เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 25: การใช้ศรัทธาในสภาวการณ์ยุ่งยากของครอบครัว


บทที่ 25

การใช้ศรัทธาในสภาวการณ์ยุ่งยากของครอบครัว

คำนำ

“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” กล่าวว่า “ความพิการ ความตาย หรือสภาพการณ์อื่นๆ [ของครอบครัว] อาจทำให้แต่ละบุคคลจำต้องปรับตัว ญาติพี่น้องควรให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น” ( เลียโฮนา,, พ.ย. 2010, 165) เมื่อเกิดสภาวการณ์ยุ่งยาก พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้มุมมองและความเข้มแข็งเพื่อปรับตัวตามความจำเป็น

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “การชดใช้และการเดินทางของความเป็นมรรตัย,” เลียโฮนา, เม.ย. 2012, 40–47

  • “เสริมสร้างครอบครัว: ปรับตัวตามสถานการณ์,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2005, 30-31

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 16:34–39; 17:1–4

การปรับตัวตามสภาวการณ์ท้าทายของครอบครัว

เริ่มชั้นเรียนโดยอธิบายว่าผู้นำศาสนจักรสอนให้เรารู้วิธีบรรลุและยึดมั่นอุดมคติ—รวมทั้งการแต่งงานและครอบครัวในอุดมคติ แต่ในบางกรณี สภาวการณ์ชีวิตขัดขวางไม่ให้เราบรรลุอุดมคติดังกล่าว ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“โดยผ่านพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเราเรียนรู้ว่ามี ครอบครัวในอุดมคติ ครอบครัวที่ประกอบด้วยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่ชอบธรรมโดยมีภรรยาที่ชอบธรรมผนึกไว้กับเขาพร้อมด้วยลูกๆ ที่เกิดในพันธสัญญาหรือได้รับการผนึกไว้กับพวกเขา โดยมีมารดาในบ้านในสภาพแวดล้อมของความรักและการรับใช้ บิดามารดาสอนลูกๆ ผ่านแบบอย่างและคำสอนให้รู้วิถีทางของพระเจ้าและความจริงของพระองค์ พวกเขาทำบทบาทที่เบื้องบนกำหนดดังที่กล่าวไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ลูกๆ ของพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยการดำเนินชีวิตตามคำสอนที่ปลูกฝังตั้งแต่เกิด พวกเขาพัฒนาคุณลักษณะของการเชื่อฟัง ความซื่อตรง ความรักพระผู้เป็นเจ้า และศรัทธาในแผนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” (ดู “จงวางสิ่งสำคัญที่สุดไว้เป็นอันดับแรก,”เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 6-7)

  • เหตุการณ์หรือสภาวการณ์อะไรบ้างที่อย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่งอาจขัดขวางไม่ให้เรามีสถานการณ์ของครอบครัวในอุดมคติ (คำตอบอาจได้แก่ ความตาย ความพิการ การหย่าร้าง การไม่สามารถมีบุตร ตกงาน และพ่อแม่ทำงานหลายอย่าง)

  • เชื้อเชิญให้นักศึกษาค้นคว้าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวย่อหน้าที่เจ็ดโดยหาดูว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังให้เราทำอะไรถ้าสถานการณ์ครอบครัวของเราไม่เป็นอย่างที่คิด

“ความพิการ ความตาย หรือสภาพการณ์อื่นๆ อาจทำให้แต่ละบุคคลจำต้องปรับตัว ญาติพี่น้องควรให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,”เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)

จากนั้นให้อ่านข้อความต่อไปนี้และขอให้นักศึกษามองหารูปแบบการปรับตัวที่ครอบครัวอาจต้องทำเมื่อเกิดการท้าทาย

“ในโลกที่สมบูรณ์แบบ ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องแต่งงานอย่างมีความสุข ชีวิตแต่งงานทั้งหมดจะต้องได้รับพรด้วยการมีบุตร และสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องมีสุขภาพดี เชื่อฟัง และจุนเจือกัน แต่ชีวิตก็สมบูรณ์แบบได้ยาก แต่ละคนประสบความยากลำบาก และไม่มีช่วงความเป็นมรรตัยของครอบครัวใดว่างเว้นทุกข์ภัยตลอดเวลา …

“โรคภัย ความพิการ ความตาย การหย่าร้าง และตัวทำลายอื่นๆ อาจก่อให้เกิดความท้าทายได้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ‘แต่ละบุคคลอาจจำเป็นต้องปรับ’ บทบาท บิดาอาจต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมในบ้านและในการอบรมเลี้ยงดู หรือมารดาที่เป็นแม่บ้านเต็มตัวอาจต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แม้แต่เด็กๆ ก็อาจต้องยอมรับความรับผิดชอบใหม่ๆ ด้วย

“เมื่อเหตุการณ์ผันแปร ญาติพี่น้องอาจต้องช่วยเหลือ การประคับประคองอาจเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ไปจนถึงสละเวลามาเลี้ยงเด็ก ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน หรือดูแลสมาชิกครอบครัวที่ป่วยหรือพิการ ความมากน้อยของการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือของญาติพี่น้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความต้องการของครอบครัว” (“เสริมสร้างครอบครัว: ปรับตัวตามสถานการณ์,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2005, 30-31)

  • ครอบครัวหรือแต่ละบุคคลอาจต้องปรับตัวอะไรบ้างเมื่อเกิดความท้าทาย

  • ท่านเคยเห็นครอบครัวหรือบุคคลทำสิ่งใดบ้างเพื่อปรับตัวและยังคงเข้มแข็งขณะเผชิญสภาวการณ์ยากลำบากหรือยุ่งเหยิง

  • เมื่อใดที่ท่านเห็นญาติพี่น้องเสนอความช่วยเหลือและช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เมอร์ริลล์ เจ. เบทแมนแห่งสาวกเจ็ดสิบ ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่เอ็ลเดอร์เบทแมนกล่าวว่าสามารถช่วยครอบครัวที่เผชิญสภาวการณ์ยุ่งยากได้

เอ็ลเดอร์เมอร์ริล เจ. เบทแมน

“การทดลองและความทุกข์ยากเกิดขึ้นหลายแบบ อาทิ ความตายของผู้เป็นที่รัก ชีวิตแต่งงานที่ไม่สมหวัง การไม่ได้แต่งงาน การหย่าร้าง บุตรที่เกิดมาพร้อมความพิการ ไม่มีบุตร ตกงาน บิดามารดาที่ทำผิดพลาด บุตรชายหรือบุตรสาวที่ดื้อรั้น ปัญหาสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมายไม่สิ้นสุด เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้ความผิดหวัง ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความตายอยู่ในแผนของพระองค์ นักศึกษา

“ความเข้าใจเรื่องแผนแห่งความรอด ความเป็นอยู่ก่อนมรรตัย ชีวิตบนโลกนี้ และชีวิตหลังความตายจะให้มุมมองที่ถูกต้อง” (“Living a Christ-Centered Life,” Ensign, Jan. 1999, 13)

  • การเข้าใจแผนของพระผู้เป็นเจ้าเตรียมครอบครัวให้พร้อมเผชิญความท้าทายอย่างไร (เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน การเข้าใจแผนของพระเจ้าช่วยให้ครอบครัวเผชิญความท้าทายบนโลกนี้ด้วยศรัทธาเพิ่มขึ้นและมองไกลถึงนิรันดร)

  • มุมมองพระกิตติคุณจะทำให้เรากล้าปรับตัวหรือรับความรับผิดชอบใหม่ๆ ในครอบครัวมากขึ้นเมื่อจำเป็นได้อย่างไร

ถามนักศึกษาว่าพวกเขานึกถึงครอบครัวใดในพระคัมภีร์ที่ประสบความท้าทายและได้รับความช่วยเหลือจากเบื้องบนเพื่อเอาชนะหรืออดทนต่อความท้าทายเหล่านั้น เตือนให้นักศึกษานึกถึงครอบครัวของลีไฮและอิชมาเอลผู้เดินทางผ่านแดนทุรกันดารที่รกร้างหลังออกจากเยรูซาเล็ม เชื้อเชิญให้นักศึกษานึกถึงความท้าทายที่ครอบครัวเหล่านี้อาจพบเจอระหว่างเดินทางไปแผ่นดินที่สัญญาไว้แล้วแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

เชิญนักศึกษาสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 16:34-39 และ 17:1–4 ขอให้นักศึกษาฟังตัวอย่างว่าสมาชิกในครอบครัวของลีไฮกับครอบครัวของอิชมาเอลตอบสนองความท้าทายที่พวกเขาเผชิญต่างกันอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดสมาชิกบางคนในครอบครัวของลีไฮและครอบครัวของอิชมาเอลจึงสามารถบากบั่นด้วยศรัทธาและวางใจพระผู้เป็นเจ้าขณะที่คนอื่นๆ พร่ำบ่นเพราะความยากลำบากของพวกเขา

  • ท่านเคยเห็นความรู้และประจักษ์พยานในพระกิตติคุณเป็นพรแก่ครอบครัวที่กำลังประสบความท้าทายในทางใด

ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณและความต้องการของนักศึกษา

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ตลอดชีวิตของท่านบนแผ่นดินโลก จงเพียรพยายามทำให้จุดประสงค์พื้นฐานของชีวิตนี้เกิดสัมฤทธิผล ผ่านครอบครัวในอุดมคติ แม้ท่านอาจจะยังไม่บรรลุอุดมคตินั้น แต่จงทำสุดความสามารถผ่านการเชื่อฟังและศรัทธาในพระเจ้าเพื่อเข้าใกล้อุดมคตินั้นอย่างสม่ำเสมอเท่าที่ท่านจะทำได้ อย่ายอมให้สิ่งใดชักนำท่านออกจากเป้าหมายนั้น … อย่าทำสิ่งใดที่จะทำให้ท่านไม่มีค่าควรกับสิ่งนั้น หากท่านสูญเสียวิสัยทัศน์ของการแต่งงานนิรันดร์ จงจุดขึ้นมาใหม่ หากความฝันของท่านเรียกร้องความอดทน จงอดทน” (ดู “จงวางสิ่งสำคัญที่สุดไว้เป็นอันดับแรก,” 8)

สุภาษิต 3:5–6; มัทธิว 11:28–30; โมไซยาห์ 24:8–16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–8

เมื่อเรามาหาพระคริสต์ พระองค์จะทรงทำให้เราเข้มแข็ง

เตือนนักศึกษาให้นึกถึงเรื่องราวพระคัมภีร์มอรมอนซึ่งแอลมากับผู้คนของเขาหลบหนีจากกองทัพของกษัตริย์โนอาห์และสร้างเมืองที่ชอบธรรม หลังจากอยู่ในความสงบสุขช่วงหนึ่ง กองทัพชาวเลมันก็ค้นพบแอลมากับผู้คนของเขาและทำให้คนเหล่านั้นตกเป็นทาส เมื่อแอลมากับผู้คนของเขาใช้ศรัทธาและความอดทน พระเจ้าทรงทำให้ภาระของพวกเขาเบาลงและปลดปล่อยพวกเขาจากความเป็นทาสในที่สุด

เชิญนักศึกษาสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 24:8-16 ขอให้ชั้นเรียนนึกภาพว่าความยากลำบากที่บอกไว้ในข้อเหล่านี้มีผลต่อครอบครัวของแอลมากับผู้คนของเขาอย่างไร (สังเกตว่าการนึกภาพเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่จะช่วยทำให้เรื่องราวพระคัมภีร์เป็นจริงและชัดเจนมากขึ้นสำหรับผู้อ่าน) ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่แอลมากับผู้คนของเขาทำเพื่อเผชิญกับความยากลำบาก

  • เมื่อนึกภาพเหตุการณ์ในข้อเหล่านี้ ท่านคิดว่าครอบครัวได้รับผลจากสภาวการณ์ของพวกเขาอย่างไร

  • ผู้คนของแอลมาทำอะไรเพื่อได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า (ถึงแม้นักศึกษาจะระบุหลักธรรมสำคัญหลายประการ แต่ให้เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราใช้ศรัทธาและความอดทนในความทุกข์ยากของเราและเรียกหาพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสามารถทำให้เรามีพลังอดทนต่อภาระของเราด้วยความง่ายดายมากขึ้น)

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขาอย่างไรทั้งนี้เพื่อ “พวกเขาจะทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย”

ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ซึ่งเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเกี่ยวกับเรื่องผู้คนของแอลมา

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“อะไรที่เปลี่ยนในเหตุการณ์ตอนนี้ สัมภาระไม่ได้เปลี่ยน ความท้าทายและความยุ่งยากของการข่มเหงไม่ถูกนำไปจากผู้คนทันที แต่แอลมากับผู้ติดตามเขาได้รับพละกำลัง ความสามารถและพละกำลังที่เพิ่มขึ้นทำให้สัมภาระที่พวกเขาแบกอยู่เบาลง คนดีๆ เหล่านี้มีพละกำลังผ่านการชดใช้เพื่อ กระทำ ในฐานะตัวแทนและ มีผลต่อ สภาวการณ์ของตนเอง และ ‘ด้วยกำลังจากพระเจ้า’ แอลมากับผู้คนของเขาจึงได้รับการนำทางไปพบความปลอดภัยในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา” (“การชดใช้และการเดินทางของความเป็นมรรตัย,”เลียโฮนา, เม.ย. 2012, 16)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระเจ้ามักจะไม่ทรงปลดภาระของแต่ละบุคคลหรือครอบครัว นำเอาความท้าทายของเราออกไป หรือเปิดทางให้เราประสบสภาวการณ์ในอุดมคติเสมอไป

  • ความรู้ของเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ให้พลังเราปฏิบัติด้วยศรัทธาเมื่อเราเผชิญสภาวการณ์ยุ่งยากของครอบครัวได้อย่างไร

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์แห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์

“ความหวังของเราในการชดใช้ทำให้เรามีพลังมองไกลถึงนิรันดร การมองไกลเช่นนั้นช่วยให้เรามองเลยที่นี่และเวลานี้เข้าไปในคำสัญญาของนิรันดร” (ดู “ความหวัง,”เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 68)

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักศึกษาศึกษาข้อเหล่านี้และค้นหาสัญญาที่ทำไว้กับคนที่อดทนต่อการทดลองอย่างซื่อสัตย์

สุภาษิต 3:5–6

มัทธิว 11:28–30

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7-8

  • การจดจำสัญญาเหล่านี้จะช่วยครอบครัวที่กำลังเผชิญความท้าทายได้อย่างไร

เมื่อท่านสรุป เชื้อเชิญให้นักศึกษานึกถึงเวลาที่แม้จะยากลำบากแต่ครอบครัวพวกเขารู้สึกเข้มแข็งขึ้นเพราะศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าหรือได้รับพรเพราะความรู้ในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เชิญนักศึกษาบางคนเล่าประสบการณ์ที่เหมาะสมกับชั้นเรียนหากพวกเขารู้สึกว่าต้องทำ กระตุ้นให้นักศึกษาเขียนประจักษ์พยานของพวกเขาลงในบันทึกส่วนตัวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถอวยพรและทำให้ครอบครัวเข้มแข็งได้อย่างไร

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน