บทที่ 9
บทบาทและความรับผิดชอบอันสูงส่งของบุรุษ
คำนำ
ส่วนสำคัญของแผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์คือพระองค์ทรงกำหนดให้บุรุษเป็นสามีและบิดา บทเรียนนี้มุ่งเน้นความรับผิดชอบของพวกเขา: “โดยแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้า บิดาเป็นผู้นำครอบครัวด้วยความรัก ด้วยความชอบธรรมและรับผิดชอบที่จะจัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ของชีวิต และคุ้มครองครอบครัว’ (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “พรนิรันดร์ของการแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 118–121
-
ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ขอให้เราเป็นลูกผู้ชาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 58–61
-
ลินดา เค. เบอร์ตัน, “เราจะขึ้นไปด้วยกัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 29–32
-
ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “การเป็นสามีและบิดาที่ชอบธรรม,” เลียโฮนา, ม.ค. 1995, 43–45
-
“การเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของบิดาและมารดา,” บทที่ 15 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (2014), 191–196
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
เอเฟซัส 5:25
บุรุษพึงแต่งงานและทะนุถนอมภรรยาของพวกเขา
เริ่มชั้นเรียนโดยถามว่า
-
บุรุษมีอิทธิพลอะไรในชีวิตท่าน เหตุใดพวกเขาจึงมีผลต่อท่านเช่นนั้น
อธิบายว่าบทเรียนนี้จะพูดถึงบทบาทที่พระเจ้าทรงกำหนดให้บุรุษ ไม่มีบทบาทใดสำหรับบุรุษสำคัญกว่าบทบาทของสามีและบิดา เมื่อบุรุษพยายามทำบทบาทเหล่านี้อย่างชอบธรรม พวกเขาจะเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์มากขึ้น
ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 5:25
-
ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากพระคัมภีร์ข้อนี้เกี่ยวกับว่าสามีควรปฏิบัติอย่างไร (แม้จะใช้คำพูดต่างกัน แต่นักศึกษาควรระบุหลักธรรมนี้: สามีพึงรักภรรยาเฉกเช่นพระเยซูคริสต์ทรงรักศาสนจักร)
-
พระเยซูคริสต์ทรงแสดงความรักต่อศาสนจักรในวิธีใดบ้าง
-
สามีจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเทำตามพระเยซูคริสต์ในวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อภรรยา
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“พระคริสต์ทรงรักศาสนจักรและผู้คนของศาสนจักรมากถึงขนาดทรงสมัครพระทัยอดทนต่อการข่มเหงเพื่อพวกเขา ทรงทนรับการดูถูกเหยียดหยามเพื่อพวกเขา ทรงทนความเจ็บปวดและทารุณกรรมทางกายเพื่อพวกเขาอย่างสงบ และสุดท้ายทรงสละพระชนม์ชีพอันล้ำค่าเพื่อพวกเขา
“เมื่อสามีพร้อมปฏิบัติต่อครัวเรือนของตนในลักษณะนั้น ไม่เพียงภรรยาเท่านั้นที่จะตอบรับการนำของเขา แต่ทุกคนในครอบครัวด้วย” (“Home, the Place to Save Society,” Ensign, Jan. 1975, 5)
-
ท่านมีความคิดอะไรบ้างขณะพิจารณาคำกล่าวของประธานคิมบัลล์
-
บิดาทำการเสียสละให้ครอบครัวของเขาในสมัยของเราในด้านใดบ้าง
เป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้บุรุษพยายามเป็นสามีที่ชอบธรรม
เอเฟซัส 5:23; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–46
บิดาพึงปกครองในความชอบธรรม
ขอให้นักศึกษาค้นคว้าย่อหน้าที่เจ็ดของ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เพื่อเรียนรู้สิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังจากบิดา
-
คำว่า นำ หมายถึงอะไร (ให้การนำทางและแนวทางแก่คนอื่นๆ)
-
การจดจำวลี “โดยแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้า” จะช่วยให้บุรุษบรรลุความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้แก่บิดาได้อย่างไร
เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้นว่าบิดาพึงปกครองในความชอบธรรมอย่างไร ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 5:23 จากนั้นขอให้นักศึกษาอีกคนอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994)
“อัครสาวกเปาโลชี้ให้เห็นว่า ‘สามีเป็นศีรษะของภรรยา เหมือน พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร’ (เอเฟซัส 5:23; เน้นตัวเอน) นั่นคือต้นแบบที่เราพึงตามในบทบาทการดูแลรับผิดชอบในบ้าน เราไม่พบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงนำศาสนจักรด้วยมือที่หยาบกระด้างหรือไร้เมตตา เราไม่พบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติต่อศาสนจักรของพระองค์ด้วยความไม่เคารพหรือเพิกเฉย เราไม่พบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้กำลังหรือบีบคั้นให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ ไม่มีที่ใดที่เราพบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำสิ่งใดนอกจากสิ่งซึ่งจรรโลงใจ หนุนใจ ปลอบใจ และยกศาสนจักรให้สูงส่ง … พระองค์ทรงเป็นต้นแบบที่เราพึงตามขณะที่เราให้การนำทางวิญญาณในครอบครัวเรา” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 196)
-
ท่านจะพูดถึงหลักธรรมที่อัครสาวกเปาโลและประธานเบ็นสันสอนว่าอย่างไร (นักศึกษาควรพูดถึงหลักธรรมทำนองนี้: เมื่อบุรุษใช้ฐานะปุโรหิตอย่างมีค่าควรในบ้านของเขา เขาจะสามารถมีอิทธิพลอย่างชอบธรรมต่อภรรยาและลูกๆ ของเขาได้ นอกจากนี้ให้แบ่งปันหลักธรรมนี้กับนักศึกษา: เมื่อบุรุษหมายมั่นทำบทบาทของสามีและบิดาอย่างชอบธรรม พวกเขาจะเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์มากขึ้น
เพื่ออธิบายเพิ่มเติมว่าสามีและบิดาจะนำในบ้านอย่างไร ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995)
“ตามที่ได้รับการกำหนดจากเบื้องบน ความรับผิดชอบในการปกครองบ้านตกอยู่กับผู้ดำรงฐานะปุโรหิต (ดู โมเสส 4:22) พระเจ้าทรงประสงค์ให้ภรรยาเป็นผู้ช่วยที่เหมาะสมของชาย (เหมาะสม หมายถึงเท่าเทียมกัน)—นั่นคือ คู่ที่เท่าเทียมและจำเป็นในการเป็นหุ้นส่วนโดยสมบูรณ์ การปกครองในความชอบธรรมจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสามีกับภรรยา ท่านปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันด้วยความรู้เและการมีส่วนร่วมในเรื่องครอบครัวทุกเรื่อง การที่บุรุษปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกและคำปรึกษาของภรรยาในการปกครองครอบครัว เขากำลังใช้อำนาจปกครองอย่างไม่ชอบธรรม” (“Being a Righteous Husband and Father,” Ensign, Nov. 1994, 50–51)
ขอให้นักศึกษาเปิดไปที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–46 เสนอแนะให้พวกเขาทำการอ้างโยง เอเฟซัส 5:23, 25 กับข้อเหล่านี้ (ช่วยนักศึกษาพัฒนาทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ด้านการทำอ้างโยงโดยเชื้อเชิญให้พวกเขาสร้างข้ออ้างอิงเช่นนั้นเมื่อเห็นเหมาะสม)
ให้เวลานักศึกษาสองสามนาทีศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–39 และพิจารณาว่าการนำที่พระคัมภีร์เหล่านี้พูดถึงตรงกันข้ามกับรูปแบบการนำที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างอย่างไร
-
ท่านคิดว่าวลี “สิทธิของฐานะปุโรหิต” หมายถึงอะไร (เมื่อบุรุษได้รับฐานะปุโรหิต พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบสิทธิและสิทธิอำนาจบางอย่างให้เขา บุรุษจะใช้สิทธิเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อเขากระทำในความชอบธรรม)
-
เกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตไม่ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (พระผู้เป็นเจ้าทรงถอนอำนาจแห่งสวรรค์ไปจากชายคนนั้น และชายคนนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงโศกเศร้า)
เพื่อเข้าใจว่าบิดาควรนำครอบครัวอย่างไร ขอให้นักศึกษาหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–46
-
ข้อเหล่านี้พูดถึงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์อะไรบ้าง ท่านคิดว่าเหตุใดบิดาผู้มีคุณลักษณะเหล่านี้จึงสามารถดึงอำนาจแห่งสวรรค์ลงมาได้
-
คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เหล่านี้จะช่วยบิดาปกครองครอบครัวอย่างไร (ท่านอาจชี้แจงว่าสตรีควรพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เหล่านี้เช่นกัน)
-
อธิบายว่าเราจะรู้สึกอย่างไรถ้าได้เป็นคู่ครองหรือลูกของบุรุษที่หมายมั่นทำตามแบบอย่างของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ในวิธีที่เขานำครอบครัว
ให้ดูและแบ่งปันข้อความต่อไปนี้ที่เขียนโดยโควรัมอัครสาวกสิบสองในปี ค.ศ. 1973
“การเป็นบิดาคือการเป็นผู้นำ รูปแบบการเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุด เป็นเช่นนั้นเสมอมาและจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป บิดาปกครองในบ้านด้วยความช่วยเหลือ คำปรึกษา และกำลังใจจากคู่ชีวิตนิรันดร์ของเขา นี่ไม่ใช่เรื่องของการที่ท่านมีค่าควรที่สุดหรือมีคุณสมบัติดีที่สุดหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของกฎและการแต่งตั้ง [จากเบื้องบน]” (“Father, Consider Your Ways,” Ensign, June 2002, 16)
-
พี่น้องสตรีทั้งหลาย ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนชายขยายบทบาทและความรับผิดชอบอันสูงส่งของพวกเขาในครอบครัวอนาคตของพวกเขา
-
ท่านแต่ละคน—ทั้งบุรุษและสตรี—จะทำอะไรในเวลานี้ได้บ้างเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมนำครอบครัวในอนาคตของท่านมากขึ้น
มัทธิว 2:13–16; 1 ทิโมธี 5:8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 75:28; 83:2, 4
บิดาพึงจัดหาและคุ้มครองครอบครัวของพวกเขา
ขอให้นักศึกษาอ่าน 1 ทิโมธี 5:8 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 75:28; 83:2, 4 และระบุหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของบิดา (ท่านอาจเสนอแนะให้นักศึกษาทำการอ้างโยงข้อเหล่านี้)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงคาดหวังให้บิดาจัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ของชีวิตให้ครอบครัวของตน (ขณะที่นักศึกษาตอบ จงชี้ให้เห็นว่าในบ้านที่มีแต่มารดาเลี้ยงเดี่่ยว เธอสามารถจัดหาให้ครอบครัวได้)
-
ข้อเหล่านี้อาจจะมีความหมายอะไรสำหรับชายหนุ่มที่ยังไม่แต่งงาน
ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008)
“ตั้งใจศึกษาหาความรู้ รับการอบรมทุกอย่างที่ท่านสามารถรับได้ ส่วนใหญ่โลกจะจ่ายให้ท่านตามที่คิดว่าท่านสมควรได้รับ … ภาระหน้าที่ในเบื้องต้นของท่านคือจัดหาให้ครอบครัวท่าน” (ดู “การดำเนินชีวิตให้มีค่าควรกับหญิงสาวที่วันหนึ่งท่านจะแต่งงานด้วย,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 58)
เน้นกับนักศึกษาว่าเพื่อความมั่นคงในอนาคตของครอบครัว สำคัญยิ่งที่ทั้งชายหนุ่มและหญิงสาวจะถือโอกาสใช้เวลานี้ในชีวิตศึกษาหาความรู้และฝึกงานให้มากเท่าที่จะมากได้
ชี้ให้เห็นว่าในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ผู้นำศาสนจักรสอนว่าบิดาพึงจัดหาและคุ้มครองครอบครัวของตน
-
อันตรายอะไรบ้างที่คุกคามครอบครัวในทุกวันนี้
-
ท่านเคยเห็นบิดาที่ชอบธรรมคุ้มครองครอบครัวของพวกเขาอย่างไร
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“บิดาที่ชอบธรรมคุ้มครองบุตรธิดาด้วยเวลาของเขาและการอยู่ร่วมกิจกรรมตลอดจนความรับผิดชอบทางสังคม การศึกษา และทางวิญญาณของพวกเขา” (ดู “การเป็นสามีและบิดาที่ชอบธรรม,” เลียโฮนา, ม.ค. 1995, 43)
-
ท่านจะประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้ในครอบครัวอนาคตหรือในครอบครัวท่านเวลานี้ได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักศึกษาพิจารณาว่าพวกเขาจะพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุ้มครองครอบครัวของตนอย่างไร และบันทึกความประทับใจเหล่านั้น
อธิบายว่าเราสามารถเรียนรู้หลักธรรมสำคัญได้จากโยเซฟผู้ดูแลเอาใจใส่พระเยซูเมื่อทรงพระเยาว์ ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่าน มัทธิว 2:13–16 โดยหาดูว่าโยเซฟทำอะไรเพื่อปกป้องพระกุมารพระคริสต์จากอันตราย
บอกนักศึกษาว่าถึงแม้พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่เพื่อปกป้องครอบครัวตน แต่พวกเขาสามารถเปรียบหรือประยุกต์ใช้ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กับตนเองได้โดยวิเคราะห์รายละเอียดสำคัญๆ บางอย่างดังนี้
-
พระเจ้าทรงสื่อสารอะไรกับโยเซฟใน ข้อ 13
-
โยเซฟตอบสนองคำเตือนนี้เมื่อใดและอย่างไร
-
บิดาจะทำตามแบบอย่างของโยเซฟในการคุ้มครองครอบครัวของพวกเขาได้อย่างไร (นักศึกษาพึงเข้าใจหลักธรรมนี้: เมื่อบิดาแสวงหาและทำตามการนำทางจากพระเจ้า พวกเขาจะสามารถคุ้มครองครอบครัวได้ดีขึ้น
บุรุษและสตรีควรทำตามแผนของพระเจ้า
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“หากท่านเป็นชายหนุ่มที่อยู่ในวัยเหมาะสมแต่ยังไม่ได้แต่งงาน อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า ทำให้ชีวิตก้าวหน้าต่อไปและมุ่งเน้นเรื่องการแต่งงาน อย่าปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลย ชายหนุ่มทั้งหลาย จงรับใช้งานเผยแผ่อย่างสมเกียรติ จากนั้นจงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการหาคู่ครองนิรันดร์ที่มีค่าควร …
“… ชีวิตแต่งงานจะจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีให้เอาชนะแนวโน้มของความเห็นแก่ตัวและยึดตนเป็นที่ตั้ง ข้าพเจ้านึกถึงเหตุผลหนึ่งที่แนะนำเราให้แต่งงานเร็ว นั่นก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่เหมาะสมจนยากจะเปลี่ยนได้” (“พรนิรันดร์ของการแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 119, 121)
-
ในโลกทุกวันนี้ มีแรงกดดันอะไรบ้างที่ทำให้ชายหนุ่มและหญิงสาวเลื่อนการแต่งงานออกไป
-
เหตุใดปฏิปักษ์จึงหมายมั่นทำให้ชายหนุ่มและหญิงสาวหันเหความสนใจจากการดำเนินความสัมพันธ์ที่อาจจะนำไปสู่การแต่งงานและการมีบุตร
-
ท่านคิดว่าเหตุใดผู้นำศาสนจักรจึงแนะนำอยู่เสมอให้ชายหนุ่มหมั่นเสาะหาความสัมพันธ์ที่สามารถนำไปสู่การแต่งงาน
(หมายเหตุ: ระหว่างสนทนาเรื่องนี้ จงรู้สึกไวต่อข้อเท็จจริงที่ว่าชายหนุ่มบางคนในชั้นเรียนของท่านอาจไม่แต่งงานหรือไม่ได้เป็นบิดาเนื่องด้วยสภาวการณ์นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา)
ขณะที่ท่านสรุป ให้นึกถึงสภาวการณ์ของนักศึกษาของท่าน ท่านจะท้าทายนักศึกษาชายให้ทำอะไรเพื่อทำภาระหน้าที่ในการเป็นสามีและบิดาที่ชอบธรรมให้เกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักศึกษาทุกคนมุ่งพัฒนาคุณธรรมเหมือนพระคริสต์บางอย่าง อาทิ ความอดทน หรือการแสดงความรักต่อผู้อื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของพวกเขา
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
มัทธิว 2:13–16; เอเฟซัส 5:23, 25; 1 ทิโมธี 5:8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 75:28; 83:2, 4; 121:36–46
-
ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ขอให้เราเป็นลูกผู้ชาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 58–61