บทที่ 26
ชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า
คำนำ
ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเตือนว่า “ผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนพันธสัญญาแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ ผู้ที่ทำร้ายคู่ครองหรือบุตรธิดา หรือผู้ที่ล้มเหลวต่อสัมฤทธิผลของความรับผิดชอบในครอบครัว วันหนึ่งเขาจะยืนชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) บทเรียนนี้สำรวจว่าการฝ่าฝืนกฎของพระผู้เป็นเจ้ารุนแรงเช่นนี้จะส่งผลในชีวิตนี้และชีวิตหน้า นอกจากนี้ยังเน้นด้วยว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ให้ความหวังและการเยียวยาแก่คนที่กลับใจ
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์” “ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 20–23
-
ริชาร์ด จี. สก๊อตต์, “เยียวยาผลร้ายแรงของการทำทารุณกรรม,”เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 48–53
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
มัทธิว 18:1-6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22-25; 93:39–44
การฝ่าฝืนพันธสัญญาแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ การกระทำทารุณกรรม และการไม่ทำความรับผิดชอบในครอบครัวให้เกิดสัมฤทธิผล
เตือนนักศึกษาว่าในบทเรียนที่ผ่านๆ มาพวกเขาได้เรียนเรื่องความรับผิดชอบสำคัญของครอบครัว รวมทั้ง (1) สามีภรรยาควรรักและดูแลกัน (2) บุตรธิดาควรได้รับการเลี้ยงดูในความรักและความชอบธรรม และ (3) บิดามารดาควรจัดหาให้ตามความจำเป็นของครอบครัว
-
อาจเกิดอะไรขึ้นในครอบครัวถ้าคู่ครองและบิดามารดาละเลยความรับผิดชอบเหล่านี้
เพื่อช่วยให้นักศึกษาค้นพบว่าศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันกล่าวอะไรเกี่ยวกับความสำคัญของการทำความรับผิดชอบในครอบครัวให้เกิดสัมฤทธิผล ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง ย่อหน้า 8 ของ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ “ผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนพันธสัญญาแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ ผู้ที่ทำร้ายคู่ครองหรือบุตรธิดา หรือผู้ที่ล้มเหลวต่อสัมฤทธิผลของความรับผิดชอบในครอบครัว วันหนึ่งเขาจะยืนชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า”
-
หมายความว่าอะไรที่ว่าผู้ทำความผิดเหล่านี้จะยืนชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า (ในวันพิพากษาเราจะยืนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าและชี้แจงบาปที่เราไม่กลับใจต่อพระองค์ ดู วิวรณ์ 20:11-15; 2 นีไฟ 9:15-16)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดนนิส บี. นอยน์ชวันเดอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบ
“การชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้า ในฐานะพระบิดาและพระผู้สร้างของเรา เป็นบทเรียนพื้นฐานที่สุดบทหนึ่งของพระกิตติคุณ” (“The Path of Growth,” Ensign, Dec. 1999, 15)
-
หลักธรรมเรื่องการชี้แจงการกระทำของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เราเติบโตทางวิญญาณอย่างไร
เขียนคำต่อไปนี้บนกระดานเป็นสามคอลัมน์ตามหัวข้อ
การฝ่าฝืนพันธสัญญาแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ |
การกระทำทารุณกรรมคู่ครองหรือบุตร |
การไม่ทำความรับผิดชอบในครอบครัวให้เกิดสัมฤทธิผล |
แบ่งนักศึกษาออกเป็นสามกลุ่ม เชิญกลุ่มหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22–25อีกกลุ่มหนึ่งอ่าน มัทธิว 18:1–6และกลุ่มที่สามอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:39–44 ขอให้นักศึกษาจับคู่ข้อพระคัมภีร์ให้ตรงกับหัวข้อบนกระดาน ขอให้นักศึกษามองหาคำและวลีที่สอนเกี่ยวกับความร้ายแรงของความผิดเหล่านี้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักศึกษาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ (ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสม)
-
คำและวลีใดในข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับความร้ายแรงของความผิดข้างต้น
ท่านอาจจะชี้ให้ดูแต่ละหัวข้อบนกระดานและถามคำถามต่อไปนี้เกี่ยวกับความผิดแต่ละอย่าง ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้ใต้แต่ละหัวข้อ
-
เจตคติหรือพฤติกรรมอะไรบ้างที่อาจชักนำบุคคลให้ทำความผิดนี้หากไม่ควบคุม (ตัวอย่างเช่น คำตอบสำหรับความผิดฐานกระทำทารุณกรรมคู่ครองหรือบุตรอาจรวมถึงความไม่อดทนต่อผู้อื่น นิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น และเชื่อความคิดผิดๆ เกี่ยวกับชายหรือหญิง)
-
ท่านจะให้คำแนะนำอะไรแก่คนที่แสดงเจตคติหรือพฤติกรรมเหล่านี้
-
สมาชิกศาสนจักรจะเอาชนะเจตคติหรือพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร (ขณะที่นักศึกษาบอกคำตอบ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าเมื่อเราปฏิบัติหลักธรรมพระกิตติคุณ เช่น การกลับใจ การรับใช้เฉกเช่นพระคริสต์ ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน และการให้อภัย เราสามารถดึงเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของการชดใช้มาใช้ได้)
2 โครินธ์ 5:17-21
ความหวังสำหรับการกลับใจ การให้อภัย และการเปลี่ยนแปลง
เป็นพยานว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เตรียมหนทางให้แต่ละบุคคลและครอบครัวประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่บริบูรณ์ อย่างไรก็ดี เราทุกคนล้วนทำการเลือกที่ไม่ดี และการเลือกบางอย่างสามารถมีผลกระทบอย่างมากต่อตัวเราเองหรือผู้อื่น โชคดีมีความหวัง
อธิบายว่าสมาชิกบางคนของศาสนจักรตกเป็นเหยื่อของผู้อื่น—อาทิ คู่ครองที่ไม่ซื่อสัตย์ คู่ครองหรือพ่อแม่ที่กระทำทารุณกรรม—และเหยื่อสงสัยว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับสภาวการณ์ของพวกเขา ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“หากท่านถูกกระทำทารุณกรรม ซาตานจะพยายามจูงใจท่านให้เชื่อว่าไม่มีทางแก้ไข แต่เขารู้อยู่แก่ใจว่ามีทางแก้ไข ซาตานตระหนักว่าการเยียวยาเกิดขึ้นโดยผ่านความรักมั่นคงของพระบิดาบนสวรรค์ที่ทรงมีต่อบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ เขายังเข้าใจอีกด้วยว่าอำนาจการเยียวยามีโดยธรรมชาติในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ด้วยเหตุนี้ กลยุทธ์ของเขาคือทำทุกอย่างจนสุดความสามารถเพื่อแยกท่านจากพระบิดาของท่านและพระบุตรของพระองค์ อย่ายอมให้ซาตานจูงใจท่านให้เชื่อว่าไม่มีใครช่วยท่านได้” (“เยียวยาผลร้ายแรงของการกระทำทารุณกรรม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 50)
-
เหตุใดซาตานจึงพยายามจูงใจคนที่ถูกกระทำทารุณกรรมให้เชื่อว่าไม่มีทางแก้ปัญหา
-
จะเกิดผลอะไรได้บ้างเมื่อผู้คนเชื่อว่าไม่มีความหวังหรือทางแก้ปัญหา
แบ่งปันประจักษ์พยานและคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์
“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าข้าพเจ้ารู้จักเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมร้ายแรงซึ่งผ่านพ้นเส้นทางอันยากลำบากมาสู่การเยียวยาอย่างสมบูรณ์ผ่านอำนาจการชดใช้ หลังจากปัญหาของเธอได้รับการแก้ไขด้วยศรัทธาที่เธอมีต่อำนาจเยียวยาของการชดใช้ หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งถูกบิดากระทำทารุณกรรมอย่างรุนแรงขอรับการสัมภาษณ์กับข้าพเจ้าอีกครั้ง เธอกลับมาพร้อมสามีภรรยาสูงอายุ ข้าพเจ้าสัมผัสได้ว่าเธอรักสองคนนี้อย่างสุดซึ้ง สีหน้าของเธออิ่มเอิบด้วยความสุข เธอกล่าวว่า ‘เอ็ลเดอร์สก็อตต์คะ นี่คือคุณพ่อของดิฉันค่ะ ดิฉันรักท่าน ท่านห่วงใยเรื่องบางอย่างที่เกิดขึ้นสมัยดิฉันยังเด็ก สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นปัญหาสำหรับดิฉันแล้ว เอ็ลเดอร์สก็อตต์จะช่วยท่านได้ไหมคะ’ ช่างเป็นการยืนยันอันทรงพลังถึงความสามารถในการเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอด! เธอไม่ทุกข์ทรมานจากผลของการกระทำทารุณกรรมอีกต่อไปเพราะเธอมีความเข้าใจเพียงพอถึงการชดใช้ของพระองค์ มีศรัทธาเพียงพอ และเชื่อฟังกฎของพระองค์ ขณะที่ท่านศึกษาการชดใช้อย่างจริงจัง และใช้ศรัทธาของท่านที่ว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการเยียวยา ท่านสามารถรับการบรรเทาทุกข์ที่ทำให้สุขใจอย่างเดียวกัน …
“การเยียวยาอาจเริ่มต้นจากอธิการหรือประธานสเตคที่เอาใจใส่ หรือผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่ฉลาด ถ้าท่านขาหัก ท่านจะไม่รักษาตนเอง การกระทำทารุณกรรมร้ายแรงสามารถรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน” (“เยียวยาผลร้ายแรงของการทำทารุณกรรม,” 49-50)
-
คำแนะนำที่ได้รับการดลใจของเอ็ลเดอร์สก็อตต์จะช่วยคนที่ถูกกระทำทารุณกรรมได้อย่างไร
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“พระเมตตาและพระคุณของพระเยซูคริสต์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับคนที่ทำผิดบาป ไม่ว่าจะเป็นการทำบาปหรือการละเลยทำสิ่งถูกต้อง แต่พระเมตตาและพระคุณครอบคลุมถึงคำสัญญาแห่งสันติสุขอันเป็นนิจแก่ทุกคนที่จะยอมรับและทำตามพระองค์ตลอดจนคำสอนของพระองค์ พระเมตตาของพระองค์เป็นผู้รักษาที่ยิ่งใหญ่ แม้กับคนบริสุทธิ์ที่บาดเจ็บ” (“เหตุผลเพื่อความหวังของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 7)
-
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ให้ความหวังและการเยียวยาอย่างไร (ขณะที่นักศึกษาแบ่งปันคำตอบ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ ทุกคนที่ติดตามพระเยซูคริสต์และทำตามคำสอนของพระองค์จะได้รับการเยียวยาและสันติสุขอันเป็นนิจผ่านพระเมตตาและพระคุณของพระองค์)
เพื่อสอนนักศึกษาว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์สามารถช่วยบุคคลที่กระทำทารุณกรรมผู้อื่นหรือทำร้ายคนเหล่านั้นในด้านอื่นๆ ให้นักศึกษาอ่าน 2 โครินธ์ 5:17-21 ด้วยกัน
-
การเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” ในพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่แนวคิดที่ว่าเพื่อตอบแทนการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียร พระองค์จะประทานพรเราด้วยของประทานแห่งพระวิญญาณซึ่งเป็นคุณลักษณะอันสูงส่ง ของประทานเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในตัวเรา และเราเป็นคนใหม่ที่เหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21 สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร (พระเยซูทรงปราศจากบาป แต่พระองค์ทรงรับเอาบาปของเราไว้กับพระองค์เพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรมผ่านพระองค์ตามเงื่อนไขการกลับใจของเรา พระองค์ทรงเป็นผู้เสียสละแทนเรา เมื่อเรากลับใจและหมายมั่นทำตามแบบอย่างของพระองค์ เราสามารถดึงเดชานุภาพของพระองค์มาช่วยให้เราเป็นคนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่)
-
อะไรคือความหมายของคำว่า การคืนดี ใน ข้อ 18 (“การคืนดีเป็นกระบวนการของการไถ่มนุษย์จากสภาพของบาปและความมืดทางวิญญาณ และนำเขากลับคืนสู่สภาพของความปรองดองและความเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านการคืนดีพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ไม่เป็นศัตรูกันอีก” [บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. (1965–1973), 2:422])
ถามนักศึกษาว่าพวกเขารู้จักคนที่เคยประสบความหวังและการเยียวยาอันเกิดจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์หรือไม่ เชิญนักศึกษาสองสามคนยกตัวอย่างของพวกเขาถ้าพวกเขารู้สึกสบายใจและถ้าตัวอย่างนั้นไม่เป็นส่วนตัวมากเกินไป
แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าผู้ใดในที่ประชุมขนาดใหญ่วันนี้อาจจำเป็นต้องได้ยินข่าวสารเรื่องการให้อภัยซึ่งเป็นเนื้อแท้ในอุปมา [เรื่องคนทำงานในสวนองุ่น ดู มัทธิว 20:1–15] ไม่ว่าท่านจะคิดว่าสายเพียงใด ไม่ว่าท่านจะคิดว่าพลาดโอกาสไปแล้วกี่ครั้ง ไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่าทำผิดพลาดไปมากเพียงใด หรือพรสวรรค์ที่ท่านคิดว่าไม่มี หรือไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่าเดินทางออกมาไกลจากบ้านจากครอบครัวและพระผู้เป็นเจ้ามากเพียงใด ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าท่านยัง ไม่ได้ เดินทางไปไกลเกินเอื้อมพระหัตถ์แห่งความรักของพระเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะจมดิ่งลงไปลึกกว่าความสว่างอันไม่มีขอบเขตที่การชดใช้ของพระคริสต์จะส่องถึง …
“ดังนั้นหากท่านทำพันธสัญญาแล้ว จงรักษาพันธสัญญาเหล่านั้น หากท่านยังไม่ได้ทำ จงทำเสียเถิด หากท่านทำแล้วฝ่าฝืนพันธสัญญา จงกลับใจและแก้ไขให้ดีดังเดิม ไม่มีวัน สายเกินไปตราบเท่าที่พระองค์ผู้เป็นเจ้าของสวนองุ่นตรัสว่ายังมีเวลาอยู่ ขอให้ฟังการกระตุ้นเตือนที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทรงบอกท่านขณะนี้ เวลานี้ ว่าท่านพึงยอมรับของประทานแห่งการชดใช้จากพระเจ้าพระเยซูคริสต์และรับการผูกมิตรจากคนงานของพระองค์” (“คนงานในสวนองุ่น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 33)
เชื้อเชิญให้นักศึกษาบันทึกสิ่งที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทรงยืนยันกับพวกเขาวันนี้
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
มัทธิว 18:1–6; 2 โครินธ์ 5:17–21; โมไซยาห์ 4:30; แอลมา 5:15–22; 12:14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22–25; 93:39–44
-
ริชาร์ด จี. สก๊อตต์, “เยียวยาผลร้ายแรงของการทำทารุณกรรม,”เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 48–53