บทที่ 11
บ้าน—รากฐานของชีวิตที่ชอบธรรม
“ยิ่งท่านเลี้ยงดูบุตรธิดาในทางพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยความรักและความคาดหวังสูงมากเพียงใด จะยิ่งมีสันติสุขในชีวิตพวกเขามากเพียงนั้น”
จากชีวิตของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
ปลายคริสต์ศักราช 1973 กอร์ดอนกับมาร์จอรี ฮิงค์ลีย์จำต้องตัดสินใจย้ายออกจากบ้านในอีสต์มิลล์ครีก ยูทาห์เพื่อจะได้มาอยู่ใกล้สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรในซอลท์เลคซิตี้มากขึ้น ประธานฮิงค์ลีย์ซึ่งเวลานั้นเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ใช้เวลาในวันก่อนขึ้นปีใหม่ของปีนั้นเขียนเกี่ยวกับบ้านของพวกท่าน คำพูดของท่านเผยความรู้สึกเกี่ยวกับสถานที่ แต่ยิ่งกว่านั้นคือเผยความรู้สึกเกี่ยวกับครอบครัวที่ท่านรักด้วย
“เราเศร้าใจมากที่ต้องออกจากบ้านนี้” ท่านเขียน ท่านนึกถึงเวลาที่ครอบครัวลงแรงสร้างบ้านและพัฒนาที่ดินโดยรอบ จากนั้นท่านนึกถึงความสัมพันธ์—ที่มีต่อกันและกับพระผู้เป็นเจ้า
“ที่นี่เราเล่นด้วยกันขณะลูกๆ เติบใหญ่ และที่นี่เราสวดอ้อนวอนด้วยกัน ที่นี่เรากับลูกๆ ได้รู้จักพระบิดาบนสวรรค์ รู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์ ทรงฟัง และทรงตอบ
“ข้าพเจ้าอาจจะเขียนหนังสือสักเล่ม … ไม่ใช่สำหรับชาวโลก แต่สำหรับลูกทั้งห้าคน คู่ครองและลูกหลานของพวกเขา ถ้าข้าพเจ้าร้อยเรียงคำพูดเป็นเรื่องราวของบ้านหลังนั้นได้ จะต้องมีน้ำตา เสียงหัวเราะ วิญญาณของความรักที่ยิ่งใหญ่ เงียบสงบ และอบอวลไปทั่วซึ่งจะสัมผัสใจคนที่อ่าน เพราะคนที่อยู่และเติบโตที่นั่นรักกัน พวกเขารักเพื่อนบ้าน พวกเขารักพระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าพระเยซูคริสต์ของพวกเขา”1
ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของประธานฮิงค์ลีย์ ท่านเป็นพยานถึงความสำคัญของครอบครัวที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและรักกัน ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองออก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ซึ่งเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกว่าเป็น “เสียงเรียกร้องให้คุ้มครองและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว”2 หลังจากอ่านถ้อยแถลงในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 ประธานฮิงค์ลีย์ประกาศว่า “ความมั่นคงของทุกชาติหยั่งรากในกำแพงบ้านของชาตินั้น เราขอให้คนของเราทุกแห่งหนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของตนเองให้สอดคล้องกับคุณค่าอันเก่าแก่มากเหล่านี้”3
คำสอนของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
1
สัมพันธภาพครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาสัมพันธภาพทั้งหมด
ครอบครัวมาจากพระเจ้า พระบิดาบนสวรรค์ทรงตั้งสถาบันครอบครัว ครอบครัวครอบคลุมความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของสัมพันธภาพทั้งหมด โดยผ่านองค์กรครอบครัวเท่านั้นที่จุดประสงค์ของพระเจ้าจะเกิดสัมฤทธิผลได้4
เราเป็นศาสนจักรที่มีประจักษ์พยานถึงความสำคัญของครอบครัว—บิดา มารดา บุตรธิดา—และข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเรา บิดามารดาผู้นำบุตรธิดาเข้ามาในโลกมีความรับผิดชอบที่ต้องรักบุตรธิดาเหล่านั้น อบรมสั่งสอนและดูแลพวกเขา สอนให้พวกเขารู้คุณค่าเหล่านั้นซึ่งจะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะเติบโตเป็นพลเมืองดี … ข้าพเจ้าต้องการเน้นเรื่องที่ท่านคุ้นเคยดีอยู่แล้ว นั่นคือความสำคัญของการทำให้ครอบครัวเราผูกพันกันด้วยความรักและความอ่อนโยน ด้วยความชื่นชมและความเคารพ ด้วยการสอนให้รู้ทางของพระเจ้าทั้งนี้เพื่อบุตรธิดาของท่านจะเติบโตในความชอบธรรมและหลีกเลี่ยงเรื่องเศร้าสลดทั้งหลายซึ่งกำลังมีผลต่อครอบครัวจำนวนมากทั่วโลก5
สิ่งนี้บอกเป็นนัยว่าท่านต้องไม่ละเลยครอบครัวของท่าน ไม่มีสิ่งใดล้ำค่ากว่านี้อีกแล้ว6
2
บิดาและมารดามีสิทธิพิเศษในการดูแลบุตรธิดาของตนและสอนให้พวกเขารู้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
เราขอให้บิดามารดาทุ่มเทความพยายามสุดความสามารถในการสอนและเลี้ยงดูบุตรธิดาของตนในหลักธรรมพระกิตติคุณซึ่งจะทำให้พวกเขาใกล้ชิดศาสนจักร บ้านคือรากฐานของชีวิตที่ชอบธรรม ไม่มีเครื่องมือใดสามารถแทนที่หรือปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่งของบ้านได้ในการทำความรับผิดชอบนี้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้7
ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดจะรับประกันความสำเร็จในภาระหน้าที่อันเสี่ยงภัยของการเป็นบิดามารดามากไปกว่าโปรแกรมของชีวิตครอบครัวที่มาจากคำสอนอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ที่ว่า บิดาของบ้านจะถูกห่อหุ้มด้วยฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า สิทธิพิเศษและข้อผูกมัดของเขาคือเป็นผู้พิทักษ์บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อจัดหาให้ตามความต้องการของพวกเขา เขาต้องปกครองในบ้านในวิญญาณของฐานะปุโรหิต “โดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง” (คพ. 121:41-42) มารดาในบ้านเป็นธิดาของพระผู้เป็นเจ้า จิตวิญญาณที่มีปฏิภาณไหวพริบ อุทิศตน และความรักผู้ถูกห่อหุ้มด้วยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า สิทธิพิเศษและข้อผูกมัดของเธอคือเป็นผู้พิทักษ์บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อเลี้ยงดูบุตรธิดาเหล่านั้นตามความต้องการประจำวัน เธอกับสามีต้องสอนให้บุตรธิดา “เข้าใจหลักคำสอนเรื่องการกลับใจ, ศรัทธาในพระคริสต์พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์, และเรื่องบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการวางมือ … [และ] สวดอ้อนวอน, และให้ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระเจ้า” (คพ. 68:25, 28)
ในบ้านเช่นนั้น บุตรธิดาจะรักและไม่หวาดกลัวบิดามารดา แต่จะชื่นชมและไม่กลัวพวกเขา บิดามารดาถือว่าบุตรธิดาเป็นของประทานจากพระเจ้า ต้องดูแล เลี้ยงดู ให้กำลังใจ และชี้ทางให้พวกเขา
อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างบางครั้ง อาจจะมีการโต้เถียงเล็กน้อย แต่ถ้ามีการสวดอ้อนวอนในครอบครัว ความรัก และการถนอมน้ำใจ ย่อมจะมีรากฐานของความเอื้ออาทรผูกมัดพวกเขาไว้ด้วยกันตลอดไปและมีความภักดีคอยนำทาง8
ตอนนี้ข้าพเจ้าจะพูดกับบิดาหรือมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยตนเอง … ในการสู้ศึกแต่ละวัน [ท่าน] แบกภาระอันแสนเหนื่อยยากที่มากับการเลี้ยงดูบุตรธิดาและคอยสนองความต้องการของพวกเขา นี่เป็นหน้าที่ซึ่งโดดเดี่ยว แต่ท่านไม่จำเป็นต้องทำคนเดียวทั้งหมด มีมากมายหลายคน มากมายในศาสนจักรนี้ที่จะยื่นมือช่วยเหลือท่านด้วยความเห็นใจและความเข้าใจ พวกเขาไม่ประสงค์จะรุกล้ำหากท่านไม่ต้องการ แต่ความสนใจของพวกเขาจริงใจไม่เสแสร้ง พวกเขาเป็นพรแก่ชีวิตตนเองขณะพวกเขาเป็นพรแก่ชีวิตท่านและบุตรธิดาของท่าน จงยินดีรับความช่วยเหลือของพวกเขา พวกเขาต้องการให้ความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเองและเพื่อประโยชน์ของท่าน
เรามีอธิการที่ดีหลายพันคนในศาสนจักรนี้ เรามีเจ้าหน้าที่โควรัมที่ดีหลายพันคน เรามีสตรีสมาคมสงเคราะห์ที่ยอดเยี่ยมหลายพันคน เรามีผู้สอนประจำบ้านและผู้เยี่ยมสอน พวกเขาเป็นเพื่อนท่าน พระเจ้าทรงวางพวกเขาไว้ในที่ซึ่งพวกเขาจะใช้พลังช่วยท่าน และอย่าลืมว่าพระเจ้าพระองค์เองทรงเป็นบ่อเกิดแห่งพลังยิ่งกว่าใครอื่นทั้งหมด ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจกับประสบการณ์หนึ่งของ … มารดาตัวคนเดียวที่เลี้ยงลูกเจ็ดคนตามลำพัง เธอเล่าว่าเธอทูลวิงวอนพระบิดาในสวรรค์ขอให้เธอได้ไปเข้าเฝ้าพระองค์สักคืนหนึ่งเพื่อรับการปลอบโยนและมีพลังรับมือกับการทดลองของวันพรุ่งนี้ คำตอบที่อ่อนโยนเข้ามาในความคิดเธอเกือบจะเหมือนการเปิดเผยดังนี้ “เจ้ามาหาเราไม่ได้หรอก แต่เราจะมาหาเจ้า”9
ยิ่งท่านเลี้ยงดูบุตรธิดาในทางพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยความรักและความคาดหวังสูงมากเพียงใด จะยิ่งมีสันติสุขในชีวิตพวกเขามากเพียงนั้น10
3
บุตรธิดาเติบโตด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ผ่านการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว
จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า สวดอ้อนวอนกับพวกเขา สวดอ้อนวอนให้พวกเขาและอวยพรพวกเขา โลกที่พวกเขาจะเข้าไปอยู่เป็นโลกที่ซับซ้อนยุ่งยาก พวกเขาจะวิ่งเข้าไปในคลื่นลูกใหญ่ของความยากลำบาก พวกเขาจะต้องการความเข้มแข็งทั้งหมดและศรัทธาทั้งหมดที่ท่านสามารถให้พวกเขาได้ขณะพวกเขายังอยู่ใกล้ท่าน พวกเขาจะต้องการความเข้มแข็งมากขึ้นจากพลังอำนาจที่สูงกว่าเช่นกัน พวกเขาต้องทำมากกว่าคล้อยตามสิ่งที่พวกเขาพบ พวกเขาต้องยกโลกขึ้นไป ชะแลงที่พวกเขามีคือแบบอย่างจากชีวิตของพวกเขา พลังโน้มน้าวที่จะมาจากประจักษ์พยานและความรู้ของพวกเขาในเรื่องพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า ขณะพวกเขาอายุยังน้อย จงสวดอ้อนวอนกับพวกเขาเพื่อพวกเขาจะได้รู้จักแหล่งความเข้มแข็งนั้นซึ่งจะมีให้พวกเขาเสมอในทุกโมงยามที่ต้องการ11
ข้าพเจ้ารู้ว่าไม่มีการปฏิบัติใดจะอำนวยผลดีต่อชีวิตท่านเท่ากับการคุกเข่าสวดอ้อนวอนด้วยกัน กล่าวคือ พระบิดาในสวรรค์ของเรามีบทบาทมากมายมหาศาล ท่านจะพูดเรื่องนี้ด้วยความจริงใจและด้วยความสำนึกไม่ได้หากไม่มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า …
การสนทนาประจำวันของท่านกับพระองค์จะนำสันติสุขเข้ามาในใจท่านและนำปีติเข้ามาในชีวิตท่านซึ่งจะมาจากแหล่งอื่นไม่ได้ … ความรักของท่านจะแน่นแฟ้นขึ้น ความชื่นชมกันจะเพิ่มขึ้น
บุตรธิดาของท่านจะได้รับพรด้วยความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่มาจากการอาศัยอยู่ในบ้านที่พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ พวกเขาจะรู้จักและรักบิดามารดาผู้เคารพกัน วิญญาณของความเคารพจะเพิ่มขึ้นในใจพวกเขา พวกเขาจะประสบความมั่นคงปลอดภัยจากคำพูดอ่อนโยนที่พูดกันเบาๆ พวกเขาจะได้รับความคุ้มครองจากบิดามารดาผู้ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อกัน และต่อเพื่อนมนุษย์ พวกเขาจะเติบใหญ่ด้วยความรู้สึกสำนึกคุณเพราะได้ยินบิดามารดากล่าวขอบพระทัยสำหรับพรใหญ่น้อยในการสวดอ้อนวอน พวกเขาจะเติบโตด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์12
4
การสังสรรค์ในครอบครัวสามารถดึงบิดามารดาและบุตรธิดามาเรียนรู้ทางของพระเจ้าด้วยกัน
ข้าพเจ้าจำได้เมื่อเป็นเด็กเล็กอายุห้าขวบ ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธประกาศให้ทุกคนในศาสนจักรทราบว่าพวกเขาควรนำครอบครัวมาอยู่กันพร้อมหน้าเมื่อมีการการสังสรรค์ในครอบครัว คุณพ่อของข้าพเจ้าพูดว่า “ประธานศาสนจักรขอให้เราทำ และเราจะทำ”
ด้วยเหตุนี้เราทุกคนมาจึงมารวมกันที่การสังสรรค์ในครอบครัว พวกเราหัวเราะสนุกสนาน ท่านพูดว่า “เราจะร้องเพลง” เราไม่ใช่นักร้อง … เราแค่พยายามร้องเพลงและหัวเราะกัน เราทำอีกมากมายหลายอย่าง แต่จากประสบการณ์นั้นมีเรื่องดีบางอย่างเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย—การปฏิบัติที่ช่วยเรา ดึงเรามาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เรา และใจเรามีความเชื่อมั่นมากขึ้นถึงคุณค่าของการสังสรรค์ในครอบครัว13
ข้าพเจ้าสำนึกคุณที่ศาสนจักรเรามีการปฏิบัติการสังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์เป็นส่วนพื้นฐานในโปรแกรมของเรา เรื่องสำคัญคือในยุคสมัยที่วุ่นวายเหล่านี้หลายพันครอบครัวทั่วโลกกำลังพยายามอย่างจริงจังเพื่ออุทิศค่ำวันหนึ่งในสัปดาห์มาร้องเพลงด้วยกัน สอนกันในทางของพระเจ้า คุกเข่าสวดอ้อนวอนด้วยกัน ขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับพระเมตตาและทูลขอให้มีพรเกิดขึ้นในชีวิตเรา บ้านของเรา การงานของเรา และแผ่นดินของเรา ข้าพเจ้าคิดว่าเราประเมินประโยชน์มหาศาลที่มาจากโปรแกรมนี้น้อยไป14
หากท่านมีความสงสัยประการใดเกี่ยวกับประสิทธิผลของการสังสรรค์ในครอบครัว ลองทำดู ให้บุตรธิดามาอยู่พร้อมหน้า สอนพวกเขา แสดงประจักษ์พยานให้พวกเขาฟัง อ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน และมีเวลาสนุกสนานด้วยกัน15
5
บิดามารดาควรเริ่มสอนบุตรธิดาเมื่อพวกเขายังเล็กมาก
หลังจากเราแต่งงานไม่นาน เราสร้างบ้านหลังแรก เรามีเงินเล็กน้อย ข้าพเจ้าทำงานหนัก งานจัดสวนเป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าทั้งหมด ต้นไม้ต้นแรกที่ข้าพเจ้าปลูกคือต้นฮันนีโลคัสที่ไม่มีหนาม ข้าพเจ้านึกภาพวันที่ร่มเงาของต้นไม้ต้นนั้นจะช่วยทำให้บ้านเย็นลงในหน้าร้อน ข้าพเจ้าปลูกตรงมุมที่ลมจากหุบเขาลึกทางตะวันออกพัดแรงที่สุด ข้าพเจ้าขุดหลุมๆ หนึ่ง วางรากลงไปในหลุม แล้วกลบด้วยดินรอบๆ หลุม รดน้ำ และลืมสนิท มันเป็นแค่ต้นเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางน่าจะสามส่วนสี่นิ้ว [2 เซนติเมตร] ต้นอ่อนมากจนข้าพเจ้าสามารถดัดไปได้ทุกทาง ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจต้นไม้ต้นนั้นจนเวลาล่วงไปหลายปี และแล้ววันหนึ่งในฤดูหนาวเมื่อต้นไม้ทิ้งใบ ข้าพเจ้าบังเอิญมองออกไปนอกหน้าต่าง ข้าพเจ้าสังเกตเห็นต้นไม้ต้นนั้นเอนไปทางตะวันตก ผิดรูปผิดร่าง และไม่สมดุล ข้าพเจ้าแทบไม่อยากเชื่อ ข้าพเจ้าออกไปนอกบ้านและพยายามใช้ตัวเองดันต้นไม้ให้ตั้งตรง แต่เวลานี้ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางราวหนึ่งฟุต พละกำลังของข้าพเจ้าไม่มีผลอะไร ข้าพเจ้าไปหยิบเครื่องชักรอกจากโรงเก็บเครื่องมือ ยึดปลายด้านหนึ่งกับต้นไม้และอีกด้านกับเสาที่ปักไว้อย่างดี ข้าพเจ้าดึงเชือก รอกขยับนิดน่อย และลำต้นสั่นเล็กน้อย แต่ทำได้เท่านั้น ดูเหมือนต้นไม้จะพูดกับข้าพเจ้าว่า “คุณดัดฉันให้ตรงไม่ได้หรอก มันสายเกินไปแล้ว ฉันโตมาแบบนี้ก็เพราะคุณไม่ใส่ใจ และฉันไม่ยอมให้ดัดหรอก”
ในที่สุดด้วยความสิ้นหวังข้าพเจ้าจึงใช้เลื่อยตัดกิ่งใหญ่ด้านตะวันตกออก ข้าพเจ้าถอยออกมาสำรวจสิ่งที่ทำลงไป ข้าพเจ้าได้ตัดส่วนสำคัญของต้น เหลือแต่รอยบากตามขวางกว้างราวแปดนิ้ว [20 เซนติเมตร] และเหลือกิ่งเล็กกิ่งเดียวที่กำลังชี้ขึ้นฟ้า
… ข้าพเจ้ามองดูต้นนั้นอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ต้นใหญ่ รูปร่างดีขึ้น และเป็นทรัพย์สินมีค่าของบ้าน แต่แผลเก่าขณะเป็นต้นอ่อนช่างสาหัสนักและสิ่งที่ข้าพเจ้าทำเพื่อดัดต้นไม้ต้นนั้นให้ตรงช่างเจ็บปวดยิ่งนัก ตอนปลูกต้นไม้ครั้งแรก ข้าพเจ้าน่าจะใช้เชือกสักเส้นยึดต้นไม้ให้ต้านแรงลม ข้าพเจ้าน่าจะและควรจะพยายามใช้เชือกเส้นนั้น แต่ข้าพเจ้าไม่ทำ ต้นไม้จึงเอนตามแรงที่มาปะทะ
เด็กก็เหมือนต้นไม้ เมื่ออายุยังน้อย โดยปกติเราใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยก็สามารถชี้นำและดัดชีวิตพวกเขาให้เป็นรูปเป็นร่างได้ ผู้เขียนสุภาษิตกล่าวว่า “จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเติบใหญ่ เขาจะไม่พรากจากทางนั้น” [สุภาษิต 22:6] การฝึกดังกล่าวหยั่งรากในบ้าน16
อิสยาห์กล่าวว่า “บุตรทุกคนของเจ้าจะได้รับการสั่งสอนจากพระยาเวห์ และบุตรทั้งหลายของเจ้าจะมีสวัสดิภาพเป็นอย่างมาก” (อสย. 54:13)
ด้วยเหตุนี้ จงนำบุตรและธิดาของท่าน จงนำทางและชี้แนวทางให้พวกเขาตั้งแต่เวลาที่พวกเขายังเล็กมาก จงสอนพวกเขาในทางของพระเจ้า เพื่อสันติสุขจะอยู่เป็นคู่ของพวกเขาตลอดชีวิต17
6
หากบุตรธิดาดื้อรั้้น บิดามารดาควรสวดอ้อนวอนให้พวกเขา รักพวกเขา และยื่นมือช่วยเหลือพวกเขาต่อไป
ข้าพเจ้าทราบดีว่ามีบิดามารดาที่แม้จะทุ่มเทความรักและเพียรพยายามสอนบุตรธิดาอย่างซื่อสัตย์เพียงใด ก็ยังเห็นบุตรธิดาเติบโตในทางตรงกันข้ามและต้องหลั่งน้ำตาขณะบุตรธิดาที่ดื้อดึงจงใจเดินตามวิถีที่ส่งผลอันน่าเศร้าสลด สำหรับบิดามารดาเช่นนั้น ข้าพเจ้าเห็นใจมาก และข้าพเจ้าต้องการหยิบยกถ้อยคำของเอเสเคียลมาพูดกับพวกเขา “บุตรไม่ต้องรับโทษความผิดบาปของบิดา บิดาก็ไม่ต้องรับโทษความผิดบาปของบุตร” (เอเสเคียล 18:20)18
นานๆ ทีจะมีบุตรธิดาที่ดื้อรั้นทั้งที่ท่านพยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่จงพยายามต่อไป อย่ายอมแพ้ ท่านไม่มีวันสูญเสียตราบใดที่ท่านพยายาม พยายามต่อไป19
หากพวกท่านคนใดมีบุตรธิดาหรือคนที่ท่านรักอยู่ในสภาพนั้น [ของความดื้อรั้น] จงอย่ายอมแพ้ จงสวดอ้อนวอนให้พวกเขา รักพวกเขา และยื่นมือช่วยเหลือพวกเขา20
บางครั้งอาจจะดูเหมือนสายเกินแก้ … แต่จงนึกถึงต้นโลคัสไร้หนามของข้าพเจ้า [ดูหน้า 201-203] การผ่าตัดและความทุกข์ทำให้เกิดสิ่งสวยงาม ชีวิตหลังจากนั้นให้ร่มเงาบังความร้อนตอนกลางวัน21
7
เราเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวเมื่อเราทูลขอความช่วยเหลือจากสวรรค์ บำรุงเลี้ยงวิญญาณของความรักและความเคารพกัน
[การเลี้ยงดูครอบครัว] อาจไม่ง่าย อาจเต็มไปด้วยความผิดหวังและความท้าทาย จะต้องใช้ความกล้าหาญและความอดทน … ความรักสร้างสรรค์สิ่งพิเศษได้—จงมอบความรักให้อย่างเผื่อแผ่ในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาว สิ่งนี้จะก่อให้เกิดสิ่งที่แม้ใช้เงินจำนวนมากกับเด็กก็ไม่สามารถทำได้
—ความอดทน ด้วยการหักห้ามวาจาและควบคุมความโกรธ …
—การให้กำลังใจ นั่นคือชมเร็วและตำหนิช้า
สิ่งเหล่านี้กับการสวดอ้อนวอนจะทำให้การอันน่าพิศวงเกิดขึ้น ท่านคาดหวังจะทำสิ่งนี้ตามลำพังไม่ได้ ท่านต้องได้รับความช่วยเหลือจากสวรรค์ในการเลี้ยงดูบุตรธิดาของสวรรค์—บุตรธิดาของท่านผู้เป็นบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์เช่นกัน22
เด็กทุกคนเป็นผลผลิตของบ้าน ไม่ว่าจะดี เลว หรือเฉยๆ โดยมีข้อยกเว้นไม่มาก ขณะที่เด็กเติบโตตามเวลาที่ผ่านไป ชีวิตพวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มพูนและสะท้อนการสอนในครอบครัว หากมีความเกรี้ยวกราด การกระทำทารุณกรรม ความโกรธที่ไม่ควบคุม ความไม่ภักดี ผลจะแน่นอนและมองเห็นชัด เป็นไปได้ว่าคนรุ่นต่อๆ ไปจะทำตาม ในทางตรงกันข้าม หากมีความอดกลั้น การให้อภัย ความเคารพ การถนอมน้ำใจ ความอ่อนโยน ความเมตตา และความเห็นใจ เราจะมองเห็นผล และจะคุ้มค่าชั่วนิรันดร์ ผลนั้นจะดี หอมหวาน และวิเศษยิ่ง เมื่อบิดามารดาสอนและให้ความเมตตา คนรุ่นต่อไปจะดำเนินชีวิตและปฏิบัติตาม
ข้าพเจ้าขอร้องบิดาและมารดาทุกแห่งหนให้เลิกเกรี้ยวกราด หักห้ามความโกรธ ลดเสียงลง และแก้ไขปัญหาด้วยความเมตตา ความรัก และความเคารพกันในบ้านของเรา23
มีคำกล่าวในสมัยโบราณว่า “คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป” (สภษ. 15:1) เราแทบจะไม่มีปัญหาร้อนใจเมื่อเราพูดจานุ่มนวล จอมปลวกจะกลายเป็นภูเขาลูกใหญ่ของความขัดแย้งทันทีที่เราขึ้นเสียง … เสียงของสวรรค์เป็นเสียงสงบแผ่วเบา [ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 19:11-12] ในทำนองเดียวกัน เสียงของสันติสุขในบ้านเป็นเสียงเบาๆ24
แน่นอนว่าต้องใช้การลงโทษกับครอบครัว แต่การลงโทษด้วยความรุนแรง การลงโทษด้วยความโหดร้ายไม่ทำให้เกิดการแก้ไขแต่เกิดความไม่พอใจและความเคียดแค้น ไม่เยียวยาสิ่งใด รังแต่จะทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้น และทำลายตัวเอง25
ไม่มีการลงโทษใดในโลกนี้เหมือนการลงโทษด้วยความรัก เพราะมีมนตร์ขลังในตัวมันเอง26
ขอให้เราพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวต่อไป ขอให้สามีภรรยาปลูกฝังวิญญาณของความภักดีต่อกัน ขอให้เราอย่าไม่เห็นค่าของกันและกัน แต่ขอให้เราพยายามบำรุงเลี้ยงวิญญาณของความรักและความเคารพกันอยู่เสมอ27
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ของพวกข้าพระองค์ ขอทรงอวยพรให้บิดามารดาสอนคนเหล่านั้นผู้มีค่ามากที่สุด บุตรธิดาผู้มาจากพระองค์ด้วยความรัก ความอดทน และการให้กำลังใจ เพื่อพวกเขาจะได้รับความคุ้มครองและการนำทางตลอดไป และระหว่างที่พวกเขาเติบโตขอให้พวกเขานำพรมาสู่โลกที่พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่ง28
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ประธานฮิงค์ลีย์สอนว่าครอบครัว “ครอบคลุมความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของสัมพันธภาพทั้งหมด” (หัวข้อ 1) ความจริงนี้จะมีผลต่อสัมพันธภาพของเรากับสมาชิกครอบครัวอย่างไร จะมีผลอย่างไรต่อวิธีที่เราจัดลำดับความสำคัญของเวลาและกิจกรรมของเรา
-
เหตุใดบิดามารดาจึงควร “ทุ่มเทความพยายามจนสุดความสามารถในการสอนและเลี้ยงดูบุตรธิดาของตนในหลักธรรมพระกิตติคุณ” (ดู หัวข้อ 2) การสอนพระกิตติคุณในบ้านเป็นพรแก่ครอบครัวท่านอย่างไร บิดามารดาจะพยายามช่วยบุตรธิดาให้ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณได้ดีขึ้นอย่างไร
-
ทบทวนคำสอนของประธานฮิงค์ลีย์เกี่ยวกับพรของการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว (หัวข้อ 3) ท่านคิดว่าเหตุใดการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวจึงนำพรมาให้ ท่านเคยประสบพรอะไรบ้างจากการสวดอ้อนวอนกับครอบครัวเป็นประจำ เราสูญเสียอะไรถ้าเราละเลยการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์การสังสรรค์ในครอบครัวเมื่อครั้งกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เป็นเด็ก (ดู หัวข้อ 4) พรอะไรมาถึงครอบครัวท่านผ่านการสังสรรค์ในครอบครัว
-
ทบทวนเรื่องต้นฮันนีโลคัสของประธานฮิงค์ลีย์ (ดู หัวข้อ 5) เรื่องนี้ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร
-
คำสอนของประธานฮิงค์ลีย์ในหัวข้อ 6 จะช่วยบิดามารดาของบุตรธิดาที่ดื้อดึงได้อย่างไร บิดามารดาและคนอื่นๆ สามารถหยิบยื่นความรักด้วยวิธีใดบ้าง
-
เหตุใดจึงสำคัญที่บิดามารดาต้องลงโทษบุตรธิดาด้วยความรักไม่ใช่ความโกรธ บิดามารดาจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อลงโทษด้วยความรัก สมาชิกครอบครัวจะบำรุงเลี้ยงวิญญาณของความรักและความเคารพกันได้อย่างไร (ดู หัวข้อ 7)
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
เฉลยธรรมบัญญัติ 11:19; อีนัส 1:1–5; โมไซยาห์ 4:14–15; แอลมา 56:45–48; 3 นีไฟ 18:21; ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165 ด้วย
ความช่วยเหลือด้านการสอน
“ท่านอาจรู้สึกว่าท่านขาดความเข้าใจในหลักธรรมบางข้อที่ท่านกำลังเตรียมสอน อย่างไรก็ดี เมื่อท่านศึกษาด้วยการสวดอ้อนวอน พยายามดำเนินชีวิตตามนั้น เตรียมสอน และแบ่งปันสิ่งนั้นกับผู้อื่น ประจักษ์พยานของท่านจะถูกทำให้แข็งแกร่งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 19)