เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 21: การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม


บทที่ 21

การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม

คำนำ

“บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) บิดามารดาช่วยทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จเมื่อพวกเขาแสดงความรักและประจักษ์พยานในคำพูดและการกระทำ สร้างนิสัยของการจัดสังสรรค์ในครอบครัว การสวดอ้อนวอนกับครอบครัว และการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวเป็นประจำ

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 15:11–20; เอเฟซัส 6:4

ความรับผิดชอบของบิดามารดาคือรักและดูแลบุตรธิดาของตน

เล่าคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“เมื่อลูกสาวคนเล็กของเราอายุราวสี่ขวบ ข้าพเจ้ากลับบ้านหลังจากเลิกงานที่โรงพยาบาลค่ำวันหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นภรรยาที่รักเหนื่อยมาก … ข้าพเจ้าจึงอาสาพาลูกสี่ขวบของเราเข้านอน ข้าพเจ้าเริ่มออกคำสั่ง “‘ถอดเสื้อแขวนไว้ตรงนั้น สวมชุดนอน แปรงฟัน สวดอ้อนวอน และอื่นๆ สั่งแบบนายสิบในกองทหาร เธอเอียงศีรษะไปด้านหนึ่งทันที มองข้าพเจ้าสายตาละห้อย และถามว่า ‘พ่อคะ พ่อเป็นเจ้าของหนูหรือคะ’

“เธอสอนบทเรียนสำคัญแก่ข้าพเจ้า … ไม่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของลูกๆ ของเรา สิทธิพิเศษของการเป็นบิดามารดาคือ รักพวกเขา นำพวกเขา และปล่อยพวกเขาไป” (“Listen to Learn,” Ensign, May 1991, 22)

  • เอ็ลเดอร์เนลสันสอนหลักธรรมอะไรจากประสบการณ์นี้ (บิดามารดามีสิทธิพิเศษของการรักและนำบุตรธิดาของพวกเขา)

อ่านหรือให้ดูข้อความต่อไปนี้จากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ะขอให้นักศึกษาระบุคำและประโยคสำคัญ “สามีและภรรยามีความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกันรวมทั้งรักและดูแลบุตรธิดาของตน … บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) ถามนักศึกษาว่าคำสำคัญอะไรเด่นชัดที่สุดและเหตุใด หากจำเป็น ให้ถามว่า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงใช้คำว่า “สำคัญ” และ “ศักดิ์สิทธิ์” เพื่อพูดถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ของบิดามารดา

บอกนักศึกษาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาที่แสดงให้เห็นว่าบุตรธิดาที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักสามารถวางใจในสัมพันธภาพครอบครัวของเขาต่อไปได้อย่างไร เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่าน ลูกา 15:11–20 ในใจโดยมองหาหลักฐานยืนยันว่าบุตรเสเพลรู้ว่าบิดารักเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักศึกษาแบ่งปันสิ่งที่พบ

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบิดาในอุปมา เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“ในอุปมาเรื่องบุตรที่หายไป เราพบบทเรียนอันทรงพลังสำหรับครอบครัวและโดยเฉพาะบิดามารดา หลังจากบุตรคนเล็ก ‘สำนึกตัว’ [ลูกา 15:17] เขาก็ตัดสินใจกลับบ้าน

“เขารู้ได้อย่างไรว่าบิดาจะไม่ปฏิเสธเขา เพราะเขารู้จักบิดา เนื่องด้วยความเข้าใจผิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้ง และความโง่เขลาในวัยเยาว์ของบุตรชาย ข้าพเจ้านึกภาพบิดาเขาคงมีใจเมตตาและคงจะอยู่ที่นั่นพร้อมคำตอบที่อ่อนโยน หูที่คอยฟัง ใจที่เข้าใจ และอ้อมกอดที่ให้อภัย ข้าพเจ้าจินตนาการได้เช่นกันว่าบุตรชายคงรู้ว่าเขากลับบ้านได้เพราะเขารู้จักบ้านที่คอยเขาอยู่ว่าเป็นบ้านแบบไหน” (“ด้วยความรู้สึกทั้งหมดของบิดามารดาที่ปรานีบุตร: ข่าวสารแห่งความหวังที่มาถึงครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 110-111)

  • เอ็ลเดอร์เฮลส์บอกอะไรที่เป็นการแสดงความรักจากบิดา บิดามารดาทำอะไรอีกบ้างซึ่งทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่รักและดูแลกันในบ้าน (ท่านอาจจะใช้ เอเฟซัส 6:4 เสริมการสนทนาคำถามนี้ในชั้นเรียน)

  • ท่านเคยเห็นแบบอย่างอะไรบ้างของบิดามารดาผู้แสดงความรักต่อบุตรธิดา

  • ท่านทำอะไรตอนนี้เพื่อเตรียมรักและดูแลบุตรธิดาของท่านเองในวันข้างหน้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25-28; 93:36-40

การเลี้ยงดูบุตรธิดาในความชอบธรรม

ให้ดูรูปเด็กเล็ก อาจเป็นรูปลูกของท่านเอง

  • คำสอนอะไรบ้างที่เด็กคนหนึ่งจำเป็นต้องรู้เพื่อพัฒนาทางวิญญาณ

ขอให้นักศึกษาพิจารณาคำถามข้อนี้ขณะศึกษาและเปรียบเทียบคำสอนที่พบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:36-40 และ 68:25-28 (หมายเหตุ: “ข้อความพระคัมภีร์หรือหลักคำสอนหรือหลักธรรมมักจะกระจ่างชัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบ” กับพระคัมภีร์อีกข้อหนึ่ง [Gospel Teaching and Learning (2012), 22])

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของบิดามารดา (ถึงแม้นักศึกษาจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ บิดามารดาเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าเมื่อพวกเขาเลี้ยงดูบุตรธิดาในความสว่างและความจริง อธิบายว่าในบริบทของข้อเหล่านี้ “ความสว่าง” หมายถึงความรู้ทางวิญญาณและการเข้าใจหลักธรรมที่ชอบธรรม)

  • เหตุใดบิดามารดาจึงจำเป็นต้องสอนบุตรธิดาให้รู้หลักธรรมและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในบ้าน

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้แบ่งปันข้อความต่อไปนี้จากประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“พระคัมภีร์พูดถึง ‘โล่แห่งศรัทธาซึ่งด้วยสิ่งนั้น’ พระเจ้าตรัส ‘เจ้าจะสามารถดับลูกศรเพลิงทั้งหมดของคนชั่วร้าย’ (คพ. 27:17)

“โล่แห่งศรัทธาผลิตได้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมครัวเรือน [ในบ้าน] แม้โล่จะถูกขัดเงาในชั้นเรียนและกิจกรรมของศาสนจักร แต่ต้องทำด้วยฝีมือคนในบ้านและสวมให้พอดีตัวแต่ละคน” (ดู “อย่ากลัว,”เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 97-98)

  • ท่านเคยเห็นบิดามารดาสอนหลักธรรมอย่างมีประสิทธิภาพแก่บุตรธิดาซึ่งนำพวกเขาไปสู่ความสว่างและความจริงอย่างไร

  • ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25 บอกว่าจะเกิดผลอะไรกับบิดามารดาผู้รู้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แต่ไม่สอนหลักธรรมพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน (ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจหลักธรรมนี้ บิดามารดาผู้รู้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะต้องชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้าถ้าพวกเขาไม่สอนหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน

อธิบายว่าผู้นำศาสนจักรได้บอกหลักปฏิบัติอันชอบธรรมหลายต่อหลายครั้งที่บิดามารดาควรนำมาใช้ในบ้านเพื่อสอนหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน

เอกสารแจก พรของการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว และการสังสรรค์ในครอบครัว

handout iconแจกเอกสารที่อยู่ท้ายบทให้นักศึกษาแต่ละคน และอ่านคำแนะนำในเอกสารแจก หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้วและเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์กระตุ้นเตือน ให้ถามคำถามทำนองนี้

  • ท่านได้ประโยชน์อย่างไรจากการปฏิบัติทั้งสามอย่างนี้ในครอบครัว

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องพัฒนานิสัยของการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการจัดสังสรรค์ในครอบครัวก่อนที่ท่านจะแต่งงานและเริ่มมีบุตร

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจว่ามีสภาวะแวดล้อมอื่นอีกที่บิดามารดาสามารถสอนหลักธรรมพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาได้ ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์และเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“บิดามารดาพึงระแวดระวังและเอาใจใส่ทางวิญญาณในการหาโอกาสแสดงประจักษ์พยานแก่ลูกๆ ให้เป็นปกติวิสัย ไม่จำเป็นต้องวางแผน กำหนดเวลา หรือเขียนบท อันที่จริง ยิ่งเตรียมการน้อยเท่าใด การแบ่งปันประจักษ์พยานยิ่งจรรโลงใจและส่งผลยั่งยืนเท่านั้น …

“ตัวอย่างเช่น การสนทนาในครอบครัวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติที่โต๊ะอาหารอาจเป็นบรรยากาศเหมาะให้บิดามารดาเล่าและเป็นพยานถึงพรใดพรหนึ่งที่ได้รับระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันของวันนั้น” (เดวิด เอ. เบดนาร์, “จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง,”เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 52)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“จงดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณให้เห็นชัดที่สุด รักษาพันธสัญญาที่ลูกรู้ว่าท่านทำไว้ ให้พรฐานะปุโรหิต และแสดงประจักษ์พยานของท่าน! อย่าทึกทักว่าลูกจะเข้าใจความเชื่อของท่านด้วยตัวเขาเอง …

“… ลูกของเรารู้หรือไม่ว่าเรารักพระคัมภีร์ เขาเห็นหรือไม่ว่าเราอ่านพระคัมภีร์ ทำเครื่องหมาย และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ลูกของเราเคยไม่ตั้งใจเปิดประตูที่ปิดไว้และเห็นเราคุกเข่าสวดอ้อนวอนหรือไม่ เขาเคยได้ยินเราไม่เพียงสวดอ้อนวอน กับ พวกเขาเท่านั้นแต่สวดอ้อนวอน ให้ พวกเขาอันเกิดจากความรักที่เรียบง่ายของพ่อแม่หรือไม่ ลูกของเรารู้หรือไม่ว่าเราเชื่อเรื่องการอดอาหาร … เขารู้หรือไม่ว่าเราชอบอยู่ในพระวิหาร … เขารู้หรือไม่ว่าเรารักและสนับสนุนผู้นำที่ไม่ดีพร้อม ทั้งระดับท้องที่และระดับสามัญ … เด็กเหล่านั้นรู้หรือไม่ว่าเรารักพระผู้เป็นเจ้าสุดหัวใจ เราปรารถนาจะเห็นพระพักตร์—และกราบแทบพระบาท—พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนให้เขารู้เช่นนั้น” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “การสวดอ้อนวอนให้เด็ก,”เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 109-110)

  • ท่านเคยเห็นบิดามารดาของท่านหรือบิดามารดาของผู้อื่นใช้โอกาสที่เกิดขึ้นสอนหลักธรรมพระกิตติคุณอย่างไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่บิดามารดาต้องดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณให้เห็นชัดที่สุด

  • ท่านกำลังทำอะไรเวลานี้เพื่อให้ความรู้ในพระกิตติคุณลึกซึ้งขึ้นทั้งนี้เพื่อท่านจะสามารถสอนความสว่างและความจริงแก่ลูกๆ ได้

เป็นพยานว่าบิดามารดาสามารถ “เลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม” โดยนำทางพวกเขากลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการรักพวกเขา สอนหลักธรรมพระกิตติคุณแก่พวกเขา และเป็นแบบอย่างที่ดี

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน

เอกสารแจก

เอกสารแจก พรของการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว และการสังสรรค์ในครอบครัว

พรของการสวดอ้อนวอนกับครอบครัว การศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว และการสังสรรค์ในครอบครัว

ครอบครัวนิรันดร์ คู่มือครู—บทที่ 21

ขณะที่ท่านอ่านคำสอนต่อไปนี้ของผู้นำศาสนจักร ให้ขีดเส้นใต้พรที่มาจากการสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวทุกวันและการสังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“บิดามารดา จงช่วยกันปกป้องลูกๆ โดยติดยุทธภัณฑ์ให้พวกเขาทุกเช้าค่ำด้วยอำนาจแห่งการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว … จงปกป้องลูกๆ ของท่านจากอิทธิพลฝ่ายโลกในทุกๆ วันโดยเสริมกำลังป้องกันพวกเขาด้วยพรอันทรงพลังซึ่งเป็นผลมาจากการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวควรเป็นลำดับความสำคัญที่ไม่อาจต่อรองได้ในชีวิตประจำวันของท่าน

“… ให้ [พระคัมภีร์] เป็นส่วนสำคัญในชีวิตทุกวัน หากท่านต้องการให้ลูกๆ รู้ เข้าใจ และทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ ท่านต้องศึกษาพระคัมภีร์กับพวกเขา … ด้วยการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันอย่างสม่ำเสมอท่านจะพบสันติสุขในความวุ่นวายรอบข้างและมีพลังที่จะต่อต้านสิ่งล่อลวง ท่านจะพัฒนาศรัทธาอันแรงกล้าในพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะได้รับการรังสรรค์ให้ถูกต้องตามจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้า” (“ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,”เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 93-94)

ซิสเตอร์ลินดา เอส. รีฟส์ จากฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า

“ดิฉันต้องเป็นพยานถึงพรของการศึกษาพระคัมภีร์ การสวดอ้อนวอน ทุกวัน และการสังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์ ข้อปฏิบัติเหล่านี้เท่านั้นจะช่วยขจัดความเครียด ชี้ทางชีวิตเรา และเพิ่มความคุ้มครองแก่ครอบครัว” (ดู “การปกป้องให้พ้นสื่อลามก—บ้านที่มุ่งเน้นพระคริสต์,”เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 17)

ประธานโธมัส เอส. มอนสันประกาศว่า

“การสวดอ้อนวอนกับครอบครัวเป็นตัวยับยั้งบาปที่ดีที่สุด และด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ให้ปีติและความสุขมากที่สุด” (“Hallmarks of a Happy Home,” Ensign, Nov. 1988, 69)

ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ในบรรดาพรเหล่านี้ท่านเคยประสบพรใดบ้างในครอบครัวท่านหรือเคยเห็นในครอบครัวอื่น

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างในเวลานี้เพื่อรับพรเหล่านี้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น