“บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: พบความหวังในชัยชนะของพระเยซูคริสต์เหนือความตาย,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
พบความหวังในชัยชนะของพระเยซูคริสต์เหนือความตาย
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “การฟื้นคืนชีวิตจากความตายเป็นเสาหลักอันมั่นคงส่วนตัวของศรัทธาเรา เพิ่มความหมายให้คำสอนของเรา เพิ่มแรงจูงใจให้พฤติกรรมของเรา และเพิ่มความหวังสำหรับอนาคตของเรา” (“พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 75) ระหว่างบทเรียนนี้ นักเรียนจะสนทนาความเป็นจริงของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเจ้าและแบ่งปันว่าการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเจ้าให้ความหวังอย่างไรเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่มาพร้อมกับร่างกายมรรตัย
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
พยานหลายคนเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์
ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสาเหตุที่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์มีความสำคัญสำหรับพวกเขาเป็นการส่วนตัวสักสองสามข้อ จากนั้นจึงจัดเวลาในการแบ่งปันเป็นกลุ่มหรือทั้งชั้นเรียน ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อเพื่อประเมินสิ่งที่นักเรียนอาจต้องสนทนาในรายละเอียดมากขึ้นระหว่างบทเรียน
-
เหตุใดร่างกายของเราจึงสำคัญต่อโชคชะตานิรันดร์ของเรา? (ดู หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
-
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีการฟื้นคืนพระชนม์? (ดู 1 โครินธ์ 15:17–22 และ 2 นีไฟ 9:8–9)
-
เหตุใดการเสริมสร้างความเข้าใจและประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์จึงสำคัญ? (ท่านอาจทบทวน คำกล่าวของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
ท่านอาจให้ดูภาพพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อมารีย์ที่อุโมงค์ อ่าน ยอห์น 20:14–18 ด้วยกัน และให้นักเรียนจินตนาการว่ามารีย์จะรู้สึกอย่างไรที่ได้เห็นพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความคิด ความรู้สึก และความประทับใจ
เตือนนักเรียนว่าใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน พวกเขาได้รับเชิญให้เลือกเรื่องราวจากประจักษ์พยานของพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์และบันทึกความคิดและความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ให้เวลานักเรียนทบทวนข้อพระคัมภีร์ของพวกเขา หรือเลือกหนึ่งข้อหากจำเป็น จากนั้นให้พวกเขาจัดกลุ่มเล็กๆ และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องราวที่ศึกษา จากนั้นท่านอาจจะถามว่า
-
เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์อาจส่งผลต่อศรัทธาของบางคนในพระเยซูคริสต์อย่างไร?
ท่านสามารถให้ดูสถานการณ์ต่อไปนี้: พิจารณาว่าท่านจะตอบเพื่อนที่กล่าวว่า “ฉันเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นครูและผู้นำทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ฉันยอมรับคำสอนทางจริยธรรมของพระองค์ แต่ฉันไม่เชื่อว่าการฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นจริง”
ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา:
-
อัครสาวกเปาโลอาจตอบคำกล่าวนี้อย่างไร? (ท่านอาจต้องการทบทวน 1 โครินธ์ 15:14, 17–22 นักเรียนอาจระบุความจริงทำนองนี้ การฟื้นคืนพระชนม์จำเป็นต่อพระกิตติคุณของพระเจ้า เพราะการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิต)
-
เหตุใดการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์จึงเป็นศูนย์กลางของพระกิตติคุณของพระองค์? ความจริงอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ที่ได้รับการยืนยันเพราะพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์? (ท่านอาจต้องการทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
-
ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างที่รู้ว่าเพราะพระเยซูคริสต์ทุกคน—รวมทั้งท่าน—จะฟื้นคืนชีวิต? (ท่านสามารถแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับคำถามนี้ได้หากต้องการ)
เปาโลสอนว่าเราสามารถชื่นชมยินดีเพราะชัยชนะเหนือความตายของพระเยซูคริสต์
แบ่งปันเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวกับอลิสา ซึ่งเป็นลูกสาวของเอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันแห่งสาวกเจ็ดสิบ:
เกือบหนึ่งปีมาแล้ว อลิซาลูกสาวของเราเสียชีวิต เธอต่อสู้กับมะเร็งมาเกือบแปดปี ด้วยการผ่าตัดหลายครั้ง การบำบัดหลายวิธี ปาฏิหาริย์ที่น่าตื่นเต้น และความผิดหวังอย่างมาก เราเฝ้ามองดูสภาพทางร่างกายของเธอทรุดลงขณะที่เธอใกล้จบชีวิตมรรตัยของเธอ นี่เป็นเรื่องเจ็บปวดรวดร้าวที่ต้องเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวที่รักยิ่งของเรา—เด็กน้อยดวงตาสดใสที่โตขึ้นมาเป็นคนที่มีพรสวรรค์ เป็นผู้หญิง ภรรยา และแม่ที่ยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าคิดว่าหัวใจข้าพเจ้านั้นจะแหลกสลาย (“และความตายจะไม่มีอีกต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 121)
-
ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเคยรู้สึกคล้ายกันหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้น สถานการณ์เป็นอย่างไร?
เชิญนักเรียนมาทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์จอห์นสัน ในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และ 1 โครินธ์ 15:52–55 ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขามองหาคำสอนที่นำมาซึ่งการปลอบโยนและความหวัง จากนั้นท่านอาจถามว่า
-
หลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์จะนำการปลอบโยนและความหวังมาสู่ผู้คนที่กำลังดิ้นรนกับโรคที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม การบาดเจ็บที่เปลี่ยนแปลงชีวิต การเกิดที่มาพร้อมกับความผิดปกติ หรือการสิ้นชีวิตของผู้เป็นที่รักได้อย่างไร? (นักเรียนอาจระบุความจริงทำนองนี้ เราจะฟื้นคืนชีวิตด้วยร่างกายที่ไม่เสื่อมสลายและเป็นอมตะ)
-
การเข้าใจความเป็นจริงของการฟื้นคืนพระชนม์ช่วยท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเมื่อใด?
ท่านอาจแบ่งปันเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์ของอลิสา:
อลิสาค้นคว้าอัตราการรอดชีวิตของคนเป็นมะเร็งที่เธอเป็น และตัวเลขนั้นน่าผิดหวัง เธอเขียนว่า “แต่มีการรักษา ฉันจึงไม่กลัว พระเยซูทรงรักษามะเร็งของฉัน และของคุณแล้ว … ฉัน จะ ดีขึ้น ฉันดีใจที่ฉันรู้สิ่งนี้”
เราสามารถแทนคำว่า มะเร็ง ด้วยอาการป่วยทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์อื่นๆ ที่เราอาจเผชิญ เนื่องจากการฟื้นคืนพระชนม์ ความเจ็บป่วยเหล่านั้นก็ได้รับการรักษาด้วย (“และความตายจะไม่มีอีกต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 122)
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของอลิสาและเอ็ลเดอร์จอห์นสัน?
ท่านอาจร้องเพลงสวด “พระองค์ทรงฟื้น!” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 93) หรือรับชมวีดิทัศน์เรื่อง “พระองค์ทรงพระชนม์—เฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์เพราะพระเยซูคริสต์ทรงประชนม์” (2:26)
จากนั้นให้ดูคำถามต่อไปนี้ หรือบางคำถามที่ท่านรู้สึกว่าอาจเกี่ยวข้องกับนักเรียนของท่านมากขึ้น และเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองและบันทึกความคิด ความรู้สึก และความประทับใจของพวกเขา
-
การฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดนำหรืออาจนำสันติสุขและความหวังมาสู่ท่านเมื่อท่านเผชิญความท้าทายของการเป็นมรรตัยอย่างไร?
-
ท่านจะใช้สิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์เพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านหรือประจักษ์พยานของคนอื่นได้อย่างไร?
หลังจากให้เวลาพอสมควรในการเขียนและไตร่ตรองแล้ว กระตุ้นให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน
สำหรับครั้งต่อไป
เพื่อกระตุ้นการเตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนถัดไป ท่านอาจส่งข้อความต่อไปนี้ให้นักเรียน: ขณะศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนบทที่ 18 ให้นึกถึงบทบาทของพระคุณในชีวิตท่าน