“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ตระหนักถึงปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอด,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ตระหนักถึงปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอด
เมื่อเราพูดถึงปาฏิหาริย์ของพระเยซูคริสต์ เรามักจะเน้นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจที่เราพบในพันธสัญญาใหม่ แม้เราจะเรียนรู้อะไรได้มากมายและควรเรียนรู้จากเรื่องราวพระคัมภีร์เหล่านี้ แต่ท่านได้พิจารณาปาฏิหาริย์ที่พระเจ้าทรงทำในสมัยของเรา—และในชีวิตท่านบ้างหรือไม่? ขณะศึกษา จงพยายามเพิ่มพูนศรัทธาในเดชานุภาพของพระเจ้าและความเต็มพระทัยที่จะแสดงปาฏิหาริย์ให้ท่านและผู้อื่นเห็น
หมวดที่ 1
ฉันสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากปาฏิหาริย์ของพระองค์?
ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเยซูคริสต์ “ทรงดำเนินไปตามท้องถนนในปาเลสไตน์ ทรงรักษาคนป่วย ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็นได้ และทรงชุบชีวิตคนตาย” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” ChurchofJesusChrist.org) ปาฏิหาริย์เหล่านี้เป็น “เหตุการณ์มหัศจรรย์ซึ่งเกิดจากเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า.” และ “เป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” (คู่มือพระคัมภีร์, “ปาฏิหาริย์,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org) ปาฏิหาริย์เหล่านี้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งให้กับชาวยิวว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ที่ทรงสัญญาไว้ (ดู มัทธิว 11:4–5; ยอห์น 20:30–31)
เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตั้งข้อสังเกตว่า “การชดใช้ของ [พระเยซูคริสต์] ซึ่งถึงจุดสูงสุดด้วยการฟื้นคืนพระชนม์หลังจากทรงอยู่ในอุโมงค์ฝังศพที่ยืมมาสามวัน ถือเป็นปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์” (“ดูเถิด! เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 109)
เอ็ลเดอร์ราสแบนด์อธิบายด้วยว่า แม้ปาฏิหาริย์ของพระเยซูจะเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ปาฏิหาริย์เหล่านั้นยัง “เตือนให้เรานึกถึงเดชานุภาพของพระองค์ ความรักที่ทรงมีต่อเรา อิทธิพลของพระองค์ต่อประสบการณ์มรรตัยของเรา และความปรารถนาที่จะทรงสอนสิ่งซึ่งมีค่าที่สุด” (“ดูเถิด! เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์,” 111)
พิจารณาสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากการรักษาชายที่เป็นอัมพาต มีคนสี่คนพาชายคนนี้ไปยังบ้านที่พระเยซูทรงสอนอยู่ เมื่อพวกเขาพบว่าบ้านแออัดจนไม่สามารถเข้าไปได้ พวกเขาจึงถอดชิ้นส่วนของหลังคาออกแล้วหย่อนชายที่เป็นอัมพาตลงไปหาพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มาระโก 2:1–4)
สังเกตว่าปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนเกี่ยวกับความสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดในการรักษาทั้งร่างกายและวิญญาณดังนี้:
ปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ได้อยู่ในการฟื้นฟูสายตาคนตาบอด การรักษาความเจ็บป่วย หรือแม้แต่การฟื้นชีวิตคนตาย …
… ปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจโดยบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 5:2) การเปลี่ยนแปลงของจิตใจ รวมถึงเจตคติ ลำดับความสำคัญ และความปรารถนาใหม่มีความสำคัญยิ่งกว่าและสำคัญกว่าปาฏิหาริย์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย (“Miracles,” Ensign, June 2001, 17)
หมวดที่ 2
ศรัทธาของฉันและพระประสงค์ของพระเจ้าส่งผลต่อปาฏิหาริย์อย่างไร?
ในช่วงต้นของการปฏิบัติศาสนกิจขณะเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด ชายคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อนมาหาพระเยซูเพื่อรับการรักษา ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์ โรคเรื้อน อาจหมายถึงโรคผิวหนังหลายชนิดที่สามารถทำร้ายผิวหนัง เส้นประสาท ตา และกระดูกได้ หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ความเสียหายของเส้นประสาท ตาบอด ความผิดปกติ และการเสียชีวิตอย่างเจ็บปวด ในช่วงเวลาของพระผู้ช่วยให้รอด ชายที่มาหาพระผู้ช่วยให้รอดจะถือว่า “เป็นมลทิน” และจะมีชีวิตอยู่แยกจากครอบครัวและสังคมของเขา (ดู เลวีนิติ 13:45–46)
เอ็ลเดอร์ฮอร์เฮ เอฟ. เซบาโยสแห่งสาวกเจ็ดสิบตั้งข้อสังเกตดังนี้:
คนโรคเรื้อนไม่เรียกร้องสิ่งใด แม้ว่าความปรารถนาของเขาอาจจะชอบธรรม แต่เขาก็ยังเต็มใจยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า (“ถ้าลูกจะรับผิดชอบ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 125)
เมื่อเราปรารถนาจะยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างแท้จริง เราต้องมีศรัทธาว่าจะ ไม่ ได้รับการรักษาด้วย เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
ความชอบธรรมและศรัทธาเป็นเครื่องมือในการรักษาคนป่วย คนหูหนวก และคนง่อยอย่างแน่นอน—หากการรักษานั้นทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ ฉะนั้น แม้เราจะมีศรัทธาแรงกล้า … ผู้ป่วยและผู้ทุพพลภาพทั้งหมดจะไม่หาย หากตัดการตรงกันข้ามทั้งหมดออก หากนำเอาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดออกไป เมื่อนั้นจุดประสงค์เบื้องต้นในแผนของพระบิดาย่อมล้มเหลว (เดวิด เอ. เบดนาร์, “ยอมรับพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระเจ้า,” เลียโฮนา, ส.ค. 2016, 22)
เมื่อท่านใคร่ครวญปาฏิหาริย์ที่ท่านปรารถนาในชีวิต ให้พิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ปาฏิหาริย์สามารถเป็นคำตอบการสวดอ้อนวอนได้ อาจไม่ใช่สิ่งที่เราทูลขอหรือคาดหวังเสมอไป แต่เมื่อเราวางใจในพระเจ้า พระองค์จะทรงอยู่ที่นั่นและจะทรงทำสิ่งเหมาะสม พระองค์จะทรงปรับปาฏิหาริย์ให้เหมาะกับช่วงเวลาที่เราต้องการ …
… มีหลายครั้งที่เราหวังให้ปาฏิหาริย์รักษาคนที่เรารัก พลิกความอยุติธรรม หรือทำให้ใจของคนขมขื่นหรือคนหลงผิดอ่อนลง เมื่อมองสิ่งต่างๆ ผ่านดวงตามนุษย์ เราต้องการให้พระเจ้าเข้ามาแทรกแซง แก้ไขสิ่งที่เสียหาย โดยผ่านศรัทธา ปาฏิหาริย์จะเกิด แม้ไม่จำเป็นต้องเกิดตามตารางเวลาของเราหรือด้วยปณิธานที่เราปรารถนา นั่นหมายความว่าเรามีศรัทธาไม่พอหรือไม่สมควรได้รับการแทรกแซงจากพระองค์อย่างนั้นหรือ? ไม่เลย เราเป็นที่รักของพระเจ้า (“ดูเถิด! เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 111)
หมวดที่ 3
ฉันจะรับรู้ถึงปาฏิหาริย์ของพระเจ้าในชีวิตได้ดีขึ้นอย่างไร?
ประธานโอ๊คส์สังเกตว่า “ปาฏิหาริย์มากมายเกิดขึ้นทุกวันในงานของศาสนจักรและในชีวิตสมาชิกของเรา” (“Miracles,” Ensign, June 2001, 17) บางครั้งเราก็สามารถมองเห็นปาฏิหาริย์ในชีวิตของผู้อื่นได้ แต่อาจไม่เห็นปาฏิหาริย์ในชีวิตของเราเอง
เอ็ลเดอร์ราสแบนด์สอนในทำนองเดียวกันว่า:
หลายท่านเห็นปาฏิหาริย์มาแล้วมากกว่าที่ท่านตระหนัก อาจดูเหมือนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่พระเยซูทรงทำให้คนตายฟื้น แต่ความยิ่งใหญ่ไม่ใช่ตัวชี้ว่าอะไรคือปาฏิหาริย์ ตัวชี้เดียวคือสิ่งนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า (“ดูเถิด! เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 110)