เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 15: การแต่งงานนิรันดร์


บทที่ 15

การแต่งงานนิรันดร์

คำนำ

การแต่งงานนิรันดร์จำเป็นต่อความสูงส่งในระดับสูงสุดของอาณาจักรซีเลสเชียล บรรลุได้โดยผ่านการผนึกจากผู้มีสิทธิอำนาจที่ถูกต้องในพระวิหารและจากนั้นดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่ทำไว้ในเวลานั้น บทเรียนนี้จะยืนยันกับนักศึกษาอีกครั้งว่าการแต่งงานกับคนที่ถูกต้อง ในสถานที่ถูกต้อง และโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่ถูกต้องเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดที่พวกเขาจะทำ

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:1-24

หลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์

อธิบายว่าความสำคัญของการแต่งงานสอนไว้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของศาสนจักร อย่างไรก็ตาม ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธไม่ได้สอนหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์อย่างแพร่หลายจนถึงยุคนอวู ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807-1857) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ซึ่งอธิบายว่าท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบเป็นครั้งแรกว่าการแต่งงานสามารถดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์

“ข้าพเจ้าเรียนรู้จาก [โจเซฟ สมิธ] ว่าภรรยาในอ้อมอกข้าพเจ้าจะอยู่กับข้าพเจ้าเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดร … ข้าพเจ้าเรียนรู้จากท่านว่าเราจะปลูกฝัง พัฒนา และเพิ่มพูนในความรักเหล่านี้จนชั่วนิรันดร ขณะที่ผลของสมรสอันไม่สิ้นสุดของเราคือลูกหลานมากเท่าดวงดาวบนท้องฟ้าหรือเม็ดทรายบนฝั่งทะเล … ข้าพเจ้าเคยรักมาก่อน แต่ไม่ทราบว่าทำไม แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ารัก—ด้วยความบริสุทธิ์ใจ—ความรู้สึกสูงส่งและทรงเกียรติอย่างยิ่ง” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 297–98)

  • ความเข้าใจใหม่ของเอ็ลเดอร์แพรทท์เกี่ยวกับการแต่งงานมีผลอะไรต่อความรู้สึกที่เขามีต่อภรรยา

อธิบายว่าคำสอนมากมายของพระเจ้าเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์มีอยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132 เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุเงื่อนไขที่ต้องบรรลุเพื่อให้การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์

  • เราต้องบรรลุเงื่อนไขใดเพื่อให้การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ (นักศึกษาควรเข้าใจดังนี้ การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์สำหรับคนที่แต่งงานโดยพระคำของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งรับการผนึกโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา และปฏิบัติตามพันธสัญญา)

  • “ปฏิบัติตามพันธสัญญา” หมายความว่าอย่างไร (ทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของพันธสัญญาการแต่งงาน เมื่อชายหญิงเข้าสู่การแต่งงานนิรันดร์ พวกเขาทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ต่อกันและต่อพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาสัญญากับคู่ครองว่าจะรักกันไม่เสื่อมคลายและรับใช้กันด้วยความภักดีโดยสมบูรณ์ พวกเขาสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของพันธสัญญาที่ทำไว้ในพระวิหาร)

  • การแต่งงานได้รับการ “ผนึกไว้กับพวกเขาโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาเป็นพระนามหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์มีหลายพระนาม รวมทั้งพระผู้ปลอบโยนหรือพระผู้ทรงเปิดเผย แต่ละพระนามกล่าวถึงความรับผิดชอบหรือหน้าที่เฉพาะเจาะจงของพระองค์)

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจพระนามของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา ให้ดูข้อความต่อไปนี้และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา (กิจการของอัครทูต 2:33) พระองค์ทรงยืนยันการกระทำที่ชอบธรรม ศาสนพิธี และพันธสัญญาของมนุษย์ดังเป็นที่ยอมรับต่อพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาเป็นพยานต่อพระบิดาว่าได้ปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอดอย่างถูกต้องและได้รักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกัน” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา,” scriptures.lds.org)

  • ข้อความนี้ช่วยอธิบายอย่างไรว่าเหตุใดความสูงส่งจึงเรียกร้องมากกว่าการผนึกในพระวิหาร ต้องเกิดอะไรขึ้นอีก (เราต้องดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและซื่อสัตย์ต่อศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมด ซึ่งได้แก่บัพติศมา ศีลระลึก การวางมือแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต และศาสนพิธีพระวิหาร เมื่อเราซื่อสัตย์เท่านั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจะเป็นพยานต่อพระบิดาว่าเรารักษาพันธสัญญา)

ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจการแต่งงานนิรันดร์ชัดเจนขึ้นโดยใช้แผนภาพต่อไปนี้เปรียบเทียบกับการแต่งงานตามกฎหมาย ลอกแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน

แผนภาพการแต่งงาน

แบ่งนักศึกษาเป็นคู่ๆ ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:15-18 และอีกคนหนึ่งศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19-24 เชื้อเชิญให้นักศึกษาจดคำและวลีที่พูดถึงสภาพซึ่งรอคอยคนเหล่านั้นที่แต่งงานตามกฎหมายและพรที่รอคอยคนเหล่านั้นที่แต่งงานเพื่อนิรันดร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักศึกษาแบ่งปันสิ่งที่พบกับคู่ของตน จากนั้นให้ถามว่า

  • หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว สภาพของคนที่แต่งงานตามกฎหมายต่างจากคนที่แต่งงานเพื่อนิรันดรอย่างไร (ขณะที่นักศึกษาตอบ ท่านอาจเพิ่มคำตอบของพวกเขาในแผนภาพบนกระดาน) (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าสภาพที่อธิบายไว้ในข้อ 20-24 คล้ายกับพรที่สัญญาไว้ในพันธสัญญาอับราฮัม [ดู ปฐมกาล 17:1–7; 22:17])

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ท่านอาจแบ่งปันข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ครี-แอล คอฟฟอร์ดแห่งสาวกเจ็ดสิบ

เอ็ลเดอร์ครี-แอล คอฟฟอร์ด

“สิทธิอำนาจแห่งคำสัญญาในการแต่งงานซีเลสเชียลมาจากพระผู้เป็นเจ้า และผลของการไม่ให้เกียรติคำสัญญาเหล่านั้นจะมาจากพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน ในการแต่งงานตามกฎหมาย สิทธิอำนาจแห่งคำสัญญาระหว่างเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวคือความซื่อตรงของคนทั้งสอง สิทธิอำนาจไม่สูงกว่านั้น และจะสูงกว่านั้นไม่ได้ สิทธิอำนาจของคำสัญญาดังกล่าวมาจากมนุษย์ ไม่ใช่จากพระผู้เป็นเจ้า” (“Marriage in the Lord’s Way, Part One,” Ensign, June 1998, 9)

  • ท่านมีความคิดอย่างไรขณะเปรียบเทียบสภาพที่เขียนไว้บนกระดาน

  • ท่านสังเกตเห็นพรอะไรบ้างในบ้านของคนที่แต่งงานในพระวิหารและพยายามดำเนินชีวิตซื่อตรงต่อพันธสัญญาของพวกเขา ท่านเห็นคู่สามีภรรยาเหล่านี้ทำอะไรเพื่อให้เกียรติพันธสัญญาของพวกเขา (เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้ ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตันแห่งสาวกเจ็ดสิบ “ไม่มีความสัมพันธ์ใดสามารถทำให้เกิดปีติได้มากเท่านี้ ก่อเกิดความดีได้มากเท่านี้ หรือรังสรรค์ความประณีตส่วนตัวได้มากเท่านี้” [ดู “ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 83])

อธิบายให้นักศึกษาฟังว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 132 มีคำแนะนำบางประการของพระเจ้าเช่นกันเกี่ยวกับการปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคน พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนปฏิบัติกฎการแต่งภรรยาหลายคนอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสิ่งทั้งปวง (ดู กิจการของอัครทูต 3:21; คพ. 132:45) สมาชิกศาสนจักรปฏิบัติกฎนี้จนถึง ค.ศ. 1890 เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยต่อประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ว่าพระองค์ไม่ทรงเรียกร้องให้สมาชิกศาสนจักรปฏิบัติกฎนั้นอีก เพื่อชี้แจงจุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับการแต่งภรรยาหลายคนในปัจจุบัน ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“หากพบสมาชิกคนใดของเราปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคน พวกเขาจะถูกปัพพาชนียกรรม ซึ่งเป็นบทลงโทษรุนแรงที่สุดที่ศาสนจักรสามารถทำได้ … กว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยอย่างชัดเจนต่อวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ให้ยุติการปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคน ซึ่งหมายความว่าเวลานี้การกระทำเช่นนั้นขัดกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า แม้ในประเทศที่กฎหมายบ้านเมืองหรือข้อบัญญัติทางศาสนาอนุญาตการพหุสมรส แต่ศาสนจักรสอนว่าการแต่งงานจะต้องเป็นระบบคู่ครองคนเดียวและไม่ยอมรับผู้กระทำการแต่งภรรยาหลายคนเข้ามาเป็นสมาชิก” (ดู “ผู้คนกำลังถามอะไรเกี่ยวกับเรา” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 83–84)

ถ้านักศึกษามีคำถามเกี่ยวกับการแต่งภรรยาหลายคน ให้พวกเขาอ่าน Gospel Topics, “Plural Marriage in The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints,” lds.org/topics

หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1-4

ความสำคัญของการเลือกการแต่งงานนิรันดร์

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1-4 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องแต่งงานในวิธีที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้

  • พรใดคอยท่าคนที่เลือกเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน (นักศึกษาพึงเข้าใจหลักธรรมนี้: เมื่อเราเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน เราจะได้รับความสูงส่งในระดับสูงสุดของอาณาจักรซีเลสเชียล อธิบายว่าในบริบทนี้คำว่า ใหม่ หมายความว่าพันธสัญญานี้ได้รับการฟื้นฟูใหม่ในสมัยการประทานของเรา คำว่า เป็นนิจ หมายความว่าพันธสัญญานี้จะยั่งยืนชั่วนิรันดร์และทรงกำหนดไว้ในโลกวิญญาณก่อนมรรตัยให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแห่งความรอด พันธสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มาตั้งแต่สมัยของอาดัม เกี่ยวกับคำว่า การเพิ่มพูน ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าคนที่ได้ระดับสูงสุดของอาณาจักรซีเลสเชียล “จะเพิ่มพูนและมีบุตรในรัศมีภาพซีเลสเชียลต่อไป” [ใน History of the Church, 5:391].)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“[ความรอด] หมายถึงรอดจากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ … [ความสูงส่ง] หมายถึงสภาพสูงสุดของความสุขและรัศมีภาพในอาณาจักรซีเลสเชียล” (“ความรอดและความสูงส่ง,”เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 8)

“ขณะที่ความรอดเป็นเรื่องเฉพาะคน แต่ความสูงส่งเป็นเรื่องของครอบครัว เฉพาะผู้แต่งงานในพระวิหารและการแต่งงานของพวกเขาได้รับการผนึกโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาเท่านั้นจึงจะเป็นสามีภรรยากันต่อไปหลังจากความตายและได้รับระดับสูงสุดของรัศมีภาพซีเลสเชียลหรือความสูงส่ง” (“การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,”เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 92)

  • เหตุใดการแต่งงานนิรันดร์จึงสำคัญมาก (ขณะที่นักศึกษาตอบ และเมื่อพระวิญญาณทรงนำ ท่านอาจต้องการเน้นแนวโน้มที่สร้างความเสียหายในโลกทุกวันนี้ที่ส่งผลให้ผู้คนเลือกไม่แต่งงานเพราะพวกเขาให้ความสำคัญบางสิ่ง เช่นงานอาชีพ มากกว่าการทำตามแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพวกเขา การปฏิเสธการแต่งงานทำให้พวกเขาสูญเสียพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประทานให้พวกเขาเวลานี้และในนิรันดร)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการแต่งงานในพระวิหารจึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้คู่สามีภรรยามีความสุขได้มากกว่าการแต่งงานตามกฎหมายหรือการอยู่กินกันโดยไม่แต่งงาน

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจว่าสุดท้ายแล้ววิสุทธิชนทุกคนจะได้รับพรของการแต่งงานนิรันดร์ตราบที่พวกเขาไม่ทิ้งมาตรฐานของตน ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907-1995)

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“ทุกคนที่มีค่าควรจะไม่ถูกปฏิเสธพร รวมทั้งพรของการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัวนิรันดร์ แม้บางคนอาจใช้เวลานาน—บางทีอาจหลังจากชีวิตมรรตัย—กว่าจะได้รับพรนี้ แต่จะไม่มีใครถูกปฏิเสธ” (“The Church Is for All People,” Ensign, June 1989, 76)

  • กี่คนในพวกท่านรู้จักคนที่ปรารถนาจะแต่งงานในพระวิหารแต่ไม่มีโอกาสนี้ คำสัญญาในคำกล่าวของประธานฮันเตอร์จะช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างไร

สรุปโดยเชื้อเชิญให้นักศึกษาเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อ

  • ฉันกำลังตัดสินใจเรื่องใดที่จะนำฉันให้ได้รับการผนึกในพระวิหาร

  • ฉันต้องเปลี่ยนชีวิตหรือเติบโตด้านใดจึงจะพร้อมรับการผนึกในพระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักศึกษาหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เพื่อเตรียมแต่งงานในพระวิหาร แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเมื่อสามีภรรยารักษาพันธสัญญาที่ทำไว้คราวรับการผนึกในพระวิหาร พวกเขาจะเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์ แบ่งปันว่าความรู้นี้เป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน