“บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การบำรุงเลี้ยงสัมพันธภาพการแต่งงาน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)
“บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
การบำรุงเลี้ยงสัมพันธภาพการแต่งงาน
ท่านเคยเห็นคู่สมรสที่มีชีวิตแต่งงานที่มั่นคงและมีความสุขและสงสัยว่าอะไรคือกุญแจสู่ความสำเร็จของพวกเขาหรือไม่? ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ตั้งข้อสังเกตว่า “การแต่งงานที่ดีต้องใช้เวลา ต้องใช้ความพยายาม ท่านจะต้องใส่ความพยายามเข้าไป ท่านต้องบ่มเพาะการแต่งานของท่าน” (“Life’s Obligations,” Ensign, Feb. 1999, 4) ขณะที่ท่านศึกษาหลักคำสอนและหลักธรรมในบทนี้ ให้พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมสำหรับการแต่งงานที่มีความสุขหรือบำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงานให้ดีขึ้น
หมวดที่ 1
ฉันกับคู่สมรสจะสร้างการแต่งงานนิรันดร์ที่เปี่ยมด้วยความสุขได้อย่างไร?
ในโลกที่การแต่งงานดูเหมือนจะมีอุปสรรคหรือจบลงด้วยการหย่าร้าง บางคนอาจสงสัยว่าคู่ที่แต่งงานกันมีความสุขในชีวิตสมรสจริงหรือ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองมอบข่าวสารแห่งความหวังไว้ดังนี้
ข้าพเจ้าขอประกาศอย่างชัดเจน เด็ดขาด และยืนกรานว่าไม่เพียงจะมีการแต่งงานที่มีความสุขเท่านั้น แต่การแต่งงานที่มีความสุขเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ข้อยกเว้น
ซิสเตอร์ฮอลแลนด์กับข้าพเจ้าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าท่านไม่เพียงมีความสุขเท่านั้นแต่ท่านสามารถมีความสุขอย่างปีติยินดีด้วย …
ท่านต้องเพียรพยายามเพื่อทำให้การแต่งงานมีความสุข ทุกสิ่งที่ดีที่ข้าพเจ้ารู้ในโลกนี้ล้วนต้องใช้ความพยายาม
พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเหลือท่าน ในบรรดาทุกสิ่งในโลกนี้ที่พระองค์จะทรงช่วยท่าน พระองค์จะทรงช่วยท่านในเรื่องการแต่งงานและครอบครัวของท่าน เพราะอย่างน้อยก็มีความสำคัญต่อพระองค์มากเท่ากับที่มีความสำคัญต่อท่าน (“You Asked—They Answered: Marriage and Family,” New Era, Aug. 2016, 3)
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน ซึ่งรับใช้เป็นสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบเกี่ยวกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการแต่งงานที่มีความสุขและเป็นนิรันดร์ ท่านอาจทำเครื่องหมายหลักธรรมที่ท่านพบ
ข้าพเจ้าสังเกตว่าในชีวิตแต่งงานที่มีความสุขที่สุดนั้น ทั้งสามีและภรรยาคำนึงถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาเสมือนหนึ่งไข่มุกอันล้ำค่า เป็นสมบัติอันหาค่าที่สุดมิได้ … พวกเขาทราบว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดสามารถนำมาซึ่งความสุขได้มากเช่นนี้ ทั้งยังก่อเกิดความดีงาม หรือรังสรรค์ความประณีตส่วนตัวได้มากมาย …
… ชีวิตแต่งงานนิรันดร์ที่ประสบความสำเร็จสร้างขึ้นบนพื้นฐานของศรัทธา ในพระเจ้า พระเยซูคริสต์และการยึดมั่นคำสอนของพระองค์ [ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org] …
… ชีวิตแต่งงานที่มีความสุขพึ่งพาของประทานแห่งการกลับใจ …
ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการกลับใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตนคือไม่คำนึงถึงตนเอง ไม่เห็นแก่ตัว … ความอ่อนน้อมถ่อมตนหมายถึงทั้งสามีภรรยาพยายามเป็นพร ช่วยเหลือ และยกย่องกัน นึกถึงผู้อื่นก่อนจะตัดสินใจทุกครั้ง …
… ชีวิตแต่งงานที่มีความสุขที่สุด ข้าพเจ้าเห็นการเชื่อฟังที่สะท้อนถึงพระบัญญัติที่มีความสุขที่สุดหนึ่งข้อ—นั่นคือ “อยู่ด้วยกันด้วยความรัก” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:45](“ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 83, 84, 85)
หมวดที่ 2
การทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์จะช่วยให้ฉันบำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงานของฉันได้อย่างไร?
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการบำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงานไว้ดังนี้
การแต่งงานมีโอกาสพบกับความสุขมากกว่าความสัมพันธ์อื่นใดของมนุษย์ กระนั้นคู่สามีภรรยาที่แต่งงานบางคู่ก็ไม่สามารถบรรลุถึงศักยภาพที่สมบูรณ์ของพวกเขา พวกเขาปล่อยให้ความรักจืดจาง ไม่เห็นความสำคัญกัน ยอมให้ความสนใจอื่นๆ หรือเมฆหมอกแห่งการละเลยมาบดบังวิสัยทัศน์ว่าการแต่งงานที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร ชีวิตแต่งงานจะมีความสุขมากขึ้นถ้าทวีความเอาใจใส่และบำรุงเลี้ยง (“บำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 44)
ในบรรดาคำแนะนำที่อัครสาวกเปาโลมอบให้สมาชิกศาสนจักรในเมืองเอเฟซัสคือคำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งงาน
การทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยให้สามีภรรยาทำให้ “ความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งที่จะรักและดูแลกัน” เกิดสัมฤทธิผล (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) ความพยายามบางอย่างในการดูแลชีวิตแต่งงานอาจเป็นเรื่องใหญ่ แต่การแสดงออกที่มีประสิทธิภาพและมีความหมายมากที่สุด “เล็กและเรียบง่าย” (แอลมา 37:6) ดังที่ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดในเวลานั้นสอนว่า “ชีวิตแต่งงานที่ดีสร้างจากอิฐทีละก้อน วันแล้ววันเล่า ใช้เวลาชั่วชีวิต” (“สรรเสริญผู้ที่ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 78)
ประธานลินดา เค. เบอร์ตัน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ ถามคำถามง่ายๆ ที่เราสามารถใช้ประเมินความพยายามของเราในการบำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงานของเราดังนี้
ด้วยการปรับใช้นิดหน่อย คำถามเหล่านี้ใช้ได้กับเราส่วนมาก ไม่ว่าแต่งงานแล้วหรือเป็นโสด ไม่ว่าสถานการณ์ครอบครัวของเราเป็นเช่นไร
ฉันชื่นชมคู่ของฉันครั้งสุดท้ายเมื่อใด ทั้งที่อยู่ตามลำพังหรือต่อหน้าลูกๆ
ฉันแสดงความรัก ขอบคุณ หรือวิงวอนด้วยศรัทธาให้เขาหรือเธอในการสวดอ้อนวอนครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ฉันหยุดพูดบางสิ่งที่รู้ว่าจะทำให้เจ็บปวดครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ฉันขอโทษและขอการให้อภัยอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนครั้งสุดท้ายเมื่อใด—โดยไม่ต่อท้ายด้วยคำว่า “แต่ถ้าคุณทำอย่างนี้” หรือ “แต่ถ้าคุณไม่ทำอย่างนี้”
ฉันเลือกมีความสุขมากกว่าเรียกร้องการเป็นคน “ถูกต้องเสมอ” ครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ท่านจะร่วมกับดิฉันแสวงหาการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อสอนเราให้รู้ว่าจะให้กำลังใจซึ่งกันและกันให้ดีขึ้นในการทำหน้าที่บุตรและธิดาแห่งพันธสัญญาของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์อันเป็นที่รักของเราหรือไม่ (“เราจะขึ้นไปด้วยกัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 31)
หมวดที่ 3
ฉันจะแนบสนิทกับคู่สมรสของฉันได้อย่างไร?
ในการเปิดเผยที่ให้ไว้ในปี 1831 พระเจ้าประทานกฎความประพฤติทั่วไปบางประการสำหรับสมาชิกของศาสนจักร ซึ่งมีพระบัญญัติรวมอยู่ในนี้คือ “เจ้าจงรักภรรยาของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, และจงแนบสนิทกับนางและหาใช่ใครอื่นไม่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22; ดู ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:5 ด้วย)
ในพระคัมภีร์ คำว่า แนบสนิท แปลว่า ยึด มั่น เกาะติด แปะ หรือเชื่อม “ตามนิยามในพระคัมภีร์ เราพบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้เรา ‘ยึด’ กับคู่สมรสของเราหรือ ‘เกาะติด’ กับเขาหรือเธอ” (แมทธิว โอ. ริชาร์ดสัน, “Three Principles of Marriage,” Ensign, Apr 2005, 22)
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนเกี่ยวกับวลี “หาใช่ใครอื่นไม่” ดังนี้ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22)
คำว่า หาใช่ใครอื่นไม่ ตัดทุกคนและทุกอย่างออกไป ดังนั้นคู่สมรสจึงมาก่อนสิ่งอื่นใดในชีวิตของสามีหรือภรรยา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทางสังคม อาชีพการงาน ชีวิตทางการเมือง หรือความสนใจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือสิ่งของ สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่มีความสำคัญหนือกว่าคู่สมรสเป็นอันขาด (The Miracle of Forgiveness [1969], 250)
เอ็ลเดอร์เคลย์ตันอธิบายว่าการแนบสนิทกับคู่สมรสของเราประยุกต์ใช้อย่างไรเมื่อเราใช้สื่อสังคมออนไลน์:
ศาสดาพยากรณ์สอนว่าคู่แต่งงานที่ประสบความสำเร็จเป็นคู่ที่ “ภักดีต่อกันอย่างที่สุด” [ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “พลังของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 68; กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Life’s Obligations,” 4] พวกเขาควบคุมสื่อสังคมของตนเองอย่างมีคุณค่าเต็มที่ในทุกๆ ทาง พวกเขาไม่ยอมให้ประสบการณ์ทางอินเทอร์เน็ตเป็นความลับ โดยบอกรหัสเครือข่ายสังคมออนไลน์ของพวกเขาให้แก่กันอย่างเปิดเผย พวกเขาไม่ดูโพรไฟล์ออนไลน์ของผู้อื่นในทางใดทางหนึ่งที่อาจทรยศต่อความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ของคู่ครอง พวกเขาไม่เคยทำหรือพูดอะไรที่เป็นการเลียบเคียงในลักษณะไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะในขณะออนไลน์หรืออยู่ต่อหน้ากัน (“ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” 84)
ประธานเนลสันสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการทำให้คู่สมรสของท่านมีความสำคัญสูงสุดที่การประชุมใหญ่สามัญภาคฐานะปุโรหิตดังนี้ แม้ว่าคำแนะนำนี้จะพูดกับสามี แต่ก็ใช้ได้กับคู่สมรสทั้งสองอย่างเท่าเทียมกัน
รักและดูแลภรรยาของท่าน เป็นหนึ่งเดียวกับเธอ เป็นหุ้นส่วนของเธอ … ไม่ควรมีความสนใจอื่นใดในชีวิตนี้ที่สำคัญเหนือกว่าการสร้างความสัมพันธ์นิรันดร์กับเธอ ไม่มีสิ่งใดในทีวี อุปกรณ์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่สำคัญมากกว่าความผาสุกของเธอ ทบทวนว่าท่านใช้เวลาอย่างไรและอุทิศพลังงานของท่านให้สิ่งใด สิ่งนั้นจะบอกท่านว่าใจท่านอยู่ที่ไหน จงสวดอ้อนวอนเพื่อให้ใจท่านตรงกับใจภรรยา พยายามนำปีติมาให้เธอ (“เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 68–69)