บทที่ 13
ปรับปรุงการนมัสการในพระวิหาร
คำนำ
การนมัสการในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เตรียมเราให้พร้อมเป็นสานุศิษย์ที่ดีขึ้นของพระเยซูคริสต์ และ “ศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ [ที่นั่น] ทำให้เกิดความเป็นไปได้สำหรับแต่ละบุคคลที่จะกลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,”เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) กระตุ้นให้สมาชิกศาสนจักรทำพระวิหารเป็น “สัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของพวกเขา” (“The Great Symbol of Our Membership,” Ensign, Oct. 1994, 2) ในบทเรียนนี้นักศึกษาจะเรียนรู้วิธียกระดับการนมัสการในพระวิหารอันจะนำพรเข้ามาในชีวิตครอบครัวของพวกเขามากขึ้น
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ริชาร์ด จี. สก๊อตต์, “การนมัสการที่พระวิหาร: ที่มาของความเข้มแข็งและพลังในยามจำเป็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 52–55
-
แอล. ลิโอเนล เคนดริค, “ยกระดับประสบการณ์ของเราในพระวิหาร,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 112–115
-
การเตรียมตัวเข้าพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ (จุลสาร, 2002)
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
สดุดี 24:3–5; ยอห์น 2:13–16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:10–13, 20–22
ความมีค่าควรในการเข้าพระวิหาร
ให้ดูรูปภาพพระวิหารใกล้บ้านท่านมากที่สุด ชี้ให้เห็นว่าประโยค ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า จารึกไว้ด้านนอกของพระวิหารทุกแห่ง เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่าน ยอห์น 2:13–16 และพิจารณาว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารอย่างไร
-
เรื่องนี้แสดงให้เห็นเจตคติที่เราควรมีต่อพระวิหารอย่างไร
-
ผู้คนในทุกวันนี้แสดงความไม่เคารพพระวิหารในวิธีใด
ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:20 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อนี้ (คำตอบของนักศึกษาควรรวมหลักธรรมนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่าสิ่งไม่สะอาดจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพระนิเวศน์ของพระองค์ ชี้ให้เห็นว่าในพระคัมภีร์มักพรรณนาว่าพระวิหารเป็นสถานที่แห่งความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ และความมีค่าควร ท่านอาจกระตุ้นนักศึกษาให้มองหาการเชื่อมโยงนี้เมื่อพวกเขาอ่านเกี่ยวกับพระวิหาร)
-
มาตรฐานความมีค่าควรอะไรบ้างที่แต่ละบุคคลต้องบรรลุก่อนจะเข้าพระวิหาร
ให้เวลานักศึกษาสักครู่ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:10–13, 21–22 และ สดุดี 24:3–5 และระบุพรเกี่ยวกับการนมัสการในพระวิหารอย่างมีค่าควร ท่านอาจเสนอแนะให้นักศึกษาทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ
-
ในข้อเหล่านี้สัญญาพรอะไรบ้างกับคนที่เข้าพระวิหารอย่างมีค่าควร (รัศมีภาพของพระเจ้าจะอยู่บนผู้คนของพระองค์ คนที่เข้าพระวิหารจะรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระเจ้าและยอมรับว่าพระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว ในพระวิหารพระเจ้าจะทรงให้พระนามของพระองค์อยู่กับเรา และเราจะมีเดชานุภาพของพระองค์เป็นอาวุธ และในพระวิหารเราจะได้รับพรและความชอบธรรมจากพระเจ้า)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดสัญญาเหล่านี้จึงเกิดขึ้นตามความมีค่าควรของเรา
-
ท่านจะพูดอะไรกับคนที่กำลังสงสัยว่าการมีคุณสมบัติคู่ควรรับใบรับรองพระวิหารคุ้มค่าความพยายามหรือไม่
เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน:
“คนที่เข้าใจพรนิรันดร์ซึ่งมาจากพระวิหารทราบว่าเพื่อให้ได้รับพรดังกล่าวไม่มีการเสียสละใดมากเกินไป ไม่มีราคาใดสูงเกินไป และไม่มีการต่อสู้ใดยากเกินไป … พวกเขาเข้าใจว่าศาสนพิธีแห่งความรอดที่ได้รับในพระวิหารซึ่งวันหนึ่งจะเอื้ออำนวยให้เราได้กลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ในสัมพันธภาพของครอบครัวนิรันดร์และได้รับการประสาทพรและสิทธิอำนาจจากเบื้องบนนั้นควรค่าแก่การเสียสละทุกอย่างและความเพียรพยายามทุกวิถีทาง” (ดู “พระวิหารศักดิ์สิทธิ์—ประภาคารส่องโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 116)
-
ท่านได้รับพรอะไรบ้างเมื่อท่านมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหาร
กระตุ้นให้นักศึกษาไปขอและเก็บใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันไว้กับตัวตลอดชีวิตที่เหลือ เน้นว่าเมื่อพวกเขานมัสการพระเจ้าอย่างอ่อนน้อมถ่อมในในพระวิหารของพระองค์ พวกเขาจะได้รับพรที่มีให้เฉพาะผู้ซื่อสัตย์ในพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
3 นีไฟ 17:1–3
ยกระดับการนมัสการในพระวิหารของเรา
เขียนสิ่งต่อไปนี้บน กระดาน และถามนักศึกษาว่าพวกเขาจะเติมประโยคให้สมบูรณ์ว่าอย่างไร
หลังจากหลายคนตอบแล้ว ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“สิ่งที่เราได้ จาก พระวิหารส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรานำ ไป พระวิหารในลักษณะของความอ่อนน้อมถ่อมตน ความคารวะยำเกรง และความปรารถนาจะเรียนรู้ ถ้าเราเป็นคนสอนได้เราจะได้รับการสอนจากพระวิญญาณในพระวิหาร” (The Holy Temple [1980], 42)
-
ท่านคิดว่าประสบการณ์ของท่านในพระวิหารจะได้รับผลอย่างไรถ้าท่านเข้าไปด้วยวิญญาณของ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความคารวะยำเกรง และความปรารถนาจะเรียนรู้” (ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราไปพระวิหารด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ความคารวะยำเกรง และความปรารถนาจะเรียนรู้ เราจะได้รับการสอนจากพระวิญญาณ)
อธิบายให้นักศึกษาฟังว่าเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนชาวนีไฟ พระองค์ทรงสอนพวกเขาถึงรูปแบบความเข้าใจเรื่องศักด์สิทธิ์ที่เราสามารถทำตามได้เมื่อเข้าพระวิหาร เชิญให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 17:1–3
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้ฟังให้ทำอะไรที่จะช่วยพวกเขาเตรียมเข้าใจเรื่องศักดิ์สิทธิ์
-
เราจะทำตามรูปแบบนี้ได้อย่างไรเพื่อปรับปรุงคุณภาพประสบการณ์ของเราที่พระวิหาร (เราควรไตร่ตรองสิ่งที่เราประสบในพระวิหาร สวดอ้อนวอนขอความเข้าใจ เตรียมเข้าครั้งถัดไป และกลับไปบ่อยที่สุดเท่าที่สภาวการณ์เอื้ออำนวย)
อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. ลิโอเนล เคนดริคแห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักศึกษาฟังวลีที่บอกวิธียกระดับการนมัสการในพระวิหารของเรา
“มีความแตกต่างระหว่างการเพียงแต่เข้าพระวิหารกับการมีประสบการณ์อันล้ำค่าทางวิญญาณ พรแท้จริงของพระวิหารเกิดขึ้นเมื่อเรายกระดับประสบการณ์ของเราในพระวิหาร ในการทำเช่นนั้น เราต้องรู้สึกถึงวิญญาณแห่งความคารวะในพระวิหารและวิญญาณแห่งการนมัสการ …
“ความคารวะไม่ใช่แค่การเงียบ แต่เกี่ยวข้องกับการตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับความปรารถนาจากส่วนลึกที่จะเรียนรู้และรับรู้ถึงการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ เกี่ยวข้องกับการพากเพียรแสวงหาความสว่างและความรู้เพิ่มเติม การขาดความคารวะไม่เพียงแสดงว่าเราขาดความเคารพพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ทำให้พระวิญญาณไม่สามารถสอนเราได้ในสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้” (“ยกระดับประสบการณ์ของเราในพระวิหาร,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 112)
-
วลีใดในคำกล่าวนี้มีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ เพราะเหตุใด
อ่านคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาฟังข้อเสนอแนะที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้เมื่อไปเยือนพระวิหาร
“• เข้าใจหลักคำสอนที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีพระวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนัยสำคัญของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
“• ขณะเข้าร่วมศาสนพิธีพระวิหาร ให้ใคร่ครวญความสัมพันธ์ของท่านกับพระเยซูคริสต์และความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระบิดาบนสวรรค์ของเรา การกระทำที่เรียบง่ายนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจมากขึ้นถึงลักษณะอันสูงส่งของศาสนพิธีพระวิหาร
“• สวดอ้อนวอนแสดงความสำนึกคุณอยู่เสมอต่อพรอันหาใดเทียบได้ที่หลั่งไหลมาจากศาสนพิธีพระวิหาร ดำเนินชีวิตแต่ละวันเพื่อให้พระบิดาในสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงประจักษ์ว่าพรเหล่านั้นมีความหมายต่อท่านมากเพียงใด
“• กำหนดแผนไปพระวิหารเป็นประจำ
“• เผื่อเวลาไว้มากพอเพื่อจะไม่เร่งรีบภายในกำแพงพระวิหาร
“• เปลี่ยนการทำศาสนพิธีต่างๆ เพื่อท่านจะร่วมศาสนพิธีของพระวิหารได้ครบทุกศาสนพิธี
“• ถอดนาฬิกาเมื่อท่านเข้าไปในพระนิเวศน์ของพระเจ้า
“• ตั้งใจฟังการนำเสนอองค์ประกอบต่างๆ ของศาสนพิธีด้วยความคิดและใจที่เปิดกว้าง
“• ตั้งจิตระลึกถึงคนที่ท่านกำลังประกอบศาสนพิธีแทน บางครั้งสวดอ้อนวอนให้บุคคลนั้นรับรู้ความสำคัญยิ่งของศาสนพิธีและมีค่าควรหรือเตรียมมีค่าควรรับประโยชน์จากศาสนพิธี” (ดู “การนมัสการที่พระวิหาร: ที่มาของความเข้มแข็งและพลังในยามจำเป็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 52–53)
-
แนวคิดใดข้างต้นจะเกิดประโยชน์มากที่สุดเมื่อท่านประยุกต์ใช้
-
ท่านหรือคนอื่นๆ ได้ทำอะไรบ้างเพื่อทำให้การนมัสการในพระนิเวศน์ของพระเจ้ามีความหมายมากขึ้น นั่นส่งผลอะไรเมื่อท่านทำสิ่งเหล่านั้น (ส่วนหนึ่งของการสนทนาคือท่านอาจจะสนทนาคำกล่าวต่อไปนี้จากฝ่ายประธานสูงสุด “เมื่อสมาชิกศาสนจักรค้นพบชื่อบรรพชนของตนและนำรายชื่อเหล่านั้นไปพระวิหารเพื่อประกอบศาสนพิธี ประสบการณ์พระวิหารจะเพิ่มคุณค่าได้มากมายอย่างยิ่ง” [จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 8 ต.ค. 2012])
กระตุ้นให้นักศึกษาจดสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าต้องทำเพื่อยกระดับประสบการณ์พระวิหารของพวกเขา กระตุ้นพวกเขาให้ทำตามที่เขียนไว้
หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:8
สถานที่แห่งการเปิดเผย
อธิบายว่าในคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายจุดประสงค์บางประการของพระวิหาร ขอให้นักศึกษาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:8 ชี้ให้เห็นว่าจุดประสงค์ประการหนึ่งคือให้เป็น “บ้านแห่งการเรียนรู้”
-
เราคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้อะไรในพระวิหาร
ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“อาคารศักดิ์สิทธิ์นี้กลายเป็นโรงเรียนแห่งการแนะนำสั่งสอนในเรื่องศักดิ์สิทธิ์และน่ายินดีของพระผู้เป็นเจ้า ที่นี่เราได้สรุปย่อแผนของพระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักพื่อบุตรและธิดาของพระองค์ทุกรุ่น ที่นี่เราได้อธิบายอย่างคร่าวๆ ถึงการผจญภัยอันยาวนานของการเดินทางนิรันดร์ของมนุษย์ไว้พอสังเขปตรงหน้าเราตั้งแต่การดำรงอยู่ก่อนเกิดผ่านชีวิตนี้ไปจนถึงชีวิตหน้า ความจริงพื้นฐานอันสำคัญยิ่งได้รับการสอนอย่างชัดเจนและเรียบง่ายภายในความเข้าใจของทุกคนที่ได้ยิน” (“The Salt Lake Temple,” Ensign, Mar. 1993, 5–6)
-
การเข้าร่วมศาสนพิธีพระวิหารช่วยให้เราเรียนรู้ความจริงพื้นฐานอันสำคัญยิ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร
-
การทำตามรูปแบบที่บันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 17:1–3 จะช่วยให้เราเรียนรู้มากขึ้นได้อย่างไรขณะอยู่ในพระวิหาร
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้จากประธาน กอร์ดอนบี. ฮิงค์ลีย์
“คนมากมายที่อยู่ในช่วงเวลาของความตึงเครียด เวลาที่ต้องตัดสินใจในเรื่องยากๆ และต้องจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน พวกเขามาพระวิหารในวิญญาณของการอดอาหารและการสวดอ้อนวอนเพื่อแสวงหาการนำทางจากเบื้องบน หลายคนเป็นพยานว่าแม้ไม่ได้ยินสุรเสียงแห่งการเปิดเผย แต่พวกเขาประสบความประทับใจเกี่ยวกับวิถีที่พึงตามในเวลานั้นหรือในเวลาต่อมาซึ่งกลายเป็นคำตอบการสวดอ้อนวอนของพวกเขา” (“The Salt Lake Temple,” Ensign, Mar. 1993, 6)
สรุปโดยถามนักศึกษาว่ามีใครต้องการแบ่งปันความรู้สึกและประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระวิหารหรือไม่ เน้นว่านักศึกษาอยู่ในเวลาสำคัญมากของชีวิต เวลาที่ต้องทำการตัดสินใจมากมาย เป็นพยานว่าในพระนิเวศน์ของพระเจ้า นักศึกษาจะรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า การปลอบโยน และการนำทาง
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
สดุดี 24:3–5; ยอห์น 2:13–16; 3 นีไฟ 17:1–3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:8–22
-
ริชาร์ด จี. สก๊อตต์, “การนมัสการที่พระวิหาร: ที่มาของความเข้มแข็งและพลังในยามจำเป็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 52–55