บทที่ 19
การสร้างชีวิตและบ้านที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง
คำนำ
ศาสดาพยากรณ์ฮีลามันสอนบุตรชายว่าถ้าพวกเขาจะสร้างชีวิตบนฐานอันมั่นคงของพระเยซูคริสต์ ซาตานจะไม่มีอำนาจทำลายพวกเขา (ดู ฮีลามัน 5:12) ในบทเรียนนี้ นักศึกษาจะพูดถึงวิธีสร้างครอบครัวของพวกเขาบนรากฐานของพระเยซูคริสต์ เมื่อสมาชิกครอบครัวทำให้ชีวิตพวกเขามีศูนย์กลางอยู่บนคำสอนของพระเยซูคริสต์ พวกเขาสามารถแก้ไขและเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นและมีความสุขมากขึ้น
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “แบบอย่างที่เพียบพร้อมของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 85–88
-
ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “เพื่อสันติสุขในบ้าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 29–31
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ยอห์น 15:1–5, 10–11; ฮีลามัน 5:12
การสร้างชีวิตและบ้านที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง
เริ่มชั้นเรียนโดยวาดรูปบ้านหรืออาคารแบบง่ายๆ ไว้บนกระดาน สนทนากับนักศึกษาดังนี้
-
รากฐานมีค่าอะไรต่อบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น
-
เหตุใดวัสดุก่อสร้างบางชนิดจึงทำให้ฐานอาคารแข็งแกร่งกว่าวัสดุอื่น
เตือนนักศึกษาว่าทุกครอบครัวประสบความยากลำบากระดับหนึ่ง และซาตานพยายามทำลายทุกครอบครัว จากพระคัมภีร์มอรมอนเราเรียนรู้วิธีลดอิทธิพลของซาตานในครอบครัวเรา
ขอให้นักศึกษาศึกษา ฮีลามัน 5:12โดยมองหาสิ่งที่ข้อนี้สอนเกี่ยวกับรากฐาน
-
ท่านคิดว่าการสร้างรากฐานของเราบนพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร
-
ครอบครัวจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างบนรากฐานของพระเยซูคริสต์ (คำตอบอาจได้แก่ ศึกษาและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พยายามทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และดึงพลังอำนาจการชดใช้ของพระคริสต์มาใช้)
-
คำสัญญาใน ฮีลามัน 5:12 ประยุกต์ใช้กับครอบครัวที่พยายามสร้างรากฐานบนศิลาของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร (คำตอบควรแสดงให้เห็นว่าเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อครอบครัวสร้างรากฐานบนพระเยซูคริสต์ ซาตานจะไม่มีอำนาจทำลายพวกเขา)
อธิบายว่าไม่นานก่อนการสิ้นพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดประทานเรื่องเปรียบเทียบที่สามารถช่วยให้ครอบครัวเข้าใจวิธีสร้างรากฐานบนพระองค์ เชิญนักศึกษาหลายๆ คนอ่านออกเสียง ยอห์น 15:1-5, 10-11 ขอให้นักศึกษาที่เหลือดูตามและพิจารณาว่าอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้กับครอบครัวที่กำลังพยายามสร้างรากฐานบนพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
-
ถ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเถาองุ่นและเราเป็นแขนง ผลจะแทนอะไร (ผลสามารถแทนงานดีและการปฏิบัติดีของสานุศิษย์พระเยซูคริสต์)
ช่วยให้นักศึกษารับรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้คำว่า “ติดสนิท” หลายครั้งใน ยอห์น 15:4-10 อธิบายว่าคำว่า ติดสนิท ในบริบทนี้หมายถึงคงอยู่ และ “อยู่—แต่อยู่ ตลอดกาล” โดยบอกเป็นนัยว่าเราควรติดแน่นอยู่กับพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์ (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา,”เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 40) ท่านอาจจะอธิบายให้นักศึกษาฟังพอสังเขปว่าการสังเกตคำกล่าวซ้ำเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์อย่างหนึ่งที่พวกเขาสามารถใช้ได้ในการศึกษาส่วนตัว การกล่าวซ้ำในพระคัมภีร์มักจะหมายความว่าผู้เขียนกำลังเน้นแนวคิดสำคัญ
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 และ 11อะไรคือพรของการติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด (ถ้าเราติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด เราจะเกิดผลมากและได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ)
-
ท่านคิดว่าพรอะไรจะมาสู่ครอบครัวบ้างเมื่อสมาชิกครอบครัวพยายามติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ไม่ว่าสภาวการณ์ของท่านจะเป็นอย่างไร ท่านสามารถทำให้บ้านและชีวิตท่านมีศูนย์กลางอยู่ที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เพราะพระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขที่แท้จริงในชีวิตนี้” (“เพื่อให้มีสันติสุขในบ้าน,”เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 29)
-
ท่านจะพูดถึงบ้านที่มีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางว่าอย่างไร คุณลักษณะใดจะทำให้บ้านมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง
กระตุ้นให้นักศึกษาไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างสมบูรณ์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเชื้อเชิญอิทธิพลของพระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในบ้านของพวกเขามากขึ้น กระตุ้นให้พวกเขาตรึกตรองว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างในความสัมพันธ์ของพวกเขากับสมาชิกครอบครัว
ฮีลามัน 14:30-31; 3 นีไฟ 11:29-30
การควบคุมอารมณ์ของเราโดยใช้สิทธิ์เสรีของเราอย่างชอบธรรม
เปลี่ยนมาสอนบทเรียนช่วงต่อไปโดยย้ำว่าทุกครอบครัวประสบความท้าทาย แม้เมื่อสมาชิกครอบครัวกำลังพยายามทำให้ชีวิตมีศูนย์กลางอยู่ในพระเยซูคริสต์ แต่พวกเขาสามารถเผชิญสภาวการณ์ที่ท้าทายความปรารถนาอันชอบธรรมของพวกเขา เขียนบนกระดานดังนี้
เชื้อเชิญนักศึกษาให้ไตร่ตรองว่าคำพูดเหล่านี้มีพื้นฐานบนความจริงหรือไม่
ขอให้นักศึกษาหนึ่งคนอ่านออกเสียง ฮีลามัน 14:30-31 เชื้อเชิญให้นักศึกษาพิจารณาว่าข้อเหล่านี้เชื่อมโยงกับข้อความบนกระดานอย่างไร
-
ท่านพบความจริงสำคัญอะไรในข้อเหล่านี้ที่ประยุกต์ใช้ในความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น (เน้นความจริงต่อไปนี้ เพราะพระบิดาบนสวรรค์ประทานสิทธิ์เสรีแก่เรา เราจึงเลือกได้ว่าจะโกรธหรือไม่โกรธ อธิบายว่าเอ็ลเดอร์ลีนน์ จี. ร็อบบินส์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า “ความโกรธเป็นการเลือกที่เราตั้งใจ เป็นการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้เราจึงเลือกได้ว่าจะไม่โกรธ เรา เลือก!” [ดู “อำเภอใจและความโกรธ,”เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 90)
-
ปัญหาอะไรเกิดจากการเชื่อว่าการกระทำหรือคำพูดของผู้อื่นสามารถ “ทำ” ให้เราโกรธ
ขอให้นักศึกษาอ่าน 3 นีไฟ 11:29-30 ในใจ สนใจคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า ความขัดแย้ง “จะหมดไป” (3 นีไฟ 11:30) เตือนนักศึกษาว่าเราไม่ควรพูดจาก้าวร้าวและประพฤติมิชอบ เช่น การกระทำทารุณกรรมทางร่างกายและทางอารมณ์
เชื้อเชิญให้นักศึกษานึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำว่าต้องเลือกไม่โกรธ ขอให้พวกเขาแบ่งปันความคิด ขอให้นักศึกษารับปากว่าจะใช้สิทธิ์เสรีอย่างชอบธรรมโดยเลือกไม่โกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัว
3 นีไฟ 12:22–24; โมโรไน 7:45, 48; หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11; 88:119, 123–25
การกลับใจและการให้อภัยสามารถเยียวยาสัมพันธภาพครอบครัวที่เสียหาย
เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน
บอกนักศึกษาว่าข้อความนี้มาจาก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)
เพื่อช่วยให้นักศึกษาค้นพบคำสอนบางประการของพระเยซูคริสต์ที่สามารถทำให้เกิดความสุขมากขึ้นในครอบครัว ขอให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:119, 123-125ในใจ เสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายหรือใช้ปากกาเน้นข้อความคำสอนสำคัญๆ จากนั้นขอให้นักศึกษาสนทนาว่าครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไรจากการดำเนินชีวิตตามคำสอนที่พบในข้อเหล่านี้
เตือนนักศึกษาว่าปัญหาและความยุ่งยากมักจะเกิดขึ้นในครอบครัวเมื่อละเลยคำสอนของพระเยซูคริสต์ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“สัมพันธภาพที่ตึงเครียดหรือแตกหักดำรงอยู่คู่กับมวลมนุษย์มาช้านาน … ข้าพเจ้าคิดว่าทุกคนบนแผ่นดินโลกได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากวิญญาณร้ายของความขัดแย้ง ความเคียดแค้น และอาฆาต บางทีอาจมีหลายครั้งที่เรารับรู้วิญญาณเหล่านี้ในตัวเรา” (ดู “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 70)
-
คำสอนใดของพระเจ้าพระเยซูคริสต์สามารถช่วยเยียวยาสัมพันธภาพที่ตึงเครียดหรือแตกหักระหว่างสมาชิกครอบครัวได้
เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน อธิบายว่าข้อเหล่านี้มีความจริงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนซึ่งสามารถกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้
เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่านข้อเหล่านี้และสนทนาดังนี้
-
คำสอนใดจากข้อเหล่านี้สามารถช่วยเยียวยาสัมพันธภาพครอบครัวที่เสียหายเพราะความขัดแย้ง ความไร้เมตตา หรือการกระทำอื่นๆ
-
ท่านเคยเห็นการให้อภัยทำให้สัมพันธภาพครอบครัวดีขึ้นอย่างไร
-
เหตุใดบางครั้งการให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำให้เราขุ่นเคืองจึงยากกว่าการให้อภัยผู้อื่น
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ และประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ไม่มีใครปราศจากบาป เราทุกคนต่างทำผิดพลาด รวมทั้งท่านและข้าพเจ้า เราต่างเคยบอบช้ำ และเคยทำให้คนอื่นบอบช้ำมาแล้ว
“โดยผ่านการเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอดนั่นเองที่เราสามารถได้รับความสูงส่งและชีวิตนิรันดร์ เมื่อเรายอมรับวิถีของพระองค์และเอาชนะความหยิ่งจองหองด้วยการทำให้ใจเราอ่อนลง เราจะทำให้เกิดความปรองดองและการให้อภัยในครอบครัวและชีวิตส่วนตัว” (ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “กุญแจหนึ่งดอกสู่ครอบครัวสุขสันต์,”เลียโฮนา, ต.ค. 2012, 6)
“ไม่ว่าพระเยซูทรงวางพระหัตถ์ไว้บนสิ่งใด สิ่งนั้นจะมีชีวิต ถ้าพระเยซูวางพระหัตถ์บนการแต่งงาน การแต่งงานจะมีชีวิต ถ้ายอมให้พระองค์วางพระหัตถ์บนครอบครัว ครอบครัวจะมีชีวิต” (คำสอนของประธานศาสนจักร: ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ [2015], 150)
-
การปฏิบัติตามหลักธรรมที่สนทนาวันนี้ยอมให้พระผู้ช่วยให้รอดวางพระหัตถ์ไว้บนครอบครัวอย่างไร
เชื้อเชิญให้นักศึกษาพิจารณาว่าหลักธรรมเรื่องการกลับใจและการให้อภัยสามารถแก้ไขหรือเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขาอย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้ทันทีกับความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขา
สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน
-
ยอห์น 15:1–5, 10–11; ฮีลามัน 5:12; 14:30–31; 3 นีไฟ 11:29–30; 12:22–24; โมโรไน 7:45, 48; หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11; 88:119, 123–125
-
ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “เพื่อสันติสุขในบ้าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 29–31