ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 วิสุทธิชนยุคสุดท้ายประมาณ 6,700 คนมาชุมนุมกันที่อินดิเพนเดนซ์สแควร์ในเมืองอักกรา ประเทศกานา พวกเขามาต้อนรับประธานกอร์ดอน บี.ฮิงค์ลีย์ศาสดาพยากรณ์ของพวกเขา1 ท่านยืนต่อหน้าพวกเขา มีรอยยิ้มบนใบหน้า และประกาศข่าวที่รอคอยมานานว่าจะสร้างพระวิหารในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่าเมื่อประธานฮิงค์ลีย์ประกาศเรื่องนี้ ผู้คน “ยืนเปล่งเสียงไชโย หลั่งน้ำตา เต้นระบำ จับมือกัน และร้องไห้”2 หลายปีต่อมา หลังจากสร้างและอุทิศพระวิหารแล้ว สตรีผู้หนึ่งที่อยู่ในวันนั้นจำความรู้สึกปีติได้และบอกว่าพระวิหารเป็นพรแก่เธออย่างไร
“ดิฉันยังคงมีภาพชัดเจนในความคิดเมื่อครั้งประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์มาเยือนกานาและประกาศสร้างพระวิหารในแผ่นดินเกิดของเรา ความตื่นเต้นทางสีหน้าของทุกคน ความสุข เสียงโห่ร้องยินดียังคงชัดเจนในความคิดของดิฉัน …
“วันนี้ เพราะพระวิหารในแผ่นดินของเรา ดิฉันจึงแต่งงานและรับการผนึกกับสามีเพื่อกาลเวลาและชั่วนิจนิรันดร พรของการอยู่กับครอบครัวหลังความเป็นมรรตัยให้ความหวังอันยิ่งใหญ่ขณะที่ดิฉันพยายามทำสุดความสามารถเพื่อจะได้อยู่กับครอบครัวชั่วนิรันดร์”3
ประธานฮิงค์ลีย์ช่วยให้คนทั่วโลกพบ “ความหวังอันยิ่งใหญ่” นี้ในการพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เหตุการณ์ในกานาแสดงให้เห็นว่าท่านมักจะปฎิบัติศาสนกิจต่อคนหลายพันคนในเวลาเดียวกัน ท่านเอื้อมไปหาพวกเขาทีละคนเช่นกัน เอ็ลเดอร์แอดนีย์ วาย. โคมัตสุแห่งสาวกเจ็ดสิบพูดถึงความรู้สึกของเขาสมัยเป็นประธานคณะเผยแผ่เมื่อประธานฮิงค์ลีย์ไปเยี่ยมคณะเผยแผ่ของเขาว่า
“ท่านไม่เคยวิจารณ์ข้าพเจ้าแม้แต่ครั้งเดียวในช่วงสามปีของข้าพเจ้า ทั้งที่ข้าพเจ้ามีความอ่อนแอสารพัด … และนั่นทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจ … ทุกครั้งที่ท่านลงจากเครื่องบินท่านจะจับมือข้าพเจ้าเหมือนท่านกำลังสูบน้ำออกจากบ่อด้วยความกระตือรือร้นมาก ‘ประธานโคมัตสุครับ คุณเป็นอย่างไรบ้าง … คุณทำงานได้ดีมากครับ’ ท่านให้กำลังใจข้าพเจ้าเช่นนั้น … และเมื่อท่านจากไปท่านทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าควรให้ 105 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ 100 เปอร์เซ็นต์”4
ผู้คนรู้สึกได้รับกำลังใจจากประธานฮิงค์ลีย์ไม่เพียงเพราะคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจของท่านเท่านั้นแต่เพราะวิธีที่ท่านดำเนินชีวิตด้วย ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าว่า
“ขณะ [ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์] ออกจากโบสถ์ไปสนามบินในอเมริกากลาง รถที่ท่านนั่งประสบอุบัติเหตุ ซิสเตอร์เนลสันกับข้าพเจ้าเดินทางตามหลังพวกท่านและเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รถบรรทุก [ที่] ขนท่อนเหล็กมาเต็มคันรถแต่ไม่ผูกให้ดีวิ่งเข้าหาพวกท่านตรงทางแยก เพื่อไม่ให้ชนประสานงา คนขับรถบรรทุกจึงหยุดรถทันที ส่งผลให้ท่อนเหล็กเหล่านั้นพุ่งใส่รถของฮิงค์ลีย์เหมือนหอกซัด กระจกหน้าต่างแตก บังโคลนรถกับประตูเป็นรอยบุบ อาจเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก ขณะเอาเศษกระจกที่แตกละเอียดออกจากเสื้อผ้าและเนื้อตัวของพวกท่าน ประธานฮิงค์ลีย์พูดว่า ‘ขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับพรของพระองค์ ตอนนี้เราไปขึ้นรถอีกคันเพื่อเดินทางต่อกันเถอะ’”5
ข้อความนี้ที่พูดขึ้นมาทันทีในช่วงวิกฤติแสดงให้เห็นถึงชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของประธานฮิงค์ลีย์ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าน “เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและในอนาคตเสมอ”6
มรดกครอบครัว-รากฐานของศรัทธาและความวิริยะอุตสาหะ
กอร์ดอน บิทเนอร์ ฮิงค์ลีย์เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ท่านเป็นลูกคนแรกของมารดาท่าน แต่พี่ๆ แปดคนยินดีต้อนรับท่านเข้ามาในครอบครัว ไบร์อันท์ สตริงแฮม ฮิงค์ลีย์ บิดาของกอร์ดอนแต่งงานกับเอดา บิทเนอร์ หลังจากคริสตีนภรรยาคนแรกของเขาสิ้นชีวิต เอดากับไบรอันท์มีลูกอีกสี่คนต่อจากกอร์ดอนพวกเขาเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ด้วยความรัก-โดยไม่มีการแบ่งลูกเขาและลูกเรา กอร์ดอนเรียนรู้คุณค่าของครอบครัวตั้งแต่ท่านอายุยังน้อยมาก
นามสกุลและชื่อกลางของกอร์ดอนเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงมรดกอันสูงค่าของท่าน บรรพชนฮิงค์ลีย์รวมไปถึงนักแสวงบุญยุคแรกในแผ่นดินที่จะกลายเป็นสหรัฐอเมริกา บางคนถูกเนรเทศไปแผ่นดินนั้นในทศวรรษ 1600 เพราะความเชื่อในคริสต์ศาสนาของพวกเขา หลายคนเคยเป็นผู้โดยสารในปี ค.ศ. 1620 บนเรือ Mayflower หนึ่งในเรือชุดแรกที่ขนผู้อพยพจากยุโรปไปอเมริกาเหนือ กว่าสองศตวรรษต่อมา ไอรา นาธาเนียล ฮิงค์ลีย์คุณปู่ของกอร์ดอนเป็นผู้บุกเบิกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นแรกๆ คนหนึ่ง ในปี 1843 ไอราเด็กกำพร้าวัย 14 ปีเข้าร่วมศาสนจักรในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์หลังจากได้ยินโจเซฟกับไฮรัม สมิธสั่งสอน แอนนา บาร์ มัสเซอร์ บิทเนอร์ สตาร์คุณยายทวดของกอร์-ดอนเป็นผู้บุกเบิกเช่นกัน ต่อมาเบรเนแมน บาร์ บิทเนอร์บุตรชายของเธอ ซึ่งเป็นคุณตาของกอร์ดอนพูดถึงการเดินทางไปหุบเขาซอลท์เลคในปี 1849 ว่า “ผม [อายุ 11 ขวบ] ขับรถเทียมวัวสองตัวที่บรรทุกของหนักฝ่าร้อนหนาวข้ามทะเลทราย แม่น้ำ และเทือกเขามาหุบเขาแห่งนี้”7
ไบรอันท์ ฮิงค์ลีย์มักจะเตือนลูกหลานของเขาให้นึกถึงมรดกอันล้ำค่าของตน เมื่อพูดถึงการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายของนักแสวงบุญบนเรือ Mayflower และฤดูหนาวที่หนาวเหน็บยาวนานเมื่อพวกเขามาถึงจุดหมาย เขากล่าวดังนี้ “เมื่อ Mayflower พร้อมจะกลับในฤดูใบไม้ผลิ มีเพียง 49 คน [จาก 102 คน] รอดชีวิต ไม่มีใครกลับ [ไปอังกฤษ] ความตั้งใจเช่นนี้เกิดมาพร้อมสหายอย่างพวกท่าน—ความตั้งใจว่าจะไม่มีวันหวนกลับ”8 เมื่อกอร์ดอนยึดมั่นหลักธรรมนี้ ท่านได้มีโอกาสเรียนรู้ รับใช้ และเป็นพยานอย่างที่ท่านไม่นึกไม่ฝันมาก่อน
วัยเด็ก—เรียนรู้การเป็นคนมองโลกในแง่ดี ขยันหมั่นเพียร และเปี่ยมด้วยศรัทธา
สมัยเด็ก กอร์ดอน ฮิงค์ลีย์ไม่ใช่คนแข็งแรงมีกำลังวังชาอย่างที่รู้ในระยะหลัง ท่านเป็น “เด็กผอมสูงอ่อนแอ” ขี้โรค9 เมื่อกอร์ดอนวัยสองขวบ “ติดโรคไอกรนขั้นรุนแรง … แพทย์บอกอดาว่าวิธีรักษามีอยู่วิธีเดียวคืออากาศปลอดโปร่งแบบชนบท ไบรอันทำตามโดยซื้อฟาร์มห้าเอเคอร์ … และสร้างบ้านฤดูร้อนหลังเล็ก”10 ฟาร์มดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตหุบเขาซอลท์เลคเรียกว่าอีสต์มิลล์ครีก เป็นพรแก่ทุกคนในครอบครัว ทำให้เด็กๆ มีที่วิ่งเล่นและเรียนรู้บทเรียนอันล้ำค่าขณะพวกเขาทำงานด้วยกัน
เอดากับไบรอันท์ ฮิงค์ลีย์เป็นพ่อแม่ที่ขยันขันแข็งและมองโลกในแง่ดีผู้สร้างโอกาสให้ลูกๆ ได้เติบโตและประสบความสำเร็จ พวกท่านจัดสังสรรค์ในครอบครัวทันทีที่แนะนำโปรแกรมนี้ในปี 1915 พวกท่านเล่านิทานก่อนนอนซึ่งบ่อยครั้งมาจากพระคัมภีร์ พวกท่านจัดห้องหนึ่งในบ้านเป็นห้องสมุดให้ลูกๆ ได้อ่านหนังสือดีๆ พวกท่านสร้างวินัยให้ลูกๆ โดยให้กำลังใจและคาดหวังให้พวกเขาทำให้ดีที่สุด
ขณะที่กอร์ดอนเติบใหญ่ ศรัทธาของท่านเพิ่มขึ้นเพราะอิทธิพลของศรัทธาที่บิดามารดามีมาไม่ขาดสาย วันหนึ่ง ท่านมีประสบการณ์ที่ช่วยก่อรากฐานของประจักษ์พยานที่ท่านมีเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
“เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กอายุสิบสองขวบ คณพ่อพาข้าพเจ้าไปการประชุมของฐานะปุโรหิตในสเตคที่เราอยู่ ข้าพเจ้านั่งแถวหลังขณะท่านนั่งบนยกพื้นในฐานะประธานสเตค ขณะเปิดการประชุมที่ข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมแบบนั้นครั้งแรก ชายสามถึงสี่ร้อยคนลุกขึ้นยืน พวกเขาเป็นชายที่มีพื้นเพต่างกันและอาชีพหลากหลาย แต่ทุกคนมีความเชื่อมั่นในใจแบบเดียวกัน และพร้อมใจกันร้องเพลงที่มีเนื้อร้องดีมากดังนี้
สรรเสริญบุรุษผู้ติดต่อพระเยโฮวาห์
พระเยซูเจิมศาสดาพยากรณ์
รับพรได้เปิดสมัยการประทานสุดท้าย
กษัตริย์ถวายเกียรติท่านชนชาติวันทา
“มีบางอย่างเกิดขึ้นในใจข้าพเจ้าขณะฟังบุรุษผู้มีศรัทธาเหล่านี้ร้องเพลง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใส่ความรู้เข้ามาในใจวัยเด็กของข้าพเจ้าว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้ทรงฤทธานุภาพอย่างแท้จริง”11
การศึกษาต่อเนื่องและช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ในวัยเด็กของกอร์ดอน ท่านไม่ชอบไปโรงเรียน แต่ชอบอยู่นอกบ้านมากกว่าอยู่ในผนังห้องเรียนและโต๊ะเรียน แต่เมื่อท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านเริ่มเห็นคุณค่าของหนังสือ โรงเรียน และห้องสมุดที่บ้านมากเท่าๆ กับท้องทุ่งที่ท่านเคยวิ่งเท้าเปล่าสมัยเด็ก ท่านเรียนจบมัธยมปลายในปี 1928 และเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ปีเดียวกัน
สี่ปีที่มหาวิทยาลัยมีปัญหาท้าทายที่แทบจะรับไม่ไหว คริสต์ศักราช 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐล่ม และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วประเทศและทั่วโลก จำนวนคนว่างงานมีประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ในซอลท์เลคซิตี้ แต่กอร์ดอนโชคดีได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงมีเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน ไบรอันท์ซึ่งทำงานเป็นผู้จัดการที่เดเซเร็ทยิมของศาสนจักรลดเงินเดือนของท่านเพื่อลูกจ้างคนอื่นๆ จะยังทำงานของพวกเขาได้12
ที่สาหัสกว่าภาวะกดดันด้านการเงินคือการค้นพบว่าคุณแม่ของกอร์ดอนเป็นมะเร็ง เธอสิ้นชีวิตในปี 1930 เมื่ออายุ 50 ปี ขณะกอร์ดอนอายุ 20 ปี บาดแผลที่มากับการสิ้นชีวิตของมารดา “ลึกและเจ็บปวด” กอร์ดอนกล่าว13 การทดลองส่วนตัวครั้งนี้ ผสมผสานกับอิทธิพลของปรัชญาทางโลกและการเยาะเย้ยถากถางในสมัยนั้นทำให้ท่านเกิดคำถามที่ตอบยาก “นั่นเป็นเวลาของความท้อแท้อย่างยิ่ง” กอร์ดอนเล่า “และความรู้สึกนั้นแรงกล้ามากที่โรงเรียน ตัวข้าพเจ้ารู้สึกท้อบ้าง ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถามบางอย่าง รวมทั้งเรื่องศรัทธาของคุณพ่อคุณแม่ข้าพเจ้าในระดับหนึ่งด้วย นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่บรรยากาศเวลานั้นสาหัสนัก”14
ความสงสัยที่เกิดขึ้นแม้จะรบกวนจิตใจแต่ไม่ได้ทำให้กอร์ดอนหวั่นไหวในศรัทธา “ข้าพเจ้ามีรากฐานของความรักที่มาจากบิดามารดาผู้ประเสริฐและครอบครัวที่ดี อธิการที่ยอดเยี่ยม ครูที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและทุ่มเท มีพระคัมภีร์ให้อ่านและไตร่ตรอง” ท่านหวนคิด เมื่อพูดถึงความท้าทายในเวลานั้นสำหรับท่านและคนวัยเดียวกัน ท่านกล่าวว่า “แม้เราไม่เข้าใจหลายเรื่องในวัยเยาว์ แต่ในใจเรามีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและงานอันสำคัญยิ่งของพระองค์ที่พาเราให้อยู่เหนือความสงสัยและความกลัว เรารักพระเจ้า เรารักเพื่อนๆ ที่ดีและน่าเคารพนับถือ เราดึงพลังมากมายมาจากความรักเช่นนั้น”15
การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส
กอร์ดอนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ในเดือนมิถุนายน ปี 1932 โดยเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอกและภาษาโบราณเป็นวิชาโท ปีต่อมาท่านพบตนเองอยู่ตรงทางแยก ท่านตั้งใจว่าจะศึกษาต่อเพื่อเป็นนักหนังสือพิมพ์ แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ท่านเก็บเล็กผสมน้อยจนมีเงินออมมากพอจะช่วยเรื่องการศึกษาของท่าน ท่านกำลังคิดเรื่องแต่งงานเช่นกัน ท่านกับมาร์จอรี เพย์ หญิงสาวที่อยู่ถนนฝั่งตรงข้ามชอบพอกันมากขึ้น
ต่อจากนั้น ก่อนวันคล้ายวันเกิดปีที่ 23 ของท่าน กอร์ดอนพบกับจอห์น ซี. ดันแคนอธิการของท่าน เขาถามว่าท่านเคยคิดเรื่องรับใช้งานเผยแผ่หรือไม่ นี่เป็น “คำแนะนำที่น่าตกใจ” สำหรับกอร์ดอน16 เพราะมีชายหนุ่มไม่กี่คนได้รับเรียกให้เป็นผู้สอนศาสนาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพียงเพราะว่าครอบครัวไม่มีเงินสนับสนุนพวกเขา
กอร์ดอนบอกอธิการดันแคนว่าท่านจะรับใช้ แต่เป็นห่วงว่าครอบครัวท่านจะบริหารการเงินอย่างไร ความกังวลของท่านเพิ่มขึ้นเมื่อทราบว่าธนาคารที่มีบัญชีออมทรัพย์ของท่านล้ม “กระนั้นก็ตาม” ท่านกล่าว “ข้าพเจ้ายังจำที่คุณพ่อพูดได้ ‘เราจะทำสุดความสามารถเพื่อให้แน่ใจว่าลูกมีสิ่งที่ลูกจำเป็นต้องใช้’ และท่านกับพี่ชายข้าพเจ้ารับปากว่าจะดูแลข้าพเจ้าจนจบงานเผยแผ่ เวลานั้นเองที่เราค้นพบเงินออมเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณแม่ทิ้งไว้—เงินทอนที่เก็บจากการซื้อของชำและของอื่น ๆ ด้วยความช่วยเหลือเพิ่มอีกนิดหน่อย ปรากฏว่าข้าพเจ้าสามารถไปเป็นผู้สอนศาสนาได้ ท่านถือว่าเงินเหรียญของคุณแม่เป็นเงินศักดิ์สิทธิ์ “ข้าพเจ้าพิทักษ์เงินเหล่านั้นด้วยเกียรติของข้าพเจ้า” ท่านกล่าว17 ท่านได้รับเรียกให้รับใช้ในคณะเผยแผ่ยูโรเปียน
โดยรู้สึกว่าบุตรชายยังรู้สึกกังวลใจ ไบรอันท์ ฮิงค์ลีย์จึงเตรียมบางอย่างเพื่อเตือนสติเขาให้นึกถึงแหล่งพลังที่แท้จริง “เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นผู้สอนศาสนา” กอร์ดอนกล่าวในเวลาต่อมา “คุณพ่อที่แสนดียื่นการ์ดใบหนึ่งซึ่งมีข้อความเขียนไว้ในนั้นให้ข้าพเจ้า ‘อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น’ (มาระโก 5:36)”18 ข้อความนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์รับใช้งานเผยแผ่อย่างซื่อสัตย์และสมเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับข้อความจากปากกาของบิดาท่านในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา
ข้อความนั้นมาถึงท่านขณะที่ท่านเกิดความท้อใจแสนสาหัส ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1933 วันแรกของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ในเมืองเพรสตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อมาถึงอพาร์ตเมนต์ คู่ของท่านบอกว่าพวกท่านจะพูดที่จัตุรัสกลางเมืองเย็นนั้น “คุณชวนผิดคนแล้ว” เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ตอบ แต่สุดท้ายก็พบตนเองกำลังร้องเพลงและพูดบนยกพื้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ฟังที่ไม่ให้ความร่วมมือ19
เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ค้นพบว่าคนจำนวนมากไม่เต็มใจฟังข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ความยากจนอันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกดูเหมือนจะแทงทะลุจิตวิญญาณของคนที่ท่านพบเจอบนท้องถนน และท่านไม่มีเหตุให้ต้องเข้าไปสนิทชิดเชื้อกับพวกเขา นอกจากนี้ท่านยังรู้สึกไม่สบายกายด้วย ท่านจำได้ว่า “ในอังกฤษหญ้าส่งละอองเกสรและกลายเป็นเมล็ดปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้ามาถึงพอดี”20 นี่ทำให้อาการภูมิแพ้ของข้าพเจ้ากำเริบ ซึ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง ท่านคิดถึงครอบครัวของท่าน ท่านคิดถึงมาร์จอรี ท่านคิดถึงความคุ้นเคยกับประเทศของท่าน งานทำให้ท้อแท้ ท่านกับเพื่อนผู้สอนศาสนามีโอกาสสอนผู้สนใจน้อยมาก แต่ก็สอนและพูดในสาขาเล็กๆ ทุกวันอาทิตย์
ความรู้สึกว่าท่านกำลังเสียเวลาและทำให้ครอบครัวเสียเงินโดยใช่เหตุ เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์จึงเขียนจดหมายถึงบิดาอธิบายสถานการณ์ที่ท่านไม่มีความสุขให้ฟัง ไบรอัน ฮิงค์ลีย์ตอบโดยให้คำแนะนำที่บุตรชายทำตามชั่วชีวิต “กอร์ดอนลูกรัก” เขาเขียน “พ่อได้รับจดหมายฉบับล่าสุดของลูกแล้ว พ่อมีคำแนะนำอย่างเดียว” และคำแนะนำนั้นได้เพิ่มน้ำหนักให้กับข้อความที่ท่านเขียนไว้ก่อนหน้านี้ “ลืมตนเองและไปทำงาน”21 คำแนะนำดังกล่าวสะท้อนพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์อ่านกับคู่ในช่วงเช้าวันนั้น “เพราะว่าใครต้องการจะเอาชีวิตรอด คนนั้นจะเสียชีวิต แต่ใครยอมเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เราและข่าวประเสริฐ คนนั้นจะได้ชีวิตรอด” (มาระโก 8:35)
เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์วัยหนุ่มถือจดหมายของบิดา ท่านคุกเข่าและปฏิญาณว่าท่านจะถวายตนแด่พระเจ้า ผลเกิดขึ้นแทบจะทันที “ทั้งโลกเปลี่ยนไป” ท่านกล่าว “หมอกหายไป ดวงตะวันเริ่มส่องแสงในชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความสนใจใหม่ ข้าพเจ้าเห็นความสวยงามของแผ่นดินนี้ ข้าพเจ้าเห็นความยิ่งใหญ่ของผู้คน ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกเหมือนอยู่บ้านในดินแดนอันแสนวิเศษนี้”22
เมื่อนึกถึงวันเวลาเหล่านั้น กอร์ดอนอธิบายว่าท่านได้รับความช่วยเหลือจากมารดาท่านเช่นกัน ท่านรู้สึกเหมือนเธออยู่ปลอบโยนท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาท้อแท้และมืดมน “ต่อจากนั้นและนับแต่นั้นข้าพเจ้าพยายามดำเนินชีวิตและปฎิบัติหน้าที่เพื่อนำเกียรติยศชื่อเสียงมาให้คุณแม่” ท่านกล่าว “ความคิดที่ว่าจะดำเนินชีวิตต่ำกว่าความคาดหวังของมารดาข้าพเจ้านั้นช่างแสนเจ็บปวดและต้องใช้วินัยที่ข้าพเจ้าอาจจะยังขาดอยู่”23
ท่านกลายเป็นผู้สอนศาสนาที่มีจุดประสงค์และความกระตือรือร้น บันทึกจากงานเผยแผ่ของท่านช่วงแปดเดือนแรกแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ท่านไม่ได้ให้บัพติศมาใครเลย แต่ท่านแจกจุลสาร 8,785 ฉบับ ใช้เวลากับสมาชิกมากกว่า 440 ชั่วโมง เข้าร่วมการประชุม 191 แห่ง มีการสนทนาพระกิตติคุณ 220 ครั้งและยืนยันหนึ่งคน24
ในเดือนมีนาคม ปี 1934 เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ถูกย้ายจากเพรสตันไปลอนดอนเพื่อทำงานเป็นผู้ช่วยของเอ็ลเดอร์โจเซฟ เอฟ. เมอร์ริลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองผู้เป็นประธานดูแลคณะเผยแผ่บริติชและยูโรเปียน25 ท่านใช้ช่วงงานเผยแผ่ที่เหลือทำงานในสำนักงานช่วงกลางวันและสอนพระกิตติคุณในช่วงเย็น บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสมีไม่มาก แต่ในใจบุตรชายของไบรอันกับเอดา ฮิงค์ลีย์นั้น ประกายของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสกลายเป็นเปลวเพลิงที่ไม่รู้ดับ
โอกาสใหม่ให้รับใช้พระเจ้า
เมื่อกอร์ดอนกลับจากงานเผยแผ่ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากเดินทางอีกเลย ข้าพเจ้าได้เดินทางไกลเท่าที่อยากเดินทางแล้ว”26 ท่านกับคู่ผู้สอนศาสนาสองคนทัวร์ยุโรปและสหรัฐระหว่างทางกลับบ้านซึ่งเป็นการปฏิบัติทั่วไปในสมัยนั้น และท่านเหนื่อย เมื่อครอบครัวท่านไปพักผ่อนในวันหยุดหลังจากท่านกลับมาไม่นาน ท่านอยู่บ้าน แม้จะหมดแรง แต่ท่านมีความพอใจอยู่บ้างเมื่อใคร่ครวญการเดินทางของท่าน ท่านรู้สึกว่าท่านได้เห็นสัมฤทธิผลของปิตุพรส่วนหนึ่งของท่าน หลายปีต่อมาท่านกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าได้รับปิตุพรเมื่อยังเด็ก ในพรนั้นกล่าวว่าข้าพเจ้าจะเปล่งเสียงแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงในประเทศต่างๆ ของแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าได้ทำงานในลอนดอนนานมาก และแสดงประจักษ์พยานที่นั่นหลายครั้ง เรา [ไปอัมสเตอร์ดัม] ข้าพเจ้ามีโอกาสพูดสั้นๆ ในการประชุมและแสดงประจักษ์พยาน จากนั้นเราไปเบอร์ลิน ที่นั่นข้าพเจ้ามีโอกาสคล้ายกัน จากนั้นเราไปปารีส ที่นั่นข้าพเจ้ามีโอกาสคล้ายกัน จากนั้นเราไปสหรัฐ ไปวอชิงตัน ดี.ซี. และในวันอาทิตย์วันหนึ่งเรามีโอกาสคล้ายกันที่นั่น เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้าน ข้าพเจ้าเหนื่อย … ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘… ข้าพเจ้าทำปิตุพรส่วน [นั้น] สำเร็จ ข้าพเจ้าได้เปล่งเสียงในเมืองหลวงของโลก …’ และข้าพเจ้ารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ”27
ก่อนกอร์ดอนจะถือว่าพันธกิจของท่านลุล่วง ท่านต้องทำงานมอบหมายอีกอย่างให้สำเร็จ เอ็ลเดอร์โจเซฟ เอฟ. เมอร์ริลล์ขอให้ท่านนัดหมายกับฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรเพื่อรายงานสิ่งที่ต้องทำในคณะเผยแผ่บริติชและยูโรเปียน เช้าวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1935 หลังจากกลับบ้านไม่ถึงเดือน มีคนนำกอร์ดอนเข้าไปในห้องสภาที่อาคารบริหารงานศาสนจักร ขณะจับมือทักทายสมาชิกแต่ละท่านในฝ่ายประธานสูงสุด—ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์ และประธานเดวิด โอ. แมคเคย์—ท่านรู้สึกหนักใจทันทีกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ประธานแกรนท์กล่าวว่า “บราเดอร์ฮิงค์ลีย์ เราจะให้เวลาคุณสิบห้านาทีบอกเราว่าเอ็ลเดอร์เมอร์ริลล์ต้องการให้เรารับฟังเรื่องอะไร”28
สิบห้านาทีต่อจากนั้น ผู้สอนศาสนาที่เพิ่งกลับมานำเสนอข้อกังวลของเอ็ลเดอร์เมอร์ริลล์—ว่าผู้สอนศาสนาต้องมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดีกว่านี้ไว้ในงานของพวกเขา ประธานแกรนท์กับที่ปรึกษาของท่านรับฟังและถามหลายคำถาม การประชุมยืดเวลาจากที่วางแผนไว้ออกไปอีกหนึ่งชั่วโมง
ระหว่างกลับจากการประชุม กอร์ดอนไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า 75 นาทีนั้นจะมีผลต่อชีวิตท่านอย่างไร สองวันต่อมาท่านได้รับโทรศัพท์จากประธานแมคเคย์ผู้เสนองานให้ท่านเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการวิทยุ โฆษณา และข้อมูลข่าวสารงานเผยแผ่ของศาสนจักรที่เพิ่งจัดตั้ง คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองหกคน จะทำงานสนองความต้องการที่กอร์ดอนสรุปไว้ในการประชุมของท่านกับฝ่ายประธานสูงสุด29
กอร์ดอนต้องเลื่อนแผนการเรียนมหาวิทยาลัยและอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ออกไปอีกครั้ง ท่านไปทำงานเขียนบทให้รายการวิทยุและฟิล์มภาพยนตร์ เขียนจุลสารให้ผู้สอนศาสนา พัฒนาความสัมพันธ์ด้านอาชีพกับผู้บุกเบิกด้านสื่อ อีกทั้งทำการค้นคว้าและเขียนประวัติศาสนจักรด้วย ท่านเขียนข้อความที่ออกแบบไว้สร้างศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรและเชื่อมโยงกับคนนอกศาสนจักร เพื่อนคนหนึ่งเคยส่งจดหมายมาชมท่านเรื่องบทวิทยุและถามว่าท่านพัฒนาของประทานในการเขียนและพูดเช่นนั้นอย่างไร กอร์ดอนตอบว่า
“ถ้าผมมีพรสวรรค์ด้านการพูดหรือการเขียน ผมสำนึกคุณพระบิดาในสวรรค์ของผมอย่างยิ่ง ผมไม่คิดว่าผมมีความสามารถนี้แต่กำเนิด ถ้าจะพูดให้ถูกคือ พลังความสามารถใดก็ตามที่ผมมีมาจากโอกาสที่เปิดให้ผม”30
งานของกอร์ดอนกับคณะกรรมการขัดเกลาทักษะการเป็นนักเขียนของท่าน อีกทั้งมอบโอกาสที่มีค่าให้ท่านได้เรียนรู้จากอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ เมื่อกอร์ดอนเห็นสมาชิกอัครสาวกสิบสองหกท่านพินิจพิเคราะห์การตัดสินใจและสอนกัน ทำให้ท่านเข้าใจมากขึ้นถึงการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของบุรุษที่ต่างกันเหล่านี้และขั้นตอนการเปิดเผยที่เกิดขึ้นเมื่อพวกท่านหารือกัน
เอ็ลเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์ผู้รับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดในเวลาต่อมาได้เป็นประธานคณะกรรมการ กอร์ดอนอธิบายว่าเขาเป็น “คนช่างคิด สุขุม รอบคอบ และฉลาด เขาไม่ผลีผลามแต่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนลงมือทำ ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าจะดีที่สุดถ้าท่านลงมือทำงานนี้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอะไรย่อมมีผลกระทบยาวไกลต่อชีวิตคนมากมาย”31
สมาชิกคณะกรรมการอีกห้าท่านคือเอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ด เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ เอ็ลเดอร์ชาร์ลส์ เอ. คอลลิส เอ็ลเดอร์อลอนโซ เอ. ฮิงค์ลีย์ (ลุงของกอร์ดอน) และเอ็ลเดอร์อัลเบิร์ต อี. โบเว็น เกี่ยวกับคนเหล่านี้ กอร์ดอนกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเข้ากันได้ดีกับบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ซึ่งมีน้ำใจต่อข้าพเจ้ามาก แต่ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าพวกท่านเป็นมนุษย์ พวกท่านมีความอ่อนแอและปัญหา แต่นั่นไม่ทำให้ข้าพเจ้ากังวลใจ ข้าพเจ้านับถือพวกท่านมากขึ้นเพราะข้าพเจ้ามองเห็นองค์ประกอบของความเป็นพระเจ้าเหนือความเป็นมนุษย์ของพวกท่าน หรืออย่างน้อยที่สุดก็มองเห็นองค์ประกอบของการอุทิศถวายเพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกท่าน ข้าพเจ้าเห็นการดลใจที่เกิดผลในชีวิตพวกท่าน ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัยเกี่ยวกับการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ของพวกท่านหรือข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าตรัสและทรงดำเนินงานผ่านพวกท่าน ข้าพเจ้าเห็นด้านมนุษย์ ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ของพวกท่าน—และพวกท่านทั้งหมดมีไม่มาก แต่ข้าพเจ้ามองเห็นพลังมหาศาลของศรัทธาและความรักที่พวกท่านมีต่อพระเจ้า ความภักดีโดยสมบูรณ์ต่องานและต่อความไว้วางใจที่มอบให้พวกท่าน”32
การแต่งงาน ครอบครัว และการรับใช้ศาสนจักร
แน่นอนว่ากอร์ดอนไม่คิดเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น การผูกสมัครรักใคร่กับมาร์จอรี เพย์ดำเนินต่อเนื่องเมื่อท่านกลับจากอังกฤษ การจากไปของท่านเป็นเรื่องยากสำหรับมาร์จอรีและสำหรับท่านด้วย “ดิฉันกังวลมากเมื่อท่านรับใช้งานเผยแผ่” มาร์จอรีกล่าวในเวลาต่อมา “ดิฉันจะไม่มีวันลืมความว่างเปล่าและความเหงาที่ดิฉันรู้สึกเมื่อรถไฟขบวนนั้นเคลื่อนออกจากสถานี”33
ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1929 สี่ปีก่อนกอร์ดอนไปอังกฤษ มาร์จอรีลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์แล้วจึงพบว่าบิดาของเธอตกงานเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เธอหยุดเรียนทันทีและได้งานเป็นเลขานุการช่วยจุนเจือพ่อแม่กับน้องอีกห้าคน—เธอยังคงทำงานนั้นหลังกอร์ดอนกลับจากงานเผยแผ่ของเขาในปี 1935 เธอไม่มีโอกาสศึกษาในระบบ แต่ตั้งใจว่าจะเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ เธอจึงหาความรู้ให้ตนเองโดยการอ่าน
นิสัยร่าเริงของมาร์จอรี จรรยาบรรณในการทำงาน ความมุ่งมั่นลึกซึ้งต่อพระกิตติคุณทำให้กอร์ดอนรักเธอ สำหรับมาร์จอรีเธอประทับใจความดีงามและศรัทธาของท่าน “เมื่อเราใกล้จะแต่งงานกัน” เธอกล่าว “ดิฉันรู้สึกมั่นใจเต็มที่ว่ากอร์ดอนรักดิฉัน แต่ดิฉันรู้เช่นกันว่าสำหรับเขาแล้วดิฉันจะไม่มาเป็นอันดับแรก ดิฉันรู้ว่าดิฉันจะเป็นอันดับสองในชีวิตเขาและพระเจ้าจะเป็นอันดับหนึ่ง และนั่นไม่เป็นไร” เธอกล่าวต่อไปว่า “สำหรับดิฉันดูเหมือนว่าถ้าคุณเข้าใจพระกิตติคุณและจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ที่นี่ คุณจะอยากให้สามีให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรก ดิฉันรู้สึกสบายใจที่รู้ว่าเขาเป็นคนแบบนั้น”34
กอร์ดอนกับมาร์จอรีแต่งงานกันในพระวิหารซอลท์เลคเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1937 จากนั้นจึงย้ายไปอยู่บ้านฤดูร้อนของตระกูลฮิงค์ลีย์ในอิสต์มิลล์ครีก พวกท่านตั้งเตาเผา ปรับปรุงสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตตลอดปี ดูแลสวนผักสวนผลไม้ และเริ่มสร้างบ้านของตนเองบนที่ดินละแวกนั้น ด้วยเหตุนี้แถบชนบทที่กอร์ดอนชอบในช่วงฤดูร้อนวัยเด็กจึงกลายเป็นที่ซึ่งท่านกับมาร์จอรีสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูลูกๆ—แคธลีน ริชาร์ด เวอร์จิเนีย คลาร์ก และเจน
กอร์ดอนกับมาร์จอรีสร้างบ้านแห่งความรัก ความเคารพกัน การทำงานหนัก และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวทุกวันเปิดหน้าต่างให้ลูกๆ มองเห็นศรัทธาและความรักของบิดามารดา เมื่อครอบครัวสวดอ้อนวอนด้วยกัน ลูกๆ รู้สึกเข้าใกล้พระบิดาในสวรรค์ของพวกเขาเช่นกัน
บ้านฮิงค์ลีย์เป็นสถานที่ซึ่งมีกฎเกณฑ์ไม่มากแต่มีความคาดหวังสูง มาร์จอรีพูดเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ควรทะเลาะกัน เธอพูดถึงวิธีที่เธอกับสามีใช้ในการเป็นบิดามารดาดังนี้ “ดิฉันเรียนรู้ว่าดิฉันต้องไว้ใจลูกๆ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามไม่ตอบปฏิเสธถ้าดิฉันสามารถตอบรับได้ เมื่อเราเลี้ยงดูครอบครัว นั่นเป็นเรื่องของการผ่านพ้นในแต่ละวันไปให้ได้และมีความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ไปตามทาง เมื่อดิฉันเห็นว่าดิฉันไม่สามารถตัดสินใจทั้งหมดแทนลูกๆ ได้ ดิฉันจะพยายามไม่วิตกกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลาย”35 เนื่องจากความไว้วางใจของบิดามารดา ลูกจึงรู้สึกว่าตนได้รับความเคารพ ประสบการณ์ และความมั่นใจ เมื่อตอบว่าไม่ ลูกเข้าใจว่านั่นไม่ใช่การบังคับควบคุมโดยไร้เหตุผล
บ้านฮิงค์ลีย์เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเช่นกัน ครั้งหนึ่งมาร์จอรีกล่าวว่า “วิธีเดียวที่จะเอาชนะอุปสรรคในชีวิตคือหัวเราะจนเราชนะ คุณจะหัวเราะหรือร้องไห้ก็ได้ แต่ดิฉันชอบหัวเราะมากกว่า การร้องไห้ทำให้ดิฉันปวดศีรษะ”36 เนื่องจากบิดามารดาหัวเราะตนเองและมีอารมณ์ขันในชีวิตประจำวัน ลูกๆ จึงเห็นบ้านเป็นที่หลบภัยอันน่าเบิกบานใจ
การรับใช้ศาสนจักรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกอร์ดอนและมาร์จอรีเสมอ กอร์ดอนรับใช้เป็นประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สเตคจากนั้นจึงได้รับเรียกให้อยู่ในคณะกรรมการโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญที่ท่านรับใช้นานเก้าปี ต่อมาท่านรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสเตคและเป็นประธานสเตค ส่วนมาร์จอรีรับใช้ในปฐมวัย เยาวชนหญิง และสมาคมสงเคราะห์ ลูกๆ ของพวกท่านเป็นพยานว่าการรับใช้ในศาสนจักรเป็นสิทธิพิเศษอันน่ายินดี—ต้นแบบที่พวกเขาจะดำเนินตามในช่วงเป็นผู้ใหญ่
การเตรียมผ่านงานอาชีพ
ในช่วงชีวิตแต่งงานหกปีแรกของมาร์จอรีกับกอร์ดอน กอร์ดอนยังคงทำงานกับคณะกรรมการวิทยุ ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลข่าวสารงานเผยแผ่ของศาสนจักร ท่านทุ่มเทให้งานของท่าน โครงการต่างๆ และเส้นตายมักจะทำให้ท่านต้องพยายามใช้ความสามารถและประสบการณ์อย่างเต็มที่—และมากกว่านั้น ในจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง ท่านเขียนว่า
“มีงานมากมายให้ทำ งานของคณะกรรมการที่มีชื่อยาวๆ ชุดนี้กำลังเติบโตมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และน่าสนใจมากขึ้น …
“… วิทยุ ภาพยนตร์ และข้อมูลข่าวสารหลากหลายแบบ … ทำให้ข้าพเจ้าต้องสวดอ้อนวอนเสมอ อ่อนน้อมถ่อมตน ขยัน และอยู่ที่ทำงานหลายชั่วโมง … ทั้งหมดนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้แว่นตามากขึ้นอีกนิด … หลังค้อมลงอีกหน่อย ใจเย็นขึ้นอีกเล็กน้อย และเต็มไปด้วยความสงสัยมากขึ้นเล็กน้อยว่าทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้น37
ต้นทศวรรษ 1940 สงครามโลกครั้งที่สองทำให้กอร์ดอนต้องเปลี่ยนงานอาชีพ งานเผยแผ่ศาสนาเต็มเวลาหยุดชะงักเพราะสงคราม ด้วยเหตุนี้งานด้านจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนให้ผู้สอนศาสนาจึงลดลง โดยรู้สึกว่าท่านมีหน้าที่ต้องช่วยเรื่องสงคราม ท่านจึงสมัครเข้าโรงเรียนคัดเลือกนายทหารในกองทัพเรือสหรัฐ แต่ประวัติภูมิแพ้ทำให้ท่านไม่มีสิทธิ์เป็นทหาร “ข้าพเจ้าเศร้าใจที่ถูกปฏิเสธ” ท่านยอมรับในเวลาต่อมา “สงครามยังไม่ยุติ และทุกคนกำลังทำบางอย่างเพื่อช่วย ข้าพเจ้ารู้สึกว่าควรมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่ง”38 ความปรารถนานี้นำท่านไปสมัครงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าคุมทางรถไฟสายเดนเวอร์และรีโอกรันเด เพราะรถไฟสำคัญต่อการเคลื่อนพลและลำเลียงเสบียงสงคราม กอร์ดอนจึงรู้สึกว่างานนี้ช่วยให้ท่านได้รับใช้ชาติ บริษัทจ้างท่านในปี 1943 ท่านทำงานที่คลังพลาธิการในซอลท์เลคซิตี้จนท่านกับครอบครัวย้ายไปเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโดในปี 1944
หัวหน้าการทางรถไฟประทับใจการทำงานของกอร์ดอน และเมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 1945 พวกเขาเสนอตำแหน่งถาวรให้ท่านที่ดูเหมือนอนาคตด้านอาชีพจะสดใส ขณะเดียวกัน เอ็ลเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์โทรศัพท์มาขอให้กอร์ดอนกลับไปทำงานเต็มเวลาให้ศาสนจักร ถึงแม้ทางรถไฟจะให้เงินเดือนสูงกว่าศาสนจักรมาก แต่กอร์ดอนทำตามที่ใจท่านเรียกร้องและกลับไปซอลท์เลคซิตี้39
ไม่นานงานอาชีพของกอร์ดอนที่สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรก็ขยายจากความรับผิดชอบก่อนหน้านี้ของท่าน คริสต์ศักราช 1951 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการผู้สอนศาสนาสามัญของศาสนจักรและรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานในแต่ละวันของแผนกผู้สอนศาสนาที่ตั้งใหม่ แผนกนี้ควบคุมดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระกิตติคุณ รวมไปถึงการผลิต การแปล และการจำหน่ายสื่อการเรียนการสอนที่ผู้สอนศาสนาใช้ การอบรมผู้สอนศาสนาและประธานคณะเผยแผ่ รวมทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้สร้างความสัมพันธ์และขจัดความคิดผิดๆ เกี่ยวกับศาสนจักร40
ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1953 ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์เรียกกอร์ดอนมาที่สำนักงานของท่านและขอให้พิจารณาคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหน้าที่ในแผนกผู้สอนศาสนา “บราเดอร์ฮิงค์ลีย์” ท่านเริ่ม “เท่าที่คุณทราบ เรากำลังสร้างพระวิหารในสวิตเซอร์แลนด์ และพระวิหารที่นั่นจะต่างจากที่อื่นคือต้องรับใช้สมาชิกที่พูดหลายภาษา ผมอยากให้คุณหาวิธีนำเสนอการสอนในพระวิหารเป็นภาษาต่างๆ ของยุโรปโดยใช้เจ้าหน้าที่พระวิหารให้น้อยที่สุด”41
ประธานแมคเคย์จัดเตรียมที่หนึ่งให้กอร์ดอนได้แสวงหาการดลใจและพ้นจากข้อเรียกร้องของการทำงานในแผนกผู้สอนศาสนา ช่วงเย็นของวันธรรมดา วันเสาร์ และวันอาทิตย์บางวัน กอร์ดอนทำงานในห้องเล็กๆ บนชั้นห้าของพระวิหารซอลท์เลค เช้าวันอาทิตย์หลายวัน ประธานแมคเคย์มาร่วมแบ่งปันความคิด ดูการนำเสนอเอ็นดาวเม้นท์อย่างใกล้ชิด และสวดอ้อนวอนขอการนำทาง
หลังจากไตร่ตรอง สวดอ้อนวอน และแสวงหาการเปิดเผย กอร์ดอนแนะนำให้นำเสนอเอ็นดาวเมนท์เป็นภาพยนตร์ โดยบันทึกเสียงการสอนอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา ประธานแมคเคย์และคนอื่นๆ อนุมัติข้อเสนอดังกล่าวและมอบหมายให้ท่านผลิตภาพยนตร์ กอร์ดอนทำงานกับทีมมืออาชีพที่มีพรสวรรค์และซื่อสัตย์ผู้ทำโครงการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. 1955 ต่อจากนั้นท่านนำภาพยนตร์ไปพระวิหารเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ด้วยตนเองและควบคุมดูแลการเตรียมด้านเทคนิคสำหรับเอ็นดาวเมนท์ภาคแรก42
กอร์ดอนตื้นตันใจที่เห็นงานของท่านนำปีติมาให้วิสุทธิชนในยุโรป “ขณะข้าพเจ้ามองดูคนเหล่านั้นจากสิบประเทศมาร่วมศาสนพิธีพระวิหาร ขณะข้าพเจ้ามองดูผู้สูงอายุจากหลังม่านเหล็กผู้สูญเสียครอบครัวในสงครามกวาดล้างพวกเขา เห็นสีหน้าเบิกบานและน้ำตาแห่งความยินดีซึ่งมาจากใจของพวกเขาเนื่องจากโอกาสที่มีให้ ขณะข้าพเจ้ามองดูสามีภรรยาหนุ่มสาวกับครอบครัวของพวกเขา—ลูกๆ ที่น่ารักสดใสของพวกเขา—และมองดูครอบครัวเหล่านั้นเป็นหนึ่งเดียวกันในความสัมพันธ์นิรันดร์ ข้าพเจ้ารู้แน่นอนแม้มากกว่าที่เคยรู้ก่อนหน้านั้นว่า [ประธานแมคเคย์] ได้รับการดลใจและการนำทางจากพระเจ้าให้นำพรอันประมาณค่ามิได้นี้เข้ามาในชีวิตชายหญิงผู้มีศรัทธาเหล่านั้นที่มารวมกันจากประเทศต่างๆ ของยุโรป”43
ยี่สิบปีผ่านไปตั้งแต่กอร์ดอนกลับจากงานเผยแผ่ ท่านไม่ได้ทำฝันให้เป็นจริงเรื่องเรียนปริญญาและเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่ท่านได้ฝึกใช้เทคโนโลยีใหม่เผยแพร่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับผู้นับถือศาสนาอื่น ศึกษาและเขียนงานประวัติศาสนจักร ช่วยเตรียมทางให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายพันคนได้รับพรของพระวิหาร ประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นรากฐานสำหรับการรับใช้ที่ท่านจะให้ตลอดชีวิตที่เหลือ
การรับใช้เป็นผู้ช่วยอัครสาวกสิบสอง
วันเสาร์ที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1958 ริชาร์ดบุตรชายของกอร์ดอนกับมาร์จอรีรับโทรศัพท์ คนที่โทรมาไม่บอกชื่อ แต่ริชาร์ดจำเสียงของประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ได้และรีบบอกให้คุณพ่อทราบ หลังจากพูดสั้นๆ กับประธานแมคเคย์ กอร์ดอนรีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และขับรถไปสำนักงานของประธานศาสนจักร เพราะท่านเคยได้รับงานมอบหมายจากประธานแมคเคย์มาก่อน ท่านจึงคาดว่าประธานจะขอให้ช่วยเตรียมบางอย่างสำหรับภาคการประชุมใหญ่สามัญวันรุ่งขึ้น ท่านตกใจมากเมื่อพบว่าประธานแมคเคย์มีเรื่องอื่นในใจ หลังจากทักทายอย่างเป็นมิตร ประธานแมคเคย์ขอให้กอร์ดอนรับใช้เป็นผู้ช่วยอัครสาวกสิบสอง พี่น้องชายที่รับใช้ในตำแหน่งนี้ ซึ่งยกเลิกในปี 1976 ถือเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักร กอร์ดอนกำลังรับใช้เป็นประธานสเตคอีสต์มิลล์ครีกเมื่อประธานแมคเคย์ให้การเรียกนี้
วันรุ่งขึ้น เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ได้รับเสียงสนับสนุนในการประชุมใหญ่สามัญ ถึงแม้ท่านยอมรับในคำพูดการประชุมใหญ่ครั้งแรกว่าท่าน “หนักใจกับความรู้สึกไม่คู่ควร” แต่ท่านก็น้อมรับความรับผิดชอบใหม่นี้ด้วยศรัทธาและความกระตือรือร้น44
หน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่มาถึงเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ในฐานะผู้ช่วยอัครสาวกสิบสองคือควบคุมดูแลการทำงานของศาสนจักรในเอเชียทั้งหมด ท่านรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับคนที่นั่นและพูดภาษาของพวกเขาไม่ได้เลย แต่ท่านรักพวกเขาอย่างรวดเร็ว และพวกเขาก็รักท่าน เคนจิ ทานากะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายชาวญี่ปุ่นพูดถึงการประชุมครั้งแรกของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ในญี่ปุ่นว่า “ความตื่นเต้นของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์เห็นได้ในดวงตาเป็นประกายของท่าน คำแรกที่ท่านพูดกับเราคือ ซูบาราชิ! [‘ยอดเยี่ยม’] บรรยากาศของที่ประชุมเปลี่ยนจากเคร่งขึมและพิธีรีตองเป็นความใกล้ชิดและความเป็นมิตรกับท่าน ความรู้สึกอบอุ่นแผ่ซ่านไปทั่ว”45
นี่เป็นความรู้สึกที่ท่านทำให้เกิดขึ้นทุกแห่งที่ท่านไปในเอเชีย ท่านช่วยให้ผู้คนเห็นว่า ด้วยศรัทธาในพระเจ้า พวกเขาสามารถทำงานใหญ่สำเร็จและช่วยให้ศาสนจักรเติบโตในบ้านเกิดเมืองนอนของตน ท่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเช่นกัน โดยรู้ว่าความขยันหมั่นเพียรของพวกเขาจะมีผลโดยตรงต่อคนที่พวกเขารับใช้
พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์
มีเสียงโทรศัพท์เปลี่ยนชีวิตอีกครั้งในวันเสาร์อีกวันหนึ่ง—วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1961 ครั้งนี้มาร์จอรีผู้ได้ยินเสียงคุ้นหูของประธานแมคเคย์อยู่ในสาย กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์รีบไปสำนักงานของประธานศาสนจักรอีกครั้ง ท่านประหลาดใจและหมดกำลังอีกครั้งเมื่อทราบเหตุผลของการเข้าพบครั้งนี้ เมื่อมาถึง ประธานแมคเคย์บอกท่านว่า “ผมรู้สึกว่าต้องเสนอชื่อคุณให้ดำรงตำแหน่งว่างในโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเราจะสนับสนุนคุณวันนี้ในการประชุมใหญ่”46 เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ก้าวไปข้างหน้าด้วยศรัทธาและความกระตือรือร้นอีกครั้งแม้จะรู้สึกไม่คู่ควร
ในฐานะอัครสาวก เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ได้รับความรับผิดชอบเพิ่มเติม ท่านเข้าพบหัวหน้ารัฐบาลและผู้ทรงเกียรติอีกหลายท่านเป็นครั้งคราว มีผู้ขอให้ท่านพูดต่อหน้าสาธารณชนแทนศาสนจักรบ่อยครั้งเพื่อแก้ไขคำวิพากษ์วิจารณ์และความวุ่นวายทางวัฒนธรรมในสหรัฐ ท่านเป็นผู้นำในความพยายามเสริมสร้างสมรรถภาพการออกอากาศของศาสนจักรและใช้เทคโนโลยีเผยแพร่พระกิตติคุณไปทั่วโลก แม้จะมีบทบาทกว้างขวางเหล่านี้ แต่ท่านไม่เคยมองข้ามความรับผิดชอบในการเสริมสร้างศรัทธาของแต่ละบุคคลและครอบครัว ไม่ว่าท่านจะพูดกับคนหนึ่งคนหรือคนหมื่นคน คำพูดของท่านมีผลต่อพวกเขาเป็นส่วนตัว คำพูดที่กลายเป็นตราสัญลักษณ์การปฏิบัติศาสนกิจของท่านคือ จงนำผู้คนมาหาพระคริสต์ทีละคน
เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ดูแลการทำงานในเอเชียเจ็ดปีติดต่อกันและท่านชื่นชมยินดีที่ได้เห็นการเติบโตของเพื่อนๆ ที่นั่น ท่านตั้งข้อสังเกตว่า “นับเป็นประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ … เมื่อได้เห็นรูปแบบวิธีที่พระเจ้าทรงถักทอผืนพรมตามแบบแผนอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในภูมิภาคเหล่านั้นของแผ่นดินโลก”47
เมื่องานมอบหมายเปลี่ยนไปในโควรัมอัครสาวกสิบสอง เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ได้รับโอกาสให้รับใช้ในภูมิภาคอื่นของโลก ทุกแห่งที่ท่านไป ท่านแสดงความห่วงใยแต่ละคน คริสต์ศักราช 1970 เมื่อท่านกำลังตรวจตราการทำงานของศาสนจักรในอเมริกาใต้ ท่านเดินทางไปชิลีหลังจากเป็นประธานการประชุมใหญ่สเตคในเปรู สองวันหลังจากมาถึงชิลี ท่านทราบว่าได้เกิดแผ่นดินไหวทำลายล้างเปรู และผู้สอนศาสนาสี่คนหายไป ท่านวางแผนกลับไปเปรูทันทีแม้จะต้องเลื่อนวันกลับบ้านออกไป “ข้าพเจ้าจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกดีไม่ได้ขณะที่ผู้สอนศาสนายังหายสาบสูญ” ท่านกล่าว48
ท่านมาถึงเมืองลิมา ประเทศเปรูเช้าวันต่อมา เมื่อผู้สอนศาสนาที่หายสาบสูญพบนักวิทยุสมัครเล่น พวกเขาสามารถโทรมาลิมาได้ และเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์พูดกับพวกเขา ผู้สอนศาสนาอยู่ในห้องเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ การสนทนาของพวกเขาออกอากาศผ่านเครื่องขยายเสียง “เมื่อเสียงของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ดังออกเครื่องขยายเสียงในห้องที่คนเบียดกันแน่นขณะแย่งกันพูดออกวิทยุ ห้องเงียบกริบทันที แม้ท่านจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ และคนเหล่านี้พูดภาษาสเปน แต่พวกเขาเริ่มกระซิบกันและถามว่า ‘คนนั้นเป็นใคร’ มีความรู้สึกท่ามกลางความโกลาหลว่าเสียงนั้นเป็นเสียงของคนไม่ธรรมดา”49
ในช่วงสองปีแรกของการตรวจตราศาสนจักรในอเมริกาใต้ เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ไปเยี่ยมคณะเผยแผ่ทุกแห่ง ตั้งคณะเผยแผ่ใหม่ในโคลัมเบียและเอกวาดอร์ ช่วยตั้งสเตคใหม่ในลิมา เปรู และเซาเปาลู บราซิล ช่วยแก้ไขอุปสรรคเรื่องวีซ่าของผู้สอนศาสนาที่ได้รับเรียกให้รับใช้ในอาร์เจนตินา ท่านอยู่ระหว่างทำมากขึ้นเมื่อท่านได้รับมอบหมายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1971 ให้ดูแลคณะเผยแผ่แปดแห่งในยุโรป50
เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์มักจะรู้สึกเหนื่อยล้าจากกำหนดการรัดตัวของท่าน ท่านมีความสุขเสมอเมื่อได้กลับบ้านและใช้เวลาอยู่กับมาร์จอรีและลูกๆ แต่มาร์จอรีบอกว่าเมื่อท่านออกจากบ้านไปทำงานนานเกินไป ท่านจะไม่ได้พักผ่อน การเรียกเป็นอัครสาวกของท่าน—หนึ่งใน “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” (คพ. 107:23)—ไม่เคยอยู่ห่างจากความคิดท่านเลย
ความรับผิดชอบอันหนักหน่วงในฐานะที่ปรึกษาของฝ่ายประธานสูงสุด
วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 หลังจากรับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสองประมาณ 20 ปี เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ได้รับการเรียกที่ทำให้ประหลาดใจอีกครั้ง ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ผู้เป็นประธานศาสนจักรในเวลานั้นขอให้ท่านรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด นอกเหนือจากประธานเอ็น. เอลดัน แทนเนอร์ และประธานมาเรียน จี. รอมนีย์ นี่เป็นเรื่องแปลกแต่การดำเนินงานต่างจากรูปแบบการมีที่ปรึกษาสองคนใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประธานคิมบัลล์กับที่ปรึกษาของท่านสุขภาพไม่ดีและต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเป็นพิเศษในฝ่ายประธาน51
ที่การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของท่านในตำแหน่งใหม่นี้ ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวของข้าพเจ้าคือรับใช้ด้วยความภักดีไม่ว่าจะได้รับเรียกให้ทำอะไร … การเรียกอันศักดิ์สิทธิ์นี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้ความอ่อนแอของตนเอง ถ้าข้าพเจ้าทำให้ขุ่นเคืองเมื่อใด ข้าพเจ้าขอโทษและหวังว่าท่านจะให้อภัยข้าพเจ้า ไม่ว่างานมอบหมายนี้จะมีระยะเวลานานหรือไม่นาน ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะพยายามสุดความสามารถ จะทำด้วยความรักและศรัทธา”52
ศาสนจักรต้องการให้ท่านทำสุดความสามารถเมื่อประธานคิมบัลล์ ประธานแทนเนอร์ และประธานรอมนีย์มีปัญหาด้านสุขภาพ ในแต่ละวันงานส่วนใหญ่ของฝ่ายประธานสูงสุดตกอยู่กับประธานฮิงค์ลีย์ ท่านแบกภาระรับผิดชอบมากมายที่ต้องพยายามมากขึ้นเช่นกัน อาทิ การอุทิศพระวิหารจอร์แดนริเวอร์ ยูทาห์ นอกจากนี้ ท่านยังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรและผู้นำทั้งในอดีตและปัจจุบันจากประชาชนทั่วไปด้วย ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1982 ท่านแนะนำว่า
“เรามีชีวิตอยู่ในสังคมที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ … ข้าพเจ้าขอให้ท่านมองภาพใหญ่และเลิกวิตกกับคำตำหนิเล็กๆ น้อยๆ … นี่เป็นเพียงส่วนประกอบของความสำคัญในการรับใช้ [ของผู้นำศาสนจักร] และความยิ่งใหญ่ของผลงานของท่านเหล่านั้น”53
ประธานแทนเนอร์ถึงแก่กรรมวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 สุขภาพของประธานคิมบัลล์และประธานรอมนีย์เสื่อมลงจนถึงจุดที่ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1983 ประธานฮิงค์ลีย์ผู้ซึ่งเวลานั้นได้รับเรียกเป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด ต้องนั่งข้างเก้าอี้ว่างสองตัวบนยกพื้น โดยส่วนตัวแล้วท่านรู้สึกลึกๆ ในใจถึงสิ่งที่ท่านเคยเรียกว่า “ความโดดเดี่ยวของการเป็นผู้นำ”54
ประธานฮิงค์ลีย์ดำเนินงานด้วยความระมัดระวังและการสวดอ้อนวอน ท่านไม่ต้องการข้ามหน้าศาสดาพยากรณ์ ท่านขอให้สมาชิกอาวุโสของโควรัมอัครสาวกสิบสอง—โดยเฉพาะเอ็ลเดอร์เอสรา แทฟท์ เบ็นสันประธานโควรัม—ช่วยดำเนินธุรกิจประจำวันของศาสนจักร ประธานฮิงค์ลีย์ทำงานคู่กับโควรัมอัครสาวกสิบสองโดยรับคำแนะนำจากประธานคิมบัลล์เสมอ กระนั้นก็ตาม ท่านยังรู้สึกว่าแบกภาระใหญ่หลวง
ถึงแม้ความรับผิดชอบของประธานฮิงค์ลีย์ในฝ่ายประธานสูงสุดทำให้ท่านอยู่ในซอลท์เลคซิตี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ท่านเดินทางเป็นครั้งคราวไปปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกและผู้สอนศาสนาในภูมิภาคอื่นของโลกด้วย คริสต์ศักราช 1984 ท่านกลับไปฟิลิปปินส์ สิบแปดปีก่อนท่านอุทิศโบสถ์หลังแรกที่นั่น คราวนี้ท่านจะอุทิศพระวิหารแห่งแรก ในคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ท่านทูลว่า
“ประเทศฟิลิปปินสต์เป็นประเทศที่มีเกาะมากมาย ประชาชนรักอิสรภาพ ความจริง ใจของพวกเขาละเอียดอ่อนต่อประจักษ์พยานของผู้รับใช้พระองค์ และตอบรับข่าวสารของพระกิตติคุณนิรันดร์ พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับศรัทธาของพวกเขา พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับวิญญาณแห่งการเสียสละของพวกเขา พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับปาฏิหาริย์แห่งความก้าวหน้าในงานของพระองค์ในแผ่นดินนี้”55
ความก้าวหน้าต่อเนื่องของศาสนจักรประจักษ์ชัดในเดือนมิถุนายน ปี 1984 เมื่อประธานฮิงค์ลีย์ ในนามของฝ่ายประธานสูงสุด ประกาศการเรียกฝ่ายประธานภาค—สมาชิกสาวกเจ็ดสิบผู้จะอยู่ทั่วโลกและตรวจตรางานของศาสนจักรในเขตภูมิศาสตร์ที่ได้รับมอบหมาย โดยทำงานภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัคร-สาวกสิบสอง พี่น้องชายเหล่านี้จะจัดหาผู้นำและให้การอบรมมากเท่าที่จำเป็นในเขตของพวกเขา “เราจะตัดสินใจทุกอย่างในซอลท์เลคซิตี้ไม่ได้” ท่านกล่าว “เราต้องทำบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ”56 ประมาณหนึ่งปีต่อมา ขณะพูดกับผู้นำศาสนจักรจากทั่วโลก ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามั่นใจว่านี่เป็นก้าวสำคัญที่ได้รับการดลใจในช่วงไม่กี่เดือนหลังนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการที่คนดีๆ เหล่านี้อยู่ท่ามกลางพวกท่านบ่อยๆ ทำให้พวกท่านมีความเชื่อมั่นมาก พี่น้องชายเหล่านี้กำลังผูกทั้งศาสนจักรไว้ด้วยกัน”57
หลังจากนำศาสนจักรตลอด 12 ปีของการเติบโตอย่างน่าทึ่ง ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ถึงแก่กรรมวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 ในฐานะอัครสาวกอาวุโส ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักร ท่านขอให้กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์รับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดและโธมัส เอส. มอนสันรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สอง เนื่องจากสมาชิกสามท่านในฝ่ายประธานสูงสุดมีสุขภาพดี ประธานฮิงค์ลีย์จึงรู้สึกว่าภาระของท่านเบาลงและมีโอกาสไปเยี่ยมวิสุทธิชนทั่วโลกมากขึ้น
ภายในไม่กี่ปี สุขภาพของประธานเบ็นสันเริ่มอ่อนแอ และความรับผิดชอบวันต่อวันของการดำเนินงานศาสนจักรตกอยู่กับประธานฮิงค์ลีย์อีกครั้ง อย่างไรก็ดี คราวนี้ท่านไม่โดดเดี่ยวในฝ่ายประธานสูงสุด ประธานฮิงค์ลีย์และประธานมอนสันดำเนินงานศาสนาจักรอย่างต่อเนื่องอย่างมีชีวิตชีวาและเปี่ยมด้วยพละกำลัง โดยเคารพการเรียกของประธานเบ็นสันในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเสมอ พวกท่านพัฒนาความสัมพันธ์และมิตรภาพอันแน่นแฟ้นยั่งยืน
ประธานเบ็นสันถึงแก่กรรมวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 และประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นประธานศาสนจักร ประธานฮิงค์ลีย์และประธานมอนสันรับใช้เป็นที่ปรึกษาอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เดินทางร่วมกับประธานฮันเตอร์และไอนิสภรรยา กับเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ เนลสันและบาร์บาราภรรยาไปนอวู อิลลินอยส์เพื่อร่วมงานรำลึกมรณสักขีของโจเซฟและไฮรัม สมิธครบ 150 ปี การเดินทางครั้งนี้คงจะเป็นครั้งเดียวที่ประธานฮันเตอร์กับประธานฮิงค์ลีย์เดินทางด้วยกัน ประธานฮันเตอร์ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพหลายปี สุขภาพของท่านเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วหลังจากการเดินทางครั้งนี้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ท่านขอพรฐานะปุโรหิตจากประธานฮิงค์ลีย์ ในพรนั้น ประธานฮิงค์ลีย์วิงวอนขอชีวิตประธานฮันเตอร์แต่ทูลด้วยว่าท่านอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า58 ไม่กี่วันต่อมา วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1995 ประธานฮันเตอร์ถึงแก่กรรม
ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ ผู้เปิดเผย และประธานศาสนจักร
มรณกรรมของประธานฮันเตอร์ แม้ไม่น่าแปลกใจ แต่ก็ทำให้ครอบครัวฮิงค์ลีย์ต้องรับภาระหนัก ในฐานะอัครสาวกอาวุโส ประธานฮิงค์ลีย์จะเป็นประธานศาสนจักรคนต่อไป ซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์กล่าวถึงชั่วขณะที่พวกท่านทราบข่าวมรณกรรมของประธานฮันเตอร์ว่า “ประธานฮันเตอร์จากไปแล้วและเราถูกทิ้งให้สานต่อ ดิฉันรู้สึกเศร้ามาก ว้าเหว่มาก กอร์ดอนก็เช่นกัน เขาพูดไม่ออก และเขารู้สึกว้าเหว่มากๆ เขาไม่เหลือคนที่เข้าใจว่าเขากำลังประสบอะไร”59
หลังจากพิธีศพของประธานฮันเตอร์ ประธานฮิงค์ลีย์พบการปลอบโยนในพระวิหาร ขณะอยู่เพียงลำพังในห้องประชุมของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในพระวิหารซอลท์เลค ท่านตั้งใจอ่านพระคัมภีร์และตรึกตรองสิ่งที่อ่าน ท่านใคร่ครวญพระชนม์ชีพ การปฏิบัติศาสนกิจ และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ จากนั้นท่านจึงศึกษาภาพเหมือนบนผนังซึ่งเป็นภาพของประธานศาสนจักรทุกท่านตั้งแต่โจเซฟ สมิธจนถึงฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ท่านบันทึกประสบการณ์ครั้งนี้ลงในบันทึกส่วนตัวว่า
“ข้าพเจ้าเดินวนหน้าภาพเหมือนเหล่านี้และมองเข้าไปในดวงตาของบุรุษที่อยู่ในภาพ ข้าพเจ้ารู้สึกประหนึ่งพูดกับพวกท่านได้ ข้าพเจ้ารู้สึกราวกับว่าพวกท่านกำลังพูดกับข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเชื่อมั่นอีกครั้ง … ข้าพเจ้านั่งเก้าอี้ตัวที่ข้าพเจ้าเคยนั่งสมัยเป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งของประธาน ข้าพเจ้าใช้เวลามองดูภาพเหมือนเหล่านั้นนานมาก ทุกคนดูเหมือนจะมีชีวิต ดวงตาของพวกท่านดูเหมือนจะจ้องมองข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกท่านกำลังให้กำลังใจข้าพเจ้าและตั้งใจจะสนับสนุนข้าพเจ้า ดูเหมือนพวกท่านจะพูดกับข้าพเจ้าว่าพวกท่านได้พูดแทนข้าพเจ้าในสภาที่จัดในสวรรค์ว่าข้าพเจ้าไม่มีความจำเป็นต้องกลัว ข้าพเจ้าจะได้รับพรและการสนับสนุนในการปฏิบัติศาสนกิจของข้าพเจ้า
“ข้าพเจ้าคุกเข่าทูลวิงวอนพระเจ้า ข้าพเจ้าพูดกับพระองค์นานมากในการสวดอ้อนวอน … ข้าพเจ้ามั่นใจว่าโดยอำนาจของพระวิญญาณ ข้าพเจ้าได้ยินพระดำรัสของพระเจ้า ไม่ใช่ได้ยินเสียง แต่เป็นความอบอุ่นที่ข้าพเจ้ารู้สึกในใจเกี่ยวกับคำถามที่ข้าพเจ้าถามในคำสวดอ้อนวอน”60
หลังจากประสบการณ์นี้ท่านบันทึกความคิดอีกครั้งว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกดีขึ้น และข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในใจว่าพระเจ้าทรงกำลังทำงานตามพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับอุดมการณ์และอาณาจักรของพระองค์ ข้าพเจ้าจะได้รับการสนับสนุนในฐานะประธานศาสนจักร ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ ผู้เปิดเผย และรับใช้ตามเวลาที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ ด้วยการยืนยันของพระวิญญาณในใจ เวลานี้ข้าพเจ้าจึงพร้อมจะก้าวไปทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้ารู้วิธีทำ ข้าพเจ้าแทบไม่อยากเชื่อว่าพระเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนี้ให้ข้าพเจ้า … ข้าพเจ้าหวังว่าพระเจ้าได้ทรงฝึกข้าพเจ้าให้ทำสิ่งที่ทรงคาดหวังจากข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะถวายความจงรักภักดีทั้งหมดแด่พระองค์ และข้าพเจ้าจะแสวงหาคำแนะนำของพระองค์แน่นอน”61
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักรเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1995 วันรุ่งขึ้นท่านพูดที่การประชุมแถลงข่าวและตอบคำถามของนักข่าว เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์รายงานว่า “เมื่อใกล้จบช่วงการสนทนาที่เป็นกันเอง เปี่ยมด้วยความรู้ และโน้มน้าวใจเสมอเกี่ยวกับคำถามหลายข้อที่นักข่าวถามในการประชุมแถลงข่าว นักข่าวคนหนึ่งถามประธานฮิงค์ลีย์ว่า ‘ท่านจะเน้นเรื่องอะไรครับ หัวข้อการบริหารงานของท่านคืออะไรครับ’
“ท่านตอบตามสัญชาตญาณว่า ‘สานต่อ ครับ หัวข้อของเราคือจะสานต่องานอันสำคัญยิ่งที่ผู้มาก่อนเราทำไว้ครับ’”62
ประธานฮิงค์ลีย์รักษาคำปฏิญาณนั้น ด้วยความเคารพเหล่าศาสดาพยากรณ์ผู้ล่วงลับไปก่อนท่าน ท่านสานต่องานที่ท่านเหล่านั้นทำไว้ ด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ ท่านทำตามการเปิดเผยให้ดำเนินงานนั้นในวิธีใหม่ๆ
การนำศาสนจักร “ออกมาจากการปิดบัง” (คพ. 1:30)
ตั้งแต่เริ่มการปฏิบัติศาสนกิจของประธานฮิงค์ลีย์ เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตั้งข้อสังเกตว่า “ประธานฮิงค์ลีย์กำลังช่วยนำศาสนจักรออกมาจากการปิดบัง ศาสนจักรจะก้าวหน้าเท่าที่จำเป็นไม่ได้ถ้าเราถูกซ่อนไว้ในถัง บางคนต้องก้าวออกมา และประธานฮิงค์ลีย์เต็มใจทำเช่นนั้น ท่านเป็นคนเข้าใจอดีตและเข้าใจปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน ท่านมีของประทานอันน่าอัศจรรย์ของการแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ท่านสามารถนำเสนอข่าวสารในวิธีที่ดึงดูดใจคนทุกแห่งหน”63
ความรู้กว้างขวางของประธานฮิงค์ลีย์ด้านสื่อและการถ่ายทอดเสียงช่วยเตรียมท่านสำหรับงานนี้ ในฐานะประธานศาสนจักร ท่านให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งกับนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก ตอบคำถามของพวกเขาเกี่ยวกับหลักคำสอนและนโยบายของศาสนจักร แสดงประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู แต่ละครั้งทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นและมิตรภาพแน่นแฟ้นขึ้น
ตัวอย่างที่เด่นชัดครั้งหนึ่งคือการสัมภาษณ์ในปี 1996 กับไมค์ วอลเลซนักข่าวผู้มากประสบการณ์ของรายการโทรทัศน์ชื่อ 60 Minutes คุณวอลเลซขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สัมภาษณ์ที่ไม่ไว้หน้าใคร ประธานฮิงค์ลีย์ยอมรับว่าท่านกังวลพอสมควรก่อนรายการออกอากาศทางโทรทัศน์ในสหรัฐ “ถ้าผลออกมาน่าพอใจ ข้าพเจ้าก็ยินดี” ท่านกล่าว “แต่ถ้าไม่ ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะไม่ก้าวเข้าไปติดกับดักแบบนั้นอีก”64
การสัมภาษณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยแสดงให้เห็นด้านบวกมากมายของศาสนจักร ผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือไมค์ วอลเลซกับประธานฮิงค์ลีย์กลายเป็นเพื่อนกัน
คริสต์ศักราช 2002 ซอลท์เลคซิตี้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ทำให้ศาสนจักรกลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศ ประธานฮิงค์ลีย์กับที่ปรึกษาของท่านให้คำปรึกษาในเรื่องการวางแผน “เราตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าเราจะไม่ใช้โอกาสนี้เป็นเวลาหรือสถานที่เผยแผ่ศาสนา” ท่านกล่าว “แต่เรามั่นใจว่าจากเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้จะมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นกับศาสนจักร”65 ท่านพูดถูก ประชาชนหลายหมื่นคนไปเยือนหุบเขาซอลท์เลคและได้รับการต้อนรับจากเจ้าภาพที่มีมารยาท—วิสุทธิชนยุคสุดท้ายและคนอื่นๆ ทำงานด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์ให้กีฬาโอลิมปิกประสบผลสำเร็จ ผู้มาเยือนเหล่านี้เดินรอบเทมเปิลสแควร์ ฟังคณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิล และไปเยือนหอสมุดประวัติครอบครัว ประชาชนหลายพันล้านคนเห็นพระวิหารซอลท์เลคทางโทรทัศน์และเห็นนักข่าวนำเสนอเรื่องราวของศาสนจักรได้อย่างน่าพอใจ ตามที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าว นั่นเป็น “เรื่องอัศจรรย์สำหรับศาสนจักร”
นอกจากจะใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีมานาน ประธานฮิงค์ลีย์ยังยอมใช้นวัตกรรมใหม่ด้วย ตัวอย่างเช่น ท่านถือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีทำให้ศาสนจักรใกล้ชิดกับสมาชิกและแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูกับคนที่นับถือศาสนาอื่น ในช่วงการบริหารงานของท่าน ศาสนจักรเปิดตัว LDS.org, FamilySearch.org, และ Mormon.org
วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2004 วันที่ประธานฮิงค์ลีย์อายุ 94 ปี ท่านได้รับรางวัลเหรียญแห่งอิสรภาพจากประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดที่มอบให้ในสหรัฐ ท่านตอบรับดังนี้ “ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้จากประธานาธิบดีสหรัฐ ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง ในความหมายที่กว้างขึ้นคือรางวัลดังกล่าวเป็นเกียรติแก่ศาสนจักรซึ่งได้ให้โอกาสมากมายแก่ข้าพเจ้าและประโยชน์ที่ข้าพเจ้าได้พยายามทำให้เกิดขึ้น”66 ท่านมองว่ารางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์ของชื่อเสียงในทางดีขึ้นของศาสนจักรและเป็นหลักฐานยืนยันว่าท่านนำศาสนจักรออกมาจากการปิดบังอย่างแท้จริง
การเดินทางในหมู่วิสุทธิชนยุคสุดท้าย
ประธานฮิงค์ลีย์ไม่ชอบความลำบากของการเดินทาง แต่ความปรารถนาจะรับใช้บรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีพลังมากกว่าความปรารถนาจะอยู่บ้าน ท่านกล่าวว่าท่านต้องการ “ออกไปอยู่ท่ามกลางผู้คนของเราเพื่อกล่าวชื่นชม ให้กำลังใจ และแสดงประจักษ์พยานถึงความศักดิ์สิทธิ์ในงานของพระเจ้า”67 ช่วงแรกในการบริหารงานท่านแสดงความเห็นว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจว่าขณะยังมีเรี่ยวแรงข้าพเจ้าจะออกไปอยู่ท่ามกลางผู้คนของเราทั้งที่บ้านและต่างแดน … ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำงานด้วยความกระตือรือร้นตราบเท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าประสงค์จะพบปะผู้คนที่ข้าพเจ้ารัก”68
ในช่วงรับใช้เป็นประธานศาสนจักร ท่านเดินทางทั่วสหรัฐและไปเยือนประเทศต่างๆ นอกสหรัฐกว่า 90 ครั้ง สรุปคือท่านเดินทางมากกว่าหนึ่งล้านไมล์ (1.6 ล้านกิโลเมตร) เมื่อครั้งเป็นประธานศาสนจักร โดยไปพบปะวิสุทธิชนในทุกภูมิภาคของโลก69
ในบางพื้นที่ คนต้องพยายามมาพบท่านมากกว่าท่านพยายามมาพบพวกเขา ตัวอย่างเช่น ในปี 1996 ท่านกับซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์ไปเยือนฟิลิปปินส์ สมาชิกภาพศาสนจักรที่นั่นเพิ่มขึ้นจนมีมากกว่า 375,000 คน ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์มีกำหนดพูดเย็นวันหนึ่งที่การประชุมในสนามกีฬาอราเนต้าของมะนิลา ประมาณเที่ยงของวันนั้น สนามกีฬา “เต็มเกินพื้นที่รองรับ คนเริ่มต่อแถวตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อรอเข้าร่วมการประชุมที่จะเริ่มในอีกสิบสองชั่วโมงข้างหน้า จำนวนที่นับได้คือสมาชิกราว 35,000 คนแออัดอยู่ในที่นั่ง 25,000 ที่ของสนามกีฬา 25,000 ที่นั่งเช่นเดียวกับช่องทางเดินและลานกลางสนาม วิสุทธิชนจำนวนมากโดยสารเรือและรถโดยสารยี่สิบชั่วโมงเพื่อมาที่มะนิลา บางคนจ่ายค่าเดินทางเท่ากับเงินเดือนหลายเดือนของพวกเขา …
“เมื่อมีคนแจ้งประธานฮิงค์ลีย์ว่าสนามกีฬาเต็มและผู้จัดการอาคารสงสัยว่าเป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะเริ่มการประชุมเร็วขึ้น ท่านตอบทันทีว่า ‘ได้เลย’ ท่านกับซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เข้ามาในสนามกีฬากว้างใหญ่ … ประหนึ่งมีคนนำ ที่ประชุมลุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียง ปรบมือต้อนรับ แล้วเริ่มร้องเพลงสวด ‘เราขอบพระทัยสำหรับศาสดา’”70
โดยรู้ว่าท่านกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ไม่สามารถไปได้ทุกแห่งที่ต้องการ ประธานฮิงค์ลีย์จึงสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีแนะนำสั่งสอนผู้นำทั่วโลก ท่านใช้เทคโนโลยีดาวเทียมควบคุมการถ่ายทอดการอบรมผู้นำทั่วโลกซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2003
การส่งเสริมความสำคัญของการเรียนและการสอนความจริงทางโลกและทางวิญญาณ
ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวต่อไปว่า “พวกเราไม่มีใคร… รู้มากพอ ขั้นตอนการเรียนรู้เป็นขั้นตอนที่ไม่จบสิ้น เราต้องอ่าน เราต้องสังเกต เราต้องรับไว้ และเราต้องไตร่ตรองสิ่งซึ่งเผยต่อความคิดของเรา”71 ท่านกล่าวเช่นกันว่า “การสอนที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญของการเป็นผู้นำในศาสนจักร ชีวิตนิรันดร์จะมาก็ต่อเมื่อชายหญิงได้รับการสอนอย่างมีประสิทธิภาพจนเปลี่ยนและขัดเกลาชีวิตพวกเขา เราไม่สามารถบังคับพวกเขาให้เป็นคนชอบธรรมหรือไปสวรรค์ได้ พวกเขาต้องได้รับการนำ และนั่นหมายถึงการสอน”72
ประธานฮิงค์ลีย์ปรารถนาจะให้การบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วโลกมากขึ้น คริสต์ศักราช 1995 ท่านอนุมัติแผนอย่างกระตือรือร้นให้จัดพิมพ์หนังสือชุดหนึ่งซึ่งจะทำให้สมาชิกศาสนจักรมีคลังพระกิตติคุณ ไม่นานศาสนจักรเริ่มจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้เรียกว่า คำสอนของประธานศาสนจักร ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น
การเรียนรู้ทางโลกสำคัญต่อประธานฮิงค์ลีย์เช่นกัน ท่านห่วงใยสมาชิกของศาสนจักรในพื้นที่ยากไร้ของโลกผู้ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนขั้นอุดมศึกษาหรือฝึกอาชีพ หากไม่มีการศึกษาและการฝึกเช่นนั้น พวกเขาส่วนใหญ่จะยังอยู่ในความยากไร้ ในภาคฐานะปุโรหิตของการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 2001 ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า
“เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงเสนอแผนหนึ่ง—ซึ่งเราเชื่อว่าได้รับการดลใจจากพระเจ้า ศาสนจักรกำลังจัดตั้งกองทุนซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเงินบริจาคของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ผู้บริจาคเพื่อจุดประสงค์นี้ เรารู้สึกขอบคุณพวกเขาอย่างสุดซึ้ง … เราจะเรียกว่ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา”73
ประธานฮิงค์ลีย์อธิบายว่าผู้รับประโยชน์จากโปรแกรมจะได้เงินกู้ยืมจากกองทุนที่สมาชิกศาสนจักรบริจาคให้เป็นค่าเรียนหรือค่าฝึกอาชีพ หลังจากเรียนจบหรือฝึกเสร็จแล้ว ศาสนจักรคาดหวังว่าพวกเขาจะคืนเงินกู้เพื่อจะสามารถใช้เงินกองทุนช่วยคนอื่นต่อไป ประธานฮิงค์ลีย์อธิบายเช่นกันว่ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษาจะ “ยึดหลักธรรมคล้ายกับกองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพ” ซึ่งศาสนจักรตั้งขึ้นในทศวรรษ 1800 เพื่อช่วยวิสุทธิชนที่ขัดสนอพยพไปไซอัน74
ภายในหกเดือน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์เข้ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา75 หนึ่งปีหลังจากแนะนำแผนดังกล่าว ประธานฮิงค์ลีย์ประกาศว่า “เวลานี้ความพยายามดังกล่าวอยู่บนรากฐานที่มั่นคง … เยาวชนชายหญิงในพื้นที่ด้อยโอกาสของโลก เยาวชนชายหญิงที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้สอนศาสนา จะได้รับการศึกษาที่ดี ซึ่งจะยกพวกเขาออกจากปลักของความยากไร้ที่บรรพบุรุษของพวกเขาหลายรุ่นต่อสู้ดิ้นรนมา”76 โปรแกรมนี้ยังคงเป็นพรแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั้งผู้รับและผู้ให้
การเป็นพยานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานและครอบครัว
ในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1995 ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า
“ด้วยการอ้างเหตุผลมากมายจนหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง ด้วยการหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม ด้วยสิ่งเย้ายวนและสิ่งล่อใจมากมายให้ยอมรับความสกปรกโสมมที่เกิดขึ้นช้าๆ ของโลก เราจึงรู้สึกว่าต้องเตือนและเตือนล่วงหน้า เพื่อทำเช่นนี้ เราฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครสาวกสิบสองจึงได้ออกถ้อยแถลงต่อศาสนจักรและต่อโลกเป็นการประกาศและการยืนยันมาตรฐาน หลักคำสอน และหลักปฏิบัติอันเกี่ยวข้องกับครอบครัวซึ่งศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยของศาสนจักรนี้กล่าวย้ำหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของศาสนจักร”77
ต่อจากคำเกริ่นนำนี้ ประธานฮิงค์ลีย์อ่าน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
ความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานและครอบครัวเป็นหัวข้อสำคัญในข่าวสารของประธานฮิงค์ลีย์เสมอ ท่านประณามการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ ท่านกระตุ้นให้บิดามารดาและบุตรอดทนต่อกัน รักกัน สอนกัน และรับใช้กัน ในจดหมายลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 ท่านกับที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า
“เราขอร้องให้บิดามารดาพยายามทุ่มเทเต็มที่กับการสอนและการเลี้ยงดูบุตรธิดาในหลักธรรมพระกิตติคุณซึ่งจะทำให้พวกเขาใกล้ชิดศาสนจักร บ้านคือพื้นฐานของชีวิตที่ชอบธรรม ไม่มีเครื่องมือใดมาแทนที่หรือมีสัมฤทธิผลในการดำเนินงานสำคัญยิ่งอันเป็นความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้
“เราขอแนะนำบิดามารดาและลูกๆ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาและการสอนพระกิตติคุณ ตลอดจนกิจกรรมที่ดีงามของครอบครัว แม้อาจจะมีข้อเรียกร้องหรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมและทรงคุณค่า แต่ต้องไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาแทนหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้เฉพาะบิดามารดาและครอบครัวเท่านั้นที่จะทำได้ดีพอ”78
การยื่นมือช่วยเหลือผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่
ประธานฮิงค์ลีย์ชอบเห็นคนจำนวนมากเข้าร่วมศาสนจักร แต่ท่านเป็นห่วงแต่ละบุคคลที่อยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้น ช่วงแรกของการบริหารงาน ท่านกล่าวว่า
“เนื่องจากจำนวนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เราจึงต้องพยายามช่วยพวกเขามากขึ้นขณะพวกเขาหาทางของตนเอง พวกเขาทุกคนต้องการสามสิ่ง เพื่อน ความรับผิดชอบ และการบำรุงเลี้ยงด้วย ‘พระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า’ (โมโรไน 6:4) หน้าที่และโอกาสของเราคือจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขา”79
การทำให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่เข้มแข็งเป็นหัวข้อที่ประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงเสมอ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เล่าเรื่องที่ประธานฮิงค์ลีย์เน้นหัวข้อนี้ว่า “เมื่อไม่นานมานี้ ท่านกล่าวกับอัครสาวกสิบสองด้วยดวงตาเป็นประกายพลางตบโต๊ะตรงหน้าท่านว่า ‘พี่น้องทั้งหลาย เมื่อชีวิตข้าพเจ้าสิ้นสุดและพิธีศพเสร็จสิ้น ข้าพเจ้าจะลุกขึ้นนั่งขณะอยู่ในโลง มองตาท่านแต่ละคน และพูดว่า “การรักษาให้คงอยู่ไปถึงไหนแล้ว”’”80
การสร้างพระวิหาร
คริสต์ศักราช 1910 ปีก่อนกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เกิด มีพระวิหารเปิดดำเนินการ 4 แห่งในโลกและทั้งหมดอยู่ในยูทาห์ ประมาณปี 1961 เมื่อท่านได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นอัครสาวก จำนวนพระวิหารเพิ่มเป็น 12 แห่ง ความก้าวหน้าครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง แต่เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์มักแสดงความห่วงใยที่คนมากมายทั่วโลกไปรับพรพระวิหารได้จำกัด คริสต์ศักราช 1973 ขณะรับใช้เป็นประธานคณะกรรมการพระวิหารของศาสนจักร ท่านเขียนในบันทึกส่วนตัวว่า “ศาสนจักรสร้างพระวิหาร [ขนาดเล็กหลายแห่ง] ได้ด้วยเงินที่ใช้สร้างพระวิหารวอชิงตัน [เวลานั้นอยู่ระหว่างก่อสร้าง] เงินนี้จะนำพระวิหารไปให้ผู้คนแทนที่จะให้ผู้คนเดินทางไกลไปพระวิหาร”81
เมื่อท่านได้รับการสนับสนุนเป็นประธานศาสนจักรในปี 1995 จำนวนพระวิหารที่เปิดดำเนินการเพิ่มเป็น 47 แห่ง แต่ความปรารถนาจะสร้างพระวิหารเพิ่มยังคงแรงกล้าเหมือนเดิม ท่านกล่าวว่า “ความปรารถนาแรงกล้าของข้าพเจ้าคือมีพระวิหารทุกแห่งที่จำเป็นเพื่อให้ผู้คนของเรา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด สามารถมาทำศาสนพิธีของตนที่พระนิเวศน์ของพระเจ้าได้โดยไม่ต้องเสียสละมากเกินไปและมีโอกาสทำงานแทนผู้วายชนม์”82
ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 1997 ประธานฮิงค์ลีย์ทำการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ว่า ศาสนจักรจะเริ่มสร้างพระวิหารขนาดเล็กทั่วโลก83 ท่านกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าแนวคิดเรื่องพระวิหารขนาดเล็กเป็นการเปิดเผยโดยตรง84 ปี 1998 ท่านประกาศว่าพระวิหารขนาดเล็กอีก 30 แห่ง พร้อมด้วยพระวิหารอื่นที่วางแปลนแล้วหรือกำลังก่อสร้าง จะทำให้ “มีพระวิหารใหม่ทั้งหมด 47 แห่งเพิ่มจากที่เปิดดำเนินการอยู่เวลานี้ 51 แห่ง” ยังความปลาบปลื้มแก่ทุกคนที่ฟัง ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวเพิ่มจากนั้นว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเราน่าจะเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อให้มีพระวิหารครบ 100 แห่งในช่วงปลายศตวรรษนี้ ซึ่งเป็น 2000 ปี ‘นับแต่การเสด็จมาในเนื้อหนังของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราพระเยซูคริสต์’ (คพ. 20:1)” ท่านสัญญาต่อจากนั้นว่า “จะยังมีมาอีกหลายแห่ง”85
วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ประธานฮิงค์ลีย์อุทิศพระวิหารบอสตัน แมสซาชูเซตส์ พระวิหารที่เปิดดำเนินการเป็นแห่งที่ 100 ก่อนปลายปี 2000 ท่านอุทิศพระวิหารอีกสองแห่ง เมื่อท่านถึงแก่กรรมในปี 2008 ศาสนจักรมีพระวิหารเปิดดำเนินการ 124 แห่ง และประกาศสร้างเพิ่มอีก 13 แห่ง ประธานฮิงค์ลีย์มีส่วนร่วมในการวางแผนและการก่อสร้างพระวิหารส่วนใหญ่ ท่านอุทิศด้วยตนเอง 85 แห่งและอุทิศซ้ำ 13 แห่ง (8 แห่งที่อุทิศซ้ำเป็นพระวิหารที่ท่านเคยอุทิศ)
ศูนย์การประชุมใหญ่
ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 1995 ประธานฮิงค์ลีย์แย้มความคิดที่อยู่ในใจท่านมานาน ท่านพูดจากแทเบอร์นาเคิลบริเวณเทมเปิลสแควร์ว่า “แทเบอร์นาเคิลใหญ่โตหลังนี้ดูเหมือนเล็กลงทุกปี เวลานี้เราประชุมกับคนกลุ่มใหญ่ขึ้นมากภายใต้หลังคาเดียวกันในการประชุมระดับเขตบางครั้ง”86 ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1996 ประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงความคิดนี้เพิ่มเติม
“ข้าพเจ้าเสียใจที่คนจำนวนมากผู้ประสงค์จะประชุมกับเราในแท-เบอร์นาเคิลเช้านี้ไม่สามารถเข้ามาข้างในได้ มีคนมากมายอยู่ในสนามด้านนอก หอประชุมพิเศษน่าทึ่งนี้ที่บรรพชนผู้บุกเบิกของเราสร้างและอุทิศเพื่อการนมัสการพระเจ้ามีที่นั่งสะดวกสบายประมาณ 6,000 ที่นั่ง บางท่านที่นั่งอยู่บนม้านั่งแข็งนานสองชั่วโมงอาจสงสัยคำว่า สะดวกสบาย
“ใจข้าพเจ้านึกถึงคนที่ประสงค์จะเข้ามาข้างในและไม่มีที่นั่งให้พวกเขา ประมาณหนึ่งปีก่อนข้าพเจ้าเสนอต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ว่าน่าจะถึงเวลาที่เราต้องศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างบ้านแห่งการนมัสการอีกแห่งให้ใหญ่กว่าเดิมมากเพื่อจะรองรับคนได้สามถึงสี่เท่าของจำนวนคนที่นั่งในอาคารหลังนี้”87
วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 วันครบรอบ 150 ปีที่ผู้บุกเบิกมาถึงหุบเขาซอลท์เลค มีพิธีเบิกดินสำหรับอาคารหลังใหม่—เรียกว่าศูนย์การประชุมใหญ่—ทางทิศเหนือของเทมเปิลสแควร์ ไม่ถึงสามปีต่อมา ในเดือนเมษายน ปี 2000 ศาสนจักรจัดการประชุมใหญ่สามัญภาคแรกที่นั่น แม้อาคารจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ประธานฮิงค์ลีย์อุทิศศูนย์การประชุมใหญ่ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 2000 ก่อนกล่าวคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ท่านยืนที่แท่นพูดซึ่งทำจากต้นวอลนัทดำที่ท่านปลูกในสวนของท่าน และกล่าวว่า
“วันนี้เราจะอุทิศพระวิหารแห่งนี้ให้เป็นพระนิเวศน์ที่ใช้นมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์และพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เราหวังและเราสวดอ้อนวอนขอให้การประกาศประจักษ์พยานและหลักคำสอน ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ และความสำนึกคุณต่อการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ไถ่ของเรา”จะยังคงออกจากแท่นพูดนี้ไปสู่ชาวโลก”88
ประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ประธานฮิงค์ลีย์ ที่ปรึกษาของท่านในฝ่ายประธานสูงสุด และโควรัมอัครสาวกสิบสองจัดพิมพ์ถ้อยแถลงเรื่อง “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ท่านเหล่านั้นประกาศเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดดังนี้ “ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้นต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก”89
ไม่มีผู้ใดอื่นมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อชีวิตของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์มากเท่านี้ เป็นเวลากว่า 46 ปีที่ท่านรับใช้เป็นพยานพิเศษถึงพระนามของพระเยซูคริสต์ ไม่กี่เดือนหลังจากท่านและพี่น้องชายจัดพิมพ์ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ประธานฮิงค์ลีย์ยืนต่อหน้าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและกล่าวว่า “ในบรรดาสิ่งสารพัดที่ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกคุณเช้านี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นกว่าอย่างอื่น นั่นคือประจักษ์พยานที่มีชีวิตเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ เจ้าชายแห่งสันติ พระผู้บริสุทธิ์”90
การทดลองและความหวัง
ช่วงท้ายการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 2004 ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าใคร่ขอช่วงเวลานี้กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวของข้าพเจ้าสักครู่ บางท่านอาจจะสังเกตว่าวันนี้ซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์ไม่ได้อยู่ที่นี่ เป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปีนับตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่เธอไม่มาร่วมการประชุมใหญ่ … ตอนที่เธอล้มพับด้วยความอ่อนเพลียเรากำลังเดินทางกลับบ้าน [จากแอฟริกาในเดือนมกราคม] เธอไม่ค่อยสบายนับแต่นั้น … ข้าพเจ้าคิดว่าเข็มนาฬิกากำลังหมุนช้าลง และเราไม่รู้วิธีหมุนกลับ
“นี่คือเวลาที่เศร้าหมองสำหรับข้าพเจ้า เราแต่งงานครบ 67 ปีเดือนนี้ เธอเป็นคุณแม่ของลูกๆ ห้าคนที่มีพรสวรรค์และความสามารถ เป็นคุณยายของหลานๆ 25 คนและเหลนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เราเดินเคียงข้างกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เคียงบ่าเคียงไหล่เป็นมิตรแท้ทั้งในยามทุกข์และยามสุข เธอพูดไว้ลึกซึ้งและครอบคลุมในประจักษ์พยานของงานนี้ โดยให้ความรัก กำลังใจ และศรัทธาไม่ว่าเธอจะไปที่ใดก็ตาม”91
สองวันต่อมา วันที่ 6 เมษายน มาร์จอรี เพย์ ฮิงค์ลีย์ถึงแก่กรรม คนหลายล้านคนที่รักเธอเพราะใจห่วงหาอาทร ไหวพริบปฏิภาณ และศรัทธาอันมั่งของเธอพลอยโศกเศร้าไปกับประธานฮิงค์ลีย์ด้วย ท่านขอบคุณสำหรับจดหมายแสดงความรักและให้กำลังใจที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ท่านกล่าวว่า การแสดงออกเหล่านี้ “ให้การปลอบโยนในยามที่เราทุกข์โศก”92 คนจำนวนมากทำการบริจาคในนามของซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เข้ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา
แม้จะทำใจได้ยากเรื่องการสูญเสียมาร์จอรีแต่ประธานฮิงค์ลีย์ยังคงทำงานของศาสนจักรต่อไปแม้สุขภาพของท่านจะเสื่อมโทรมไปบ้าง ท่านเริ่มถือไม้เท้า บางครั้งท่านใช้ไม้เท้าประคองตนเอง แต่บ่อยกว่านั้นคือใช้โบกทักทายสมาชิกศาสนจักร ประธานโธมัส เอส. มอนสันจำการสนทนากับแพทย์ประจำตัวประธานฮิงค์ลีย์ได้ เขากังวลกับวิธีที่ประธานฮิงค์ลีย์ใช้—และไม่ใช้—ไม้เท้า แพทย์คนนั้นพูดว่า “เรื่องสุดท้ายที่เราไม่ต้องการให้เกิดกับท่านคือหกล้มสะโพกหักหรือไม่ก็แย่กว่านั้น แต่ท่านโบกไม้เท้าไปทั่วแล้วก็ไม่ใช้ไม้เท้าเวลาเดิน บอกท่านหน่อยสิครับว่าแพทย์ประจำตัวสั่งให้ใช้ไม้เท้า และท่านต้องใช้ตามที่มีไว้ให้ใช้” ประธานมอนสันตอบว่า “คุณหมอครับ ผมเป็นที่ปรึกษาของประธานฮิงค์ลีย์นะครับ คุณเป็นหมอของท่าน คุณ บอกท่านเองสิครับ!”93
ต้นคริสต์ศักราช 2006 เมื่อประธานฮิงค์ลีย์อายุ 95 ปีแพทย์วินิจฉัยว่าท่านเป็นมะเร็ง ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมปีนั้น ท่านกล่าวว่า “พระเจ้าทรงอนุญาตให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านานเท่าใด แต่ไม่ว่าเวลาใด ข้าพเจ้าจะยังคงทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด … ข้าพเจ้ารู้สึกดี สุขภาพของข้าพเจ้าดีพอสมควร แต่เมื่อถึงเวลาของผู้สืบทอด การเปลี่ยนแปลงจะราบรื่นและเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้เป็นเจ้าของศาสนจักรนี้”94
ปีต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 ประธานฮิงค์ลีย์ปิดการประชุมใหญ่สามัญครั้งสุดท้ายของท่านโดยกล่าวว่า “เราตั้งตารอพบท่านอีกครั้งในเดือนเมษายนครั้งหน้า ข้าพเจ้าอายุ 97 ปี แต่หวังว่าข้าพเจ้าจะอยู่ถึงเวลานั้น ขอให้พรของสวรรค์สถิตกับท่านในระหว่างนี้ นี่คือคำสวดอ้อนวอนด้วยความอ่อนน้อมจริงใจของเราในพระนามของพระผู้ไถ่ แม้พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เอเมน”95
เวอร์จิเนียบุตรสาวของประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เรียกสี่ปีหลังจากซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์ถึงแก่กรรมว่าเป็น “ช่วงสุดท้าย” ของชีวิตประธานฮิงค์ลีย์ เธอกล่าวต่อจากนั้นเกี่ยวกับคำสวดอ้อนวอนของท่านเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2008 หนึ่งสัปดาห์ก่อนท่านถึงแก่กรรม คราวอุทิศโบสถ์ที่บูรณะใหม่ในซอลท์เลคซิตี้
“ในคำสวดอ้อนวอนที่ผิดธรรมดามากครั้งนั้น ท่านวิงวอนพระเจ้าเพื่อตัวท่านเองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ท่านทูลด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณว่า ‘นับจากวันเวลาของโจเซฟ สมิธจนถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งศาสดาพยากรณ์ให้คนเหล่านี้ พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยพระองค์และทูลวิงวอนขอพระองค์ทรงปลอบโยนและสนับสนุนเขา ทรงอวยพรเขาตามความต้องการของเขาและตามจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์’”96
วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2008 ประธานฮิงค์ลีย์รู้สึกเป็นครั้งแรกว่าท่านไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ในพระวิหารกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของท่านได้ วันอาทิตย์ต่อมา วันที่ 27 มกราคม ประธานมอนสันให้พรฐานะปุโรหิตแก่ท่าน โดยมีประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์และประธานบอยด์ เค. แพคเคอร์เป็นผู้ช่วย สายวันนั้น ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์จากไปอย่างสงบที่บ้าน รายล้อมไปด้วยบุตรธิดาของท่านและคู่สมรสของพวกเขา
ไม่กี่วันต่อมา คนหลายพันคนแสดงความเคารพขณะพวกเขาเดินผ่านหีบศพของประธานฮิงค์ลีย์ที่เปิดให้สาธารณชนแสดงความอาลัยในหอรูปปั้นศาสดาพยากรณ์ของศูนย์การประชุมใหญ่ ผู้นำจากศาสนจักรอื่นๆ และคณะรัฐบาลตลอดจนแวดวงธุรกิจส่งจดหมายแสดงความอาลัยโดยแสดงความสำนึกคุณต่ออิทธิพลและคำสอนของประธานฮิงค์ลีย์
พิธีศพจัดที่ศูนย์การประชุมใหญ่และแพร่ภาพไปอาคารศาสนจักรทั่วโลก คณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลร้องเพลงสวดเพลงใหม่อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม เพลงนั้นชื่อว่า “What Is This Thing That Men Call Death?” คำร้องของเพลงสวดเพลงนี้ประพันธ์โดยประธานฮิงค์ลีย์—ประจักษ์พยานสุดท้ายของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ถึงมิตรสหายผู้นับถือท่านเป็นศาสดาพยากรณ์
ใดฤาคือมนุษย์เรียกมรณา
สงบงันผ่านมาในราตรี
มิใช่อวสาน แต่คือปฐมกาล
แห่งโลกเลิศเลอเจิดจ้ารัศมี
โอ พระเจ้า ขอทรงสัมผัสใจร้าวราน
บรรเทาความหวาดหวั่นตามราวี
ให้ความหวัง ศรัทธา พิศุทธิ์พ้น
ดลพลังลบหยาดน้ำตาข้า
เพียงเปลี่ยนแปลงแต่ไม่มีมรณา
ด้วยการชดใช้จึงมีชัยเหนือกว่า
ของขวัญจากพระองค์ผู้ทรงรักบุตรธิดา
องค์บริสุทธิ์ พระบุตรพระผู้เป็นเจ้า97