เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 1: ความเป็นมาของ ‘ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก’


บทที่ 1

ความเป็นมาของ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”

คำนำ

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองออกถ้อยแถลงต่อศาสนจักรและต่อโลกชื่อว่า “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” (เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) คำประกาศดังกล่าวของศาสดาพยารณ์สอนเรื่องบทบาทอันสูงส่งของครอบครัวในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า บทเรียนนี้จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจดีขึ้นว่าเหตุใดศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยยุคสุดท้ายจึงออกเอกสารที่ได้รับการดลใจดังกล่าว

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 8:15–17; โมเสส 6:26–27, 31–36; 7:16–21

“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เขียนโดยผู้หยั่งรู้

ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมเสส 6:26–27 และเชื้อเชิญชั้นเรียนให้ดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับใจ หู และสายตาของผู้คน

  • พระเจ้าตรัสถึงความชั่วร้ายของผู้คนว่าอย่างไร

  • หมายความว่าอย่างไรเมื่อ “ใจ [ของผู้คน] แข็งกระด้างขึ้น, และหูพวกเขาตึงต่อการได้ยิน, และสายตาพวกเขามองเห็นได้ไม่ไกล”

ขอให้นักศึกษาหนึ่งคนอ่านออกเสียง โมเสส 6:31–34

  • ถ้าท่านเป็นเอโนค ท่านจะหาอะไรในพระดำรัสของพระเจ้าที่ทำให้ท่านกังวลน้อยลง

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงมอบอำนาจให้ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

ให้เวลานักศึกษาอ่าน โมเสส 6:35–36สักครู่

  • เอโนคสามารภเห็นอะไรเมื่อท่านล้างดินเหนียวออกจากดวงตาของท่าน

  • ดินเหนียวอาจจะใช้แทนอะไร (ดินเหนียวอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความฝักใฝ่ทางโลก ขอให้นักศึกษาพิจารณาว่าพวกเขาอาจจะเห็นอะไรได้บ้างถ้าล้างสิ่งทางโลกออกจากดวงตาของพวกเขา)

  • ข้อ 36 ช่วยให้นิยามของผู้หยั่งรู้ว่าอะไร (คำตอบควรรวมถึงความจริงต่อไปนี้: ผู้หยั่งรู้สามารถมองเห็นสิ่งที่ดวงตาฝ่ายธรรมชาติมองไม่เห็น ท่านอาจขอให้นักศึกษาทำการอ้างโยง ข้อ 36 กับ โมไซยาห์ 8:15–17)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ (1872–1952) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเพื่อให้นิยามเพิ่มเติมของผู้หยั่งรู้ และขอให้คนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ

“ผู้หยั่งรู้คือคนที่มองเห็นด้วยตาฝ่ายวิญญาณ ท่านรับรู้ความหมายของสิ่งซึ่งดูเหมือนคลุมเครือสำหรับคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นผู้แปลความหมายและผู้ชี้แจงความจริงนิรันดร์ … ท่านคือคนที่มองเห็น คนที่เดินในแสงสว่างของพระเจ้าด้วยดวงตาที่เปิดกว้าง [ดู โมไซยาห์ 8:15–17]” (Evidences and Reconciliations, arr. G. Homer Durham [1960], 258)

เสนอแนะให้นักศึกษาเขียนนิยามนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ โมเสส 6:35-36 อธิบายว่าผู้หยั่งรู้เป็นศาสดาพยากรณ์เช่นกัน

สรุป โมเสส 7:16–21 เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นกับคนที่ยอมรับเอโนคเป็นผู้หยั่งรู้และทำตามถ้อยคำของท่าน

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการเอาใจใส่ศาสดาพยากรณ์และผู้หยั่งรู้ยุคปัจจุบันอย่างไร (นักศึกษาพึงเข้าใจหลักคำสอนต่อไปนี้: ศาสดาพยากรณ์ช่วยให้เรามองสิ่งต่างๆ ตามทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า และเราได้รับพรเมื่อเราวางใจถ้อยคำของพวกท่าน)

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ปีนี้ครบรอบปีที่สิบของถ้อยแถลงต่อโลกเกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองออกไว้ในปี 1995 [ดู ‘ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,’เลียโฮนา พ.ย. 2010, 165] ถ้อยแถลงเป็นเสียงเรียกร้องในเวลานั้นและเวลานี้ให้คุ้มครองและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว …

“ถ้อยแถลงเป็นเอกสารการพยากรณ์ ไม่เพียงเพราะศาสดาพยากรณ์ประกาศออกมาเท่านั้น แต่เพราะเป็นถ้อยแถลงล้ำยุค ถ้อยแถลงเตือนให้หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่คุกคามและบ่อนทำลายครอบครัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทั้งยังขอร้องให้เน้นและให้ครอบครัวมาก่อนสิ่งอื่นหากต้องการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนจะเป็นพิษมากขึ้นต่อการแต่งงานตามจารีตประเพณีและความสัมพันธ์ฉันพ่อแม่ลูก

“ภาษาที่ชัดเจนและเรียบง่ายของถ้อยแถลงแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับความเห็นที่สับสนและซับซ้อนของสังคมซึ่งตกลงกันไม่ได้แม้แต่นิยามของครอบครัว” (ดู“สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งยั่งยืนที่สุด,”เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 49)

  • ท่านคิดว่าเอ็ลเดอร์บัลลาร์ดหมายถึงอะไรเมื่อท่านกล่าวว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นถ้อยแถลง “ล้ำยุค”

  • ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวยืนยันความเชื่อของเราอย่างไรว่าฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสองเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย

เป็นพยานว่าเพราะพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเราและทรงต้องการให้เราเป็นเหมือนพระองค์ พระองค์จึงทรงส่งศาสดาพยากรณ์และผู้หยั่งรู้มาให้เรา

“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”

ความเป็นมาของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว

พึงแน่ใจว่านักศึกษาแต่ละคนมีสำเนา “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” (lds.org/topics/family-proclamation) (ท่านอาจต้องจัดเตรียมสำเนาให้นักศึกษาที่ต้องการ) กระตุ้นนักศึกษาให้นำสำเนาที่พิมพ์ไว้หรือสำเนาดิจิตอลของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวมาชั้นเรียนทุกครั้งตลอดหลักสูตร อธิบายว่าประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) นำเสนอ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ต่อศาสนจักรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1995 ที่การประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญ

  • ชื่อของถ้อยแถลงบอกอะไรเราเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของถ้อยแถลงนี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงออกถ้อยแถลงต่อคนทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะต่อสมาชิกศาสนจักร (ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ให้ประกาศความจริงของพระองค์ต่อลูกทุกคนของพระองค์)

อธิบายว่าตั้งแต่จัดตั้งศาสนจักร ผู้นำศาสนจักรออกถ้อยแถลงเพียงห้าครั้งเท่านั้น ครั้งหนึ่งออกโดยฝ่ายประธานสูงสุด อีกครั้งออกโดยโควรัมอัครสาวกสิบสอง และที่เหลือออกโดยฝ่ายประธานสูงสุดกับโควรัมอัครสาวกสิบสอง ถ้อยแถลงสงวนไว้สำหรับแถลงเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง (ถ้านักศึกษาสอบถามเกี่ยวกับถ้อยแถลงทั้งห้านี้ ให้พวกเขาดูใน Encyclopedia of Mormonism, 5 vols. [1992], “Proclamations of the First Presidency and the Quorum of the Twelve Apostles,” 3:1151, eom.byu.edu)

บอกนักศึกษาว่าก่อนอ่านถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ประธานฮิงค์ลีย์บอกเหตุผลบางประการว่าเหตุใดผู้นำศาสนจักรจึงรู้สึกว่าต้องจัดพิมพ์เอกสารสำคัญนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮิงค์ลีย์ และเชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องเตือนท่านว่าโลกที่เราอยู่เป็นโลกของความสับสนวุ่นวาย โลกที่ค่านิยมกำลังเปลี่ยน เสียงโหยหวนเรียกร้องอย่างหนึ่งไม่ก็อีกอย่างหนึ่งให้ทรยศต่อมาตรฐานความประพฤติที่ผ่านการทดสอบตามเวลามาแล้ว เชือกโยงเรือทางศีลธรรมของสังคมเราแกว่งอย่างรุนแรง” (ดู “ยืนหยัดต่อต้านแผนการร้ายของโลก,”เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 109)

  • ท่านคิดว่าประธานฮิงค์ลีย์หมายถึงอะไรเมื่อท่านกล่าวว่า “เชือกโยงเรือทางศีลธรรมของสังคมเราแกว่งอย่างรุนแรง” (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเชือกโยงเรือคือเชือกหรือโซ่ที่ใช้ยึดเรือให้อยู่กับที่)

  • ท่านจะอธิบายอย่างไรว่าเกิดอะไรขึ้นกับ “เชือกโยงเรือทางศีลธรรม” ของสังคมตั้งแต่ ค.ศ. 1995 เมื่อประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงความเสื่อมถอยอันร้ายแรงทางศีลธรรม

ให้ดูย่อหน้าต่อไปนี้จากคำปราศรัยของประธานฮิงค์ลีย์ ให้เวลานักศึกษาอ่านสักครู่ และจดคำกับวลีที่อธิบายปัญหาเพิ่มเติมซึ่งผู้นำศาสนจักรมองเห็นในโลกและเหตุผลที่พวกท่านออกถ้อยแถลงดังกล่าว

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ด้วยการอ้างเหตุผลมากมายจนหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง ด้วยการหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม ด้วยสิ่งยั่วยวนและสิ่งล่อใจมากมายให้ยอมรับความสกปรกโสมมที่เกิดขึ้นช้าๆ ของโลก เราจึงรู้สึกว่าต้องเตือนและเตือนล่วงหน้า เพื่อทำเช่นนี้เราฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครอัครสาวกสิบสองจึงได้ออกถ้อยแถลงต่อศาสนจักรและต่อโลกเป็นการประกาศและการยืนยันมาตรฐาน หลักคำสอน และหลักปฏิบัติอันเกี่ยวข้องกับครอบครัวซึ่งศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยของศาสนจักรนี้กล่าวย้ำหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของศาสนจักร” (ดู “ยืนหยัดต่อต้านแผนการร้ายของโลก,” 112)

ขณะนักศึกษาแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บน กระดาน กระดานอาจจะเป็นดังนี้:

ผู้นำศาสนจักรมองเห็นปัญหาอะไรในโลก

การอ้างเหตุผลมากมายให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง

การหลอกลวงเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม

สิ่งยั่วยวนและสิ่งล่อใจให้เป็นเหมือนโลก

มีเหตุผลอะไรอีกบ้างที่ผู้นำศาสนจักรออกถ้อยแถลงนี้

เพื่อเตือนและเตือนล่วงหน้า

เพื่อประกาศและยืนยันมาตรฐาน หลักคำสอน และหลักปฏิบัติที่สอนโดยผู้นำศาสนจักรทั้งอดีตและปัจจุบัน

  • “การอ้างเหตุผลมากมาย” คืออะไร (การอ้างเหตุผลมากมายคือการให้เหตุผลผิดๆ ที่ถูกนำเสนอว่าเป็นความจริง) ท่านเคยเห็นแนวคิดผิดๆ เกี่ยวกับครอบครัวที่ถูกสอนว่าเป็นความจริงอย่างไร (ท่านอาจให้ดูตัวอย่างของการอ้างเหตุผลมากมายใน คพ. 89:4 )

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความรับผิดชอบของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้ายจากคำกล่าวของประธานฮิงค์ลีย์ (คำตอบของนักศึกษาควรรวมถึงความจริงต่อไปนี้: ศาสดาพยากรณ์มีความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ในการประกาศ “มาตรฐาน หลักคำสอน และหลักปฏิบัติอันเกี่ยวข้องกับครอบครัว” ของพระเจ้า)

มอบหมายให้นักศึกษาใช้เวลาสักครู่อ่านถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวและระบุคำตอบบางประการที่ให้ไว้ตอบคำถามยุคปัจจุบันเกี่ยวกับครอบครัว หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักศึกษาแบ่งปันสิ่งที่พบ เพราะบทอื่นพูดถึงถ้อยแถลงอย่างละเอียด จึงอย่าใช้เวลาทำกิจกรรมนี้มาก

เป็นพยานถึงความจริงต่อไปนี้: ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเต็มไปด้วยคำตอบที่ได้รับการดลใจสำหรับปัญหาของสังคม ถ้อยแถลงเป็นสมออันมั่นคงสำหรับแต่ละบุคคลและครอบครัวในโลกที่ค่านิยมกำลังเปลี่ยน

อธิบายว่าหลังจากประธานฮิงค์ลีย์อ่านถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวแล้ว ท่านประกาศว่า

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เราขอแนะนำให้ทุกท่านอ่านถ้อยแถลงนี้ด้วยความรอบคอบ ด้วยการไตร่ตรอง ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ความมั่นคงของทุกๆ ชาติใดหยั่งรากในกำแพงบ้านของชาตินั้น เรากระตุ้นผู้คนของเราทุกแห่งหนให้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวตนสอดคล้องกับค่านิยมเก่าแก่เหล่านี้” (ดู “ยืนหยัดต่อต้านแผนการร้ายของโลก,”เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 113)

  • การอ่านถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวร่วมกับการสวดอ้อนวอนมีความหมายต่อท่านอย่างไร

  • หลักธรรมที่พบในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของท่านในด้านใดเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัว

ช่วยนักศึกษาพิจารณาและแบ่งปันว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้การกระตุ้นของประธานฮิงค์ลีย์ให้เราเรียนรู้และประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมที่พบในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวอย่างไร (ตัวอย่างเช่น ท่องจำถ้อยแถลง) เขียนคำตอบของนักศึกษาไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตนเองและครอบครัวได้อย่างไรโดยประยุกต์ใช้ “ค่านิยมเก่าแก่เหล่านี้”

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน