เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 18: การบำรุงเลี้ยงสัมพันธภาพการแต่งงาน


บทที่ 18

การบำรุงเลี้ยงสัมพันธภาพการแต่งงาน

คำนำ

“สามีและภรรยามีความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกัน” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) เมื่อสามีภรรยารวมพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ไว้ในความสัมพันธ์ของพวกเขาและพร้อมใจกันดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พวกเขาสามารถบรรลุความสุขสูงสุดซึ่งเป็นเป้าหมายในแผนของพระผู้เป็นเจ้า

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “บำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 43-46

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,”เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 50–55

  • แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน, “ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 83-85

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 19:3–8; เอเฟซัส 5:25, 28–31; หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:5, 13–15; 42:22

การสร้างชีวิตแต่งงานที่ประสบความสำเร็จ

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“การแต่งงานมีโอกาสพบกับความสุขมากกว่าความสัมพันธ์อื่นใดของมนุษย์ กระนั้นคู่สามีภรรยาที่แต่งงานบางคู่ก็ไม่สามารถบรรลุถึงศักยภาพที่สมบูรณ์ของพวกเขา พวกเขาปล่อยให้ความรักจืดจาง ไม่เห็นความสำคัญต่อกัน ยอมให้ความสนใจอื่นๆ หรือเมฆหมอกแห่งการละเลยมาบดบังวิสัยทัศน์ว่าการแต่งงานที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร ชีวิตแต่งงานจะมีความสุขมากขึ้นถ้าทวีความเอาใจใส่และบำรุงเลี้ยง” (ดู “บำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 43-46)

  • ท่านคิดว่านิสัยหรือเจตคติใดอาจทำให้ชีวิตแต่งงาน “จืดจาง”

อธิบายว่าคู่สามีภรรยาที่ปล่อยให้ชีวิตแต่งงานจืดจางบางครั้งเลือกยุติชีวิตแต่งงานของพวกเขาด้วยการหย่าร้าง บอกนักศึกษาว่าในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด ฟาริสีบางคนโต้แย้งว่าการหย่าร้างทำได้แม้ด้วยเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ และพวกเขาหมายมั่นทำให้พระเยซูเข้ามาเกี่ยวข้องกับการโต้เถียงโดยถามความเห็นของพระองค์เกี่ยวกับการหย่าร้าง ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 19:3-8 และเชิ้อเชิญให้นักศึกษามองหาความแตกต่างระหว่างเจตคติของพระผู้ช่วยให้รอดกับเจตคติของพวกฟาริสีต่อการแต่งงาน หากจำเป็นให้อธิบายว่าการเขียนหนังสือหย่าเป็นเอกสารตามกฎหมายที่ฝ่ายชายต้องมอบให้ภรรยาก่อนให้เธอไป

  • ถ้อยคำใดใน ข้อ 3 บอกเจตคติของพวกฟาริสีต่อการแต่งงานและการหย่าร้าง (“หย่า” “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม” ย่อมทำได้)

  • พระเยซูทรงสอนอะไรใน ข้อ 8 ที่ค้านความคิดนี้และยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน (ตั้งแต่สมัยของอาดัมและเอวา พระผู้เป็นเจ้าทรงมุ่งหมายให้การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ เพื่อเสริมหลักคำสอนดังกล่าว ท่านอาจขอให้นักศึกษาทำการอ้างโยง ข้อ 8 กับ ปัญญาจารย์ 3:14 และ โมเสส 4:18)

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การแต่งงานในแบบที่ทำเพื่อความสูงส่ง—เป็นนิรันดร์ในระยะเวลาและเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าในคุณภาพ—จะไม่คิดเรื่องการหย่าร้าง ในพระวิหารของพระเจ้าคู่ชายหญิงแต่งงานเพื่อนิรันดร แต่ชีวิตสมรสของบางคนไม่ก้าวไปสู่อุดมการณ์เช่นนั้น เพราะ ‘ความแข็งกระด้างของใจ [เรา]’ [มัทธิว 19:8] ปัจจุบันพระเจ้าจึงไม่ทรงใช้ผลลัพธ์ของมาตรฐานซีเลสเชียล พระองค์ทรงยอมให้บุคคลที่ถูกหย่าแต่งงานใหม่โดยปราศจากความมัวหมองของการผิดศีลธรรมดังระบุไว้ในกฎที่สูงกว่า” (ดู“การหย่าร้าง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 88)

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจว่าสามีภรรยาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้บรรลุการแต่งงานในแบบที่ทำเพื่อความสูงส่ง ขอให้นักศึกษาอ่านประโยคแรกของย่อหน้าหกในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว

  • สามีภรรยามีข้อผูกมัดอะไรต่อกัน (ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนประโยคนี้จากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวบนกระดาน “สามีและภรรยามีความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกัน”)

  • ประโยคนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไรที่ว่าคู่แต่งงานมี “ความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกัน”

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจความรับผิดชอบดังกล่าวชัดเจนขึ้น ให้เชิญนักศึกษาครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:5, 13-15และอีกครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22 และ เอเฟซัส 5:25, 28–31 ขอให้นักศึกษามองหาหลักธรรมที่สอนวิธีบำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงาน แล้วเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้บนกระดาน หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักศึกษาเลือกข้อหนึ่งที่เขียนไว้และอธิบายว่าข้อนั้นมีความหมายอะไรต่อพวกเขา

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตันแห่งฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักศึกษาฟังข้อคิดบางประการของคำว่า แนบสนิท และ ละ

เอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน

“ชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขมากที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นแผ่รัศมีการเชื่อฟังพระบัญญัติที่เป็นสุขมากสุดข้อหนึ่ง นั่นคือ เรา ‘อยู่ด้วยกันด้วยความรัก’ [คพ. 42:45] เมื่อพูดถึงสามี พระเจ้าทรงบัญชาว่า ‘เจ้าจงรักภรรยาของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, และจงแนบสนิทกับนางและหาใช่ใครอื่นไม่’ [คพ. 42:22] คู่มือศาสนจักรสอนว่า ‘คำว่า แนบสนิท หมายถึงความภักดีและซื่อสัตย์ต่อใครบางคนอย่างแท้จริง คู่สมรสแนบสนิทกับพระผู้เป็นเจ้าและแนบสนิทต่อกันโดยรับใช้กันและรักกันและโดยรักษาพันธสัญญาด้วยความซื่อสัตย์อย่างแท้จริงต่อกันและต่อพระผู้เป็นเจ้า’ ทั้งสามีภรรยา ‘ละชีวิตโสดของตนและให้การสร้างชีวิตแต่งงานมาเป็นอันดับแรกของชีวิต [พวกเขา] … โดยไม่ยอมให้ใครหรือความสนใจอื่นใดมีความสำคัญมากไปกว่า … การรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้ต่อกันและกับพระผู้เป็นเจ้า’ [คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 1.3.1] จงดูและเรียนรู้: คู่สมรสที่ประสบความสำเร็จรักกันด้วยการอุทิศตนต่อกันอย่างแท้จริง” (“การแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 85)

  • สามีภรรยาอาจจะต้อง “ละ” สิ่งใดบ้างเพื่อ “แนบสนิท” กัน

  • คู่แต่งงานที่ท่านรู้จักแสดงความรักและดูแลคู่ครองของตนอย่างไร

  • ท่านกำลังทำอะไรเวลานี้ที่จะช่วยเตรียมท่านให้รักและดูแลคู่ครองในอนาคตอย่างไม่เห็นแก่ตัว

อับราฮัม 5:15-18

การเป็นหนึ่งเดียวในชีวิตแต่งงาน

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง อับราฮัม 5:15-18 ขอให้นักศึกษาที่เหลือดูตามและดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ สามีภรรยาควรทำให้บรรลุเป้าหมายอะไร (เพื่อเป็น “เนื้อเดียวกัน”)

วาดแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน

สามเหลี่ยมการแต่งงาน

จัดเตรียมข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักศึกษาแต่ละคน และขอให้คนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าแรกขณะที่นักศึกษาคนอื่นดูว่าแผนภาพแสดงให้เห็นอะไร

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นจุดรวมสัมพันธภาพของการแต่งงานในด้านพันธสัญญา ขอให้สังเกตวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงวางพระองค์ตรงปลายยอดของสามเหลี่ยมรูปนี้ โดยหญิงอยู่ที่มุมฐานด้านหนึ่งและชายอยู่ที่มุมฐานอีกด้านหนึ่ง ตอนนี้ขอให้พิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นในสัมพันธภาพระหว่างชายกับหญิงเมื่อพวกเขาแต่ละคน ‘มาหาพระคริสต์’ และพยายามรับการทำให้ ‘ดีพร้อมในพระองค์’ (โมโรไน 10:32) เนื่องจากและโดยผ่านพระผู้ไถ่ ชายและหญิงเข้าใกล้กันมากขึ้น

“ในฐานะสามีภรรยา เราต่างก็ถูกดึงไปหาพระเจ้า (ดู 3 นีไฟ 27:14) ขณะที่พวกเขาเรียนรู้ที่จะรับใช้และทะนุถนอมกัน ขณะที่พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต เติบโตไปด้วยกัน และเป็นหนึ่งเดียว ขณะที่พวกเขาได้รับพรโดยผ่านความเป็นหนึ่งเดียวของลักษณะที่แตกต่างกัน พวกเขาเริ่มตระหนักถึงความสำเร็จที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาเพื่อบุตรธิดาของพระองค์ ความสุขอันสูงสุดซึ่งเป็นจุดประสงค์แท้จริงในแผนของพระบิดาได้รับโดยการทำพันธสัญญาและเคารพพันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์” (ดู “การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,”เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 54)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว อะไรทำให้สามีภรรยาเข้าใกล้กันมากขึ้น (ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อสามีภรรยาพยายามมาหาพระคริสต์ พวกเขาสามารถเป็นหนึ่งเดียวในชีวิตแต่งงาน)

  • ท่านคิดว่าการมาหาพระคริสต์ช่วยให้สามีภรรยาใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างไร

ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าที่สองจากคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ จากนั้นให้ถามว่า

  • ตามที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว คู่สามีภรรยาต้องทำอะไรจึงจะได้รับ “ความสุขอันสูงสุด” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะให้พวกเขา

  • ท่านเคยเห็นคู่สามีภรรยาทำสิ่งใดบ้างเพื่อบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกันและปีติในชีวิตแต่งงาน

อ่านและเป็นพยานถึงความจริงของคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899-1994)

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“เราต้องถือว่าการแต่งงานเป็นพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า คู่แต่งงานมีข้อผูกมัดไม่เพียงต่อกันเท่านั้น แต่ต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วย พระองค์ทรงสัญญาพรกับคนที่ให้เกียรติพันธสัญญานั้น” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 183)

  • คู่ครองจะปฏิบัติต่างออกไปอย่างไรถ้าพวกเขาถือว่าการแต่งงานเป็นพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เพียงทำต่อกันเท่านั้นแต่ทำกับพระผู้เป็นเจ้าด้วย

  • เวลานี้ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมแต่งงานในพระวิหาร

ท้าทายนักศึกษาให้เขียนในบันทึกส่วนตัวว่าเวลานี้พวกเขาทำอะไรและพวกเขาจะทำอะไรในอนาคตเพื่อเตรียมแต่งงานนิรันดร์ในพระวิหาร

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน