“บทที่ 13 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ปฏิบัติศาสนกิจเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 13 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 13 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ปฏิบัติศาสนกิจเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด
เราทุกคนสังเกตเห็น—และบางครั้งก็ไม่ได้สังเกตเห็น—คนที่ต้องการความช่วยเหลือ บางคนอาจมีวันที่ยากลำบาก คนอื่นๆ อาจกำลังประสบกับความเหงา ความสงสัยในตนเอง ความหิวโหย ความผิดหวัง หรือความเจ็บป่วย เราอาจสงสัยว่าจะทำอะไรได้บ้าง? เมื่อเรามองดูพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด เราเห็นตัวอย่างมากมายว่าพระองค์ “เสด็จไปทำคุณประโยชน์” อย่างไร (กิจการ 10:38) เมื่อท่านมองดูแบบอย่างของพระองค์ ให้พิจารณาถึงสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อความต้องการของผู้อื่น
หมวดที่ 1
ฉันสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด?
ลองนึกภาพว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะรู้สึกอย่างไรระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้าย โดยทรงคาดการณ์ถึงความทุกข์ยากอันน่ากลัวที่รอพระองค์อยู่ในเกทเสมนีและบนไม้กางเขน เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ข้อสังเกตดังนี้:
ภายใต้ความตึงเครียดของอารมณ์ที่ล้ำลึกและลึกซึ้ง … พระคริสต์ทรงลุกขึ้นอย่างเงียบๆ คาดผ้าฉลองพระองค์เองอย่างที่ทาสหรือคนรับใช้ทำ และคุกเข่าลงล้างเท้าอัครสาวก (ดู ยอห์น 13:3–17) ในแวดวงเล็กๆ ของผู้เชื่่อในอาณาจักรที่แทบจะยังไม่ได้ก่อตั้งนี้กำลังจะผ่านการทดลองที่โหดร้ายที่สุดของพวกเขา ดังนั้นพระองค์จึงทรงวางความทุกข์ระทมที่เพิ่มขึ้นของพระองค์เองไว้ก่อนเพื่อว่าพระองค์จะทรงรับใช้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขามากขึ้นอีกครั้ง (“He Loved Them unto the End,” Ensign, Nov. 1989, 25)
หลังจากล้างเท้าอัครสาวกแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดประทานพระบัญญัติใหม่แก่พวกเขา ซึ่งจำเป็นต่อทุกคนที่พยายามปฏิบัติศาสนกิจในพระนามของพระองค์
เมื่อเราใคร่ครวญพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นวิธีปฏิบัติศาสนกิจด้วยความรัก
พวกเราส่วนใหญ่ต้องการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นด้วยความรักเหมือนพระคริสต์ แต่เราอาจไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไรหรือเมื่อใด ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “การปฏิบัติศาสนกิจหมายถึงการทำตามความรู้สึกของท่านเพื่อช่วยให้คนอื่นรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตของเขาหรือเธอ” (ในเชอร์รี แอล. ดิว, Insights from a Prophet’s Life: Russell M. Nelson [2019], 349)
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ให้คำแนะนำต่อไปนี้:
[พระประสงค์ของพระเจ้า] ในการให้วิสุทธิชนดูแลกันตามวิธีที่พระองค์ทรงดูแลพวกเขา … พวกเขาประสบความสำเร็จเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางผู้ดูแลให้รู้สิ่งที่พระเจ้าทรงทราบว่าดีที่สุดสำหรับคนที่พระองค์ทรงพยายามช่วยเหลือ (“การปฏิบัติศาสนกิจที่ได้รับการดลใจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 62)
พระวิญญาณบริสุทธิ์มักจะทรงกระตุ้นเตือนให้เรารับใช้ในวิธีเล็กน้อยและเรียบง่าย ประธานจีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนดังนี้:
บางครั้งเราคิดว่าเราต้องทำสิ่งใหญ่โตและเก่งกาจจึงจะ “นับ” เป็นการรับใช้เพื่อนบ้านของเรา ทว่าการกระทำที่เรียบง่ายของการรับใช้สามารถส่งผลอันลึกซึ้งต่อผู้อื่น—และตัวเราเอง พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไร? … พระองค์ทรง … แย้มพระสรวล ทรงสนทนา ทรงเดินด้วย ทรงฟัง ทรงให้เวลา ทรงให้กำลังใจ ทรงสอน ทรงเลี้ยงอาหาร และทรงให้อภัย พระองค์ทรงรับใช้ครอบครัวและมิตรสหาย เพื่อนบ้านและคนแปลกหน้า ทรงเชื้อเชิญคนรู้จักและคนที่ทรงรักให้มารับพรอันอุดมจากพระกิตติคุณของพระองค์ การกระทำที่ “เรียบง่าย” เหล่านั้นของการรับใช้และความรักให้ต้นแบบสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจของเราในปัจจุบัน (“การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 104)
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของแชรอน ยูแบงค์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ และพิจารณาสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายและเป็นส่วนตัวมากขึ้น
หากเรามองว่าการดูแลคนยากจนและคนขัดสนนั้นเป็นเรื่องของการให้สิ่งของให้น้อยลง แต่มองว่าเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อของมนุษย์มากขึ้น มอบการสนทนาที่มีความหมาย และสร้างความสัมพันธ์ที่มั่งคั่งและเป็นบวก พระเจ้าจะทรงส่งเราไปที่ใดที่หนึ่งได้ … พระเจ้าทรงต้องการใช้ท่าน ท่านมีงานต้องทำ และงานนั้นเป็นงานเฉพาะสำหรับท่านและความสามารถของท่าน ไม่มีใครสามารถทำงานของท่านได้ … จำไว้ว่า ท่านเองเป็นหนึ่งในของขวัญที่ดีที่สุดที่ท่านสามารถมอบให้กับคนขัดสนได้เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด (“Turning Enemies into Friends” [Brigham Young University forum address, ม.ค. 23, 2018], speeches.byu.edu)
หมวดที่ 2
ฉันเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องชาวสะมาเรียใจดีเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ?
ในสมัยของพระเยซูคริสต์ ชาวยิวกับชาวสะมาเรียมีความเกลียดชังกันมาก ชาวยิวมองชาวสะมาเรียด้วยความดูถูกเพราะพวกเขา “ส่วนหนึ่งเป็นชาวอิสราเอลและส่วนหนึ่งเป็นคนต่างชาติ” และ “ศาสนาของพวกเขาผสมผสานระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติของชาวยิวกับคนนอกศาสนา” (คู่มือพระคัมภีร์, “สะมาเรีย (ชาว),” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
เมื่อทนายความ (ทนายความในสมัยนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในกฎของโมเสส) พยายามพิสูจน์การกระทำของเขาเกี่ยวกับพระบัญญัติ “จงรักเพื่อนบ้าน” เขาถามพระเจ้าว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” (ดู ลูกา 10:25–29) พระเจ้าทรงตอบด้วยอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี
เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
บนถนนฝุ่นฟุ้งของเราไปยังเมืองเยรีโค เราถูกทำร้าย บาดเจ็บ และถูกทิ้งในความเจ็บปวด
ทั้งที่เราควรช่วยเหลือกัน เรากลับเดินเลยไปอีกฟากถนนบ่อยครั้งเหลือเกิน ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
แต่ด้วยความสงสาร ชาวสะมาเรียใจดีพระองค์นั้นทรงหยุดทำแผลให้เรา พระองค์ทรงพาเราไปที่โรงแรม ซึ่งสามารถเป็นสัญลักษณ์แทนศาสนจักรของพระองค์ …
… พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราเป็นชาวสะมาเรียใจดีเหมือนพระองค์ ทำให้โรงแรมของพระองค์ (ศาสนจักรของพระองค์) เป็นที่ให้ทุกคนพักพิงจากพายุและแผลฟกช้ำของชีวิต (“ที่ว่างในโรงแรม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 24–25)