สถาบัน
บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน


“บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

การเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน

ตั้งแต่สมัยของอาดัมกับเอวา พระเจ้าทรงประสงค์ให้สามีภรรยาเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ยืนยันหลักธรรมนี้อีกครั้งในสมัยของเรา ในบทเรียนนี้นักเรียนจะมีโอกาสอธิบายคำสอนพระกิตติคุณเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงานและการนำในครอบครัว โดยจะเชื้อเชิญให้นักเรียนตัดสินใจด้วยว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อจะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

สามีภรรยาพึงเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน

ท่านอาจเริ่มบทเรียนโดยให้ดูหรือแจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานจีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ ขอให้นักเรียนอ่านโดยดูว่าปฏิปักษ์หมายมั่นทำลายชีวิตแต่งงานและครอบครัวอย่างไร

ประธาน จีน บี. บิงแฮม

ลูซิเฟอร์รู้ว่าถ้าเขาสามารถทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ชายและหญิงรู้สึกได้ ถ้าเขาสามารถทำให้เราสับสนเกี่ยวกับคุณค่าอันสูงส่งและความรับผิดชอบต่อพันธสัญญาของเราได้ เขาจะประสบผลสำเร็จในการทำลายครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสำคัญยิ่งของนิรันดร

ซาตานยั่วยุให้เกิดการเปรียบเทียบเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความรู้สึกเหนือชั้นหรือต่ำต้อยกว่า ซุกซ่อนความจริงนิรันดร์ที่ว่าความแตกต่างที่ติดตัวมาของชายและหญิงคือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้และมีคุณค่าเท่าเทียมกัน … เป้าหมายของเขาคือส่งเสริมการต่อสู้แย่งชิงอำนาจแทนที่จะฉลองการมีส่วนในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชายและหญิงซึ่งส่งเสริมกันและมีส่วนให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน (“เป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 60–61)

  • ชีวิตแต่งงานจะมีความท้าทายอะไรบ้างถ้าสามีหรือภรรยารู้สึกด้อยกว่าหรือเหนือกว่าอีกฝ่าย?

ทบทวน โมเสส 3:18, 21–23 กับนักเรียนและถามว่า:

  • เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากวิธีที่พระเจ้าทรงอธิบายการสร้างร่างกายของเอวาดังบันทึกไว้ในเรื่องนี้? (หากจำเป็น ให้นักเรียนดูคำอธิบายของผู้นำศาสนจักรเกี่ยวกับพระคัมภีร์ข้อนี้ใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) ช่วยนักเรียนระบุความจริงทำนองนี้: พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้สามีภรรยาช่วยเหลือกันในฐานะหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้มากขึ้น ท่านอาจจะให้ดูสิ่งของหลายๆ อย่างที่ทำบางอย่างสำเร็จเมื่อใช้คู่กัน ของเหล่านี้อาจได้แก่กรรไกรที่มีใบมีดสองอัน ส้อมกับมีด เครื่องดนตรีที่ต้องมีสองชิ้นคู่กันจึงจะเล่นได้ (เช่นไวโอลิน) รองเท้าหรือถุงมือหนึ่งคู่ หูฟังสองข้าง เป็นต้น เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาใช้แค่ชิ้นเดียวทำงาน

  • ของเหล่านี้เหมือนสามีภรรยาทำงานด้วยกันอย่างไร?

  • พรอะไรจะมาสู่ชีวิตแต่งงานได้บ้างถ้าสามีภรรยามองว่าพวกเขาเป็นหุ้นส่วนกันและสนับสนุนกัน?

ปรับปรุงการสอนและการเรียนรู้ของเรา

รับรู้คำตอบของนักเรียนในเชิงบวก เมื่อนักเรียนให้คำตอบ จงตอบรับคำตอบในเชิงบวก อาจจะพูดว่า “ขอบคุณ” หรือให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบ การทำเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่ามีคนฟังและเห็นคุณค่า การตอบสนองเชิงบวกเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกสะดวกใจจะแบ่งปันคำตอบ ข้อคิด และประสบการณ์ในอนาคตมากขึ้น

เตือนความจำนักเรียนว่าพวกเขาได้อ่านสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนแล้วว่าพระเจ้าทรงกำหนดความรับผิดชอบเฉพาะด้านให้สามีภรรยาในครอบครัวซึ่ง “มีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกัน” (เควนทิน แอล. คุก, “ความรักที่ยิ่งใหญ่สำหรับบุตรธิดาของพระบิดา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 79) ศาสดาพยากรณ์สอนในทำนองเดียวกันว่า “ในความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ บิดาและมารดามีหน้าที่ช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (“ครอบครัว:ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org)

ท่านอาจจะบอกว่าเราจะสนทนาความรับผิดชอบหลายๆ อย่างเหล่านี้ในบทเรียนต่อๆ ไป แต่เพื่อเริ่มสนทนาหนึ่งตัวอย่าง ให้ดูข้อความต่อไปนี้: “โดยแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้า บิดาเป็นผู้นำครอบครัวด้วยความรัก ด้วยความชอบธรรม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”)

  • ท่านจะอธิบายความหมายของการนำด้วยความรักและความชอบธรรมว่าอย่างไร? ท่านคิดว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการนำจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด? (หากจำเป็น ให้ทบทวน ข้อความจาก คู่มือทั่วไป และ คำกล่าวของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนกับนักเรียน)

เตือนความจำนักเรียนว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–43 ระบุคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์หลายอย่างที่สามารถเชื่อมโยงกับการนำอย่างชอบธรรมในครอบครัว ขอให้นักเรียนทบทวนข้อนี้และสิ่งที่พวกเขาเขียนตอบใน กิจกรรม “บันทึกความคิดของท่าน” ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนกับชั้นเรียน จากนั้นท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้:

  • ท่านเคยเห็นหรือได้ยินตัวอย่างอะไรบ้างของการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันและการนำอย่างชอบธรรมในครอบครัว?

สามีภรรยาต้องหารือกันในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ สำหรับครอบครัวของพวกเขา

สถานการณ์สมมุติต่อไปนี้ถูกออกแบบไว้ช่วยนักเรียนวิเคราะห์ความเข้าใจของตนเรื่องการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงานและการนำในครอบครัว (พิจารณาว่าท่านจะปรับสถานการณ์นี้ให้สะท้อนวัฒนธรรมของท่านมากขึ้นหรือตรงกับความต้องการเฉพาะด้านที่นักเรียนอาจจะมีได้อย่างไร)

ทบทวนสถานการณ์สมมุติต่อไปนี้ด้วยกันทั้งชั้นหรือเป็นกลุ่มเล็กและสนทนาคำถามท้ายเอกสารแจก

เรื่องราวของนิโคลัสกับเอเลนา

ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู—บทที่ 17

นิโคลัสกับเอเลนาแต่งงานกันอย่างมีความสุขได้ 10 ปีแล้วและมีบุตรสามคน ทั้งคู่อยากสร้างครอบครัวบนรากฐานของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณ ต่างคนต่างพยายามทำความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ในครอบครัว

นิโคลัสกับเอเลนาเหมือนคู่แต่งงานคู่อื่นคือมีความเห็นไม่ตรงกัน และส่วนใหญ่มักเห็นไม่ตรงกันเรื่องเงิน นิโคลัสทำงานเต็มเวลานอกบ้าน จึงทำให้เอเลนาสามารถดูแลลูกและบริหารจัดการในบ้านได้เต็มเวลา นอกจากนี้เธอยังทำงานเสริมเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราวได้ด้วย นิโคลัสเชื่อว่าบทบาทการนำของเขาในครอบครัวและการที่เขาหาเงินได้มากกว่าหมายความว่าเขาควรมีสิทธิ์ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะใช้เงินของพวกเขาอย่างไร เอเลนารู้สึกว่าเธอควรมีอำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับลูกๆ มากกว่าเนื่องจากเธออยู่กับพวกเขามากกว่านิโคลัส บางครั้งที่ผ่านมาเธอใช้เงินของพวกเขาอย่างที่เธอต้องการโดยไม่บอกนิโคลัส

นิโคลัสกับเอเลนาเพิ่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับเงินที่พวกเขาเก็บออมไว้ นิโคลัสอยากใช้เงินนั้นซื้อรถเขาจะได้ไปทำงานง่ายขึ้นและพาครอบครัวไปเที่ยว เอเลนาอยากใช้เงินพาลูกไปเยี่ยมญาติในช่วงพักร้อนและมีประสบการณ์สนุกๆ ด้วยกันก่อนลูกจะโตกว่านี้

ความเห็นไม่ตรงกันของนิโคลัสกับเอเลนาทำให้พวกเขาหนักใจ แต่ต้องทำการตัดสินใจ

  • ท่านอยากบอกว่าอะไรเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่นิโคลัสกับเอเลนากำลังประสบขณะตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับเงินนั้น?

  • ท่านคิดว่าพวกเขาต้องเข้าใจอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันและการนำอันเกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจสำหรับครอบครัวของพวกเขา? (ดู หมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

  • ถ้าท่านเป็นนิโคลัสหรือเอเลนา ท่านจะพูดคุยกับคู่สมรสอย่างไรเพื่อหารือกันเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องนี้ในวิธีเหมือนพระคริสต์?

เรื่องราวของนิโคลัสกับเอเลนา

เอกสารแจกจากครู

หลังจากนักเรียนมีเวลาสนทนาสถานการณ์สมมุตินี้มากพอแล้ว ท่านอาจจะถามว่า:

  • การหารือกันด้วยความชอบธรรมจะเป็นพรแก่คู่สามีภรรยาและลูกๆ ของพวกเขาได้อย่างไร?

เพื่อสรุป ให้ดูคำถามต่อไปนี้และให้เวลานักเรียนมากพอจะไตร่ตรองเงียบๆ และบันทึกการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาอาจจะได้รับ

  • ฉันสามารถพัฒนาหรือเสริมสร้างเจตคติ คุณลักษณะ หรือการปฏิบัติเหมือนพระคริสต์ในด้านใดบ้างเพื่อช่วยฉันส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันในชีวิตแต่งงานของฉัน? ฉันจะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้อย่างไรในเรื่องที่ฉันพยายามทำ?

สำหรับครั้งต่อไป

ยอมรับกับนักเรียนว่าบ่อยครั้งเรื่องใหญ่ที่คู่สามีภรรยากังวลเมื่อนึกถึงชีวิตแต่งงานและลูกๆ คือพวกเขาจะสามารถหาเงินให้พอกับความต้องการของพวกเขาได้อย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทต่อไปร่วมกับการสวดอ้อนวอนและฟังการกระตุ้นเตือนที่อาจจะช่วยให้พวกเขาทำการเลือกอย่างฉลาดเรื่องเงินและพึ่งพาตนเองมากขึ้น