สถาบัน
บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านศีลระลึก


“บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านศีลระลึก,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)

“บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ในความระลึกถึงเรา โดย วอลเตอร์ เรน

บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านศีลระลึก

นึกถึงครั้งสุดท้ายที่ท่านรับส่วนศีลระลึก ประสบการณ์ของท่านเป็นอย่างไร? ท่านให้ความสนใจอะไรต่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและความสัมพันธ์ในพันธสัญญาของท่านกับพระองค์? ขณะศึกษาบทเรียนในหน่วยที่ 4 ท่านจะมีโอกาสพิจารณาว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้พระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์เป็นส่วนตัว มีความเกี่ยวข้อง และประยุกต์ใช้ในชีวิตท่านได้มากขึ้น

หมวดที่ 1

ศีลระลึกจะช่วยให้ฉันใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร?

สองสามชั่วโมงก่อนเสด็จไปที่สวนเกทเสมนี พระเยซูรับสั่งให้อัครสาวกสิบสองของพระองค์เตรียมอาหารปัสกา (ดู มัทธิว 26:17–19) เป็นเวลาเกือบ 1,500 ปีที่ลูกหลานของอิสราเอลได้เฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาและใช้เลือดของลูกแกะที่ไร้ตำหนิเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยจากเทพผู้ทำลาย (ดู อพยพ 12:21–28; 13:14–15) หลังอาหารมื้อนี้ พระเยซูคริสต์ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า ได้ทำให้สัญลักษณ์ของเทศกาลปัสกาเกิดสัมฤทธิผลเมื่อพระโลหิตของพระองค์หลั่งและพระองค์ทรงกลายเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก (ดู ยอห์น1:29; 1 เปโตร 1:18–19) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมื้อปัสกาสุดท้ายของพระองค์ “พระองค์ทรงริเริ่มจัดตั้งพิธีศีลระลึกเพื่อเตือนใจเราถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันยิ่งใหญ่ของพระองค์” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” ChurchofJesusChrist.org) การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจะรวมถึงการทนทุกข์ของพระองค์ในเกทเสมนี การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์

พระเยซูทรงหักขนมปังในพระกระยาหารมื้อสุดท้าย
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน มัทธิว 26:26–28 และจินตนาการว่าการรับศีลระลึกจากพระเยซูคริสต์จะเป็นอย่างไร  

ขนมปังและเหล้าองุ่นหรือน้ำเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึก เครื่องหมาย คือการแสดงกรอบความคิด คุณลักษณะ หรือแนวคิดในเชิงกายภาพ ขณะที่ท่านศึกษาประเด็นต่อไปนี้ ให้ไตร่ตรองว่าเครื่องหมายศีลระลึกสามารถเตือนท่านให้นึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อท่านได้อย่างไร

  • ในช่วง 40 ปีของอิสราเอลโบราณในถิ่นทุรกันดาร พวกเขาได้รับมานาหรือ “อาหารจากสวรรค์” ทุกวัน (ยอห์น 6:31; ดู สดุดี 78:24–25 ด้วย) หลังจากพูดถึงมานา พระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่า “เราเป็นอาหารดำรงชีวิตซึ่งลงมาจากสวรรค์ … คน​ที่​กิน​อาหาร​นี้​จะ​มี​ชีวิต​นิ‌รันดร์” (ยอห์น 6:51, 58)

  • ส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ พระวรกายของพระเยซูคริสต์ “พบความชอกช้ำเพื่อเรา” (“เยซูแห่งนาซาเร็ธ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 82) ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดตั้งข้อสังเกตว่า “เนื่องจากขนมปังถูกหักและฉีกออก แต่ละชิ้นจึงมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับแต่ละบุคคลที่รับส่วนขนมปังนั้น (“Important Aspects of Missionary Work Remain Unchanged, Says Elder Oaks,” Church News, June 30, 2017, ChurchofJesusChrist.org)

  • เหล้าองุ่นถูกใช้ในศีลระลึกแรกเพื่อเป็นสิ่งแทนพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ เราได้รับการชำระด้วยพระโลหิตของพระองค์ (ดู 1 ยอห์น 1:7) วันนี้เราใช้น้ำ ซึ่งหมายถึงการชำระให้สะอาดด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:2) และจำเป็นต่อชีวิต ขณะอยู่ที่บ่อน้ำ พระเยซูทรงบอกหญิงชาวสะมาเรียว่าน้ำที่พระองค์ทรงมอบให้เราเป็นเหมือน “บ่อ‍น้ำ‍พุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิ‌รันดร์” (ยอห์น 4:14)

  • เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ในเชิงภาพพจน์ การรับประทานพระมังสา [ของพระคริสต์] และการดื่มพระโลหิตของพระองค์มีความหมายและความสำคัญเพิ่มเติม นั่นคือการเปลี่ยนแปลงภายในด้วยคุณสมบัติและพระอุปนิสัยของพระคริสต์ … เมื่อเรารับส่วนขนมปังและน้ำศีลระลึกในแต่ละสัปดาห์ เราจะได้ประโยชน์ในการพิจารณาว่าเราต้องนำพระอุปนิสัยและรูปแบบพระชนม์ชีพที่ไร้บาปของพระองค์มาใช้ในชีวิตของเราและในตัวตนของเราอย่างเต็มที่และครบถ้วนอย่างไร” (“อาหารดำรงชีวิตซึ่งลงมาจากสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 37)

เครื่องหมายศีลระลึก
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

เขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้: ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ของขนมปังและน้ำ? ท่านต้องการจดจำอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดในครั้งต่อไปที่ท่านรับส่วนขนมปังและน้ำระหว่างศีลระลึก?

หมวดที่ 2

การรับส่วนศีลระลึกจะช่วยให้ฉันเข้าถึงพลังอำนาจของพระเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร?

ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจท่ามกลางชาวนีไฟและชาวเลมัน พระเยซูคริสต์ประทานสิทธิอำนาจแก่สานุศิษย์ของพระองค์และทรงบัญชาให้พวกเขาปฏิบัติศีลระลึกแก่สมาชิกของศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “เจ้าจงถือปฏิบัติเสมอ … แม้ดังที่เราหักขนมปังและอวยพรมันและให้มันแก่เจ้า” (3 นีไฟ 18:6; ดู ข้อ 5 ด้วย) การพบปะกันบ่อยครั้งและรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรเป็นพระบัญชาจากพระเจ้าในสมัยของเราด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75; 59:9)

พระเยซูทรงปฏิบัติศีลระลึกให้ชาวนีไฟ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน 3 นีไฟ 18:7, 10–12; 20:8–9 และมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์อย่างซื่อสัตย์ในการปฏิบัติและรับส่วนศีลระลึก

ซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลิน อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญ พูดถึงพรที่พระเจ้าประทานแก่เราผ่านศีลระลึกด้วย:

ซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลิน

ศีลระลึกกลายเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณเมื่อเราฟังคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกและทำตามพันธสัญญาของเราอีกครั้ง … เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราเป็นพยานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าเราจะระลึกถึงพระบุตรของพระองค์ตลอดเวลา ไม่เพียงในระหว่างศาสนพิธีศีลระลึกสั้นๆ …

ศีลระลึกให้เวลาสำหรับประสบการณ์ทางวิญญาณอย่างแท้จริงเมื่อเราไตร่ตรองถึงเดชานุภาพการไถ่และพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการชดใช้ของพระองค์ …

… เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตยื่นแขนของเขามาที่เราเพื่อมอบเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ ราวกับว่าพระผู้ให้รอดพระองค์เองที่ทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตาของพระองค์ เชื้อเชิญเราแต่ละคนให้รับส่วนของประทานอันล้ำค่าแห่งความรักที่มีผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์—ของประทานแห่งการกลับใจ การให้อภัย การปลอบโยน และความหวัง

ยิ่งเราไตร่ตรองความสำคัญของศีลระลึกมากขึ้นเท่าใด ศีลระลึกจะยิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายสำหรับเรามากขึ้นเท่านั้น (“ศีลระลึก—การเริ่มใหม่สำหรับจิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 12, 13–14)

คนหนุ่มสาวรับศีลระลึก
ไอคอน สนทนา

สนทนาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ติดต่อเพื่อนหรือญาติที่ไว้ใจได้ซึ่งเป็นแบบอย่างของศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ถามว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อเพิ่มความคารวะระหว่างศีลระลึกหรือขอให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขาพยายามระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาอย่างไร เตรียมพร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้กับชั้นเรียน

หมวดที่ 3

ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันมีค่าควรรับศีลระลึกอย่างแท้จริง?

อัครสาวกเปาโลกระตุ้นให้สมาชิกศาสนจักร “สำรวจ” ตนเอง (1 โครินธ์ 11:28) ก่อนรับส่วนศีลระลึก เขาเตือนว่า “เพราะว่าคนที่กินและดื่มโดยไม่ได้ตระหนักถึงพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็กินและดื่มเป็นเหตุให้ตนเองถูกลงโทษ” (1 โครินธ์ 11:29; ดู ข้อ 27–28; 3 นีไฟ 18:28–29 ด้วย) ความอัปมงคลคือการถูกหยุดยั้งความก้าวหน้าของคนคนหนึ่ง (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “อัปมงคล (ความ),” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)

เอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์กขณะรับใช้ในสาวกเจ็ดสิบเสนอแนวทางต่อไปนี้เพื่อประเมินความมีค่าควรส่วนตัว:

เอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์ก

ถ้าเราปรารถนาจะปรับปรุง (ซึ่งคือการกลับใจ) และไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของฐานะปุโรหิต เมื่อนั้นในความเห็นของข้าพเจ้า เราย่อมมีค่าควร อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่ปรารถนาจะปรับปรุง ถ้าเราไม่ประสงค์จะทำตามการนำทางของพระวิญญาณ เราต้องถามว่า เรามีค่าควรรับส่วนหรือไม่ หรือเรากำลังเย้ยหยันจุดประสงค์ของศีลระลึกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการกลับใจและการปรับปรุงตนเอง (“The Beauty and Importance of the Sacrament,” Ensign, May 1989, 38)

8:27
ไอคอน ลงมือทำ

ลงมือทำ

ขณะเตรียมรับส่วนศีลระลึก ให้พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อใช้ประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่านสามารถเริ่มต้นการเตรียมตัวโดยการสำรวจชีวิตของท่านเองได้ หากท่านรู้สึกว่าไม่คู่ควรที่จะรับศีลระลึก ให้นัดหมายกับอธิการหรือประธานสาขาและแบ่งปันข้อกังวลของท่าน