สถาบัน
บทที่ 22 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความชอบธรรม


“บทที่ 22 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความชอบธรรม,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 22 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ครอบครัวศึกษาพระกิตติคุณด้วยกัน

บทที่ 22 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความชอบธรรม

การเลี้ยงดูบุตรธิดาให้เข้มแข็งทางวิญญาณในโลกยุคปัจจุบันจะรู้สึกหนักใจได้ อย่างไรก็ตาม คำสัญญาที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานไว้กับชาวนีไฟประยุกต์ใช้กับเราในสมัยของเรา “และลูกหลานทั้งหมดของเจ้าจะได้รับการสอนโดยพระเจ้า; และสันติของลูกหลานเจ้าจะใหญ่หลวงนัก” (3 นีไฟ 22:13) ขณะท่านศึกษาบทเรียนนี้ ให้พิจารณาว่าท่านจะทำให้ “หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดา [ของท่าน] ด้วย … ความชอบธรรม” เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org)

หมวดที่ 1

พระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากฉันในฐานะพ่อแม่?

ในช่วงแรกของสมัยการประทานนี้ พระเยซูคริสต์ทรงสอนบิดามารดาเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขาในการเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความชอบธรรม พระองค์ทรงประกาศว่า “เราบัญชาเจ้าไว้ให้เลี้ยงดูลูกๆ ของเจ้าในแสงสว่างและความจริง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:40) จากนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ ให้จัดบ้านของตนให้เป็นระเบียบและให้ “ขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น” (ข้อ 50; ดู ข้อ 41–50)

ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายแสดงถึงความจำเป็นที่บิดามารดาต้องมีความตั้งใจในความพยายามที่จะสอนพระกิตติคุณในบ้านของตนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้พวกเขายังเน้นย้ำว่าการเรียนรู้พระกิตติคุณจะต้องให้ “บ้านเป็นศูนย์กลางและศาสนจักรสนับสนุน” (เดวิด เอ. เบดนาร์, “เตรียมรับสิ่งจำเป็นทุกอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 101; ดู หน้า 102–104 ด้วย)

ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญ ประธานแทด อาร์. คอลลิสเตอร์สอนว่า

ประธานแทด อาร์. คอลลิสเตอร์

ในฐานะบิดามารดา เราต้องเป็นครูและแบบอย่างในพระกิตติคุณที่สำคัญที่สุดแก่ลูกๆ—ไม่ใช่อธิการ ครูโรงเรียนวันอาทิตย์ องค์การเยาวชนหญิง หรือเยาวชนชาย แต่เป็นบิดามารดา ในฐานะครูพระกิตติคุณที่สำคัญที่สุดของพวกเขา เราสามารถสอนพวกเขาถึงอำนาจและความจริงของการชดใช้—คุณลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์—และการทำเช่นนั้นทำให้พวกเขาสร้างอยู่บนรากฐานที่แข็งแกร่ง เมื่อพิจารณาทุกอย่างแล้ว บ้านคือสถานที่อันยอดเยี่ยมสำหรับการสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (“บิดามารดา: ครูพระกิตติคุณที่สำคัญที่สุดของลูกๆ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 32)

พ่อแม่สอนลูก
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25, 28 และพิจารณาทำเครื่องหมายความจริงต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบเพื่อช่วยให้ลูกของตนเข้าใจ

หลังจากอ้างถึงข้อพระคัมภีร์เหล่านี้แล้ว ซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลิน อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญให้ความเห็นว่า

ซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลิน

การสอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจเป็นมากกว่าการแบ่งปันข้อมูล แต่คือการช่วยให้บุตรธิดารับหลักคำสอนไว้ในใจพวกเขาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวพวกเขาและสะท้อนในเจตคติและพฤติกรรมตลอดชีวิตของพวกเขา (“สอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 10)

ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญ ประธานจอย ดี. โจนส์สอนว่า

ประธานจอย ดี. โจนส์

เราจะรอให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดขึ้นกับเด็กเองไม่ได้ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยบังเอิญ ไม่ใช่ หลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดจะไม่เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผน การตั้งใจรัก สอน และเป็นพยานจะช่วยให้เด็กเริ่มรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ตั้งแต่เยาว์วัย พระวิญญาณบริสุทธิ์จำเป็นต่อประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเด็กในพระเยซูคริสต์ เราปรารถนาให้พวกเขา “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา, เพื่อพวกเขาจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับพวกเขา” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:79] (“การสนทนาที่จำเป็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 12–13)

ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

บิดามารดาจะช่วยให้บุตรธิดา “รับหลักคำสอนไว้ในใจพวกเขาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวพวกเขา” ได้อย่างไร? บิดามารดาจะช่วยให้บุตรธิดารู้สึกและเรียนรู้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

หมวดที่ 2

วิธีปฏิบัติใดบ้างที่สามารถช่วยฉันนำลูกของฉันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด?

นีไฟและผู้คนของเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ลูกของพวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน 2 นีไฟ 25:26 ครุ่นคิดว่าบิดามารดาในสมัยของเราอาจทำตามแบบอย่างของชาวนีไฟเหล่านี้ได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำเพื่อนำทางบิดามารดาในการช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและเรียนรู้จากพระองค์ดังนี้

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

มีภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในบ้านของเราไหม? เราพูดคุยกับลูกๆ เรื่องอุปมาของพระเยซูบ่อยไหม? “เรื่องราวของพระเยซู [เป็นเหมือน] ลมแรงกระพือไฟแห่งศรัทธาซึ่งคุอยู่ในใจลูกหลานของเรา” [นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “เล่าเรื่องพระเยซูให้ฉันฟังที,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 135] เมื่อลูกของท่านถามคำถาม ให้ตั้งใจที่จะสอนสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกท่านถามว่า “พ่อครับ ทำไมเราถึงสวดอ้อนวอน?” ท่านอาจตอบว่า “นั่นเป็นคำถามที่ดี ลูกจำได้ไหมเมื่อพระเยซูทรงสวดอ้อนวอน? มาคุยกันดีกว่าว่าพระองค์ทรงสวดอ้อนวอนทำไมและอย่างไร” (“เราพูดถึงพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 89)

คำแนะนำที่ศาสดาพยากรณ์โมเสสให้แก่บิดามารดาชาวอิสราเอลสามารถประยุกต์ใช้กับเราได้: “ท่านจงสอน [พระบัญญัติ] แก่บุตรหลานของท่าน และจงพูดถึง [พระบัญญัติ] เมื่อท่านนั่งอยู่ในบ้าน เดินอยู่ตามทาง นอนลงหรือลุกขึ้น” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:7)

ประธานโจนส์สะท้อนความรู้สึกในคำแนะนำของโมเสสเมื่อเธอสอนว่า

ประธานจอย ดี. โจนส์

สิ่งสำคัญ [ประการหนึ่ง] ในการช่วยให้เด็กต้านบาปคือเริ่มสอนหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณพื้นฐานให้พวกเขาด้วยความรักเมื่ออายุยังน้อย—สอนจากพระคัมภีร์ หลักแห่งความเชื่อ จุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน เพลงปฐมวัย เพลงสวด และประจักษ์พยานส่วนตัวของเรา—สิ่งเหล่านี้จะช่วยนำเด็กไปหาพระผู้ช่วยให้รอด”

การสร้างนิสัยของการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ การสังสรรค์ในครอบครัว และการนมัสการในวันสะบาโตอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นคนดี เสมอต้นเสมอปลาย และยึดมั่นในศีลธรรม—กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความซื่อสัตย์สุจริตทางวิญญาณ …

พี่น้องทั้งหลาย ขอให้ท่านใกล้ชิดกับเด็กเล็กๆ—ใกล้มากพอที่พวกเขาจะเห็นพฤติกรรมประจำวันทางศาสนาของท่านและมองเห็นว่าท่านรักษาคำสัญญาและพันธสัญญา “เด็กคือผู้เลียนแบบที่ดี ดังนั้นจงเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้พวกเขาทำตาม” [นิรนาม] (“อนุชนที่ต้านบาป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 88–89)

พ่อแม่ศึกษาพระคัมภีร์กับลูก
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

ใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อบันทึกพฤติกรรมหรือนิสัยอันชอบธรรมที่ท่านจะเริ่มหรือพัฒนาต่อไปได้ในตอนนี้ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการเลี้ยงดูลูกของท่านด้วยความชอบธรรม วิธีปฏิบัติทางวิญญาณอะไรบ้างที่ท่านต้องการสร้างให้แก่ครอบครัวของท่านในอนาคต?

หมวดที่ 3

ฉันจะทำอะไรได้บ้างหากสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเริ่มหันเหออกจากเส้นทางพระกิตติคุณ?

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

ความปวดร้าวใจที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งบิดามารดาผู้กล้าหาญในไซอันทนทุกข์คือบุตรธิดาผู้หันเหออกจากเส้นทางพระกิตติคุณ บิดามารดาเช่นนั้นไตร่ตรองในความคิดและในใจไม่หยุดหย่อนว่า “เพราะอะไร?” หรือ “ฉันทำอะไรผิด?” และ “ตอนนี้ฉันจะช่วยลูกคนนี้ได้อย่างไร?” (“บิดามารดาที่ซื่อสัตย์และบุตรธิดาที่ดื้อรั้น: ผดุงความหวังขณะเอาชนะความเข้าใจผิด,” เลียโฮนา, มี.ค. 2014, 16)

ลีไฮกับซาไรยาห์

ลีไฮกับซาไรยาห์เข้าใจถึงความปวดร้าวใจที่เกิดขึ้นเมื่อลูกหันเหออกจากเส้นทางพระกิตติคุณ

ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน 1 นีไฟ 8:37–38 โดยค้นหาว่าลีไฮพยายามช่วยเลมันกับเลมิวเอลอย่างไรหลังจากลีไฮเห็นในนิมิตว่าพวกเขาปฏิเสธพระเจ้า

โปรดสังเกตว่าลีไฮสั่งสอน หรือสอนลูกอย่างอ่อนโยนเพียงใด เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีต่างๆ ที่เราจะตอบสนองหากสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวหันเหออกจากเส้นทางพระกิตติคุณว่า

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส

เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจเหตุผลทั้งหมดว่าเหตุใดคนบางคนจึงเลือกเดินเส้นทางอื่น วิธีที่ดีที่สุดที่เราทำได้ในสภาวการณ์เหล่านี้คือเพียงรักและโอบกอดพวกเขา สวดอ้อนวอนเพื่อความผาสุกของพวกเขา และแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อรู้ว่าจะทำหรือพูดอะไร ยินดีกับความสำเร็จของพวกเขาอย่างจริงใจ เป็นเพื่อนกับพวกเขาและมองหาสิ่งดีในตัวพวกเขา เราไม่ควรล้มเลิกและทิ้งพวกเขาแต่ควรรักษาความสัมพันธ์ที่เรามีไว้ อย่าปฏิเสธหรือตัดสินพวกเขาผิดๆ แค่รักพวกเขา! อุปมาเรื่องบุตรเสเพลสอนเราว่าเมื่อลูกสำนึกได้ พวกเขามักปรารถนาจะกลับบ้าน ถ้าเป็นเช่นนั้นกับคนที่ท่านรัก จงมีใจสงสาร วิ่งออกไปหาพวกเขา กอดคอและจูบแก้มพวกเขา อย่างเช่นที่บิดาของบุตรเสเพลทำ [ดู ลูกา 15:20]

สุดท้ายแล้ว จงดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร เป็นแบบอย่างที่ดีของสิ่งที่ท่านเชื่อต่อพวกเขา และเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ยิ่งขึ้น พระองค์ทรงทราบและเข้าพระทัยความโศกเศร้าและความเจ็บปวดของเรา พระองค์จะประทานพรแก่ความพยายามและการอุทิศตนต่อคนที่ท่านรักหากไม่ใช่ในชีวิตนี้ก็ในชีวิตหน้า (“ฉันจะเข้าใจได้อย่างไร?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 8)

พ่อกับลูกชายกอดกัน
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ตัวอย่างอื่นๆ จากพระคัมภีร์เกี่ยวกับพ่อแม่ซึ่งมีลูกที่หันเหออกจากเส้นทางพระกิตติคุณมีอะไรบ้าง? (ตัวอย่างเช่น พิจารณาลีไฮและเลมันกับเลมิวเอล บุตรชาย หรือแอลมาและแอลมาผู้บุตร ซึ่งเป็นบุตรชาย) ท่านสามารถเรียนรู้อะไรจากการตอบสนองของพ่อแม่เหล่านี้ที่จะช่วยแนะนำท่านได้ในการตอบสนองต่อสมาชิกในครอบครัวที่อาจหลงทางไป?