“บทที่ 1 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้เรียนรู้จากพระองค์,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 1 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 1 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้เรียนรู้จากพระองค์
ยินดีต้อนรับสู่พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ (ศาสนา 250) ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอดว่า “ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้นต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” ChurchofJesusChrist.org) หลักสูตรนี้จะให้โอกาสศักดิ์สิทธิ์แก่ท่านในการเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์มากขึ้นเพื่อที่ท่านจะได้เพิ่มอิทธิพลของพระองค์ในชีวิต
สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนในหลักสูตรนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นโดยการปรับปรุงการศึกษาส่วนตัวและเตรียมให้ท่านมีการสนทนาที่จรรโลงใจกับผู้อื่น สื่อการเรียนการสอนนี้ประกอบด้วยพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง ข้อความสนับสนุนจากผู้นำศาสนจักร วีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง และคำเชิญให้ไตร่ตรองและประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ แต่ละบทเรียนจะมีหมวดเสริมที่ชื่อว่า “ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?” ซึ่งมีแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้ท่านเรียนรู้เพิ่มเติมและเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์
หมวดที่ 1
การเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์เปลี่ยนชีวิตฉันได้อย่างไร?
ลองนึกภาพว่าท่านอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ในช่วงเวลาของการปฏิบัติศาสนกิจของพระเจ้า ท่านได้ยินเรื่องอัศจรรย์มากมายเกี่ยวกับพระอาจารย์ที่ชื่อเยซูชาวนาซาเร็ธและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปฟังพระองค์ด้วยตนเอง วันที่ท่านพบพระองค์ พระเยซูทรงกำลังสอนคนกลุ่มใหญ่อยู่ พระองค์ทรงประกาศความยิ่งใหญ่ของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและตำหนิผู้คนที่ไม่เชื่อ (ดู มัทธิว 11:7–24) จากนั้นพระองค์ทรงทำการเชื้อเชิญที่อาจเปลี่ยนชีวิตท่านได้
พระเยซูคริสต์ประทานพระดำรัสเชื้อเชิญที่คล้ายกันนี้ในสมัยของเรา หลังจากเป็นพยานถึงราคาที่แทบเข้าใจไม่ได้ที่พระองค์ทรงจ่ายเพื่อชดใช้บาปของเราเพื่อเราจะได้กลับใจ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “จงเรียนรู้จากเรา, และฟังถ้อยคำของเรา; จงเดินด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณเรา, และเจ้าจะมีสันติสุขในเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23)
เมื่อกล่าวถึงพระดำรัสเชื้อเชิญนี้ เอ็ลเดอร์คิม บี. คลาร์กแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนดังนี้:
พระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ “เรียนรู้จากเรา” มีความหมายสอดคล้องกันมากกับวิธีเรียนรู้อย่างลึกซึ้งของพระเจ้า
ความหมายแรกของ “เรียนรู้จากเรา” คือ เรียนรู้เพื่อรู้จัก เรา
… รู้จักพระองค์คือเกิดจากพระองค์ทางวิญญาณ ประสบการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ กลายเป็นบุตรและธิดาของพระองค์ …
ความหมายที่สองของ “เรียนรู้จากเรา” คือ เรียนรู้ จาก เรา
… เมื่อเราใฝ่ใจศึกษาพระคัมภีร์ เราย่อมเรียนรู้จากแบบอย่างที่ดีพร้อมของพระองค์… เราต้องปฏิบัติด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยทำส่วนของเรา แต่ขณะทำเช่นนั้น … พระองค์ทรงสัญญาจะขยายความสามารถในการปฏิบัติอันชอบธรรมและช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น (“Learn of Me” [คำปราศรัยที่ให้กับนักการศึกษาศาสนา CES, 26 ม.ค. 2018], ChurchofJesusChrist.org; เพิ่มตัวเอน)
วิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดคือการศึกษาและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ “คำภาษากรีกสำหรับ พระกิตติคุณ หมายถึง ‘ข่าวประเสริฐ’” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระกิตติคุณ”) แล้วข่าวประเสริฐของพระกิตติคุณคืออะไร?
เมื่อใกล้สิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจต่อชาวเลมันและชาวนีไฟในแผ่นดินแห่งความอุดมสมบูรณ์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายความหมายและจุดประสงค์ของพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยพระดำรัสที่เรียบง่ายและชัดเจน
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
“ข่าวประเสริฐ” คือการที่เราสามารถหลบหนีความตายและนรกได้ เราสามารถเอาชนะความผิดพลาดและบาปได้ มีความหวัง มีความช่วยเหลือ สิ่งที่ดูเหมือนจะแก้ไขไม่ได้ก็ได้รับการแก้ไข และศัตรูปราชัย ข่าวประเสริฐก็คือวันหนึ่งหลุมฝังศพ ของทุกคน อาจว่างเปล่า จิตวิญญาณ ของทุกคน จะบริสุทธิ์อีกครั้ง ลูกของพระผู้เป็นเจ้า ทุกคน สามารถกลับไปหาพระบิดาผู้ทรงให้ชีวิตพวกเขาอีกครั้งได้(“งานสอนศาสนาและการชดใช้,” เลียโฮนา, ต.ค. 2001, 26–32)
หมวดที่ 2
ฉันจะเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้จากพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ได้อย่างไร?
เราอาศัยอยู่ในโลกที่สิ่งส่วนใหญ่กำหนดขึ้นโดยความรู้ทางโลก ความรู้ทางโลกมุ่งเน้นไปที่เรื่องทางโลกที่ไม่ถือว่าเป็นศาสนาหรือทางวิญญาณ ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความรู้ทางโลก ความรู้นี้มีความสำคัญและนำไปสู่การพัฒนาที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยี การแพทย์ การเกษตร การขนส่ง และการสื่อสาร นอกจากการเรียนรู้ทางโลกแล้ว สิ่งนี้ยังถือเป็นวิธีการเรียนรู้ความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทางวิญญาณอีกด้วย
เอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันแห่งสาวกเจ็ดสิบแยกแยะระหว่างการเรียนรู้ทางวิญญาณและทางวิทยาศาสตร์ดังนี้
การเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณ … เรียกร้องแนวทางที่แตกต่างจากการเรียนรู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์ วิธีการทางวิทยาศาสตร์และสติปัญญาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เรื่องเพียงเท่านี้จะไม่มีวันนำมาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ การเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณต้องใช้สติปัญญา แต่นั่นไม่เพียงพอ เราเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณโดยพระวิญญาณเท่านั้น (“A Pattern for Learning Spiritual Things” [การถ่ายทอดสดจากเซมินารีและสถาบันศาสนา, 7 ส.ค. 2012], ChurchofJesusChrist.org)
พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางวิญญาณว่า “เนื่องจากคนทั้งปวงไม่มีศรัทธา, เจ้าจงแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียรและสอนถ้อยคำแห่งปัญญาให้กัน; แท้จริงแล้ว, เจ้าจงแสวงหาถ้อยคำแห่งปัญญาจากหนังสือดีที่สุด, แสวงหาการเรียนรู้แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118)
พวกเราส่วนใหญ่รู้วิธีเรียนรู้โดย การศึกษา แต่เราจะเรียนรู้โดย ศรัทธา ได้อย่างไร? ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า
เราเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์เมื่อเราขวนขวายรักษาพระบัญญัติและ “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” [โมโรไน 4:3] นอกจากนี้ ศรัทธาของเราเพิ่มขึ้นทุกครั้งเมื่อเรา ใช้ ศรัทธาในพระองค์ นั่นคือความหมายของการเรียนรู้โดยศรัทธา
ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่เรามีศรัทธาว่าจะต้องเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า—แม้เมื่อความคิดเห็นคนส่วนใหญ่ดูแคลนเรา—หรือทุกครั้งที่เราต้านทานความบันเทิงหรือคตินิยมที่ส่งเสริมให้ฝ่าฝืนพันธสัญญา เรากำลัง ใช้ ศรัทธาของเรา ซึ่งส่งผลให้ศรัทธาของเรา เพิ่มพูน
นอกจากนี้ มีไม่กี่อย่างที่สร้างศรัทธาของเรามากกว่าการมุ่งมั่นศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนเป็นประจำ ไม่มีหนังสือเล่มใดเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ด้วยพลังและความชัดเจนเช่นนั้น …
แน่นอนว่าความปลอดภัยสูงสุดของเราเกิดขึ้นเมื่อเราเทียมแอกกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ชีวิตที่ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้าคือชีวิตที่เต็มไปด้วยความกลัว ชีวิตที่มีพระผู้เป็นเจ้าคือชีวิตที่เต็มไปด้วยสันติสุข นี่เพราะพรทางวิญญาณมาถึงผู้ซื่อสัตย์ การได้รับการเปิดเผยส่วนตัวเป็นพรประเสริฐสุดประการหนึ่งของพรเหล่านั้น (“เผชิญอนาคตด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา พ.ย. 2020, 75)