บทที่ 28
การส่งเสริมครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม
คำนำ
ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันประกาศว่า “เราเรียกร้องประชาชนพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบทุกหนแห่งให้ส่งเสริมการวางมาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) บทเรียนนี้จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจว่าพวกเขาจะทำตามและปกป้องคำแนะนำนี้ของศาสาดาพยากรณ์ได้อย่างไร
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
โธมัส เอส. มอนสัน, “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 66-69
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “สร้างสมดุลสัจธรรมและขันติธรรม,” เลียโฮนา, ก.พ. 2013, 28-35
-
แอล. ทอม เพอร์รีย์, “เหตุใดการแต่งงานและครอบครัวจึงเป็นสาระสำคัญ—ทุกแห่งทั่วโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 39–42
-
“Transcript of News Conference on Religious Freedom and Nondiscrimination” (Jan. 27, 2015), mormonnewsroom.org/article/publicstatement-on-religious-freedom-and-nondiscrimination.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
แอลมา 43:9, 30, 45, 48
หน้าที่ของเราในการปกป้องหลักคำสอนและรากฐานทางศีลรรมของครอบครัว
เตรียมนักศึกษาให้พร้อมเรียนบทเรียนนี้โดยบอกพวกเขาว่าบทนี้เน้นเรื่องความรับผิดชอบของเราในการปกป้องครอบครัว แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เทอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบ
“ศาสนจักรเป็นสถาบันเล็กเมื่อเทียบกับโลกโดยรวม แต่กระนั้น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่ควรประเมินพลังแบบอย่างของเราต่ำเกินไป หรือความสามารถของเราในการชักนำความคิดเห็นของสาธารณชน สวนกระแสลบ หรือเชิญชวนให้เสาะหาจิตวิญญาณมาเข้าประตูและเดินไปตามทางที่พระเจ้าทรงเลือก เราควรพยายามเต็มสติกำลังในการร่วมมือกับบุคคลและสถาบันที่คิดเหมือนเราเพื่อปกป้องครอบครัวและเปล่งเสียงเตือนตลอดจนเชื้อเชิญชาวโลก” (“Defending the Family in a Troubled World,” Ensign, June 2011, 18)
-
ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายต่อการปกป้องครอบครัวในโลกทุกวันนี้
บอกนักศึกษาว่าหลายครั้งชาวนีไฟพบว่าเสรีภาพทางศาสนาและคุณค่าของครอบครัวถูกชาวเลมันคุกคาม เมื่อศึกษาประสบการณ์ของพวกเขา เราจะเรียนรู้หลักธรรมที่สามารถเปรียบกับสมัยของเราได้ (การเปรียบพระคัมภีร์กับตัวเราเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านสามารถเน้นในบทนี้ได้) อธิบายว่าประสบการณ์หนึ่งของชาวนีไฟบันทึกไว้ใน แอลมา 43
เขียน แอลมา 43:9, 30, 45, 48 บนกระดานและขอให้นักศึกษาค้นหาคำและวลีที่ช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของการปกป้องคุณค่าครอบครัวและเสรีภาพทางศาสนาในโลกทุกวันนี้ เสนอแนะให้นักศึกษาทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้
-
คำและวลีใดแสดงให้เห็นความสำคัญของการปกป้องคุณค่าครอบครัวและเสรีภาพทางศาสนา ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องคุณค่าครอบครัวและเสรีภาพทางศาสนา (คำตอบควรรวมหลักธรรมต่อไปนี้ เรามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการปกป้องและส่งเสริมคุณค่าครอบครัวและเสรีภาพทางศาสนา)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่สมาชิกศาสนจักรต้องส่งเสริมและปกป้องครอบครัวในชุมชนของพวกเขา
-
เราจะส่งเสริมและปกป้องครอบครัวโดยใช้สื่อสังคมได้อย่างไร
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอรืรีย์ (1922-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เราต้องการให้เสียงของเราได้ยินไปทั่วเพื่อต่อต้านความจอมปลอมและวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งซึ่งพยายามจะแทนที่สถาบันครอบครัวที่พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดตั้งด้วยพระองค์เอง เราต้องการให้เสียงของเราได้ยินไปทั่วเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งปีติและสัมฤทธิผลที่มาจากครอบครัวแบบดั้งเดิม เราต้องเปล่งเสียงแสดงความคิดเห็นของเราต่อไปทั่วโลกในการประกาศว่าเพราะเหตุใดการแต่งงานและครอบครัวจึงสำคัญมาก เพราะเหตุใดการแต่งงานและครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง และเพราะเหตุใดสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องสำคัญเสมอ” (“เหตุใดการแต่งงานและครอบครัวจึงเป็นสาระสำคัญ—ทุกแห่งทั่วโลก,”เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 42)
-
ตามที่เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์กล่าว เราควรประกาศอะไรเกี่ยวกับครอบครัว
-
ท่านเคยสังเกตเห็นผู้อื่นทำอะไรเพื่อยืนหยัดและยืนยันความสำคัญของครอบครัวหรือป้องกันการโจมตีครอบครัว (ชี้ให้เห็นว่าการปกป้องครอบครัวรวมถึงการเลี้ยงดูครอบครัวให้เข้มแข็งและการปกป้องครอบครัวต่อหน้าสาธารณชนเมื่อจำเป็น)
แบ่งปันประสบการณ์ต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าพูดกับกุลสตรีคนหนึ่งจากสหรัฐ ข้าพเจ้าอ้างจากอีเมลของเธอดังนี้
“‘ปีที่ผ่านมาเพื่อนบางคนของดิฉันบนเฟสบุ๊คเริ่มโพสต์ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งงาน หลายคนสนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน และเยาวชนแอลดีเอสหลายคนบอกว่าพวกเขา “ไลค์” โพสต์เหล่านั้น ส่วนดิฉันไม่แสดงความเห็น
“‘ดิฉันตัดสินใจประกาศความเชื่อเรื่องการแต่งงานตามจารีต
“‘ดิฉันเพิ่มคำอธิบายเข้ากับรูปโปรไฟล์ของดิฉันว่า “ดิฉันเชื่อเรื่องการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง” ดิฉันได้รับข้อความแทบจะทันทีว่า “เธอเห็นแก่ตัว” “เธอชอบตัดสิน” มีคนหนึ่งเปรียบดิฉันกับเจ้าของทาส ดิฉันได้รับโพสต์นี้จากเพื่อนที่ดีคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งของศาสนจักร “คุณต้องตามให้ทันยุคสมัย สถานการณ์เปลี่ยน คุณก็ควรเปลี่ยน”
“‘ดิฉันไม่ตอบโต้’ เธอบอก ‘แต่ดิฉันไม่ลบข้อความของดิฉันออก’
“‘เธอสรุปว่า ‘บางครั้ง เหมือนที่ประธานมอนสันพูดไว้ “คุณต้องยืนคนเดียว” หวังว่าพวกเราเยาวชนจะยืนด้วยกันในความซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต’” (“ลมหมุนทางวิญญาณ,”เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 19-20)
-
ท่านเคยมีประสบการณ์ใดบ้างกับการส่งเสริมและการปกป้องครอบครัว
-
คำพูดหรือการกระทำของท่านมีผลอะไรต่อผู้อื่น
เป็นพยานว่าเราสามารถมีอิทธิพลดีต่อชุมชนของเราและสนับสนุนจุดประสงค์ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ขณะที่เราส่งเสริมและปกป้องมาตรการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว
แอลมา 46:10–13, 16; 48:7–13
การปกป้องครอบครัวด้วยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าและด้วยความเคารพต่อผู้อื่น
บอกนักศึกษาว่าแอลมา บทที่ 46 และ บทที่ 48 บันทึกว่าชาวนีไฟถูกชาวเลมันคุกคามอีกครั้ง แบ่งนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม ขอให้กลุ่มหนึ่งศึกษา แอลมา 46:10-13, 16และอีกกลุ่มศึกษา แอลมา 48:7-13 ขอให้นักศึกษาระบุว่าเราจะทำตามแบบอย่างของแม่ทัพโมโรไนด้วยวิธีที่เหมาะสมได้อย่างไรเพื่อส่งเสริมมาตรการที่พิทักษ์และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว จงช่วยนักศึกษาเปรียบข้อเหล่านี้กับสมัยของเราโดยถามดังนี้
-
เราจะเปรียบความพยายามของอแมลิไคยาและผู้ติดตามเขากับความพยายามของคนที่กำลังโจมตีครอบครัวในทุกวันนี้ได้อย่างไร
-
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการกระทำของแม่ทัพโมโรไน (ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราแสวงหาความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าและพยายามใช้แหล่งช่วยทั้งหมดของเรา เราจะได้รับปัญญาและความเข้มแข็งเพื่อปกป้องครอบครัวเรา ศาสนาของเรา และเสรีภาพของเรา)
-
วิธีเหมาะสมวิธีใดบ้างที่ท่านจะใช้ส่งเสริมมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกป้องครอบครัว
ท่านอาจจะใช้คำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910-2008) และเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเสริมการสนทนาคำถามก่อนหน้านี้
“ขอให้เรามีส่วนร่วมในอุดมการณ์ดีของชุมชน อาจจะมีสถานการณ์ที่เราไม่สามารถอ่อนข้อเรื่องหลักธรรมในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาร้ายแรงทางศีลธรรม แต่ในกรณีเช่นนั้นเราสามารถไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพโดยไม่อารมณ์เสีย เราสามารถขอบคุณความจริงใจของคนที่เราไม่สามารถยอมรับจุดยืนของพวกเขา เราสามารถพูดถึงหลักธรรมแทนที่จะโจมตีผู้อื่น” (Teachings of Gordon B. Hinckley [1997], 131)
“เมื่อผู้เชื่อส่งเสริมมุมมองของตนในกรอบภาครัฐ พวกเขาควรยอมรับความคิดเห็นและมุมมมองของผู้นับถือศาสนาอื่น ผู้เชื่อต้องพูดด้วยความรักเสมอ แสดงความอดทน ความเข้าใจ และการุณยธรรมต่อปฏิปักษ์ของตน ผู้เชื่อซึ่งเป็นชาวคริสต์ได้รับบัญชาให้รักเพื่อนบ้านของตน (ดู ลูกา 10:27) และให้อภัย (ดู มัทธิว 18:21-35) นอกจากนี้พวกเขาพึงระลึกอยู่เสมอถึงคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย ‘รักศัตรูของ [พวกเขา] และอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหง [พวกเขา]’ (มัทธิว 5:44)” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “สร้างสมดุลสัจธรรมและขันติธรรม,” เลียโฮนา, ก.พ. 2013, 34–35)
-
ท่านคิดว่าท่านจะปฏิบัติหลักธรรมที่ประธานฮิงค์ลีย์และเอ็ลเดอร์โอ๊คส์สอนได้อย่างไร
เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราส่งเสริมมาตรการปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว เราควรแสดงความเคารพผู้อื่นและมีขันติธรรมต่อความคิดเห็นของพวกเขา
การส่งเสริมมาตรการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว
ให้ดูข้อความต่อไปนี้และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เราเรียกร้องประชาชนพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบทุกหนแห่งให้ส่งเสริมการวางมาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)
บอกนักศึกษาว่าในเดือนมกราคม ค.ศ. 2015 ผู้นำศาสนจักรจัดการประชุมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการซึ่งพวกท่านขอให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาและคุ้มกันความศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว อธิบายว่าถึงแม้ผู้นำศาสนจักรจะพูดถึงการปกป้องเสรีภาพทางศาสนาในข้อความนั้น แต่คำพูดของพวกท่านประยุกต์ใช้กับการปกป้องคุณค่าของครอบครัวได้เช่นกัน เสรีภาพทางศาสนามากมายเกี่ยวข้องโดยตรงกับครอบครัว อาทิ ความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน
แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ซึ่งเป็นบทสรุปของสิ่งที่นำเสนอในการประชุมแถลงข่าวครั้งนั้น
“ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยืนยันหลักธรรมต่อไปนี้บนพื้นฐานคำสอนของพระเยซูคริสต์ และบนความเที่ยงธรรมสำหรับทุกคน รวมทั้งผู้คนแห่งศรัทธา
“1. เราเรียกร้องสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและตามที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามความเชื่อของตน ตามการวินิจฉัยจากมโนธรรมของพวกเขาเองโดยไม่ทำลายสุขภาพหรือความปลอดภัยของผู้อื่น
“2. เรายอมรับว่าเสรีภาพเดียวกันของมโนธรรมต้องนำมาใช้กับชายหญิงทุกแห่งหนให้ปฏิบัติความเชื่อทางศาสนาตามการเลือกของตน หรือไม่ปฏิบัติเลยถ้าพวกเขาเลือกเช่นนั้น
“3. เราเชื่อว่าควรมีการร่างกฎหมายให้บรรลุดุลยภาพในการคุ้มครองเสรีภาพของทุกคนขณะเคารพคนที่มีค่านิยมต่างจากเรา
“4. เราไม่ยอมรับการข่มเหงและการตอบโต้ทุกรูปแบบ รวมถึงการข่มเหงเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา สภาพเศรษฐกิจ หรือความแตกต่างในเรื่องเพศหรือแนวโน้มทางเพศ” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Transcript of News Conference on Religious Freedom and Nondiscrimination” [Jan. 27, 2015], mormonnewsroom.org/article/publicstatement-on-religious-freedom-and-nondiscrimination)
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อความนี้ที่สามารถช่วยท่านส่งเสริมมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม (ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ให้เน้นว่าการเลี้ยงดูบุตรธิดาในวิธีของพระเจ้า การสนับสนุนครอบครัวอื่น ขยายการเรียกในศาสนจักร และเสริมสร้างชุมชนล้วนเป็นมาตรการที่ส่งเสริมครอบครัว)
เชื้อเชิญให้นักศึกษาพิจารณาว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อส่งเสริมมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกป้องครอบครัว
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “สร้างสมดุลสัจธรรมและขันติธรรม,” เลียโฮนา, ก.พ. 2013, 28-35
-
แอล. ทอม เพอร์รีย์, “เหตุใดการแต่งงานและครอบครัวจึงเป็นสาระสำคัญ—ทุกแห่งทั่วโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 39–42