“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ตระหนักถึงปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอด,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
ตระหนักถึงปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอด
พระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่า “เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์” (2 นีไฟ 27:23) ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะมีโอกาสแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ผ่านปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงทำระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย นักเรียนจะได้พิจารณาเช่นกันว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับปาฏิหาริย์ของพระเจ้าในชีวิตพวกเขาและระบุปาฏิหาริย์ที่พวกเขาได้รับแล้ว
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
พระเยซูคริสต์ทรงรักษาผู้คนทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ
ท่านอาจให้ดูภาพปาฏิหาริย์ต่อไปนี้ที่สอดคล้องกับกิจกรรม “บันทึกความคิดของท่าน” ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน เมื่อเริ่มชั้นเรียน ให้ดึงความสนใจของนักเรียนไปที่รูปภาพ และเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันความประทับใจทั่วไปของพวกเขาเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของพระเยซูพอสังเขป
ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนไปที่กิจกรรม “บันทึกความคิดของท่าน” ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและทบทวนปาฏิหาริย์ที่พวกเขาศึกษาในการเตรียมตัวสำหรับชั้นเรียน หากพวกเขาไม่ได้เตรียมตัวมา เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกปาฏิหาริย์เพื่อศึกษา ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีทบทวนหรือศึกษาปาฏิหาริย์ที่พวกเขาเลือกและไตร่ตรองคำตอบของพวกเขาที่มีต่อคำถามสองข้อจากกิจกรรม
หลังจากให้เวลานักเรียนทบทวนพอสมควรแล้ว ให้พวกเขาจัดกลุ่มเล็กๆ กับนักเรียนคนอื่นๆ ที่ศึกษาปาฏิหาริย์ที่ต่างออกไป สมาชิกกลุ่มแต่ละคนควรได้รับโอกาสสรุปปาฏิหาริย์ที่ได้ศึกษาโดยสังเขปและสนทนาคำตอบต่อคำถามอย่างน้อยหนึ่งข้อจากสองข้อที่ให้มา
ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งมาสรุปเรื่องราวของพระเจ้ารักษาชายที่เป็นอัมพาต ดังที่บันทึกไว้ใน มาระโก 2:5–12 และมีการสนทนาใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
จากนั้นท่านอาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นโดยถามคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อ:
-
เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับอำนาจการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอดจากปาฏิหาริย์นี้? (ช่วยนักเรียนระบุความจริง เช่น พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการรักษาเราทางวิญญาณและทางร่างกาย)
-
ท่านหรือคนรู้จักเคยประสบการเยียวยาทางวิญญาณหรือทางร่างกายในวิธีใดบ้าง? (ก่อนชั้นเรียน ท่านอาจเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนให้เตรียมแบ่งปันคำตอบของคำถามนี้ เตือนพวกเขาว่าพวกเขาไม่ควรรู้สึกว่าถูกกดดันให้แบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวเกินไป)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง คำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อขึ้นไปเพื่อช่วยให้นักเรียนของท่านเรียนรู้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจจึงถือได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าปาฏิหาริย์ทางกาย? เหตุใดจึงจำเป็นที่เราจะต้องมองไปที่พระผู้ช่วยให้รอดสำหรับปาฏิหาริย์นี้?
-
ท่านจะอธิบายปาฏิหาริย์ของใจที่เปลี่ยนแปลงไปกับคนที่ไม่มั่นใจว่านั่นหมายถึงอะไรได้อย่างไร?
-
ผู้คนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าพวกเขาต้องการปาฏิหาริย์นี้? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าท่านปรารถนาให้ใจท่านเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้? (ท่านอาจต้องเตือนนักเรียนว่าการเปลี่ยนแปลงในใจเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์ อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้เวลานักเรียนบันทึกความคิดและความรู้สึกของตน)
ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นตามความเชื่อของเราและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
เตือนนักเรียนว่าปาฏิหาริย์ครั้งหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยคือการรักษาคนที่เป็นโรคเรื้อน เชิญให้นักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันพอสังเขปว่าชีวิตของคนที่เป็นโรคเรื้อนในสมัยพันธสัญญาใหม่จะเป็นอย่างไรและการหายจากโรคจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาได้อย่างไร
อ่าน มาระโก 1:40–42 ด้วยกัน และเชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาว่าคนที่เป็นโรคเรื้อนเข้าหาพระเจ้าเพื่อขอปาฏิหาริย์อย่างไร
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีเข้าหาพระเจ้าเมื่อแสวงหาปาฏิหาริย์? (ท่านอาจต้องการทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอร์เฮ เอฟ. เซบาโยส ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้: ขณะที่เราใช้ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงทำปาฏิหาริย์ในชีวิตเราตามพระประสงค์ของพระองค์)
-
เราจะพัฒนาศรัทธาที่จะวางใจพระประสงค์ของพระเจ้าเมื่อแสวงหาปาฏิหาริย์ได้อย่างไร? (ท่านอาจทบทวน คำกล่าวของผู้นำศาสนจักร ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
ก่อนชั้นเรียน อาจเป็นประโยชน์หากเชิญให้นักเรียนบางคนทบทวนเรื่องราวที่ ประธานโอ๊คส์หรือเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แบ่งปันไว้ซึ่งอยู่ใต้คำถาม “ฉันจะพัฒนาศรัทธาที่จะวางใจพระประสงค์ของพระเจ้าเมื่อแสวงหาปาฏิหาริย์ได้อย่างไร?” ในส่วน “ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?” ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ระหว่างชั้นเรียน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเหล่านี้แบ่งปันเรื่องหนึ่งและสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากปาฏิหาริย์และความวางใจในพระประสงค์ของพระเจ้า
(ท่านอาจจะอ่าน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์ ในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) เชื้อเชิญให้นักเรียนยกตัวอย่างปาฏิหาริย์เล็กน้อยและเรียบง่ายที่พวกเขาได้เห็น (นักเรียนอาจพูดถึงปาฏิหาริย์ เช่น การได้รับการเปิดเผย การเอาชนะนิสัยที่เป็นอันตราย การได้รับอำนาจที่จะให้อภัยบางคน การได้รับความเข้มแข็งเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก การประสบกับความสามารถที่เพิ่มขึ้นเพื่อทำงานยากให้สำเร็จ และอื่นๆ)
-
ความแพร่หลายของ “ปาฏิหาริย์เล็กๆ” เหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?
เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากบทเรียนนี้ ท่านอาจให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองและบันทึกความคิดและความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้:
-
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตระหนักและเปิดรับปาฏิหาริย์ของพระเจ้าในชีวิตมากขึ้น?
ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งปาฏิหาริย์ หรือท่านอาจเชิญนักเรียนอย่างน้อยหนึ่งคนมาแบ่งปัน
สำหรับครั้งต่อไป
เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนต่อไป ท่านอาจจะส่งภาพและข้อความต่อไปนี้: ประสบการณ์ล่าสุดของท่านเกี่ยวกับศีลระลึกเป็นอย่างไร? ขณะศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนสำหรับบทที่ 15 ให้ไตร่ตรองว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงต้องการให้ท่านมีส่วนร่วมในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ทุกสัปดาห์