การเสพติด
ขั้นตอนที่ 8: เขียนรายชื่อบุคคลที่เราได้กระทำผิดต่อพวกเขา ‌และเต็มใจที่จะชดใช้แก่เขาเหล่านั้น


“ขั้นตอนที่ 8: เขียนรายชื่อบุคคลที่เราได้กระทำผิดต่อพวกเขา ‌และเต็มใจที่จะชดใช้แก่เขาเหล่านั้น,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: โครงการบําบัดการเสพติด คู่มือการฟื้นฟู 12 ขั้นตอน (2023)

“ขั้นตอนที่ 8,” โครงการบําบัดการเสพติด คู่มือการฟื้นฟู 12 ขั้นตอน

ผู้หญิงพูดกับกลุ่ม

ขั้นตอนที่ 8: เขียนรายชื่อบุคคลที่เราได้กระทำผิดต่อพวกเขา ‌และเต็มใจที่จะชดใช้แก่เขาเหล่านั้น

5:13

หลักธรรมสําคัญ: เตรียมชดใช้

ก่อนที่จะเริ่มการบำบัด วิถีชีวิตที่เสพติดของเราก็เหมือนกับพายุทอร์นาโดที่เต็มไปด้วยพลังงานทำลายล้างที่พัดผ่านความสัมพันธ์ของเราและทิ้งความเสียหายมากมายเอาไว้เบื้องหลัง ขณะที่เราปฏิบัติขั้นตอนที่ 7 เรารู้สึกถึงพลังเยียวยาแห่งพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด และเรารู้สึกกระตือรือร้นที่จะแก้ไขความสัมพันธ์ที่แตกสลาย ขั้นตอนที่ 8 เป็นโอกาสให้เขียนรายชื่อคนและสถาบันที่เราเคยทําร้าย จากนั้นให้วางแผนแก้ไขให้ดีขึ้นและสร้างความสัมพันธ์ของเราอีกครั้ง

ขณะที่เราปฏิบัติตามขั้นตอนการบำบัด เราค้นพบว่าสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ 12 ขั้นตอนนี้คือลำดับที่เขียนไว้ บ่อยครั้งมักมีขั้นตอนการเตรียมตัวที่มาก่อนขั้นตอนที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก ขั้นตอนที่ 8 พร้อมกับขั้นตอนก่อนหน้านี้ทั้งหมดเป็นการเตรียมให้เราพร้อมสําหรับขั้นตอนที่ 9 ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญนอกเหนือจากของเราเอง

เราเรียนรู้จากผู้ที่เคยผ่านขั้นตอนที่ 8 มาแล้วว่าการรีบร้อนชดใช้โดยไม่เตรียมตัวนั้นอาจส่งผลเสียไม่ต่างจากการไม่ชดใช้เลย เราจึงต้องใช้เวลาในการสวดอ้อนวอน ขอคําแนะนําจากคนที่เราไว้วางใจ เช่น ผู้อุปถัมภ์ หรือผู้นําศาสนจักร แล้วจึงวางแผน การเตรียมในขั้นตอนที่ 8 นี้ป้องกันไม่ให้เราทําร้ายความสัมพันธ์ของเรามากขึ้นเมื่อเราเริ่มติดต่อผู้คนในขั้นตอนที่ 9

เขียนรายการ

ก่อนที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่เราต้องระบุและเขียนรายการความสัมพันธ์ที่ได้รับความเสียหาย เราใช้รายการสำรวจตนเอง จากขั้นตอนที่ 4 เพื่อเตรียมรายการของเรา ขณะที่ทบทวนรายการของเราร่วมกับการสวดอ้อนวอน พระวิญญาณทรงช่วยชี้ให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่เราเคยทำร้าย พวกเราที่เคยทำแผนผังไว้ในขั้นตอนที่ 4 พบว่าวิธีนี้ช่วยให้การระบุบุคคลและสถาบันเหล่านี้ง่ายขึ้น (ดูตัวอย่างแผนผังในภาคผนวก)

เราพบว่าแนวทางต่อไปนี้เป็นประโยชน์ขณะเราทํารายการ เราถามตนเองว่า “มีใครในชีวิตฉันทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน ที่ฉันรู้สึกลำบากใจ อึดอัด หรืออับอายเมื่ออยู่ใกล้บ้าง?” เราเขียนชื่อพวกเขาลงไป และต้านทานการล่อลวงที่จะแก้ต่างความรู้สึกของเรา หรือหาข้ออ้างให้การกระทําด้านลบของเราต่อพวกเขา เราใส่รายชื่อทั้งคนที่เราตั้งใจทำร้าย และคนที่เราไม่ได้ตั้งใจทำร้าย เราใส่ชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่เราไม่รู้ว่าจะติดต่ออย่างไร เราเน้นไปที่กรณีพิเศษเหล่านี้ ในขณะที่เราปฏิบัติขั้นตอนที่ 9 ขณะที่เราปฏิบัติขั้นตอนที่ 8 เราจดจ่ออยู่กับความกล้าหาญในความซื่อสัตย์ของเรา

เราพยายามไม่ละทิ้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เราคิดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอันตรายที่เราเคยก่อไว้กับผู้อื่นขณะที่เราหมกมุ่นอยู่กับการเสพติดแม้เราจะไม่ได้ก้าวร้าวต่อพวกเขาก็ตาม เราระบุชื่อคนที่เรารักและเพื่อนที่เราเคยทําร้ายเนื่องจากความโกรธเคือง ความไม่รับผิดชอบ ความฉุนเฉียว การวิจารณ์ ความใจร้อน การไม่ซื่อสัตย์ และการขาดความเคารพ หากเราเพิ่มภาระให้ผู้อื่นไม่ว่าในลักษณะใด ให้เราใส่บุคคลเหล่านี้ไว้ในรายการของเรา เราพยายามเขียนรายชื่อทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากคําโกหกที่เราพูด สัญญาที่เราผิด และวิธีที่เราจัดการหรือใช้พวกเขา เรานึกถึงคนที่เราไม่ได้ให้อภัย และเราใส่พวกเขาเข้าไปในรายการของเราด้วย

หลังจากระบุชื่อคนที่เราทําร้ายแล้ว เราเพิ่มอีกหนึ่งชื่อเข้าไปในรายการ—ชื่อของเราเอง เมื่อเราหมกมุ่นอยู่กับการเสพติด เราทําร้ายตนเองและผู้อื่น วิธีดีที่สุดที่เราจะชดใช้ให้กับตัวเราเองได้คือการบําบัดการเสพติด พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถช่วยเราให้อภัยตนเองและชดใช้ เมื่อเรารู้สึกถึงความรักและการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้า ความรู้สึกละอายใจถูกแทนที่ด้วยความเต็มใจที่จะชดใช้

รู้สึกเต็มใจ

หลังจากเราทํารายการแล้ว เราต้องเต็มใจที่จะชดใช้ หลายคนพบว่าไม่สามารถระบุชื่อบุคคลและสถาบันที่เราทําร้ายได้โดยไม่ถูกรบกวนจากความโกรธแค้นของเราต่อคนที่ทําร้ายเราเช่นกัน ผู้คนมักติดอยู่ในวงจรเลวร้ายของความโกรธแค้นซึ่งกันและกัน เพื่อตัดวัฏจักรเหล่านี้ ต้องมีผู้ที่เต็มใจให้อภัย

เมื่อเราสารภาพความรู้สึกด้านลบของเราอย่างตรงไปตรงมา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเราทําลายวัฏจักรของความโกรธแค้น พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นว่าเราต้องให้อภัยผู้อื่นเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงให้อภัยเรา ในคําอุปมาเรื่องชายที่ได้รับการยกหนี้ทั้งหมดของเขา แต่ไม่ต้องการให้อภัยผู้อื่น เจ้านายพูดกับเขาว่า “เรายกหนี้ให้เอ็งทั้งหมด ก็เพราะเอ็งอ้อนวอนเรา: เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนทาสด้วยกัน เหมือนเราเมตตาเอ็งไม่ใช่หรือ?” (มัทธิว 18:32–33)

ขณะที่เราพยายามเต็มใจชดใช้คนที่ทําร้ายเรา เราวิงวอนขอพระคุณของพระคริสต์ให้ทรงช่วยเรามอบพระเมตตาแบบเดียวกับที่พระองค์ประทานแก่เรา เราทําตามคําแนะนําของพระผู้ช่วยให้รอดให้สวดอ้อนวอนเพื่อความผาสุกของพวกเขาและขอให้พวกเขาได้รับพรทั้งหมดที่เราต้องการสําหรับตนเอง (ดู มัทธิว 5:44)

ขณะที่เราปฏิบัติขั้นตอนที่ 8 เราพยายามจดจำว่าขั้นตอนนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การทำให้ใครรู้สึกอับอาย—ไม่ว่าตัวเราเองหรือผู้อื่น ประสบการณ์ของเราแสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยกภาระของความรู้สึกผิดและความละอายใจ เมื่อเราพิจารณาความสัมพันธ์ที่มีปัญหาและส่วนของเราในความสัมพันธ์นั้นอย่างตรงไปตรงมา ในขั้นตอนที่ 8 เราเริ่มเชื่อมโยงกับตัวเราเอง ผู้อื่น และชีวิตด้วยใจดวงใหม่ เราเริ่มรู้สึกถึงสันติสุขในชีวิตเรามากกว่าความขัดแย้งและความคิดแง่ลบ

เราเต็มใจที่จะหยุดตัดสินผู้คนอย่างไม่ชอบธรรม หยุดสำรวจชีวิตและข้อผิดพลาดของพวกเขา เราเต็มใจที่จะหยุดลดทอนพฤติกรรมที่ไม่ดีของตนเองหรือหาข้อแก้ตัวให้กับพฤติกรรมเหล่านั้น เรารู้สึกถึงสันติสุขของการรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์พอพระทัยความพยายามของเราที่เต็มใจจะชดใช้ ขั้นตอนนี้ช่วยให้เราดําเนินการเพื่อให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงปลดปล่อยเราจากความผิดพลาดในอดีต การเต็มใจที่จะชดใช้เตรียมเราให้พร้อมปฏิบัติขั้นตอนที่ 9

ขั้นตอนการปฏิบัติ

นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่าการ “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และรับการนําทางตลอดจนพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา

เขียนรายชื่อคนที่เราอาจทําให้ขุ่นข้องหมองใจหรือเคยทําร้ายเขา

ผู้อุปถัมภ์ของเราให้คำแนะนำขณะที่เรากำลังเตรียมรายชื่อ และอีกครั้งที่เราพบว่าการเขียนนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง หลายคนใช้โครงร่างต่อไปนี้เพื่อช่วยให้กระบวนการเรียบง่ายแต่เป็นรูปธรรม

ขั้นแรก เราใช้รายการสำรวจตนเองจากขั้นตอนที่ 4 ระบุรายชื่อบุคคลหรือสถาบันที่เราต้องติดต่อ

ถัดจากแต่ละรายการ เราให้เหตุผลสั้นๆ ว่าเหตุใดจึงต้องชดใช้

จากนั้นโดยการนำทางของพระวิญญาณ เราวางแผนติดต่อผู้คนที่อยู่ในรายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกันตัวต่อตัว โทรศัพท์ หรือจดหมาย อีเมล เราทบทวนแผนของเรากับผู้อุปถัมภ์หรือที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้

สุดท้ายเราใส่กำหนดวันที่ เราเว้นช่องไว้สำหรับบันทึกวันที่เราติดต่อบุคคลนั้นและผลลัพธ์ของการติดต่อ (แผนผังในภาคผนวกเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ได้)

ให้อภัย

เป็นเรื่องยากที่จะขอการให้อภัยจากคนที่ทําร้ายเรา หากท่านพบว่าตนเองประสบปัญหาเรื่องนี้ อาจเป็นประโยชน์หากท่านเขียนรายชื่อคนที่ท่านต้องให้อภัยก่อน จากนั้นเขียนรายชื่อคนที่ท่านต้องขออภัย ท่านอาจแปลกใจที่พบว่าบางชื่อปรากฏในทั้งสองรายชื่อ

เราต้องอดทนกับตัวเราเองขณะที่เรากำลังพยายามร่วมกับการสวดอ้อนวอนที่จะให้อภัยคนที่เราได้ระบุชื่อไว้ ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์สอนว่า “พวกเราส่วนมากต้องการเวลาที่จะทำให้เราผ่านพ้นความเจ็บปวดและการสูญเสีย เราสามารถหาเหตุผลทุกอย่างที่จะเลื่อนการให้อภัย หนึ่งในเหตุผลนี้คือการรอให้คนทำผิดกลับใจ [และทำการชดใช้ให้เรา] ก่อนที่เราจะให้อภัยพวกเขา ดังนั้นการถ่วงเวลาจะทำให้เราสูญเสียความสงบและความสุขที่ควรจะเป็นของเรา การกระทำอันโง่เขลาที่เฝ้าแต่นึกถึงความเจ็บปวดอันยาวนานในอดีตไม่ทำให้มีความสุข … ถ้าเราสามารถพบการอภัยในใจเราแก่ผู้ที่ทำให้เราเจ็บปวดและบาดเจ็บ เราจะก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นของความภาคภูมิใจในตนเองและความผาสุก” (“อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 84)

การให้อภัยบางคนไม่ได้หมายความว่าเรายอมรับการกระทำที่ผิดของพวกเขาหรือยอมให้พวกเขาข่มเหงเรา แต่การให้อภัยทำให้เราก้าวหน้าทางวิญญาณ อารมณ์ และร่างกาย เช่นเดียวกับคนที่ทําร้ายเราถูกกักขังฉันใด การไม่ยอมให้อภัยพวกเขาสามารถกักขังเราได้ฉันนั้น เมื่อเราให้อภัย เราทิ้งความรู้สึกที่มีพลังทำให้ “เน่าเปื่อย กลัดหนอง แล้วในที่สุดก็ทำลาย” (โธมัส เอส. มอนสัน, “ลิ่มที่ซ่อนอยู่,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 24)‌ การให้อภัยช่วยให้เรามีพระวิญญาณมากยิ่งขึ้นและดําเนินต่อไปบนเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์ ดังที่ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ฝ่ายประธานสูงสุดในขณะนั้นเตือนเราว่า “สวรรค์เต็มไปด้วยคนที่มีสิ่งนี้เหมือนกัน นั่นคือ พวกเขาได้รับการให้อภัย และพวกเขาให้อภัย” (“ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 77)

สวดอ้อนวอนขอจิตกุศล

แม้ว่าท่านอาจรู้สึกกลัวเหมือนกับที่เราเคยเป็นตอนจะขอโทษผู้อื่น แต่เราขอเป็นพยานว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถมีความเต็มใจที่จะพบกับผู้ที่อยู่ในรายชื่อของท่านเมื่อโอกาสมาถึง เราเตรียมชดใช้โดยสวดอ้อนวอนขอความกล้าหาญที่จะดําเนินชีวิตด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่โดยกลัวสิ่งที่คนอื่นจะทําหรือพูด และเราพยายามทําตามหลักธรรมพระกิตติคุณแทนที่จะอายหรือกลัว หนึ่งในหลักธรรมอันทรงพลังที่ช่วยเราคือจิตกุศล “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47)

ก่อนที่จะปฏิบัติขั้นตอนที่ 8 พวกเราหลายคนประหลาดใจที่รู้สึกถึงความรักของพระเยซูคริสต์แม้ว่าเราจะไม่ดีพร้อมก็ตาม ความรักนี้ จาก พระองค์ทําให้เรา รู้สึกรักพระองค์ อย่างยิ่งและทําให้เราปรารถนาจะติดตามพระองค์ เมื่อเราพยายามสุดความสามารถเพื่อติดตามพระองค์ เราจะเปี่ยมด้วยความรักที่พระองค์ทรงมีต่อตนเองและผู้อื่น เราสวดอ้อนวอนขอจิตกุศล และเมื่อเวลาผ่านไปเราพบว่าตนเองเต็มใจให้อภัยผู้อื่นและชดใช้มากขึ้น เราพบความรักและการให้อภัยต่อตนเองมากขึ้นเช่นกัน เราทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทําให้ใจของผู้คนในรายชื่ออ่อนลงด้วยจิตกุศลต่อเรา และเราสวดอ้อนวอนขอความเข้มแข็งเพื่อยอมรับผลใดๆ ที่ตามมา

เมื่อเราสวดอ้อนวอนขอจิตกุศล หลายคนพบว่าการเลือกคนหนึ่งจากรายชื่อแล้วตั้งใจคุกเข่าสวดอ้อนวอนให้คนนั้นทุกวันเป็นเวลาสองสัปดาห์ เป็นวิธีที่มีประโยชน์ รายชื่อการชดใช้ของเราช่วยให้เราสามารถสวดอ้อนวอนอย่างเฉพาะเจาะจงต่อพระบิดาบนสวรรค์เกี่ยวกับความรู้สึกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่เราสวดอ้อนวอน—แม้ตอนแรกจะรู้สึกเหมือนไม่จริงใจ—แต่ในที่สุดเราจะได้รับพรด้วยความเมตตาสงสารอย่างปาฏิหาริย์ แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรผู้ที่สวดอ้อนวอนขอจิตกุศลเพื่อให้อภัยและชดใช้

ศึกษาและทำความเข้าใจ

พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานเขียนของเราเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนนั้น

ผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์

‌“ดังนั้น, ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านผู้เป็นของศาสนจักร, ซึ่งเป็นผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์, และซึ่งได้รับความหวังอย่างเพียงพอซึ่งด้วยความหวังนี้ท่านจะเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าได้, นับแต่เวลานี้ไปจนกว่าท่านจะพักผ่อนอยู่กับพระองค์ในสวรรค์

“และบัดนี้พี่น้องข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าตัดสินเรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับท่านเพราะการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขของท่านกับลูกหลานมนุษย์” (โมโรไน 7:3–4)

ในเจ็ดขั้นตอนแรก เราเริ่มกระบวนการเป็นผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์ เมื่อเรามีสันติสุขกับพระคริสต์ เราย่อมพร้อมมากขึ้นที่จะอยู่อย่างสันติกับผู้อื่น

  • การปฏิบัติขั้นตอนการบำบัดตามลำดับช่วยให้ฉันเป็นผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์ได้อย่างไร ?

  • ฉันต้องทําอะไรอีกบ้างเพื่ออยู่อย่างสันติกับผู้คนในชีวิตฉัน?

ความรักอันสมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

“ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ขับไล่ความกลัวออกไปเสีย เพราะ​ความ​กลัว​เกี่ยว‍ข้อง​กับ​การ​ลง‍โทษ ผู้​ที่​กลัว​ก็​ยัง​ไม่‍มี​ความ​รัก​ที่​สม‌บูรณ์

“เรารัก [พระผู้เป็นเจ้า] ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยอห์น 4:18–19)

  • ฉันจะวางใจในความรักอันสมบูรณ์แบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อฉันและต่อบุคคลที่ฉันแสวงหาการให้อภัยได้อย่างไร?

  • การรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักฉันและบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ทําให้ฉันตั้งใจแน่วแน่มากขึ้นว่าจะชดใช้เมื่อใดก็ตามที่อยู่ในวิสัยที่ทําได้อย่างไร?

เอื้อมออกไปหาผู้อื่น

“อย่าพิพาก‌ษาเขา แล้วพวก‍ท่านจะไม่ถูกพิพาก‌ษา อย่าตัด‍สินลง‍โทษเขาแล้วพวก‍ท่านจะไม่ถูกตัด‍สินลง‍โทษ จงยกโทษให้เขาแล้วพวก‍ท่านจะได้รับการยก‍โทษ

“จงให้เขา แล้วพวกท่านจะได้รับด้วยแบบยัดสั่นแน่นพูนล้นเต็มหน้าตักของท่าน เพราะว่าเมื่อท่านตวงให้เขาเท่าไร ท่านก็จะได้รับการตวงกลับคืนไปเท่านั้นเช่นกัน” (ลูกา 6:37–38)

แม้เราอาจกลัวว่าบางคนจะปฏิเสธความพยายามของเราที่จะสร้างสันติกับพวกเขา แต่เราไม่ควรปล่อยให้ความกลัวนี้ทำให้เราไม่ใส่ชื่อพวกเขาลงในรายชื่อและเตรียมตัวติดต่อพวกเขา พรที่เราจะได้รับยิ่งใหญ่กว่าความเจ็บปวด

“ยิ่งเราเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากเพียงใด เรายิ่งมีแนวโน้มว่าจะมองดูจิตวิญญาณที่ใกล้ถึงความพินาศด้วยความสงสารมากเพียงนั้น—เรารู้สึกว่าเราต้องการ แบกพวกเขาไว้บนบ่าและโยนบาปของพวกเขาทิ้งไว้ข้างหลังเรา … หากท่านต้องการให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาท่าน จงมีเมตตาต่อกัน” (Joseph Smith, in History, 1838–1856 [Manuscript History of the Church], volume C-1 Addenda, 74, josephsmithpapers.org)

  • เราทุกคนเป็นจิตวิญญาณที่ไม่ดีพร้อมที่ต้องการพระเมตตาของพระเยซูคริสต์ การปฏิบัติขั้นตอนที่ 8 ช่วยให้ฉันเปิดรับพระเมตตาและพระคุณของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ?

ให้อภัยและขออภัย

“ขณะนั้นเป‌โตรมาทูลพระ‍องค์ว่า องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า ข้า‍พระ‍องค์ควรยกโทษให้พี่‍น้องที่ทำผิดต่อข้า‍พระ‍องค์สักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งเชียวหรือ?

“พระเยซูตรัสตอบเขาว่า เรามิได้บอกท่านว่าเพียงเจ็ดครั้ง แต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” (มัทธิว 18:21–22)

การให้อภัยและขออภัยสําหรับการทําผิดครั้งเดียวง่ายกว่าการให้อภัยหรือขออภัยในสถานการณ์ยืดเยื้อที่เต็มไปด้วยความผิดหลายครั้ง ลองนึกถึงความสัมพันธ์ในอดีตหรือปัจจุบันที่มีสถานการณ์ยืดเยื้อซึ่งท่านจำเป็นต้องให้อภัยหรือขออภัย

  • ฉันจะมีความเข้มแข็งที่จะให้อภัยและขออภัยได้อย่างไร?

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการให้อภัยผู้อื่นอย่างไร? แบบอย่างของพระองค์จะช่วยให้ฉันให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร?

“เรากล่าวแก่เจ้า, ว่าเจ้าควรให้อภัยกัน; เพราะคนที่ไม่ให้อภัยความผิดแก่พี่น้องตนย่อมอยู่ในสภาพที่ถูกกล่าวโทษต่อพระพักตร์พระเจ้า; เพราะบาปที่ร้ายแรงกว่ายังคงอยู่กับเขา

“เรา, พระเจ้า, จะให้อภัยผู้ที่เราจะให้อภัย, แต่เรียกร้องจากเจ้าที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–10)

พระเยซูทรงสอนว่าการไม่ให้อภัยผู้อื่นเป็นบาปที่ใหญ่กว่าความผิดครั้งแรก

  • การปฏิเสธที่จะให้อภัยตนเองหรือผู้อื่นเท่ากับการปฏิเสธการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

  • ความโกรธแค้นและความขมขื่นทำลายร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของฉันอย่างไร?

ทําลายวัฏจักรของความขมขื่นและความโกรธแค้น

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่าความเมตตาจะนําไปสู่การกลับใจและการให้อภัยได้อย่างไร:

“ไม่มีสิ่งใดนำผู้คนให้ละทิ้งบาปได้มากเท่าจับมือเขาและดูแลเขาด้วยความอ่อนโยน เมื่อผู้คนแสดงความเมตตาและความรักต่อข้าพเจ้าแม้เพียงเล็กน้อย โอ้ สิ่งนั้นมีพลังเหนือจิตใจข้าพเจ้าเพียงใด ในขณะที่วิถีตรงกันข้ามมีแนวโน้มจะทรมานความรู้สึกรุนแรงทั้งหมดและกดดันจิตใจมนุษย์” (Joseph Smith, in History, 1838–1856 [Manuscript of the Church], volume C-1 Addenda, 74, josephsmithpapers.org)

  • ฉันเต็มใจเป็นผู้ทําลายวัฏจักรของความขมขื่นและความโกรธแค้นหรือไม่?

  • คนที่แสดงความเมตตาและความรักต่อฉัน ได้สร้างแรงบันดาลใจหรือกระตุ้นให้ฉันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร?

  • ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาในชีวิตของฉันอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อฉันปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความรักและความเมตตา?