สถาบัน
บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ยอมรับพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้


“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ยอมรับพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)

“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ยอมรับพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ (หรือ “ผู้ได้รับการเจิม”) แห่งพันธสัญญาใหม่ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเลือกพระองค์ให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะมีโอกาสสนทนาว่าการยอมรับพระพันธกิจแห่งพระเมสสิยาห์ของพระเยซูคริสต์จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้อย่างไร นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนให้พิจารณาว่าพระเมสสิยาห์สามารถช่วยพวกเขาให้พ้นความเจ็บปวดหรือความทุกข์ที่พวกเขาประสบได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์

ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนโดยให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

ไม่มีใครรอดจากความเจ็บป่วยและความโศกเศร้า … บาดแผลแห่งจิตวิญญาณไม่ได้เป็นของคนร่ำรวยหรือคนยากจน ของวัฒนธรรม ประชาชาติ หรือคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่เกิดขึ้นกับทุกคนและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่เรารับจากประสบการณ์มรรตัยนี้ (นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “บาดเจ็บ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 84)

ท่านอาจจะเขียนวลีต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: บาดแผลแห่งจิตวิญญาณ

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันวิธีต่างๆ ที่เราประสบบาดแผลแห่งจิตวิญญาณ และบันทึกคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน เพื่อให้กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับนักเรียนมากขึ้น ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาระบุบาดแผลแห่งจิตวิญญาณของตนหรือของคนที่พวกเขารักในใจ กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาเป็นการส่วนตัวตลอดชั้นเรียนว่าพระเจ้าจะทรงช่วยบรรเทาบาดแผลเหล่านี้ได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนนิยามหรืออธิบายพระนาม พระเมสสิยาห์ และสาเหตุที่พระเมสสิยาห์ที่รอคอยจึงมีความสำคัญต่อผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าในสมัยพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่

ชี้ให้เห็นว่า อิสยาห์ 61:1–3 เป็นการพยากรณ์ว่าพระเมสสิยาห์จะช่วยรักษาจิตวิญญาณที่บาดเจ็บได้อย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนข้อเหล่านี้และมองหาคำและวลีที่สามารถให้ความหวังแก่ผู้ที่กำลังทุกข์ทรมาน

ขณะนักเรียนศึกษา ท่านอาจเขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน: วิธีที่พระเมสสิยาห์ทรงช่วยจิตวิญญาณที่บาดเจ็บ จากนั้นท่านอาจให้นักเรียนแบ่งปันคำหรือวลีที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญที่สุดและเขียนไว้บนกระดาน เพื่อช่วยให้นักเรียนคิดอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้:

  • คำหรือวลีนี้กล่าวถึงบาดแผลของจิตวิญญาณอย่างไร?

  • เหตุใดคำหรือวลีนี้จึงสำคัญสำหรับท่าน?

  • คำหรือวลีนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์และพระพันธกิจของพระองค์?

หลัง​จาก​ให้​เวลา​สำหรับ​การ​สนทนา​อย่าง​มี​ความหมาย ท่าน​อาจ​แสดง​ภาพที่แนบมาของ​พระ​เยซู​ใน​ธรรมศาลา​ที่​นาซาเร็ธ​ ทบทวนบริบทคร่าวๆ แล้วเชิญนักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันว่าพระเยซูคริสต์ทรงใช้ อิสยาห์ 61:1–2 ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้อย่างไร (หากจำเป็น ให้นักเรียนทบทวน ลูกา 4:18–22)

พระเยซูในธรรมศาลาที่นาซาเร็ธ โดย เกรก เค. โอลเซ็น

ท่านสามารถแสดงความจริงต่อไปนี้: พระเยซูคือพระเมสสิยาห์ที่ถูกส่งไปรักษาคนที่ชอกช้ำใจ ปลดปล่อยคนที่ช้ำ และชูใจทุกคนที่ไว้ทุกข์

  • พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยคนที่รู้สึกชอกช้ำใจหรือบอบช้ำทางอารมณ์ได้อย่างไร? (ท่านอาจจะอ่าน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยหรือปลอบโยนท่านหรือคนที่ท่านรู้จักอย่างไร?

อิสยาห์และแอลมาเป็นพยานถึงเดชานุภาพของพระเมสสิยาห์ในการช่วยเรา

ท่านอาจให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดและเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันวิธีต่างๆ ที่พระองค์ทรงทนทุกข์ในความเป็นมรรตัยพอสังเขป

พระเยซูทรงถูกไต่สวน
พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี
การตรึงกางเขน โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

ท่านอาจให้นักเรียนทำงานร่วมกับคู่ คนหนึ่งอาจศึกษา อิสยาห์ 53:3–6, 8, 11–12 และอีกคนหนึ่งอาจศึกษา แอลมา 7:11–12 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาสองสิ่ง: (1) พระเมสสิยาห์จะทรงทนทุกข์อย่างไร และ (2) พระองค์จะทรงเป็นพรแก่เราอย่างไรเพราะความทุกข์ทรมานของพระองค์ หลังจากนักเรียนสนทนากับคู่ของตนว่าพวกเขาค้นพบอะไร ให้เชิญนักเรียนบางคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับชั้นเรียน

ขณะที่นักเรียนแบ่งปัน อาจช่วยได้ถ้าบันทึกการเรียนรู้ของพวกเขาในข้อความทำนองนี้: เนื่องจากพระเมสสิยาห์ทรงแบกความเจ็บไข้ หอบความเจ็บปวด และการล่วงละเมิดของเรา พระองค์จึงทรงสามารถรักษาเรา นำสันติสุข แบกรับความชั่วช้าของเรา ให้อภัยเรา ปลอบโยนเรา และช่วยเรา ท่านอาจจะถามคำถามติดตามผลดังนี้:

ท่านอาจใช้เวลาสักครู่เพื่อช่วยนักเรียนระบุตัวอย่างในชีวิตจริงว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเหลือเราอย่างไร ตัวอย่างเหล่านี้อาจมาจากพระคัมภีร์ ผู้นำศาสนจักร หรือชีวิตของนักเรียนเอง ท่านสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองได้

ปรับปรุงการสอนและการเรียนรู้ของเรา

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองอย่างเงียบๆ บางครั้งคำพูดอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ทางวิญญาณ ความเงียบสามารถเป็นของขวัญอันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่กำลังเรียนรู้และได้ยินการกระซิบอันอ่อนโยนของพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยความกระจ่างชัดยิ่งขึ้น

นักเรียนอาจนึกถึง “บาดแผล” ที่พวกเขาหรือคนที่พวกเขารักกำลังประสบอีกครั้ง แสดงคำถามต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองแต่ละข้อ: ให้เวลานักเรียนบันทึกความคิดและความประทับใจ

  • การรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเข้าใจทุกสิ่งที่ท่านกำลังประสบส่งผลต่อการที่ท่านมองความเจ็บปวดและความทุกข์ของท่านเองอย่างไร?

  • ท่านคิดหรือรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซูคริสต์ขณะพิจารณาสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์เพื่อพระองค์จะทรงช่วยท่านได้? สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านทำอะไร?

  • ความรู้นี้เป็นพรแก่คนที่ท่านรู้จักที่กำลังดิ้นรนได้อย่างไร? ท่านจะแบ่งปันความรู้นี้กับพวกเขาได้อย่างไร?

หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจให้กระดาษโน้ตหรือกระดาษแผ่นเล็กๆ แก่นักเรียนแต่ละคน เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนคำตอบสำหรับคำถามต่อไปนี้:

  • นึกถึงคนที่ท่านรู้จักที่กำลังดิ้นรนกับสถานการณ์ที่ท้าทาย ท่านจะแบ่งปันข้อความอะไรกับพวกเขาเกี่ยวกับความสามารถของพระเยซูคริสต์ในการเสริมกำลังและเยียวยาเรา?

จากนั้นให้นักเรียนวางกระดาษไว้รอบๆ ห้อง ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเดินไปรอบๆ ห้องและอ่านข้อความต่างๆ

สำหรับครั้งต่อไป

เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอ่าน สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนสำหรับบทที่ 9 ท่านอาจส่งภาพและข้อความต่อไปนี้ให้พวกเขาก่อนชั้นเรียนถัดไป: ใช้เวลาศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนสำหรับบทที่ 9 และไตร่ตรองว่าเหตุใดจึงควรฉลองการประสูติของพระเยซูคริสต์ ที่ไม่ใช่แค่ฉลองเฉพาะคริสต์มาส แต่ฉลองตลอดทั้งปี

มารีย์ โยเซฟ และพระกุมารเยซู