บทที่ 23
การจัดหาตามความจำเป็นทางโลก
คำนำ
พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบให้แต่ละคนจัดหาตามความจำเป็นทางโลกของตนและตามความจำเป็นพื้นฐานของครอบครัวพวกเขา บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการจัดหา “สิ่งจำเป็นต่างๆ ของชีวิต” ให้บุตรธิดาของพวกเขา (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) ในบทนี้ นักศึกษาจะเรียนรู้ว่าหลักธรรมแห่งการพึ่งพาตนเองสามารถเอื้อประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางโลกและทางวิญญาณของพวกเขาเวลานี้และในอนาคตได้อย่างไร
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “Becoming Self-Reliant—Spiritually and Physically” Ensign, Mar. 2009, 50–55
-
โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “การเป็นผู้เลี้ยงชีพที่มองการณ์ไกลทั้งทางโลกและทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 7–11
-
มาร์วิน เจ. แอชตัน, “One for the Money,” Ensign, Sept. 2007, 37–39
-
Provident Living website, providentliving.org
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
มาระโก 6:1–3; ลูกา 2:51–52
การพึ่งพาตนเอง
เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน “พระเยซูคริสต์ทรงเตรียมพระองค์เองในด้านใดให้พร้อมปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่าน มาระโก 6:1-3 และ ลูกา 2:51-52โดยมองหาด้านต่างๆ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมพระองค์ในวัยเยาว์ให้พร้อมปฏิบัติศาสนกิจในเวลาต่อมา ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนบนกระดานดังนี้
-
การทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในห้าด้านที่กล่าวมานี้จะช่วยท่านเตรียมสนองความต้องการของตนเองและของครอบครัวในอนาคตได้อย่างไร
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895-1985) และขอให้นักศึกษาฟังสิ่งที่ประธานคิมบัลล์บอกว่าเป็นความรับผิดชอบของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคน
“ศาสนจักรและสมาชิกได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้พึ่งพาตนเองและไม่พึ่งใคร (ดู คพ. 78:13-14)
“ความรับผิดชอบต่อความผาสุกทางสังคม อารมณ์ วิญญาณ ร่างกาย หรือเศรษฐกิจตกอยู่กับเขาเป็นอันดับแรก อันดับสองคือครอบครัว และอันดับสามคือศาสนจักรถ้าเขาเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์
“ไม่มีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่แท้จริงคนใดมีเจตนาปัดภาระในการดูแลความผาสุกของตนเองหรือครอบครัวไปให้ผู้อื่นทั้งที่สภาพร่างกายหรืออารมณ์สมบูรณ์ดี ตราบที่เขาทำได้ ภายใต้การดลใจของพระเจ้าและด้วยการทำงานของเขา เขาจะจัดหาสิ่งจำเป็นของชีวิตทั้งทางโลกและทางวิญญาณให้ตนเองและครอบครัว” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 125)
-
ประธานคิมบัลล์กล่าวว่าเราแต่ละคนมีความรับผิดชอบอะไร
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้อง “พึ่งพาตนเองและไม่พึ่งใคร” (นักศึกษาควรค้นพบดังนี้ เมื่อเราพึ่งพาตนเอง เราจะจัดหาสิ่งจำเป็นทางโลกและทางวิญญาณของชีวิตให้ตัวเราและครอบครัวเราได้)
เชื้อเชิญให้นักศึกษาแบ่งปันว่าการพึ่งพาตนเองมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร จากนั้นให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“การพึ่งพาตนเองคือการรับผิดชอบต่อความผาสุกทางโลกและทางวิญญาณของตนและของคนที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงฝากฝังให้เราดูแล ต่อเมื่อเราพึ่งพาตนเองเท่านั้นเราจึงจะสามารถทำตามพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างแท้จริงในการรับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่น
“เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าการพึ่งพาตนเองเป็นหนทางบรรลุเป้าหมาย เป้าหมายสูงสุดของเราคือเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด และการรับใช้ผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัวส่งเสริมเป้าหมายนั้น ความสามารถของเราในการรับใช้เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามระดับการพึ่งพาตนเองของเรา” (“A Gospel Vision of Welfare: Faith in Action,” Basic Principles of Welfare and Self-Reliance [booklet, 2009], 1–2).
-
อะไรคือจุดประสงค์สูงสุดของการพึ่งพาตนเอง
-
ความสามารถของเราในการรับใช้ผู้อื่นลดลงอย่างไรถ้าเราไม่พึ่งพาตนเอง
เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ให้ดูข้อความต่อไปนี้จากซิสเตอร์จูลี บี. เบค อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ
“เราจะพึ่งพาตนเองได้อย่างไร เราพึ่งพาตนเองผ่านการได้รับความรู้ การศึกษา และการอ่านออกเขียนได้ที่เพียงพอ โดยการบริหารเงินและทรัพยากรอย่างฉลาด เข้มแข็งทางวิญญาณ เตรียมรับภาวะคับขันและเหตุสุดวิสัย และโดยการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความผาสุกทางสังคมและทางอารมณ์” (“The Welfare Responsibilities of the Relief Society President,” Basic Principles of Welfare and Self-Reliance, 4).
เขียนคำต่อไปนี้ตามแนวบนสุดของกระดาน การศึกษา การเงิน ความเข้มแข็งทางวิญญาณ การผลิตและการสะสมในบ้าน สุขภาพ และ งานอาชีพ แนะนำนักศึกษาว่าการพึ่งพาตนเองเกี่ยวข้องกับชีวิตที่สมดุลทั้งหกด้านนี้ (ดู การจัดหาให้ตามวิธีของพระเจ้า: สรุปแนวทางด้านสวัสดิการของผู้นำ [หนังสือ, 2009], 1–2) ให้เวลานักศึกษาสนทนาว่าหนุ่มสาวโสดจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้นในแต่ละด้านเหล่านี้ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะสามารถจัดหาตามความจำเป็นทางโลกและทางวิญญาณให้ครอบครัวในอนาคตและรับใช้ในศาสนจักรได้ดีขึ้น เขียนคำตอบของนักศึกษาไว้บนกระดาน แนวคิดอาจได้แก่:
-
การศึกษา: ศึกษาให้ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนอาชีวศึกษา ปรับปรุงนิสัยการศึกษา ฝึกทักษะการทำงานเพิ่มเติม เรียนงานซ่อมบ้านและซ่อมรถยนต์ขั้นพื้นฐาน
-
การเงิน: จ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคอดอาหารอย่างซื่อสัตย์ ฝึกสร้างงบประมาณและทำตามนั้น ฝึกวินัยในตนเอง หลีกเลี่ยงหนี้สินที่ไม่จำเป็น ชำระหนี้ ออมเงินไว้บ้างจากเงินที่ได้มาแต่ละครั้ง
-
ความเข้มแข็งทางวิญญาณ: สวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ อดอาหารอย่างมีจุดประสงค์ เข้าพระวิหารเป็นประจำ
-
การผลิตและการสะสมในบ้าน: เรียนรู้วิธีถนอมอาหารและสะสมอาหาร ปลูกผักสวนครัว (แม้เพียงเล็กน้อย)
-
สุขภาพ: เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ ทำประกันสุขภาพ
-
งานอาชีพ: พัฒนาทักษะอาชีพใหม่ๆ ปลูกฝังจรรยาบรรณที่ดีในการทำงาน ได้ประกาศนียบัตรขั้นสูง
-
ท่านได้ทำอะไรบ้างเพื่อเพิ่มการพึ่งพาตนเองในด้านใดด้านหนึ่งเหล่านี้ ความพยายามดังกล่าวทำให้ท่านรู้สึกพึ่งพาตนเองและรู้คุณค่าของตนเองมากขึ้นอย่างไร ความพยายามเช่นนั้นเพิ่มความสามารถของท่านในการจัดหาให้ตนเองและรับใช้อย่างเต็มที่มากขึ้นในศาสนจักรอย่างไร
เชื้อเชิญให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายปรับปรุงหนึ่งในหกด้านนี้
มาลาคี 3:8–12; มัทธิว 6:19–21; 1 ทิโมธี 6:7–10; 2 นีไฟ 9:51; เจคอบ 2:13–14, 18–19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:13–18
การบริหารเงิน
เตือนนักศึกษาว่าถ้าไม่ใช่เวลานี้ สักวันหนึ่งพวกเขาจะต้องรับผิดชอบเรื่องการจัดหาให้ตนเองและครอบครัว ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องฉลาดในเรื่องทรัพย์สินทางโลก
มอบหมายให้นักศึกษาแต่ละคนอ่านข้อความต่อไปนี้และระบุหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินอย่างรอบคอบ
-
มาลาคี 3:8-12 (เชื่อฟังกฎส่วนสิบและเงินบริจาค)
-
มัทธิว 6:19-21 (อย่าให้ใจหมกมุ่นกับทรัพย์สินทางโลก)
-
1 ทิโมธี 6:7-10 (พอใจกับสิ่งที่เรามี— “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด”)
-
2 นีไฟ 9:51 (อย่าใช้เงินหรือใช้แรงงานกับสิ่งที่ไม่มีค่า)
-
เจคอบ 2:13–14, 18–19 (แสวงหาความร่ำรวยเพื่อจุดประสงค์อันชอบธรรม)
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:13–18 (ใช้ความอุดมสมบูรณ์ของเราช่วยคนยากจนและคนขัดสน)
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักศึกษาให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบกับชั้นเรียน นักศึกษาพึงเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ หากประยุกต์ใช้หลักการเงินที่ฉลาด แต่ละบุคคลและครอบครัวย่อมมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้นและพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น (ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่าในพระคัมภีร์พระเจ้ามักจะใช้ความเชื่อมโยงระหว่างการได้ความร่ำรวยกับข้อผูกมัดในการช่วยเหลือคนยากจนและคนขัดสน ตัวอย่างเช่น ดู เจคอบ 2:18-19 และ คพ. 104:18)
-
ท่านเคยประสบพรอะไรบ้างจากการประยุกต์ใช้หลักการเงินที่ฉลาดในชีวิตท่าน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:78
หลีกเลี่ยงหนี้สินที่ไม่จำเป็น
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:78 ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917-2008) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“จงจำไว้ว่าหนี้สินเป็นพันธนาการรูปแบบหนึ่ง หนี้สินเป็นปลวกทางการเงิน เมื่อเราซื้อของด้วยเครดิต สิ่งของเหล่านั้นสร้างเพียงภาพมายาของความมั่งคั่งให้เราเท่านั้น เราคิดว่าเราเป็นเจ้าของวัตถุแต่ความจริงแล้ววัตถุต่างหากที่เป็นเจ้าของเรา
“หนี้บางอย่าง—เช่นบ้านธรรมดาๆ ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา บางทีอาจเป็นรถคันแรกที่ต้องใช้—ซึ่งอาจจำเป็น แต่เราไม่ควรเข้าสู่พันธะการเงินผ่านหนี้ผู้บริโภคโดยไม่ประเมินข้อดีข้อเสียให้ถี่ถ้วน” (ดู “หนี้สินทางโลก หนี้สินทางสวรรค์,”เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 51)
-
เหตุใดหนี้สินจึงเป็นพันธนาการรูปแบบหนึ่ง (ขณะที่นักศึกษาตอบ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ การหลีกเลี่ยงหนี้สินที่ไม่จำเป็นช่วยให้แต่ละบุคคลและครอบครัวเป็นอิสระจากพันธะการเงิน) ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910-2008) สอนว่า “การพึ่งพาตนเองจะ [มี] ไม่ได้เมื่อครัวเรือนหนึ่งมีหนี้สินก้อนโต คนเราจะไม่มีอิสรภาพหรือเสรีภาพจากพันธนาการเมื่อเขาตกอยู่ในพันธะกับสิ่งอื่น” (ดู “ถึงบรรดาเด็กหนุ่มและบุรุษทั้งหลาย,”เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 66)
เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านคำแนะนำต่อไปนี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสัน
“จงหลีกเลี่ยงปรัชญาและข้อแก้ตัวที่ว่าสิ่งฟุ่มเฟือยของเมื่อวานกลายเป็นสิ่งจำเป็นของวันนี้ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นเว้นแต่ตัวเราจะทำให้เป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้สามีภรรยาหนุ่มสาวหลายคู่อยากเริ่มจากรถยนต์เอนกประสงค์และบ้านแบบที่พ่อแม่ทำงานชั่วชีวิตกว่าจะได้มา พวกเขาก็เลยเข้าสู่หนี้สินระยะยาวโดยที่ทั้งสองคนต้องทำงาน อาจจะสายเกินไปเมื่อพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผู้หญิงมีบุตร ความเจ็บป่วยมาเยือนบางครอบครัว การตกงาน ภัยธรรมชาติและสถานการณ์อื่นเกิดขึ้นจนไม่สามารถชำระหนี้จากรายได้ของคนสองคนได้ เราจำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามรายได้ของเรา” (“ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับคืนวันที่ผันแปร,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 25)
-
อาจเกิดผลลัพธ์อะไรบ้างกับแต่ละบุคคลและครอบครัวที่ไม่แยกแยะความแตกต่างระหว่างความต้องการกับความจำเป็น
-
วิธีแยกแยะระหว่างความต้องการกับความจำเป็นมีอะไรบ้าง
กระตุ้นให้นักศึกษาตรึกตรองคำถามต่อไปนี้และเขียนคำตอบของพวกเขาลงในบันทึกส่วนตัว
-
ท่านจะพึ่งพาตนเองมากขึ้นในชีวิตด้านใด
-
ท่านจะบริหารจัดการทรัพย์สินทางโลกของท่านให้ดีขึ้นได้อย่างไร
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
มาลาคี 3:8–12; มัทธิว 6:19–21; มาระโก 6:1–3; ลูกา 2:51–52; 1 ทิโมธี 6:7–10; 2 นีไฟ 9:51; เจคอบ 2:17–19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 56:17; 75:28; 104:13–18, 78
-
โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “การเป็นผู้เลี้ยงชีพที่มองการณ์ไกลทั้งทางโลกและทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 7–11