เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 20: การพิทักษ์ศรัทธาและประจักษ์พยาน


บทที่ 20

การพิทักษ์ศรัทธาและประจักษ์พยาน

คำนำ

ครอบครัวและบุคคลมีหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในการพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์และรักษาประจักษ์พยานให้เข้มแข็ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนว่าในวันเวลาสุดท้าย แม้ “ผู้ที่ทรงเลือกไว้” ก็อาจจะถูกหลอก (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22) บทเรียนนี้เน้นเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานเพื่อป้องกันอำนาจของปฏิปักษ์ซึ่งหมายมั่นทำลายศรัทธา

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เชิญมาร่วมกับเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 21-24

  • เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93-95

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 14:26–27; เอเฟซัส 4:11–14; 1 นีไฟ 15:23–24; 2 นีไฟ 31:19–20; แอลมา 5:45–46; ฮีลามัน 3:28–30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:13–14; 21:4–6

ประจักษ์พยานที่เข้มแข็งคุ้มครองให้รอดพ้นจากปฏิปักษ์

อธิบายว่าเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917–2008) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยพูดเรื่องฝูงหมาป่าที่เพ่นพ่านอยู่แถวชนบทในยูเครนเมื่อหลายปีก่อน สิ่งเดียวที่ทำให้พวกหมาป่าตกใจกลัวคือไฟ เมื่อเดินทางออกนอกเมือง ผู้คนต้องก่อไฟกองใหญ่และทำให้ไฟลุกโชนตลอดคืนเพื่อไล่หมาป่า

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“นักเดินทางเข้าใจว่าการก่อไฟและทำให้ลุกโชนตลอดเวลาไม่เพียงเป็นเรื่องของความสะดวกหรือความสบายใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการอยู่รอดด้วย …

“เราไม่ต้องป้องกันตัวจากฝูงหมาป่าขณะเดินทางไปตามถนนแห่งชีวิตในทุกวันนี้ แต่ในด้านวิญญาณ เราเผชิญหมาป่าเจ้าเล่ห์ของซาตานในรูปแบบของการล่อลวง ความชั่วร้าย และบาป เรามีชีวิตอยู่ในช่วงอันตรายเมื่อหมาป่าหิวโซเพ่นพ่านอยู่ทั่วชนบททางวิญญาณคอยเสาะหาคนที่อาจจะอ่อนแอในศรัทธาหรืออ่อนล้าในความเชื่อมั่นของพวกเขา … เราทุกคนถูกโจมตีได้ง่าย อย่างไรก็ดี เราสามารถเสริมกำลังป้องกันตนเองได้โดยสร้างประจักษ์พยานซึ่งเปรียบเสมือนกองไฟให้มากพอและรักษาไว้ให้ดี” (“Spiritual Bonfires of Testimony,” Ensign, Nov. 1992, 34)

  • เหตุใดการรักษาประจักษ์พยานให้เข้มแข็งจึงเป็น “เรื่องของการอยู่รอด” ในโลกทุกวันนี้ (หลังจากสนทนาพอสมควรแล้ว ให้เขียนบนกระดานดังนี้ เมื่อเราทำให้ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็ง เราจะถูกโจมตีศรัทธาน้อยลง)

  • การมีประจักษ์พยานที่เข้มแข็งจะช่วยท่านทำให้ครอบครัวและคนอื่นๆ มีพลังต่อต้านการโจมตีศรัทธาของพวกเขาได้อย่างไร

ให้ดูหรือเขียนแผนภูมิต่อไปนี้บนกระดาน ไม่ต้องเขียนหลักธรรมตัวหนาในวงเล็บเพราะหลักธรรมเหล่านี้เตรียมไว้ให้ครูใช้ ขอให้นักศึกษาอ่านข้อเหล่านี้ในคอลัมน์หนึ่ง โดยค้นหาหลักธรรมที่ช่วยป้องกันอำนาจที่บั่นทอนศรัทธา เชื้อเชิญให้นักศึกษาสรุปสิ่งที่อ่านเป็นข้อความของหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่ชัดเจนแล้วแบ่งปันข้อความนั้น

2 นีไฟ 31:19-20

ฮีลามัน 3:28–30

เอเฟซัส 4:11–14

คพ. 21:4-6

ยอห์น 14:26-27

คพ. 11:13-14

1 นีไฟ 15:23-24

แอลมา 5:45-46

(เมื่อเรามีศรัทธาแน่วแน่ในพระเยซูคริสต์ เราสามารถมุ่งหน้าไปบนทางคับแคบและแคบสู่ชีวิตนิรันดร์)

(เมื่อเราทำตามอัครสาวก ศาสดาพยากรณ์ และผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ ของพระเจ้า เราจะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากการหลอกลวง)

(โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงสามารถส่งสันติและการนำทางเมื่อศรัทธาของเราถูกโจมตี)

(การอดอาหาร การสวดอ้อนวอน และการศึกษาพระคัมภีร์เสริมสร้างศรัทธาและประจักษ์พยาน และทำให้เราสามารถทนความท้าทายได้)

  • หลักธรรมเหล่านี้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักให้ต้านการโจมตีศรัทธาอย่างไร

  • ท่านจะใช้ข้อมูลนี้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนรู้จักที่กำลังมีปัญหากับศรัทธาของเขาได้อย่างไร

เตือนสตินักศึกษาดังนี้ “ศรัทธาเป็นของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เป็นรางวัลตอบแทนความชอบธรรมส่วนตัว พระองค์ประทานศรัทธาให้เสมอเมื่อมีความชอบธรรม และยิ่งเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้ามากเพียงใด พระองค์ย่อมประทานศรัทธาให้มากเพียงนั้น” (บรูซ อาร์. แม็คคองกี, Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 264) เป็นพยานว่าการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ทำตามศาสดาพยากรณ์ แสวงหาพระวิญญาณ และศึกษาพระคัมภีร์จะคุ้มกันและเสริมสร้างประจักษ์พยาน เมื่อเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ศรัทธาจะอ่อนแอและประจักษ์พยานจะหายไป

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเพื่ออธิบายประเด็นนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ผู้สอนศาสนาที่ดีคนหนึ่งที่รับใช้กับข้าพเจ้าสมัยข้าพเจ้าเป็นประธานคณะเผยแผ่ในโทรอนโตมาหาข้าพเจ้าในอีกหลายปีต่อมา ข้าพเจ้าถามเขาว่า ‘เอ็ลเดอร์ ผมจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง’

“‘ประธานครับ’ เขาตอบ ‘ผมคิดว่าผมกำลังสูญเสียประจักษ์พยาน’

“ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อหู ข้าพเจ้าถามว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“‘ครั้งแรกที่ผมอ่านงานเขียนต่อต้านมอรมอน’ เขากล่าว ‘ผมมีคำถามบางอย่าง และไม่มีใครตอบคำถามของผม ผมสับสน และคิดว่ากำลังสูญเสียประจักษ์พยาน’

“ข้าพเจ้าถามเขาว่าคำถามของเขาคืออะไร และเขาบอกข้าพเจ้า คำถามเหล่านั้นเป็นประเด็นต่อต้านศาสนจักรโดยทั่วๆ ไป แต่ข้าพเจ้าต้องการเวลาเล็กน้อยเพื่อรวบรวมเนื้อหา จะได้มีคำตอบที่เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุนี้เราจึงนัดพบกันอีก 10 วันข้างหน้า ซึ่งข้าพเจ้าบอกเขาว่าจะตอบคำถามทุกข้อของเขา ขณะที่เขากำลังจะออกไป ข้าพเจ้ารั้งเขาไว้

“‘เอ็ลเดอร์ คุณถามคำถามผมหลายข้อวันนี้’ ผมพูด ‘ตอนนี้ผมจะถามคุณสักข้อ’

“‘ได้ครับ ประธาน’

“‘นานเท่าไรแล้วตั้งแต่คุณอ่านพระคัมภีร์มอรมอน’ ข้าพเจ้าถาม

“เขาหลบตา มองพื้นครู่หนึ่ง จากนั้นก็มองข้าพเจ้า ‘นานแล้วครับ ประธาน’ เขาสารภาพ

“‘ไม่เป็นไร’ ข้าพเจ้าบอก ‘คุณมอบหมายงานให้ผมทำ เพื่อความยุติธรรมผมก็จะให้คุณบ้าง ผมอยากให้คุณสัญญากับผมว่าคุณจะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวันระหว่างนี้จนถึงเวลาพบกันคราวหน้า’ เขารับปากว่าจะทำเช่นนั้น

“สิบวันต่อมาเขากลับมาที่ห้องทำงานของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าดึงกระดาษออกมาเพื่อเริ่มตอบคำถามของเขา แต่เขายั้งไว้

“‘ประธานครับ’ เขาพูด ‘นั่นไม่จำเป็นครับ’ เขาอธิบายต่อจากนั้นว่า ‘ผมรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง ผมรู้ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า’

“‘นั่นเยี่ยมเลย’ ข้าพเจ้าตอบ ‘แต่ไม่ว่าจะอย่างไรคุณก็ต้องได้คำตอบสำหรับคำถามของคุณ ผมคิดหาคำตอบตั้งนาน คุณก็แค่นั่งฟังเฉยๆ’

“ข้าพเจ้าจึงตอบคำถามของเขาทุกข้อ แล้วถามว่า ‘เอ็ลเดอร์ คุณเรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้’

“เขาตอบว่า ‘ให้เวลาพระเจ้าเท่ากัน’

“ขอให้เราจารึกความคิดนั้นไว้ในจิตใจและติดตัวเราไปด้วยเมื่อเราเดินผ่านขั้นตอนนี้ของความเป็นมรรตัย เราจงให้เวลาพระเจ้าเท่ากัน” (“When Shall These Things Be?” Ensign, Dec. 1996, 60)

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ที่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดแบ่งปัน

  • การให้ “เวลาเท่ากัน” แก่พระเจ้าในชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวจะทำให้ท่านและครอบครัวมีพลังต่อต้านซาตานได้อย่างไร

  • การปฏิบัติหลักธรรมเหล่านี้เวลานี้จะเตรียมท่านให้เป็นคู่ครองและบิดามารดาที่ดีขึ้นได้อย่างไร

สรุปบทเรียนส่วนนี้โดยขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“เมื่อเราสวดอ้อนวอนอย่างเสมอต้นเสมอปลายทุกเช้าค่ำ ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน สังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์ และเข้าพระวิหารเป็นประจำ เท่ากับเรากำลังกระตือรือร้นตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญ [ของพระเยซูคริสต์] ให้ ‘มาหาพระองค์’ ยิ่งเราพัฒนานิสัยเหล่านี้ ซาตานก็ยิ่งมุ่งทำร้ายเรา แต่ความสามารถในการทำร้ายของเขาจะลดลง ด้วยเครื่องมือเหล่านี้ เราใช้สิทธิ์เสรียอมรับของประทานอันสมบูรณ์ของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

“… ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าขณะที่เรามาหาพระองค์อย่างแข็งขัน เราสามารถอดทนต่อการล่อลวง ความปวดร้าวใจ สิ่งท้าทายที่เราเผชิญได้ทุกอย่าง” (“ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,”เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 94)

ถามนักศึกษาว่ามีใครจะแบ่งปันประสบการณ์ที่ไม่เป็นส่วนตัวมากเกินไปซึ่งในประสบการณ์นั้นพวกเขาเอาชนะการท้าทายศรัทธามาแล้ว

ลูกา 22:31–32; 3 นีไฟ 18:32; หลักคำสอนและพันธสัญญา 108:7–8

การเสริมสร้างศรัทธาของผู้อื่น

ขอให้นักศึกษายกมือถ้าพวกเขารู้จักคนที่กำลังพยายามรักษาประจักษ์พยานของตนเอง

ขอให้นักศึกษาเปรียบเทียบและศึกษา ลูกา 22:31-32; 3 นีไฟ 18:32; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 108:7-8 เพื่อเรียนรู้หน้าที่ซึ่งเรามีในฐานะสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนในครอบครัว หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักศึกษาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ นักศึกษาควรเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เรามีหน้าที่เสริมสร้างศรัทธาของผู้อื่น

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ข้าพเจ้าพบเหตุผลเบื้องต้นสองประการที่ส่วนใหญ่เป็นมูลเหตุให้กลับมาสู่ความแข็งขันและเปลี่ยนแปลงเจตคติ นิสัย และการกระทำ ประการที่หนึ่ง แต่ละคนกลับมาเพราะมีคนแสดงให้เห็นความเป็นไปได้นิรันดร์ของพวกเขาและช่วยให้พวกเขาตัดสินใจทำสิ่งเหล่านั้นให้บรรลุผลสำเร็จ คนแข็งขันน้อยพอใจได้ไม่นานกับความสำเร็จพื้นๆ ธรรมดาเมื่อพวกเขาเห็นว่าความเป็นเลิศอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

“ประการที่สอง อีกหลายคนกลับมาเพราะบุคคลอันเป็นที่รักหรือ ‘พลเมืองเดียวกับบรรดาธรรมิกชน’ [เอเฟซัส 2:19]ทำตามพระดำรัสตักเตือนของพระผู้ช่วยให้รอด รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และช่วยผู้อื่นทำความฝันให้เกิดสัมฤทธิผลและทำให้ความมุ่งมาดปรารถนาเป็นจริง

“แรงกระตุ้นตลอดมาและ—ตลอดไป—ในกระบวนการนี้คือหลักธรรมแห่งความรัก” (“ความรับผิดชอบของเราในการช่วยชีวิต,” เลียโฮนา, ต.ค. 2013, 5)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความรักจึงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการเสริมสร้างศรัทธาของผู้อื่น

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักทำอะไรเพื่อช่วยเสริมสร้างศรัทธาของคนที่กำลังกระเสือกกระสนทางวิญญาณ

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเสริมสร้างศรัทธาของผู้อื่น

สรุปโดยแสดงประจักษ์พยานของท่านว่านักศึกษาสามารถช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างศรัทธาของเพื่อนๆ และครอบครัวได้เมื่อพวกเขาแสดงความรักและทำตามหลักธรรมที่สนทนาในบทเรียนนี้

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน

พิมพ์