บทที่ 22
การสร้างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ
คำนำ
“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” พูดถึงหลักธรรมที่บิดามารดาควรสอนบุตรธิดา บทเรียนนี้จะสนทนาความรับผิดชอบของบิดามารดาในการสอนบุตรธิดาเรื่อง “ความเคารพ … ความเห็นอกเห็นใจ การทำงาน และกิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม” นอกจากนี้จะสนทนาหน้าที่ของบิดามารดาในการสอนบุตรธิดาให้ “รักและรับใช้กัน ให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นพลเมืองดี เชื่อฟังกฎหมายบ้านเมือง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) การสอนหลักธรรมเหล่านี้ช่วยบิดามารดาสร้างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,”เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133–137
-
ซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์, “บอกแล้วใช่ไหม … ?” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 91-93
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักธรรมสำหรับครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ
เตรียมนักศึกษาให้พร้อมเรียนบทนี้โดยให้ดูข้อความต่อไปนี้จากประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ (1873-1970)
“ไม่มีความสำเร็จใดชดเชยความล้มเหลวในบ้านได้” (อ้างอิงจาก เจ.อี.แม็คคัลลอช, Home: The Savior of Civilization [1924], 42; in Conference Report, Apr. 1935, 116)
-
เมื่อพิจารณาสิ่งที่ท่านเรียนรู้ไปแล้วในหลักสูตรนี้ หลักธรรมใดบ้างที่มีส่วนในการสร้างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ
เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูและอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้จาก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”:
“การแต่งงานและครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้รับการสถาปนาและธำรงไว้ด้วยหลักธรรมแห่งศรัทธา การสวดอ้อนวอน การกลับใจ การให้อภัย ความเคารพ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การทำงาน และกิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม”
อธิบายให้นักศึกษาฟังว่าเราสนทนาหลักธรรมส่วนใหญ่ในข้อความนี้ไปแล้วในบทก่อนๆ เพื่อเน้นคุณสมบัติที่ไม่ยังไม่ได้สนทนา ให้เขียนบนกระดานดังนี้
แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมอบหมายให้แต่ละกลุ่มศึกษาคุณสมบัติหนึ่งอย่าง ขอให้กลุ่มสนทนาคำถามต่อไปนี้
ความเคารพ
-
เกิดสิ่งดีๆ อะไรบ้างในครอบครัวเมื่อบิดามารดาเคารพบุตรธิดาของตน เมื่อบุตรธิดาเคารพบิดามารดา เมื่อบิดามารดาเคารพกัน
-
มีตัวอย่างอะไรบ้างของการแสดงความเคารพที่ท่านสามารถแบ่งปันได้จากประสบการณ์ครอบครัวของท่านเอง
ความเห็นอกเห็นใจ
-
มีวิธีใดบ้างที่บิดามารดาสามารถสอนบุตรธิดาให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว
-
มีตัวอย่างอะไรบ้างของการสอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจที่ท่านสามารถแบ่งปันได้จากครอบครัวท่านเองหรือจากครอบครัวที่ท่านรู้จัก
การทำงาน
-
เหตุใดการทำงานจึงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ
-
บิดามารดาจะช่วยให้บุตรธิดาพบความเบิกบานใจและความพอใจในการทำงานได้อย่างไร
-
มีตัวอย่างอะไรบ้างของการสอนบุตรธิดาให้ทำงานที่ท่านสามารถแบ่งปันได้จากครอบครัวของท่านเองหรือจากครอบครัวที่ท่านรู้จัก
กิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม
บอกกลุ่มนี้ว่าเมื่อครอบครัวมีเวลาจำกัดในการทำกิจกรรมด้วยกัน จงฉลาดเลือกกิจกรรมที่มีคุณค่าสูงสุด ขอให้นักศึกษากลุ่มนี้อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองและสนทนาคำถามต่อจากนั้น
“ขณะที่เราพิจารณาทางเลือกต่างๆ เราควรจำไว้ว่าบางอย่างดีเท่านั้นไม่พอ ทางเลือกอื่นๆ ดีกว่า และยังมีอื่นๆ อีกที่ดีที่สุด …
“การเลือกสำคัญที่สุดบางอย่างของเราเกี่ยวข้องกับกิจกรรมครอบครัว … ในการเลือกว่าจะใช้เวลากับครอบครัวอย่างไรนั้น เราควรระวังอย่าให้เวลากับสิ่งที่ดีจนหมดแล้วเหลือเวลาเพียงเล็กน้อยให้กับสิ่งที่ดีกว่าหรือดีที่สุด เพื่อนคนหนึ่งพาครอบครัวที่มีลูกเล็กไปเที่ยวหลายแห่งในฤดูร้อน รวมทั้งไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง เขาถามลูกชายวัยรุ่นของเขาว่าในกิจกรรมฤดูร้อนดีๆ เหล่านี้ลูกชอบกิจกรรมใดมากที่สุด ผู้เป็นพ่อได้บทเรียนจากคำตอบนั้นเช่นเดียวกับคนที่ได้ฟังเขาเล่า ‘สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในฤดูร้อนนี้’ เด็กหนุ่มตอบ ‘คือคืนที่พ่อกับผมนอนบนสนามหญ้าดูดาวแล้วคุยกันครับ’ กิจกรรมยอดเยี่ยมในครอบครัวอาจดีสำหรับลูกๆ แต่มักไม่ดีกว่าเวลาอยู่ด้วยกันสองคนกับพ่อหรือแม่ที่รักเขา” (“ดี ดีกว่า ดีที่สุด,”เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133-134)
-
ประสบการณ์ของบิดาคนนี้กับบุตรชายสามารถช่วยให้เราเข้าใจคุณค่าของ “กิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม” ในครอบครัวได้อย่างไร
-
ครอบครัวจะช่วยกันจัดกิจกรรมนันทนาการที่มีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้แต่ละกลุ่มสรุปการสนทนาของพวกเขากับนักศึกษาทั้งชั้น
สรุปบทเรียนส่วนนี้โดยให้ดูคำกล่าวของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดและขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เนื่องจาก ‘ไม่มีความสำเร็จใดชดเชยความล้มเหลว’ [ในครอบครัวของเราได้] เราจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับครอบครัวของเรา เราสร้างสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งฉันครอบครัวที่รักกันโดยการทำสิ่งเรียบง่ายด้วยกัน เช่น รับประทานอาหารเย็นเป็นครอบครัว สังสรรค์ในครอบครัว และแค่สนุกสนานด้วยกัน ในความสัมพันธ์ของครอบครัว ความรัก สะกดด้วยคำว่า เ-ว-ล-า เวลา การมีเวลาอยู่ด้วยกันทำให้เกิดความปรองดองในบ้าน” (“เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,”เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 26)
-
ท่านจะเล่าประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพ่อแม่หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวใช้เวลาที่มีความหมายกับท่านได้หรือไม่
ถามนักศึกษาว่ามีใครต้องการแบ่งปันความคิดหรือประจักษ์พยานไหมว่าคุณสมบัติที่เขียนไว้บนกระดานจะเป็นพรแก่ครอบครัวได้อย่างไร
เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4–7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:5–6; หลักแห่งความเชื่อ 1:12
หน้าที่ของบิดามารดาในการสอนบุตรธิดา
ขอให้นักศึกษาค้นคว้า ย่อหน้าที่หก ของ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” โดยมองหาสิ่งที่บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ต้องสอนบุตรธิดาของตน ขณะที่พวกเขาตอบ ให้เขียนบนกระดานดังนี้
เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ บิดามารดาได้รับบัญชาให้สอนบุตรธิดาให้รักและรับใช้กัน รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นพลเมืองที่ทำตามกฎหมาย
ขอให้นักศึกษาเปิดไปที่ เฉลยธรรมบัญญัติ 6 อธิบายว่าบทนี้บันทึกคำแนะนำที่โมเสสให้แก่ลูกหลานอิสราเอลเกี่ยวกับวิธีรักษาพระบัญญัติ เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-7 ในใจและเปรียบข่าวสารกับตนเองโดยใส่ชื่อพวกเขาแทนทุกครั้งที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “ท่าน” หรือ “ของท่าน”
-
การใส่ชื่อท่านแทนส่งผลต่อความเข้าใจของท่านในข้อเหล่านี้อย่างไร
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7บิดามารดาควรสอนบุตรธิดาบ่อยเพียงใด
ชี้ไปที่วลี “รักและรับใช้กัน” บนกระดาน สนทนาความหมายของวลีนี้โดยอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) แห่งฝ่ายประธานสูงสุด และถามคำถามต่อจากนั้น
“เกือบทุกวันเรามีโอกาสปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว การปฏิบัติเช่นนั้นไม่มีข้อจำกัดใดๆ และอาจเป็นการกระทำที่เรียบง่ายเช่น วาจาอ่อนหวาน การช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ หรือรอยยิ้มที่จริงใจ” (“ฉันจะได้อะไรบ้าง” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 26)
-
แต่ละวันท่านมีโอกาสรักและรับใช้สมาชิกในครอบครัวท่านกี่ครั้ง
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การรับใช้สมาชิกครอบครัวมีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตท่าน
ให้เวลานักศึกษาไตร่ตรองสักครู่ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับใช้สมาชิกครอบครัวและแสดงความรักต่อพวกเขาได้ดีขึ้น
ชี้ไปที่วลี “รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” บนกระดาน และถามว่า
-
เหตุใดบิดามารดาจึงควรเป็นผู้รับผิดชอบเบื้องต้นในการสอนบุตรธิดาให้รู้พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์ซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์ อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญ อธิบายว่าในคำพูดนี้ ซิสเตอร์แทนเนอร์นึกถึงคำแนะนำที่เธอให้บุตรสาวคนหนึ่งของเธอที่เพิ่งแต่งงานและเริ่มสร้างครอบครัวของตนเอง
“ขอให้ดูแบบอย่างในบ้านปู่ย่าตายาย ท่านเหล่านั้นเลี้ยงดู ‘ลูกๆ [ของพวกท่าน] ในแสงสว่างและความจริง’ (คพ. 93:40) [บ้านที่คุณพ่อของลูกเติบโตมา] เป็นบ้านแห่งการเรียนรู้ คุณพ่อพูดในพิธีศพของคุณปู่ว่า หลักธรรมพระกิตติคุณที่เขาเรียนรู้จากการประชุมที่โบสถ์ไม่มีหลักธรรมใดที่เขาไม่เคยเรียนรู้มาแล้วจากที่บ้าน ศาสนจักรเป็นบทเสริมให้บ้านของเขา” (“บอกแล้วใช่ไหม … ?” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 91)
-
ท่านจะเตรียมสร้างบ้านแห่งการเรียนรู้—เหมือนบ้านที่ซิสเตอร์แทนเนอร์พูดถึง—ให้ครอบครัวท่านได้อย่างไร ท่านคิดอย่างไรถ้าลูกๆ ในอนาคตของท่านจะพูดแบบนี้เกี่ยวกับบ้านที่พวกเขาเติบโตมา
ชี้ไปที่วลี “พลเมืองที่ทำตามกฎหมาย” บนกระดาน บอกนักศึกษาว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 134 บันทึก “ข้อประกาศถึงความเชื่อเกี่ยวกับการปกครองและกฎหมาย” (หัวบทของภาค 134) ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของภาคนี้โดยให้พวกเขาอ่านออกเสียงหัวบทของภาค จากนั้นเชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:5–6 และอีกคนหนึ่งอ่านหลักแห่งความเชื่อข้อสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับกฎหมายบ้านเมือง
-
คำสอนอะไรเกี่ยวกับการปกครองและกฎหมายบ้านเมืองที่เด่นชัดสำหรับท่าน (สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม ท่านอาจให้นักศึกษาอ่านและทำการอ้างโยง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:21 กับ 98:4–6)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่บ้านต้องเป็นสถานที่แรกให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าต้องเชื่อฟังกฎหมายบ้านเมือง
ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ขณะที่การเป็นบิดามารดาลดลง ความจำเป็นของการพิทักษ์สันติราษฎร์กลับเพิ่มขึ้น มักจะมีความขาดแคลนผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เสมอถ้ามีความขาดแคลนพ่อแม่ที่มีประสิทธิภาพ! ในทำนองเดียวกัน จะมีเรือนจำไม่พอถ้ามีบ้านที่ดีไม่มากพอ” (“Take Especial Care of Your Family,” Ensign, May 1994, 89)
-
ท่านคิดว่าบิดามารดาจะสอนบุตรธิดาให้เชื่อฟังกฎหมายบ้านเมืองได้อย่างไร
-
ท่านรู้จักคนที่เชื่อฟังและแสดงความเคารพกฎหมายบ้านเมืองตลอดจนเจ้าหน้าที่ปกครองหรือไม่ ท่านคิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีผลอะไรต่อบุตรธิดาของบุคคลนั้น
กระตุ้นให้นักศึกษาใช้เวลาในวันต่อๆ มาไตร่ตรองหลักธรรมที่บิดามารดาพึงสอนเพื่อสร้างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ขอให้พวกเขาวางแผนว่าจะทำตามหลักธรรมเหล่านี้ในชีวิตพวกเขาเวลานี้และจะนำไปใช้กับครอบครัวในอนาคตของพวกเขาอย่างไร
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
เฉลยธรรมบัญญัติ 6:1–7; โยชูวา 24:15; โมไซยาห์ 4:14–15; หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:21; 98:4–6; 134:5–6; หลักแห่งความเชื่อ 1:12
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,”เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133–137