สถาบัน
บทนำสำหรับ ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (ศาสนา 200)


“บทนำสำหรับ ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (ศาสนา 200)” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู 2022

“บทนำ” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทนำสำหรับ ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (ศาสนา 200)

ยินดีต้อนรับสู่หลักสูตรครอบครัวนิรันดร์! ขอบคุณที่ท่านยอมรับโอกาสให้ช่วยคนหนุ่มสาวมาหาพระเยซูคริสต์ผ่านการศึกษาหลักคำสอนเรื่องครอบครัวในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ หลักสูตรนี้ออกแบบไว้ช่วยท่านส่งเสริมประสบการณ์ที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางและเน้นผู้เรียนเพื่อนำนักเรียนของท่านให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดลึกซึ้งขึ้น

หลักสูตรนี้มุ่งหมายให้เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง?

วัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนากล่าวว่า:

จุดประสงค์ของเราคือช่วยให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวเข้าใจและพึ่งพาคำสอนและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหาร เตรียมตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ ให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์อยู่กับพระบิดาในสวรรค์ (การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา [2012], 1)

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนา ศาสนจักรจึงออกแบบหลักสูตรนี้ไว้ช่วยนักเรียน

  • อธิบายบทบาทที่เป็นศูนย์กลางของครอบครัวในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์

  • วิเคราะห์คำถามและเรื่องสำคัญเกี่ยวกับครอบครัวด้วยมุมมองนิรันดร์

  • กระทำด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์เมื่อจัดการกับความท้าทายของตนเองและของครอบครัวและแรงกดดันทางสังคม

  • ประยุกต์ใช้คำสอนของพระเยซูคริสต์ขณะพยายามทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์และกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และ

  • เพิ่มพูนสมรรถภาพของพวกเขาในการทำหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตครอบครัวให้ลุล่วงและเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น

คู่มือเล่มนี้มีโครงสร้างอย่างไร?

เนื้อหาของคู่มือเล่มนี้ออกแบบไว้ช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ที่จรรโลงใจและมีความหมายทั้งนอกและในห้องเรียน บทเรียนแต่ละบทประกอบด้วยสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและสื่อการเรียนการสอนสำหรับครู สื่อการเรียนการสอนเหล่านี้ออกแบบไว้ช่วยนักเรียนเตรียมอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ขวนขวายเรียนรู้ให้ลึกซึ้งขึ้น และประพฤติตนในลักษณะที่จะช่วยให้พวกเขาเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น

เอ็ลเดอร์คิม บี. คลาร์ก อดีตสาวกเจ็ดสิบสอนสิ่งที่นักเรียน (และครู) ต้องทำเพื่อเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง:

เอ็ลเดอร์คิม บี. คลาร์ก

หากท่านปรารถนาจะเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจริงๆ หากใจและความนึกคิดของท่านเปิดรับการเรียนรู้ และหากท่านทำตามความปรารถนานั้น พระเจ้าจะทรงอวยพรท่าน เมื่อท่านทำส่วนของท่าน—สวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา เตรียม ศึกษา มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และทำสุดความสามารถ—พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสอนท่าน ทรงขยายความสามารถให้ท่านทำตามที่ท่านเรียนรู้ และช่วยให้ท่านเป็นดังที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านเป็น (“การเรียนรู้ทั้งจิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, ส.ค. 2017, 27)

สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนมีไว้ให้ท่านและนักเรียนได้ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน มีทั้งคำสอนจากพระคัมภีร์และผู้นำศาสนจักร กับหมวด “ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?” ที่ให้แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อบทเรียน

นอกจากนี้สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนยังมีคำถามและกิจกรรมที่จะช่วยนักเรียนทำให้การเรียนรู้ของพวกเขาลึกซึ้งขึ้นและพร้อมมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ในสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนบทที่ 10 “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน” นักเรียนจะได้มีโอกาสศึกษาคำสอนจากพระคัมภีร์และผู้นำศาสนจักรเกี่ยวกับพันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์และศาสนพิธีผนึก จากนั้นจะเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้:

กราฟิกการสนทนา

สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

แต่ละบทออกแบบไว้สำหรับชั้นเรียนคาบละ 50 นาที สำหรับชั้นเรียนที่พบกันสัปดาห์ละครั้งๆ ละ 90 นาทีหรือนานกว่านั้น ขอแนะนำให้ท่านสอนสองบทควบ

ในคำนำของสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูแต่ละบท ท่านจะพบคำอธิบายผลลัพธ์ที่เป็นเจตนารมณ์ของบทเรียน คำนำนี้ตามด้วยแนวคิดการสอนที่เสนอแนะซึ่งให้โครงสร้างบทเรียน สาระ ความช่วยเหลือในการสนทนา และแนวคิดการประยุกต์ใช้

ขณะที่ท่านศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับครู ขอให้สนใจว่าจะใช้การเตรียมของนักเรียนให้เป็นประโยชน์อย่างไร คำแนะนำต่อไปนี้จากบทที่ 10 เป็นตัวอย่าง:

กราฟิกคำแนะนำในการสอน

เมื่อท่านใช้การเตรียมของนักเรียนให้เป็นประโยชน์อยู่เสมอ ท่านจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความสำคัญของการเตรียมเข้าชั้นเรียนทุกครั้งและช่วยให้พวกเขาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง

ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองในการเตรียมสอนหลักสูตรนี้

ทำนองเดียวกันกับที่ท่านและนักเรียนจะทำก่อนมาชั้นเรียนคือใช้เวลาไตร่ตรองขณะท่านเตรียมสอนหลักสูตรนี้ ดูบทเรียนหนึ่งหรือสองบทคร่าวๆ ก่อนเพื่อทำความคุ้นเคยกับสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและสื่อการเรียนการสอนสำหรับครู สังเกตว่าสื่อการเรียนการสอนเหล่านี้ออกแบบไว้ใช้ร่วมกันอย่างไรขณะที่ท่านเตรียมสอน จากนั้นให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้: มีวิธีใดบ้างที่ฉันจะกระตุ้นให้นักเรียนศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนแต่ละบท? ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้นักเรียนที่อาจไม่ได้ศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนได้มีส่วนร่วมในบทเรียน?

หมายเหตุ: เมื่อนักเรียนเตรียมมาสนทนาในชั้นเรียน ท่านจะพบว่าท่านสามารถดำเนินการสนทนาที่ลึกซึ้งและมีความหมายในเรื่องหลักคำสอนและหลักธรรมเกี่ยวกับครอบครัวนิรันดร์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเวลาสำรวจในชั้นเรียนมากขึ้นว่าท่านและนักเรียนจะประยุกต์ใช้ความจริงที่ระบุไว้ในบทเรียนได้อย่างไร

ฉันจะเตรียมสอนอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?

พระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยเหลือท่านขณะท่านเตรียมและสอนบุตรธิดาของพระองค์ การที่ท่านเพียรพยายามศึกษาพระคัมภีร์และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณจะช่วยให้ท่านมีคุณสมบัติคู่ควรได้รับการนำทางจากพระวิญญาณในการเตรียมสอนของท่าน

ขณะศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูแต่ละบท ให้สวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อเข้าใจความต้องการของนักเรียน เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

จงเปิดรับอยู่เสมอ—โดยเฉพาะอย่างยิ่งจงเปิดรับพระวิญญาณอยู่เสมอ มีพื้นที่ว่างให้ปรับเปลี่ยนได้ในแผนบทเรียนของท่าน ถ้าท่านต้องย่อบทเรียนให้สั้นลงเล็กน้อยเพื่อแสดงประจักษ์พยานของท่านและกระตุ้นการสนทนาเรื่องปัญหาร่วมสมัย ขอให้ทำเช่นนั้นเมื่อพระวิญญาณกระตุ้นเตือนและบอกท่านว่าเหมาะสม …

… จำไว้ว่านักเรียนไม่ใช่ภาชนะที่ต้องเติมให้เต็ม แต่นักเรียนคือไฟที่ต้องจุดประกาย (“Angels and Astonishment” [คำปราศรัยที่การถ่ายทอดการอบรมระบบการศึกษาของศาสนจักร, 12 มิถุนายน 2019], broadcasts.ChurchofJesusChrist.org)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านกำลังรวมสองบทเรียนไว้ในคาบเรียนเดียว ให้พิจารณาความต้องการของนักเรียนและแสวงหาการทรงนำจากพระวิญญาณ การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ว่าจะใช้สื่อการเรียนการสอนส่วนใดและปรับเนื้อหาส่วนใดเพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายมากขึ้น นี่รวมถึงการตัดสินใจว่าจะเน้นเนื้อหาส่วนใดและสรุปส่วนใด

ท่านอาจพบว่าการถามคำถามต่อไปนี้กับตัวท่านเองขณะเตรียมสอนบทเรียนแต่ละบทจะเป็นประโยชน์:

  • ฉันได้สวดอ้อนวอนเพื่อรับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และเพื่อเข้าใจความต้องการของนักเรียนหรือไม่? ฉันจะตัดสินใจได้อย่างไรว่าเนื้อหาใดของบทเรียนเกี่ยวข้องกับนักเรียนมากที่สุด? ฉันจะถ่ายทอดความรักที่ฉันมีต่อพวกเขาได้อย่างไร?

  • ฉันรู้สึกว่าตนเข้าใจสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ตลอดจนพระคัมภีร์ และสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูดีพอหรือไม่? มีสิ่งใดที่ฉันต้องปรับให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนหรือไม่?

  • ฉันจะช่วยให้นักเรียนมุ่งเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอดและเรียนรู้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในบทเรียนนี้ได้อย่างไร?

  • ฉันจะเชื้อเชิญให้พากเพียรเรียนรู้และช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมเต็มที่ในบทเรียนได้อย่างไร? ฉันจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพวกเขามีพื้นที่ซึ่งต้องใช้วางแผนส่วนตัวเพื่อประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้?

  • ฉันจะสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร? ฉันจะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับ ปลอดภัยที่จะแบ่งปันและเรียนรู้จากกันได้อย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:78, 122)

ฉันจะปรับบทเรียนให้เหมาะกับนักเรียนพิการได้อย่างไร?

ขณะที่ท่านเตรียมสอน จงนึกถึงนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษบางอย่าง ปรับกิจกรรมและความคาดหวังเพื่อรวมพวกเขาไว้ในกลุ่มและช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลใน Disabilities page ที่ disabilities.ChurchofJesusChrist.org

นักเรียนได้รับหน่วยกิตสำหรับหลักสูตรนี้อย่างไร?

เพื่อได้รับหน่วยกิตจนสำเร็จการศึกษา นักเรียนต้อง

  • ศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ของบทเรียน

  • เข้าชั้นเรียน 75 เปอร์เซ็นต์ และ

  • ทำประสบการณ์การเรียนรู้หนึ่งในสี่ประสบการณ์ให้เสร็จสมบูรณ์:

    1. จดบันทึกการศึกษา

    2. บันทึกคำตอบของคำถามทุกข้อและกิจกรรมทุกอย่างในสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน (สังเกตว่านักเรียนไม่ต้องส่งบันทึกการศึกษาหรือคำตอบของพวกเขาให้ท่าน พวกเขาแค่ต้องนำสิ่งที่ทำเสร็จสมบูรณ์แล้วให้ท่านดูตอนท้ายภาคเรียน)

    3. เขียนคำตอบของคำถามอัตนัยสามข้อ

    4. ออกแบบและทำโครงการเรียนรู้ (ตามที่ครูอนุมัติ) ของตนเองที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหลักสูตรให้เสร็จสมบูรณ์ (ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมในหน้า Institute Elevate Learning Experiences ที่ ChurchofJesusChrist.org.)

ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

พิจารณาประเภทของประสบการณ์ที่ท่านหวังให้นักเรียนมีในหลักสูตรนี้ เขียนความคิดของท่านหรือการกระตุ้นเตือนบางอย่างว่าท่านจะวางแผนช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายอย่างไร