บทที่ 24
สมาชิกผู้ใหญ่โสดของศาสนจักร
คำนำ
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เน้นพรนิรันดร์ที่ได้จากการแต่งงานและสัมพันธภาพครอบครัว ทว่าสมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรพบตนเองอยู่ในสภาวการณ์ที่ปัจจุบันไม่มีโอกาสแต่งงานและมีครอบครัว บทเรียนนี้เน้นว่าสมาชิกศาสนจักรที่เป็นโสดทำคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่ออาณาจักรของพระเจ้า แม้บางครั้งพรของการแต่งงานและครอบครัวจะล่าช้า แต่คนที่รักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าอย่างชอบธรรมจะไม่ถูกปฏิเสธพรเหล่านั้น
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “A Conversation with Single Adults,” Ensign, Mar. 1997, 58–63.
-
สเป็นเซอร์ เจ. คอนดี, “เรียกร้องพระสัญญาอันประเสริฐและใหญ่ยิ่ง,”เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 18–20
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 โครินธ์ 12:12-20, 25-27
สมาชิกโสดในศาสนจักรที่เน้นครอบครัว
เชื้อเชิญนักศึกษาให้พูดถึงการท้าทายบางอย่างที่สมาชิกโสดของศาสนจักรอาจประสบเมื่อมีส่วนร่วมในวอร์ดหรือสาขาที่สมาชิกจำนวนมากแต่งงานแล้วและมีบุตร (สมาชิกโสดของศาสนจักรอาจรู้สึกท้อใจ โดดเดี่ยว และไม่เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมและชั้นเรียนที่สอนเรื่องการแต่งงานและครอบครัว)
-
ท่านคิดว่าสมาชิกคนอื่นของศาสนจักรจะช่วยให้ผู้ใหญ่โสดรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและมีค่าในการประชุมและกิจกรรมของศาสนจักรได้อย่างไร
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ศาสนจักรมีไว้สำหรับสมาชิกทุกคน … เราทุกคน ไม่ว่าโสดหรือแต่งงานแล้ว ล้วนมีอัตลักษณ์และความต้องการของตน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความปรารถนาจะให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นลูกที่มีคุณค่าของพระผู้เป็นเจ้า …
“นี่คือศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่ศาสนจักรของคนแต่งงานหรือคนโสดหรือคนกลุ่มใดหรือบุคคลใด” (“The Church Is for All People,” Ensign, June 1989, 76).
อธิบายว่าอัครสาวกเปาโลเปรียบเทียบศาสนจักรกับร่างกายมนุษย์และสมาชิกแต่ละคนกับอวัยวะของร่างกาย เชิญนักศึกษาบางคนอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 12:12–20 ส่วนคนที่เหลือดูว่าเปาโลเปรียบเทียบอวัยวะของร่างกายกับสมาชิกของศาสนจักรอย่างไร
-
เราจะพบเจอความท้าทายอะไรบ้างถ้าอวัยวะหนึ่งหรือมากกว่านั้นหายไป
-
การเปรียบเทียบของเปาโลสอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับศาสนจักรและสมาชิกของศาสนจักร (นักศึกษาอาจพูดถึงหลักธรรมสำคัญหลายข้อ พึงแน่ใจว่าได้เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ สมาชิกทุกคนของศาสนจักรมีคุณค่าและสามารถทำคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อศาสนจักร)
-
ท่านเคยเห็นสมาชิกโสดในวอร์ดหรือสาขาของท่านทำคุณประโยชน์อะไรต่อศาสนจักร
ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่าน 1 โครินธ์ 12:25-27 เชื้อเชิญให้นักศึกษาหาดูว่าสมาชิกศาสนจักรจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน
-
สมาชิกทุกคนของศาสนจักร ไม่ว่าแต่งงานหรือเป็นโสด จะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้แต่ละคนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับสมาชิกคนอื่นๆ ในวอร์ดหรือสาขา
ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวิสุทธิชน เราทุกคนต้องการกันและกัน และเราทุกคนทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน พวกเราบางคนอาจแยกตัวจากครอบครัว [วอร์ดหรือสาขาของเรา] บนพื้นฐานของความแตกต่าง แต่เราต้องไม่ปิดกั้นตัวเราหรือแยกตัวจากโอกาสต่างๆ เพราะความแตกต่างเหล่านั้นที่เรามองเห็นในตัวเรา แทนที่จะทำเช่นนั้น ขอให้เราแบ่งปันของประทานและพรสวรรค์กับคนอื่นๆ โดยนำความเจิดจ้าของความหวังและปีติมาให้พวกเขา ขณะทำเช่นนั้นเรายกวิญญาณของเราเองให้สูงขึ้น” (“Belonging to a Ward Family,” Ensign, Mar. 1996, 16)
-
การที่ท่านพยายามยอมรับการเรียกและมีส่วนร่วมในวอร์ดหรือสาขาช่วยให้ท่านรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกคนอื่นๆ มากขึ้นอย่างไร
ฮีบรู 11:1,6, 8-13, 16
การรอคอยพรที่สัญญาไว้
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“คนที่เป็นโสดควรปรารถนาการแต่งงานในพระวิหารและทุ่มเทความพยายามเป็นอันดับแรกเพื่อให้ได้สิ่งนั้น เยาวชนและหนุ่มสาวโสดควรต่อต้านแนวคิดที่ถูกต้องทางการเมืองแต่ไม่ถูกต้องชั่วนิรันดร์ซึ่งบ่อนทำลายความสำคัญของการแต่งงานและการมีบุตร” (“ความปรารถนา,”เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 56)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดสมาชิกโสดบางคนจึงอาจรู้สึกท้อใจเมื่อพวกเขาไตร่ตรองหลักคำสอนที่ว่า “การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)
อธิบายว่าถึงแม้การแต่งงานและครอบครัวจะเป็นอุดมคติ แต่สมาชิกโสดหลายคนของศาสนจักรไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะแต่งงานหรือไม่ คนที่หย่าร้างหรือเป็นม่ายอาจสงสัยว่าพวกเขาจะได้แต่งงานอีกครั้งหรือไม่
อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อให้พรนิรันดร์เกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีพรของการแต่งงานและครอบครัว
“เพื่อจะประกาศความจริงพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานและครอบครัว ต้องไม่มองข้ามหรือดูหมิ่นการเสียสละและความสำเร็จของผู้ที่ชีวิตจริงไม่เหมือนสถานการณ์ในอุดมคติ บางคนไม่ได้รับพรของการแต่งงานด้วยเหตุผลบางอย่าง อาทิ ไม่มีคนที่คู่ควร เสน่หาเพศเดียวกัน มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือเพียงแค่กลัวความล้มเหลวซึ่งอย่างน้อยก็บดบังศรัทธาไปชั่วขณะ หรือท่านอาจแต่งงาน แต่การแต่งงานสิ้นสุดลง และทิ้งท่านไว้คนเดียวให้จัดการทุกสิ่งแม้สองคนทำด้วยกันยังยากที่จะประคองไว้ พวกท่านบางคนที่แต่งงานแล้วไม่สามารถมีบุตรทั้งที่ใจปรารถนาเหลือล้นและสวดอ้อนวอนทูลขอแล้ว
“… ด้วยความมั่นใจเราเป็นพยานว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และในบั้นปลายจะชดเชยการลิดรอนสิทธิ์และการสูญเสียทุกอย่างสำหรับผู้ที่หันมาหาพระองค์ ไม่มีใครถูกกำหนดให้ได้รับน้อยกว่าทุกสิ่งที่พระบิดาทรงมีให้บุตรธิดาของพระองค์” (ดู “เหตุผลที่แต่งงาน เหตุผลที่มีครอบครัว,”เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 52)
-
เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันสอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับคนที่จะได้รับพรยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า (เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้เราแต่ละคนได้รับพรทุกประการที่พระบิดาในสวรรค์ทรงสัญญาไว้ในที่สุด)
-
บุคคลต้องทำอะไรจึงจะเกิดความหวังดังที่กล่าวไว้ในหลักคำสอนนี้
ให้ดูคำรับรองต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895-1985) และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เราสัญญากับท่านว่าตราบเท่าที่เกี่ยวข้องกับนิรันดร ไม่มีจิตวิญญาณใดจะสูญเสียพรอันมีค่า สูงส่ง และเป็นนิรันดร์เพราะสิ่งที่บุคคลนั้นไม่อาจทำได้ พระเจ้าไม่มีวันผิดสัญญา ในที่สุดคนชอบธรรมทุกคนจะได้รับทั้งหมดซึ่งเขามีสิทธิ์ได้รับ และเขาไม่เสียสิทธิ์เพราะความผิดของเขา” (“The Importance of Celestial Marriage,” Ensign, Oct. 1979, 5)
เป็นพยานว่าแม้พรของพระผู้เป็นเจ้าจะล่าช้าบางครั้ง แต่คนที่พยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมไม่มีวันสูญเสียพรเหล่านั้นในนิรันดร
ขอให้นักศึกษาพิจารณาตัวอย่างของอับราฮัมกับซาราห์ผู้ได้รับสัญญาจากพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับครอบครัวของพวกเขาซึ่งล่าช้าหรือไม่เกิดสัมฤทธิผลในช่วงชีวิตมรรตัยของพวกเขา (ดู ปฐมกาล 13:14-17; 15:4-7; 17:1-8, 15-16) เตือนนักศึกษาว่า เช่นเดียวกับอับราฮัมและซาราห์ บางครั้งศรัทธาของเราจะถูกทดสอบโดยสัญญาที่ล่าช้าหรือไม่เกิดสัมฤทธิผลในความเป็นมรรตัย
ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 11:1, 6 ขณะนักศึกษาที่เหลือมองหานิยามของ ศรัทธา
-
ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความหมายของศรัทธา (เตือนนักศึกษาให้ดู ข้อ 1 เชิงอรรถ b [ฉบับภาษาอังกฤษ]ซึ่งกล่าวว่า ความมั่นใจ สามารถหมายถึง ความเชื่อมั่น ฐาน หรือ รากฐานได้เช่นกัน อย่าลืมช่วยนักศึกษาพัฒนาทักษะการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวโดยให้ใช้เครื่องมือศึกษาระหว่างเรียน)
-
วลี “ความแน่ใจในสิ่งที่มองไม่เห็น” หมายความว่าอย่างไร (ศรัทธาคือความเชื่อมั่นหรือประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงที่มองไม่เห็น) ความเชื่อมั่นในสิ่งที่หวังไว้และสิ่งที่มองไม่เห็นเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติตามและเชื่อฟังหลักธรรมของพระกิตติคุณ—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำได้ยาก ศรัทธาคือการกระทำที่เชื่อฟังอันส่งผลให้ได้รับของประทานแห่งประจักษ์พยาน คือการเชื่อและวางใจพระเจ้ามากพอจะเชื่อฟังพระองค์โดยไม่ต้องเห็นผลลัพธ์สุดท้ายก่อน)
เชิญนักศึกษาสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ฮีบรู 11:8–13, 16 ส่วนนักศึกษาที่เหลือดูว่าอับราฮัมกับซาราห์ใช้ศรัทธาอย่างไรในช่วงสภาวการณ์ที่ยุ่งยาก เสนอแนะให้นักศึกษาขีดเส้นใต้คำและวลีที่แสดงให้เห็นว่าอับราฮัมกับซาราห์ใช้ศรัทธาอย่างไร
-
ข้อ 13 กล่าวว่า ถึงแม้อับราฮัม ซาราห์ และอีกหลายคนสิ้นชีวิตโดยไม่ได้ “รับสิ่งต่างๆ ที่ทรงสัญญาไว้” แต่พวกเขาเห็นสัญญา “แต่ไกล” และมีศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำให้สัญญาเหล่านี้เกิดสัมฤทธิผล ตัวอย่างของวิสุทธิชนสมัยโบราณเหล่านี้จะช่วยวิสุทธิชนสมัยปัจจุบันที่ถูกท้าทายศรัทธาเพราะไม่ได้รับพรที่สัญญาไว้ในความเป็นมรรตัยอย่างไร (เราทุกคนต้องรู้ความจำเป็นของการใช้ศรัทธาและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าแม้เมื่อพรที่เราหวังไว้ดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นตามเวลาที่เราปรารถนา)
-
ท่านคิดว่าวิสุทธิชนสมัยโบราณเหล่านี้ดำเนินชีวิตเหมือน “คนแปลกถิ่นที่ท่องเที่ยวไปในโลก” หมายความว่าอย่างไร (พวกเขารู้ว่าชีวิตมรรตัยเป็นชีวิตชั่วคราวและโลกนี้ไม่ใช่บ้านถาวรของพวกเขา)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“พรบางอย่างมาเร็ว บางอย่างมาช้า และบางอย่างไม่มาจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่สำหรับผู้ที่ยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พรจะมา ข้าพเจ้ายืนยันเป็นส่วนตัวถึงสิ่งนี้” (“มหาปุโรหิตแห่งสิ่งประเสริฐซึ่งจะมาถึง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 45)
-
การรู้ว่าคนซื่อสัตย์จะไม่ถูกปฏิเสธพรใดจะช่วยสมาชิกศาสนจักรที่รู้สึกเศร้าเสียใจหรือผิดหวังเพราะไม่ได้แต่งงานหรือไม่มีบุตรได้อย่างไร
-
ท่านนึกออกไหมเวลาที่ท่านรู้สึกท้อใจแต่เลือกกระทำด้วยศรัทธาและดำเนินชีวิตต่อไป
หากเวลาเอื้ออำนวย ให้แบ่งปันคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์
“ถ้าท่านอยู่กับที่เพื่อรอให้เจอคู่แต่งงาน จงเลิกรอ ท่านอาจไม่มีโอกาสสำหรับการแต่งงานที่เหมาะสมในชีวิตนี้ ฉะนั้นจงเลิกรอและเริ่มก้าวไปข้างหน้า เตรียมตัวท่านให้พร้อมรับชีวิต—แม้ชีวิตโสด—โดยการศึกษา ประสบการณ์ และการวางแผน อย่ารอให้ความสุขมาถึงท่านโดยที่ท่านไม่ทำอะไร จงแสวงหาความสุขจากการรับใช้และการเรียนรู้ จงสร้างชีวิตให้ตัวท่าน และวางใจในพระเจ้า” (“Dating versus Hanging Out,” Ensign, June 2006, 14)
กระตุ้นให้นักศึกษาพิจารณาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาในพระเยซูคริสต์และวางใจว่าพระองค์ทรงสามารถทำให้พรที่สัญญาไว้เกิดสัมฤทธิผล
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “A Conversation with Single Adults,” Ensign, Mar. 1997, 58–63.