สถาบัน
บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านศีลระลึก


“บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านศีลระลึก,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)

“บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านศีลระลึก

เอ็ลเดอร์ปีเตอร์ เอ็ม. จอห์นสันแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า “มีความรู้แจ้งทางวิญญาณที่สัมพันธ์กันกับศีลระลึก—สิ่งนี้เป็นส่วนตัว สิ่งนี้มีพลัง และสิ่งนี้จำเป็น” (“พลังอำนาจในการเอาชนะปฏิปักษ์,” เลียโฮนา, พ.ย.2019, 112) ในบทนี้ นักเรียนจะมีโอกาสแบ่งปันว่าศีลระลึกสามารถเป็นอิทธิพลส่วนตัวและทรงพลังในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร พวกเขาจะพิจารณาด้วยว่าตนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมาหาพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้นเมื่อรับศีลระลึกและพยายามระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาศีลระลึกเป็นเครื่องเตือนใจถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์

เตือนนักเรียนว่าในคืนก่อนการตรึงกางเขน พระผู้ช่วยให้รอดเสวยปัสกากับสานุศิษย์ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำศีลระลึกระหว่างมื้ออาหารนี้

ปรับปรุงการสอนและการเรียนรู้ของเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกภาพข้อพระคัมภีร์และเรื่องราว สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขามีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่พวกเขากำลังเรียนรู้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมที่กำลังศึกษาด้วย

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ท่านอาจแสดงภาพเหตุการณ์และเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:19–20, 26–30 เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าการอยู่ในช่วงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศีลระลึกครั้งแรกเป็นอย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาคิดหรือรู้สึก

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาไม่ใช่ชาวคริสต์และกำลังเห็นการปฏิบัติศีลระลึกเป็นครั้งแรกในการประชุมของศาสนจักร ระหว่างการประชุม ที่ประชุมจะร้องเพลง “เยซูแห่งนาซาเร็ธ” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 82) อวยพรและส่งผ่านขนมปังและน้ำศีลระลึก (การให้นักเรียนอ่านเพลงสวดนี้อาจเป็นประโยชน์) เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำถามสองสามข้อที่พวกเขาอาจมีเกี่ยวกับศีลระลึกหากพวกเขาไม่ใช่ชาวคริสต์

หลังจากนักเรียนบันทึกคำถามแล้ว ขอให้พวกเขาสร้างกลุ่มเล็กๆ ให้สมาชิกกลุ่มผลัดกันถามและตอบคำถาม

ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถาม ให้ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละกลุ่มและฟังสิ่งที่แต่ละกลุ่มกำลังแบ่งปัน จากสิ่งที่ท่านได้ยิน ให้พิจารณาว่าการถามคำถามต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนของท่านเรียนรู้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการสนทนาในชั้นเรียนหรือไม่:

  • เครื่องหมายของศีลระลึกหมายถึงอะไร? (นักเรียนอาจระบุความจริงดังนี้: ขนมปังและเหล้าองุ่น หรือน้ำ หมายถึงพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์สำหรับเรา)

  • พระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผ่านสัญลักษณ์ของขนมปัง เหล้าองุ่น และน้ำ? เหตุใดการฉีกขนมปังก่อนที่เราจะกินจึงสำคัญ?

  • เหตุใดการที่เรากินขนมปังและดื่มน้ำ ไม่ใช่แค่มองดูเท่านั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ? (ท่านอาจต้องการทบทวน หัวข้อย่อย ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนเพื่อปรับปรุงการสนทนาของท่าน)

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองความสำคัญของเครื่องหมายของศีลระลึกและวิธีที่พวกเขาจะช่วยเตือนเราถึงธรรมชาติส่วนตัวของการเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอด

เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นเมื่อเรารับส่วนศีลระลึกอย่างรอบคอบ

ให้ดูสถานการณ์สมมติต่อไปนี้

แม้ว่าจูเลียจะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น แต่เธอมักจะรู้สึกเบื่อระหว่างการส่งผ่านศีลระลึก เธอรู้ว่าการส่งผ่านศีลระลึกนั้นสำคัญแต่ก็ยังไม่รู้สึกถึงพระวิญญาณ เมื่อมีการปฏิบัติศีลระลึกต่อที่ประชุม เธอมักจะพบว่าตัวเองนึกถึงเรื่องต่างๆ เช่น งานและการบ้าน ชีวิตบนโซเชียลของเธอ และสิ่งที่เธอจะทำหลังเลิกโบสถ์ บางครั้งเธอก็เลื่อนดูโซเชียลมีเดียบนโทรศัพท์

  • ท่านจะอธิบายวิธีที่จูเลียอยู่ในศีลระลึกว่าอย่างไร? จูเลียอาจพลาดโอกาสและพรใดเนื่องจากวิธีที่เธออยู่ในศีลระลึก?

  • ท่านคิดว่าประสบการณ์ของจูเลียอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรถ้าพระผู้ช่วยให้รอดพระองค์เองทรงกำลังมอบขนมปังและน้ำให้เธอ?

เชื้อเชิญให้นักเรียนบางคนทบทวน 3 นีไฟ 18:7, 10–12; 20:8–9 อีกส่วนหนึ่งให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79 และคนอื่นๆ ให้ศึกษา คำกล่าวของซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลิน ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรม เจตคติ และพรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศีลระลึก ท่านหรือพวกเขาอาจเขียนสิ่งที่ค้นพบไว้บนกระดาน

ขณะนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวหรือตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้อคิดของพวกเขา พวกเขาอาจยกตัวอย่างหรือประสบการณ์จากคนที่พวกเขาพูดคุยด้วยในการเตรียมตัวสำหรับเข้าชั้นเรียน (ดู “สนทนาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน” ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

ขณะที่นักเรียนสนทนาความหมายของการระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา ท่านอาจถามดังนี้:

  • การระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดจะมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร? ท่านจะทำเช่นนี้ได้ดีขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ได้อย่างไร?

ท่านอาจให้เวลานักเรียนไตร่ตรองและเขียนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในศีลระลึกของพวกเขาเอง พวกเขาอาจพิจารณาวิธีปรับปรุงประสบการณ์ระหว่างศีลระลึกและความพยายามที่จะ “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77)

หากนักเรียนมีคำถามเกี่ยวกับการมีค่าควรรับศีลระลึก หรือหากท่านรู้สึกว่าได้รับการกระตุ้นเตือนให้สนทนาหัวข้อนี้ในชั้นเรียน ให้ดู หมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ท่านอาจจะถามว่า

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้อง “สำรวจ” ตนเองขณะเตรียมรับศีลระลึก? (ดู 1 โครินธ์ 11:27–29)

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับ คำกล่าวของเอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์ก เกี่ยวกับการมีค่าควรรับศีลระลึก (จากหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) คำแนะนำนี้จะให้ความหวังแก่ผู้ที่กำลังต่อสู้กับความอ่อนแอ บาป หรือความท้าทายอื่นๆ อย่างไร?

เพื่อจบชั้นเรียน นักเรียนของท่านหรือท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานว่าศาสนพิธีศีลระลึกช่วยให้เรามาหาพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร หรือนักเรียนอาจแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้สึกและเรียนรู้จากบทเรียน

สำหรับครั้งต่อไป

เพื่อกระตุ้นการเตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนถัดไป ท่านอาจส่งข้อความต่อไปนี้ (หรือข้อความของท่านเอง) ระหว่างสัปดาห์: ขณะที่ท่านศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ให้พิจารณาว่าเหตุใดการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

พิมพ์