บทที่ 8
เรามองไปที่พระคริสต์
“เราเชื่อในพระคริสต์ เราสอนเรื่องพระคริสต์ เรามองไปที่พระคริสต์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเรา พระเจ้าของเรา และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา”
จากชีวิตของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ค.ศ. 1975 เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองเวลานั้นได้แบ่งปันประสบการณ์ต่อไปนี้
“เมื่อเร็วๆ นี้เราเปิดให้เข้าชมพระวิหาร [เมซา] แอริโซนา หลังจากบูรณะอาคารหลังนั้นเสร็จสมบูรณ์ มีคนประมาณสองแสนห้าหมื่นคนเห็นภายในอาคารที่สวยงาม วันแรกที่เปิดให้ชม เราเชิญผู้นำศาสนาอื่นมาเป็นแขกพิเศษ มีผู้ตอบรับหลายร้อยคน ข้าพเจ้ามีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาและตอบคำถามช่วงท้ายของการชมพระวิหาร ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่าเรายินดีตอบคำถามทุกข้อที่พวกเขามี พวกเขาถามหลายข้อ คำถามข้อหนึ่งมาจากบาทหลวงนิกายโปรเตสแตนท์
“เขาพูดว่า ‘ผมดูทั่วอาคารแล้ว พระวิหารหลังนี้มีพระนามของพระเยซูคริสต์อยู่ด้านนอกแต่ผมไม่เห็นมีเครื่องหมายไม้กางเขนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ที่ไหนเลย ผมสังเกตว่าอาคารของคุณทุกที่ไม่มีไม้กางเขน ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะครับในเมื่อคุณบอกว่าคุณเชื่อในพระเยซูคริสต์
“ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ผมไม่ประสงค์จะสร้างความขุ่นเคืองให้พี่น้องชาวคริสต์คนใดที่ใช้ไม้กางเขนบนยอดหลังคาโบสถ์และที่แท่นบูชาในห้องนมัสการของพวกเขา คนที่ติดไม้กางเขนไว้บนเสื้อคลุม และพิมพ์ไม้กางเขนไว้บนหนังสือและวรรณกรรมอื่น แต่สำหรับเรา ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ผู้สิ้นพระชนม์ ส่วนข่าวสารของเราคือการประกาศเรื่องพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์’
“เขาถามต่อจากนั้นว่า ‘ถ้าคุณไม่ใช้ไม้กางเขน แล้วอะไรเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคุณล่ะครับ’
“ข้าพเจ้าตอบว่าชีวิตผู้คนของเราต้องเป็นสิ่งเดียวที่แสดงให้เห็นศรัทธาของเราและด้วยเหตุนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการนมัสการของเรา …
“… ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีงานศิลปะ ไม่มีสิ่งใดเหมาะจะแสดงให้เห็นถึงรัศมีภาพและความมหัศจรรย์ของพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ได้ พระองค์ทรงบอกเราว่าสัญลักษณ์นั้นควรเป็นอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา’ (ยอห์น 14:15)
“ในฐานะผู้ติดตามพระองค์ เราจะไม่ทำเรื่องเลวทรามต่ำช้าหรือไม่สุภาพหยาบคายโดยไม่มีทางทำให้ภาพลักษณ์ของพระองค์มัวหมองลงได้ ทั้งเราจะไม่ทำดี มีมารยาท และโอบอ้อมอารี โดยไม่มีทางทำให้สัญลักษณ์ของพระองค์ผู้ที่เรารับพระนามไว้กับตัวเราสุกใสแวววาวมากขึ้นได้
“ด้วยเหตุนี้ชีวิตเราจึงต้องแสดงให้เห็นชัดที่สุด ต้องเป็นสัญลักษณ์ยืนยันคำประกาศของเราและประจักษ์พยานของเราในพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ พระบุตรนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์
“นั่นเรียบง่าย พี่น้องทั้งหลาย และลึกซึ้งและเราไม่น่าจะลืม”1
คำสอนของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
1
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์
พื้นฐานแท้จริงของศรัทธาเราคือประจักษ์พยานของเราในพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า … พระองค์ทรงเป็นศิลาหัวมุมของศาสนจักรซึ่งมีพระนามของพระองค์2
เราเชื่อในพระคริสต์ เราสอนเรื่องพระคริสต์ เรามองไปที่พระคริสต์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเรา พระเจ้าของเรา และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา3
การปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิด ทรงละจากราชสำนักซีเลสเชียลของพระบิดามารับความเป็นมรรตัย เมื่อครั้งพระองค์ประสูติ เหล่าเทพขับขานบทเพลงและนักปราชญ์มาถวายของขวัญ พระองค์ทรงเติบโตเช่นเด็กคนอื่นๆ ในเมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี ที่นั่นพระองค์ “เจริญขึ้นในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย” (ลูกา 2:52)
พระองค์เสด็จเยือนเยรูซาเล็มพร้อมมารีย์และโยเซฟเมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ทั้งสองไม่เห็นพระองค์ พวกเขากลับมาเยรูซาเล็มและพบพระองค์ในพระวิหารกำลังสนทนากับปรัชญาเมธีทั้งหลาย เมื่อมารีย์ตำหนิพระองค์เพราะไม่อยู่กับพวกเขา พระองค์ตรัสตอบว่า “พ่อกับแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในพระนิเวศของพระบิดา?” (ลูกา 2:49) พระดำรัสของพระองค์เป็นการบอกล่วงหน้าเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจในอนาคตของพระองค์
การปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวเริ่มด้วยบัพติศมาของพระองค์ในแม่น้ำจอร์แดนด้วยมือยอห์นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นจากน้ำ พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาบนพระองค์ในสัณฐานของนกพิราบ และได้ยินสุรเสียงของพระบิดาตรัสว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” (มัทธิว 3:17) คำประกาศดังกล่าวเป็นการยืนยันความเป็นพระเจ้าของพระองค์
พระองค์ทรงอดพระกระยาหาร 40 วันและทรงถูกมารล่อลวง เขาหมายมั่นนำพระองค์ไปจากพระพันธกิจที่พระบิดาทรงมอบหมายให้พระองค์ทำ พระองค์ทรงตอบคำเชื้อเชิญของปฏิปักษ์ว่า “อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่าน” (มัทธิว 4:7) โดยทรงประกาศความเป็นพระบุตรของพระองค์อีกครั้ง
พระองค์เสด็จไปบนถนนคลุ้งฝุ่นของปาเลสไตน์ พระองค์ไม่ทรงมีบ้านที่เรียกได้ว่าเป็นของพระองค์ ไม่มีที่ให้วางศีรษะ ข่าวสารของพระองค์คือพระกิตติคุณแห่งสันติ คำสอนของพระองค์คือคำสอนแห่งความโอบอ้อมอารีและความรัก “ถ้าใครต้องการจะฟ้องศาลเพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่านไป ก็จงสละเสื้อคลุมให้เขาด้วย” (มัทธิว 5:40)
พระองค์ทรงสอนด้วยอุปมา พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์อย่างที่ไม่เคยมีใครแสดงมาก่อนหรือนับแต่นั้น พระองค์ทรงรักษาคนที่เจ็บป่วยมานาน พระองค์ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็น คนหูหนวกได้ยิน คนง่อยเดินได้ พระองค์ทรงทำให้คนตายฟื้น และพวกเขามีชีวิตอีกครั้งเพื่อกล่าวสรรเสริญพระองค์ โดยแท้แล้วไม่มีใครเคยทำเช่นนั้นมาก่อน
น้อยคนติดตามพระองค์ แต่ส่วนมากเกลียดชังพระองค์ พระองค์ตรัสว่าพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีเป็นคนหน้าซื่อใจคด เหมือนอุโมงค์ฝังศพที่ฉาบด้วยปูนขาว พวกเขาวางแผนให้ร้ายพระองค์ พระองค์ทรงขับไล่คนรับแลกเงินออกจากพระนิเวศน์ของพระเจ้า พวกเขาไปสมทบโดยไม่ยั้งคิดกับคนที่วางแผนจะทำลายพระองค์ แต่ไม่มีใครขัดขวางพระองค์ได้ พระองค์ “เสด็จไปทำคุณประโยชน์” (กิจการของอัครทูต 10:38)
ทั้งหมดนี้ไม่มากพอจะทำให้เราระลึกถึงพระองค์ตลอดไปหรือ นั่นไม่มากพอจะวางพระนามของพระองค์ไว้ในหมู่คนที่ยิ่งใหญ่ผู้เคยอยู่บนแผ่นดินโลกและผู้ที่โลกจดจำสิ่งที่พวกเขาพูดหรือทำหรอกหรือ พระองค์จะได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในหมู่ศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแน่นอน
แต่ทั้งหมดนี้ไม่มากพอสำหรับพระบุตรของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ นี่เป็นเพียงอารัมภบทของเรื่องใหญ่กว่าที่จะเกิดขึ้น เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นในวิธีแปลกๆ และน่าสยดสยอง4
การจับกุม การตรึงกางเขน และการสิ้นพระชนม์
พระองค์ทรงถูกทรยศ ถูกจับกุม ถูกกล่าวโทษให้ถึงตาย สิ้นพระชนม์ในความปวดร้าวอันน่าสะพรึงกลัวโดยการตรึงกางเขน พระวรกายที่ทรงพระชนม์ถูกตรึงกับไม้กางเขน พระชนม์ชีพของพระองค์สิ้นลงอย่างช้าๆ ในความเจ็บปวดสุดพรรณนา แต่ขณะทรงหายพระทัย พระองค์ทรงร้องออกมาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลูกา 23:34)
แผ่นดินโลกสั่นสะเทือนขณะวิญญาณของพระองค์จากไป นายร้อยที่เห็นทั้งหมดนี้ประกาศด้วยความจริงจังว่า “ท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงๆ” (มัทธิว 27:54)
คนที่รักพระองค์นำพระวรกายลงจากไม้กางเขน พวกเขาแต่งพระวรกายและวางไว้ในอุโมงค์ใหม่ …
มิตรสหายของพระองค์ร่ำไห้ เหล่าอัครสาวกที่พระองค์ทรงรักและทรงเรียกให้เป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ร่ำไห้ เหล่าสตรีที่รักพระองค์ร่ำไห้ ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่พระองค์ตรัสเกี่ยวกับการเป็นขึ้นมาในวันที่สาม พวกเขาจะเข้าใจได้อย่างไรเล่า เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นประวัติการณ์โดยสิ้นเชิง ไม่น่าเชื่อ แม้สำหรับพวกเขา
ต้องมีความรู้สึกเศร้าใจอย่างมาก ความสิ้นหวัง และความเศร้าหมองแน่นอนขณะพวกเขานึกถึงพระเจ้าที่ถูกความตายพรากไปจากพวกเขา5
การฟื้นคืนพระชนม์
แต่นั่นไม่ใช่จุดจบ เช้าวันที่สาม มารีย์ชาวมักดาลากับมารีย์อีกคนกลับมาที่อุโมงค์ ยังความประหลาดใจแก่พวกเธอเป็นที่สุดเมื่อก้อนหินถูกกลิ้งออกไปแล้วและอุโมงค์เปิดอยู่ พวกเธอมองเข้าไปข้างใน เห็นคนสวมชุดขาวสองคนนั่งอยู่ตรงที่ฝังคนละมุม เทพองค์หนึ่งปรากฏต่อพวกเธอและกล่าวว่า “พวกท่านแสวงหาคนเป็นในพวกคนตายทำไม?
“พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว จงระลึกถึงคำที่พระองค์ตรัสกับพวกท่านขณะที่พระองค์ยังอยู่ในแคว้นกาลิลี
“ว่าบุตรมนุษย์จะต้องถูกมอบไว้ในมือของพวกคนบาป และจะต้องถูกตรึงที่กางเขน และวันที่สามจะเป็นขึ้นมาใหม่” (ลูกา 24:5–7)
ถ้อยคำเรียบง่ายนี้—“พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว”—ลึกซึ้งที่สุดในวรรณกรรมทั้งหมด นั่นเป็นการประกาศว่าอุโมงค์ว่างเปล่า นั่นเป็นสัมฤทธิผลของทั้งหมดที่พระองค์ตรัสไว้เกี่ยวกับการเป็นขึ้นมาอีกครั้ง นั่นเป็นคำตอบอันดีเลิศแก่ข้อข้องใจของชายหญิงและเด็กทุกคนที่เคยเกิดมาบนแผ่นดินโลก
พระเจ้าผู้คืนพระชนม์ตรัสกับมารีย์ และเธอตอบ พระองค์ไม่ใช่ผีปีศาจ นี่ไม่ใช่จินตนาการ พระองค์ทรงดำรงอยู่จริง จริงเฉกเช่นทรงดำรงอยู่ในพระชนม์ชีพมรรตัย พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้เธอสัมผัสพระองค์ พระองค์ยังไม่ได้เสด็จขึ้นไปหาพระบิดาในสวรรค์ เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน นั่นจะต้องเป็นการพบกันอีกครั้ง พระบิดาผู้ทรงรักพระองค์และต้องทรงกันแสงในช่วงที่พระองค์ทรงเจ็บปวดทรมานจะทรงโอบกอดพระองค์
พระองค์จะทรงปรากฏต่อชายสองคนบนถนนไปหมู่บ้านเอมมาอูส พระองค์จะทรงสนทนากับพวกเขาและเสวยกับพวกเขา พระองค์จะทรงพบกับเหล่าอัครสาวกหลังประตูที่ปิดและสอนพวกเขา ครั้งแรกโธมัสไม่อยู่ ครั้งที่สองพระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เขามาคลำพระหัตถ์และพระปรัศว์ของพระองค์ เขาอุทานด้วยความพิศวงอย่างที่สุดว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์” (ยอห์น 20:28) พระองค์ตรัสกับคน 500 คน [อีกครั้งหนึ่ง] …
และมีพยานอีกคนหนึ่ง พระคัมภีร์มอรมอนที่ควบคู่กับระคัมภีร์ไบเบิลเป็นพยานว่าพระองค์ทรงปรากฏไม่เพียงต่อคนในโลกเก่าเท่านั้น แต่คนในโลกใหม่ด้วย เพราะพระองค์ไม่ได้ประกาศสักครั้งหรือว่า “แกะอื่นที่ไม่ได้เป็นของคอกนี้เราก็มีอยู่ แกะพวกนั้นเราก็ต้องพามาด้วย และแกะพวกนั้นจะฟังเสียงของเราแล้วจะรวมเป็นฝูงเดียวและมีผู้เลี้ยงเพียงผู้เดียว” (ยอห์น 10:16)
พระองค์ทรงปรากฏต่อคนซีกโลกนี้หลังจากพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ เมื่อพระองค์เสด็จผ่านเมฆแห่งสวรรค์ลงมา ผู้คนได้ยินสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์อีกครั้งในคำประกาศที่จริงจังว่า “จงดูบุตรที่รักของเรา, ผู้ที่เราพอใจมาก, ในเขาเราแผ่รัศมีภาพนามของเรา—เจ้าจงฟังเขา” (3 นีไฟ 11:7) …
และถ้าทั้งหมดนี้ไม่มากพอ ยังมีประจักษ์พยานที่แน่นอน แน่ชัด และชัดเจนของโจเซฟ สมิธศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ของสมัยการประทานนี้ เมื่อเป็นหนุ่ม ท่านเข้าไปในป่าเพื่อสวดอ้อนวอนทูลขอแสงสว่างและความเข้าใจ ที่นั่นพระอติรูปสองพระองค์ทรงปรากฏตรงหน้าท่าน ความเจิดจ้าและรัศมีภาพของทั้งสองพระองค์เกินกว่าจะพรรณนาได้ พระองค์ทรงยืนอยู่เหนือข้าพเจ้าในอากาศ องค์หนึ่งรับสั่งกับข้าพเจ้า โดยทรงเรียก “ชื่อข้าพเจ้าและตรัส, พลางชี้พระหัตถ์ไปที่อีกองค์หนึ่ง—นี่คือบุตรที่รักของเรา. จงฟังท่าน!” [โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17]
โจเซฟคนเดียวกันนี้ประกาศในโอกาสต่อมาว่า “และเราเห็นรัศมีภาพของพระบุตร, ทางพระหัตถ์ขวาของพระบิดา, และได้รับความสมบูรณ์แห่งพระองค์; …
“และบัดนี้, หลังจากประจักษ์พยานจำนวนมากที่ให้ไว้ถึงพระองค์, นี่คือประจักษ์พยาน, สุดท้ายของทั้งหมด, ซึ่งเราให้ไว้ถึงพระองค์ : ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่!” (คพ. 76:20, 22)6
ถึงทุกคนที่อาจมีความสงสัย ข้าพเจ้าย้ำพระดำรัสที่ตรัสกับโธมัสเมื่อเขาคลำรอยแผลที่พระหัตถ์พระเจ้าว่า “อย่าสงสัยเลย แต่จงเชื่อ” [ยอห์น 20:27] จงเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า องค์ยิ่งใหญ่ที่สุดของกาลเวลาและนิรันดร จงเชื่อว่าพระชนม์ชีพอันหาใดเทียบได้ของพระองค์เริ่มต้นนานแล้วก่อนสร้างโลก จงเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างแผ่นดินโลกที่เราอาศัยอยู่ จงเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิม พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์แห่งพันธสัญญาใหม่ พระองค์สิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์เสด็จเยือนทวีปตะวันตกและทรงสอนผู้คนที่นี่ พระองค์ทรงนำเข้าสู่สมัยการประทานพระกิตติคุณสุดท้ายนี้ และพระองค์ทรงพระชนม์ พระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดของเราและพระผู้ไถ่ของเรา7
2
เราแต่ละคนสามารถรู้ได้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่ของโลก พระองค์ฟื้นคืนพระชนม์จากหลุมศพ
มี … การต่อสู้แย่งชิงศรัทธาของมนุษย์ แต่ไม่ได้ลากเส้น … แบ่งชัดเจนเสมอไป เพราะแม้ในหมู่คนของศาสนาคริสต์ก็ยังมีคนคอยทำลายความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์พระนามที่พวกเขาพูดถึง พวกเขาอาจถูกเมินเฉยถ้าเสียงของพวกเขาไม่ดึงดูดใจ ถ้าอิทธิพลของพวกเขาไม่กว้างไกล ถ้าเหตุผลของพวกเขาไม่เฉียบคม
… ฝูงชนจะมารวมกันบนเนินเขาพันลูกเพื่อต้อนรับอรุณรุ่งของวันอีสเตอร์และเพื่อเตือนตนเองให้นึกถึงเรื่องราวของพระคริสต์ผู้ซึ่งพวกเขาจะเฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ นักเทศน์ของหลายศาสนาจะเล่าเรื่องอุโมงค์ที่ว่างเปล่าในภาษาที่ไพเราะและเปี่ยมด้วยความหวัง กับพวกเขา—และกับพวกท่าน—ข้าพเจ้าตั้งคำถามว่า “ท่านเชื่อเรื่องนี้จริงหรือ”
ท่านเชื่อจริงหรือว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ทายาทองค์จริงของพระบิดา
ท่านเชื่อหรือไม่ว่ามีผู้ได้ยินสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ เหนือแม่น้ำจอร์แดนประกาศว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” (มัทธิว 3:17)
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพระเยซูองค์เดียวกันนี้ทรงเป็นผู้ทำปาฏิหาริย์ พระผู้ทรงรักษาคนเจ็บป่วย พระผู้ทรงทำให้คนอ่อนแอแข็งแรง พระผู้ประทานชีวิตให้คนตาย
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าหลังจากสิ้นพระชนม์บนเนินเขาคัลวารีและฝังพระองค์ในอุโมงค์ของโยเซฟ พระองค์เสด็จออกมามีพระชนม์ชีพในวันที่สาม
ท่านเชื่อจริงหรือว่าพระองค์ทรงพระชนม์—ดำรงอยู่จริง มีตัวตนจริง—และพระองค์จะเสด็จมาอีกครั้งตามที่เหล่าเทพสัญญาไว้คราวพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์
ท่านเชื่อเรื่องเหล่านี้จริงๆ หรือ หากท่านเชื่อ ท่านย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เชื่อว่าพระคัมภีร์ไบเบิลหมายความอย่างที่พูดผู้ซึ่งนับวันจะถูกนักปรัชญายิ้มเยาะมากขึ้น ผู้ซึ่งนับวันจะถูกนักการศึกษาบางคนเย้ยหยันมากขึ้น ผู้ซึ่งนับวันจะถูกกลุ่มบาทหลวงและนักศาสนศาสตร์ที่มีอิทธิพลถือว่าเป็น “คนล้าสมัย” มากขึ้น
… ในสายตาของปัญญาชนเหล่านี้ นี่เป็นเรื่องหลอกลวง—การประสูติของพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งเหล่าเทพร้องสรรเสริญบนทุ่งราบของยูเดีย ผู้ทำปาฏิหาริย์ที่ทรงรักษาคนป่วยและทำให้คนตายฟื้น พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์จากหลุมศพ การเสด็จขึ้นสวรรค์และการเสด็จกลับมาตามสัญญา
นักศาสนศาสตร์ยุคใหม่เหล่านี้เพิกถอนความเป็นพระเจ้าไปจากพระองค์แล้วสงสัยว่าเหตุใดมนุษย์จึงไม่นมัสการพระองค์
นักวิชาการที่ฉลาดเหล่านี้ได้นำอำนาจของความเป็นพระผู้เป็นเจ้าไปจากพระเยซูและเหลือไว้เพียงมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาพยายามปรับให้พระองค์เข้ากับความคิดแคบๆ ของพวกเขา พวกเขาช่วงชิงความเป็นพระบุตรไปจากพระองค์และนำองค์กษัตริย์ที่ชอบธรรมไปจากโลก …
… ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานที่จริงจังของเราว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่คนตาย พระองค์ไม่ได้ไร้ชีวิตอย่างที่คนมอง …
… จำต้องมีบางอย่างมากกว่าความเชื่อที่มีเหตุผล จำต้องมีความเข้าใจในเรื่องพระฐานะอันหาใดเทียบได้และพิเศษเฉพาะของพระองค์ในฐานะพระผู้ไถ่ ความกระตือรือร้นเรื่องพระองค์และข่าวสารของพระองค์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า
ความเข้าใจและความกระตือรือร้นดังกล่าวมีผลต่อทุกคนที่ยอมจ่ายราคา ทั้งหมดนั้นเทียบได้กับการศึกษาขั้นสูง แต่จะไม่เกิดจากการอ่านปรัชญาเท่านั้น ไม่เลย แต่เกิดจากขั้นตอนที่เรียบง่ายกว่านั้น เรื่องของพระผู้เป็นเจ้าเข้าใจได้โดยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า (1 โครินธ์ 2:11) ดังนั้นจงประกาศถ้อยคำแห่งการเปิดเผย
การได้ความเข้าใจและความกระตือรือร้นเรื่องพระเจ้ามาจากการทำตามกฎเกณฑ์ที่เรียบง่าย … ข้าพเจ้าใคร่ขอแนะนำองค์ประกอบพื้นฐานสามประการในแนวคิดเหล่านั้นที่กล่าวซ้ำจนเบื่อหู แต่เป็นหลักพื้นฐานในการประยุกต์ใช้และเกิดผล …
ประการแรกคืออ่าน—อ่านพระวจนะของพระเจ้า … ตัวอย่างเช่น อ่านกิตติคุณของยอห์นตั้งแต่ต้นจนจบ จงให้พระเจ้าตรัสกับท่านด้วยพระองค์เอง และพระวจนะของพระองค์จะมากับความเชื่อมั่นเงียบๆ ที่จะทำให้คำพูดของพวกนักวิจารณ์ไร้ความหมาย จงอ่านพระคัมภีร์มอรมอนพยานหลักฐานของโลกใหม่เช่นกัน ซึ่งพระองค์นำออกมาเพื่อเป็นพยานว่า “พระเยซูคือพระคริสต์, พระผู้เป็นเจ้านิรันดร์, และทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์แก่ประชาชาติทั้งปวง.” (หน้าชื่อเรื่อง พระคัมภีร์มอรมอน)
ต่อไปคือการรับใช้—รับใช้ในงานของพระเจ้า … อุดมการณ์ของพระคริสต์ไม่ต้องการความสงสัยของท่าน แต่ต้องการความเข้มแข็ง เวลา และพรสวรรค์ของท่าน และเมื่อท่านใช้สิ่งเหล่านี้ในการรับใช้ ศรัทธาของท่านจะเพิ่มขึ้นและความสงสัยของท่านจะลดลง …
ประการที่สามคือสวดอ้อนวอน จงพูดกับพระบิดานิรันดร์ของท่านในพระนามของพระบุตรที่รักของพระองค์ “นี่แน่ะ” พระองค์ตรัส “เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขา และจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา” (วิวรณ์ 3:20)
นี่เป็นพระดำรัสเชื้อเชิญของพระองค์ และคำสัญญานั้นแน่นอน ท่านอาจจะไม่ได้ยินเสียงจากสวรรค์ แต่จะมีความเชื่อมั่นอันเปี่ยมด้วยสันติสุขและแน่ชัดส่งมาจากสวรรค์ …
… พยานของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ ประสูติในเนื้อหนัง พระผู้ไถ่ของโลกฟื้นคืนพระชนม์จากหลุมศพ และพระเจ้าผู้จะเสด็จมาปกครองในฐานะกษัตริย์ของกษัตริย์ทั้งหลายจะส่องสว่างผ่านความสับสนของปรัชญาทั้งหมด บทวิจารณ์ขั้นสูง และศาสนศาสตร์เชิงลบ โอกาสของท่านคือรู้ ข้อผูกมัดของท่านคือหาให้พบ8
3
เราต้องถามตนเองอยู่เสมอว่า “เราจะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์”
ข้าพเจ้าถามคำถามที่ปีลาตถามเมื่อสองพันปีก่อนอีกครั้ง “เราจะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์?” (มัทธิว 27:22) โดยแท้แล้ว เราต้องถามตนเองอยู่เสมอว่า เรา จะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์ เราจะทำอย่างไรกับคำสอนของพระองค์ และเราจะทำให้คำสอนเหล่านั้นแยกจากชีวิตเราไม่ออกได้อย่างไร …
… “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ทรงรับบาปของโลกไป” (ยอห์น 1:29) ชีวิตเราจะย่ำแย่เพียงใดหากปราศจากอิทธิพลของคำสอนและแบบอย่างอันหาใดเทียบได้ของพระองค์ บทเรียนเรื่องการหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ การไปกิโลเมตรที่สอง การกลับมาของบุตรเสเพล และคำสอนอันหาใดเทียบได้อีกหลายเรื่องเผยแพร่มาหลายยุคหลายสมัยจนกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดความเมตตากรุณาจนไม่เหลือความไร้มนุษยธรรมต่อผู้คนส่วนใหญ่
ความป่าเถื่อนเข้าครอบงำเมื่อพระคริสต์ถูกเนรเทศ ความกรุณาและความอดกลั้นปกครองเมื่อผู้คนยอมรับพระคริสต์และทำตามคำสอนของพระองค์
แล้วเราจะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์ “มนุษย์เอ๋ย พระองค์ทรงสำแดงแก่เจ้าแล้วว่าอะไรดี? และพระยาห์เวห์ทรงประสงค์อะไรจากเจ้า? นอกจากให้ทำความยุติธรรมและให้รักความเมตตา” (มีคาห์ 6:8)
“ดังนั้น, เรากล่าวแก่เจ้า, ว่าเจ้าควรให้อภัยกัน; เพราะคนที่ไม่ให้อภัยความผิดแก่พี่น้องตนย่อมอยู่ในสภาพที่ถูกกล่าวโทษต่อพระพักตร์พระเจ้า; เพราะบาปที่ร้ายแรงกว่ายังคงอยู่กับเขา.” (คพ. 64:9) …
แล้วเราจะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์ “เพราะว่าเมื่อเราหิว พวกท่านก็จัดหาให้เรากิน เรากระหายน้ำ ท่านก็ให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้าพวกท่านก็ต้อนรับเรา เราเปลือยกายพวกท่านก็ให้เสื้อผ้าเรานุ่งห่ม เมื่อเราเจ็บป่วยท่านก็มาดูแลเรา เมื่อเราอยู่ในคุก พวกท่านก็มาเยี่ยมเรา” (มัทธิว 25:35-36) …
เราจะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์
เรียนจากพระองค์ ค้นคว้าพระคัมภีร์เพราะพระคัมภีร์เป็นพยานถึงพระองค์ ไตร่ตรองปาฏิหาริย์แห่งพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระองค์ เพียรพยายามทำตามแบบอย่างของพระองค์และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์มากขึ้นอีกนิด9
4
เรามองไปที่พระคริสต์เสมือนศิลาแห่งความรอดของเรา ความเข้มแข็งของเรา การปลอบโยนของเรา และศูนย์รวมศรัทธาของเรา
เราหารู้ไม่ว่าอะไรอยู่ข้างหน้าเรา เราหารู้ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เรามีชีวิตอยู่ในโลกของความไม่แน่นอน สำหรับบางคน จะมีความสำเร็จมาก สำหรับหลายคน จะมีความผิดหวัง สำหรับบางคนจะมีความชื่นชมยินดีและปรีดามาก สุขภาพดี และมีชีวิตที่ดีงาม สำหรับหลายคน อาจจะมีความเจ็บป่วยและความเศร้าโศกระดับหนึ่ง เราไม่รู้ แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ เหมือนดาวเหนือในท้องฟ้า ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร พระผู้ไถ่ของโลก พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่เป็นสมอของชีวิตอมตะของเราที่นั่นแน่นอน พระองค์ทรงเป็นศิลาแห่งความรอด ความเข้มแข็ง การปลอบโยน และศูนย์รวมศรัทธาของเรา
ยามแดดจ้าและฟ้ามืดเรามองไปที่พระองค์ พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพื่อให้ความมั่นใจและทรงแย้มสรวลให้เรา10
ฉันรู้ว่าพระผู้ไถ่ทรงพระชนม์
พระผู้ช่วยคนรอด พระบุตรา
พระเจ้าพระผู้นำและราชา
ทรงชนะความตายความปวดร้าว
ศิลาศรัทธาฉันทรงชีวัง
องค์ความหวังแห่งประชาในหล้า
องค์ประทีปสู่ทางที่ดีกว่า
องค์แสงจ้าส่องหลังม่านความตาย
โปรดประทานพระวิญญาณแก่ฉัน
ทั้งสันติที่มาจากพระองค์
และศรัทธาให้เดินทางแคบตรง
ที่นำส่งฉันสู่นิรันดร11
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ทบทวนถ้อยคำประจักษ์พยานของประธานฮิงค์ลีย์ในหัวข้อ 1 และใช้เวลาไตร่ตรองประจักษ์พยานของตัวท่านเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เหตุใดท่านจึงสำนึกคุณต่อการปฏิบัติศาสนกิจและการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เรื่องราวและคำสอนอะไรจากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ
-
ถามคำถามแต่ละข้อในหัวข้อ 2 กับตัวท่าน คำตอบของท่านมีผลอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตของท่านในแต่ละวัน ในหัวข้อเดียวกัน ให้ทบทวน “กฎเกณฑ์ที่เรียบง่าย” สามประการของประธานฮิงค์ลีย์เพื่อให้ได้ความเข้าใจใน “เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า” หลักธรรมเหล่านี้ช่วยให้ท่านมีความเข้าใจทางวิญญาณลึกซึ้งขึ้นอย่างไร
-
ประธานฮิงค์ลีย์ถามย้ำว่า “เราจะทำอย่างไรกับพระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์” (หัวข้อ 3) เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระดำรัสตอบของพระองค์ พิจารณาว่าท่านจะตอบคำถามนี้อย่างไร ชีวิตท่านจะต่างไปอย่างไรถ้าท่านไม่รู้จักคำสอนและแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ประธานฮิงค์ลีย์เน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นสมอให้เรายึดเหนี่ยวในโลกของความไม่แน่นอน (ดู หัวข้อ 4) ท่านรู้สึกถึงความเข้มแข็งและการปลอบโยนของพระผู้ช่วยให้รอดยามท่านเดือดเนื้อร้อนใจเมื่อใด ไตร่ตรองเพลงสวดแต่ละบรรทัดของประธานฮิงค์ลีย์ในหัวข้อ 4 พระคริสต์ทรงเป็น “องค์ความหวัง” ในด้านใด พระองค์ทรงเป็น “องค์ประทีปสู่ทางที่ดีกว่า” อย่างไร
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
ลูกา 24:36–39; ยอห์น 1:1–14; กิจการของอัครทูต 4:10–12; 2 นีไฟ 2:8; 25:26; แอลมา 5:48; คพ. 110:3–4
ความช่วยเหลือด้านการศึกษา
“วางแผนกิจกรรมการศึกษาซึ่งจะสร้างศรัทธาของท่านในพระผู้ช่วยให้รอด” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา [2004], 22) ตัวอย่างเช่น ขณะที่ท่านศึกษาท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้ คำสอนเหล่านี้จะช่วยฉันเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร คำสอนเหล่านี้จะช่วยให้ฉันเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร