ฉันมีต่อพระเจ้าอย่างไร?
ความรักของพระผู้เป็นเจ้า
“เมื่อเราให้พระผู้เป็นเจ้ามาก่อน สิ่งอื่นทั้งหมดตกไปอยู่ในลำดับที่เหมาะสมหรือหลุดออกจากชีวิตเรา ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจะควบคุมการเรียกร้องทางอารมณ์ของเรา การเรียกร้องเวลาของเรา ความสนใจที่เราเสาะแสวงหา และการจัดลำดับความสำคัญของเรา” (Ezra Taft Benson, “The Great Commandment—Love the Lord,” Ensign, May 1988, 4)
เมื่อได้รู้จักพระเมตตาและพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าจนถึงตอนนี้ เราคงจะเริ่มรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า—ต่อพระองค์และจากพระองค์
-
ฉันรู้สึกถึงความรักเพิ่มขึ้นขณะปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ หรือไม่? หากใช่ เพราะเหตุใด?
-
ขั้นตอนที่ 7 ช่วยให้ฉันจัดลําดับความสําคัญใหม่และให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตได้อย่างไร?
การรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับตัวเรา
“และบัดนี้, เพราะพันธสัญญาที่ท่านทำไว้จะเรียกท่านว่าลูก ๆ ของพระคริสต์, บุตรของพระองค์, และธิดาของพระองค์; …
“… ข้าพเจ้าจึงอยากให้ท่านรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับท่าน, ท่านทั้งหมดที่เข้ามาในพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าท่านจะเชื่อฟังไปจนที่สุดแห่งชีวิตท่าน …
“ผู้ใดก็ตามที่ทำเช่นนี้จะพบอยู่เบื้องพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า, เพราะเขาจะรู้จักชื่อซึ่งจะเรียกเขาโดยชื่อนั้น; เพราะจะเรียกเขาตามพระนามของพระคริสต์.” (โมไซยาห์ 5:7–9)
-
การถูกเรียกตามพระนามของพระคริสต์และเป็นตัวแทนของพระองค์หมายความว่าอย่างไร?
-
ฉันต้องทำอย่างไรเพื่อจะอยู่ทางขวาพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า?
-
ฉันทําพันธสัญญาว่าจะทําอะไรบ้าง เมื่อฉันรับบัพติศมาและรับส่วนศีลระลึก? (ดู โมไซยาห์ 5:7–9; 18:8–10, 13; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79)
-
ฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อนึกถึงความเต็มพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะประทานพระนามของพระองค์ให้ฉันแลกกับการทําพันธสัญญากับพระองค์ว่าจะเชื่อฟังและรับใช้พระองค์ ซึ่งรวมถึงการละทิ้งข้อบกพร่องของฉันด้วย?
ยอมสละความอ่อนแอของเรา
“ศาสนาที่ไม่เรียกร้องการเสียสละอะไรเลยไม่มีพลังอำนาจมากพอจะก่อให้เกิดศรัทธาอันจำเป็นต่อชีวิตและความรอด” (Lectures on Faith [1985], 69)
-
บางคนอ่านถ้อยคําเหล่านี้และคิดว่า “ทุกสิ่ง” หมายถึงทรัพย์สมบัติทั้งหมด การยอมสละความอ่อนแอทั้งหมดของฉันให้กับพระเจ้าทำให้ฉันเข้าใจมากขึ้นอย่างไรว่าการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างหมายถึงอะไร?