สถาบัน
บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัว


“บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัว” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บุตรเสเพล โดย คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์

บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

การกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัว

“การแต่งงานและครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้รับการสถาปนาและธำรงไว้ด้วยหลักธรรม” ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) สองข้อในหลักธรรมเหล่านี้คือการกลับใจและการให้อภัย หลักธรรมสองข้อนี้มีบทบาทอะไรในชีวิตครอบครัวท่าน? ขณะศึกษาสื่อการเรียนการสอนนี้ ให้พิจารณาว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยท่านได้อย่างไรขณะท่านพยายามกลับใจจากสิ่งที่ท่านเคยทำผิดหรือเคยทำให้ขุ่นเคืองต่อสมาชิกครอบครัว พิจารณาด้วยว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยท่านให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่อาจทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจหรือทำร้ายท่านได้อย่างไร

หมวดที่ 1

การกลับใจของฉันจะเป็นพรแก่ครอบครัวฉันได้อย่างไร?

ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญ ซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลินสอนว่า:

ซิสเตอร์เชอริล เอ. เอสพลิน

ครอบครัวเป็นที่ทำการของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกที่ช่วยให้เราเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ (“ทำให้บ้านของเราเต็มไปด้วยแสงสว่างและความจริง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 8)

ขณะที่เราพยายามเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดในบ้านเรา จะมีหลายครั้งที่เราทำผิดพลาด แม้เกิดความไม่เห็นพ้องต้องกันและความขุ่นข้องหมองใจในทุกครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกครอบครัวได้รับยกเว้นจากการเป็นเหมือนพระคริสต์ในวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อกัน แต่ความผิดพลาดของเราเปิดโอกาสให้เราปฏิบัติหลักธรรมพระกิตติคุณแห่งการกลับใจและการให้อภัยในครอบครัวเรา

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการกลับใจหมายถึงอะไร:

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

การกลับใจหมายถึงการเปลี่ยนความคิดและจิตใจ—เราหยุดทำสิ่งผิด และเราเริ่มทำสิ่งถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เรามีเจตคติใหม่ต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อตนเอง และชีวิตทั่วไป (“จุดกลับที่ปลอดภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 125)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเล่าอุปมาเรื่องบุตรที่ต้องกลับใจเพราะการเลือกที่ทำร้ายตัวเขาเองและครอบครัว บุตรคนนี้รับมรดกของตนก่อนเวลาและผลาญมรดกนั้นไปกับการใช้ชีวิตเสเพล เมื่อยากแค้นและหิวโหยเขาก็เริ่มรับจ้างให้อาหารหมูและเข้าตาจนมากถึงกับกินอาหารหมู (ดู ลูกา 15:11–16)

ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน ลูกา 15:17–24 และพิจารณาทำเครื่องหมายหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับการกลับใจในชีวิตครอบครัว

พ่อวิ่งไปกอดลูกชายเสเพล

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเรากับสมาชิกครอบครัวจะได้รับพรจากการกลับใจของเราได้อย่างไร:

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

การกลับใจไม่เพียงเปลี่ยนเราเท่านั้น แต่เป็นพรให้ครอบครัวเราและผู้ที่เรารักด้วย โดยการกลับใจอันชอบธรรมของเรา ในจังหวะเวลาของพระเจ้า พระพาหุที่เหยียดออกมาของพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงโอบกอดเราเท่านั้นแต่จะยื่นไปสู่ชีวิตลูกหลานของเราด้วย การกลับใจหมายความเสมอว่ามีความสุขใหญ่หลวงรออยู่เบื้องหน้า (“กลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 52)

ขณะรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตันสอนว่าการสำรวจตนเองเป็นประจำและการกลับใจทันทีจะเป็นพรแก่ชีวิตแต่งงานได้อย่างไร พิจารณาว่าการปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยในสัมพันธภาพครอบครัวทั้งหมดของท่านได้อย่างไร:

เอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน

ข้าพเจ้าเรียนรู้มาว่าชีวิตแต่งงานที่มีความสุขพึ่งพาของประทานแห่งการกลับใจ สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของสัมพันธภาพทุกอย่างในชีวิตแต่งงานที่ดี คู่ครองผู้ดำเนินการตรวจสอบตนเองอย่างซื่อสัตย์เป็นประจำและโดยทันทีจะใช้ขั้นตอนที่จำเป็นต่อการกลับใจและพัฒนาประสบการณ์ของการเยียวยารักษาชีวิตแต่งงาน (“ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 84)

คนหนุ่มสาวคนหนึ่งไตร่ตรอง
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ใช้เวลาสองสามนาทีทำการสำรวจตนเองอย่างซื่อสัตย์ ท่านจำเป็นต้องกลับใจจากการเลือกที่เคยทำร้ายหรือกำลังทำร้ายสัมพันธภาพกับสมาชิกคนใดในครอบครัวหรือไม่? ถ้าจำเป็น ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหันมาหาพระเจ้าและเริ่มกระบวนการนี้? นอกจากนี้ให้พิจารณาการเลือกที่ท่านทำอยู่ที่เป็นพรแก่สัมพันธภาพของท่านกับสมาชิกครอบครัวและท่านจะทำการเลือกคล้ายๆ กันนั้นต่อไปได้อย่างไร

หมวดที่ 2

ฉันจะให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำผิดต่อฉันได้อย่างไร?

ในอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องบุตรเสเพล บุตรคนโตไม่ยอมเข้าร่วมงานฉลองที่จัดต้อนรับการกลับมาของน้องชาย (ดู ลูกา 15:25–32) เหมือนบุตรคนโต อาจจะมีหลายครั้งที่เราต้องนำคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองมาใช้:

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

จงให้ผู้คนกลับใจ จงให้ผู้คนเติบโต จงเชื่อว่าคนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้ (“‘Remember Lot’s Wife’: Faith Is for the Future” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 13 ม.ค. 2009], speeches.byu.edu)

อาจมีหลายครั้งที่ท่านต้องขออภัยสมาชิกครอบครัว บางครั้งท่านอาจต้องให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจหรือทำร้ายท่าน

คู่สามีภรรยาคุยกัน
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:8–11 โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นแรกเกี่ยวกับการให้อภัยผู้อื่น

หลังจากอ่านพระคัมภีร์ส่วนนี้ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์อธิบายว่า:

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

สำคัญสำหรับพวกท่านบางคนผู้มีชีวิตอยู่ในความปวดร้าวจริงๆ จะสังเกตสิ่งที่ [พระเจ้า] ไม่ได้ ตรัส พระองค์ ไม่ได้ ตรัสว่า “เจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกเจ็บปวดหรือเศร้าโศกจริงๆ จากการกระทำย่ำยีด้วยน้ำมือของผู้อื่น” และพระองค์ ไม่ได้ ตรัสว่า “เพื่อจะให้อภัยอย่างสมบูรณ์ เจ้าต้องกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษภัยหรือกลับไปสู่สภาวการณ์เลวร้ายที่เป็นอันตราย” แต่ถึงแม้จะมีคนทำผิดร้ายแรงที่สุดกับเรา เราก็ยังสามารถเอาชนะความเจ็บปวดของเราได้เพียงแค่เราวางเท้าบนเส้นทางของการเยียวยาที่แท้จริง เส้นทางนั้นคือเส้นทางการให้อภัยที่พระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงเดินมาแล้ว พระองค์ผู้ทรงเรียกเราแต่ละคนให้ “กลับมาติดตามเรา” [ลูกา 18:22] (ดู “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 79)

คนหนุ่มสาวคนหนึ่งสวดอ้อนวอน

บางครั้งท่านอาจรู้สึกลังเลหรือไม่สามารถให้อภัยได้ หรือท่านอาจรู้สึกว่าระยะห่างระหว่างท่านกับสมาชิกครอบครัวกว้างเกินกว่าจะทำให้สัมพันธภาพของท่านดีดังเดิม พิจารณาว่าคำแนะนำต่อไปนี้จากประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดจะช่วยท่านขณะพยายามให้อภัยได้อย่างไร:

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

เราต้องรับรู้และยอมรับความรู้สึกโกรธ ต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงจะทำเช่นนั้นได้ แต่ถ้าเราจะคุกเข่าทูลขอความรู้สึกให้อภัยจากพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์จะทรงช่วยเรา …

… ไม่ง่ายเลยที่จะปล่อยวางและทำให้ใจว่างเปล่าจากความเคียดแค้นที่อัดแน่น พระผู้ช่วยให้รอดทรงเสนอสันติสุขที่มีค่าให้เราทุกคนผ่านการชดใช้ของพระองค์ แต่เราจะได้รับต่อเมื่อเราเต็มใจทิ้งความรู้สึกด้านลบของความโกรธ ความอาฆาตแค้น หรือการผูกพยาบาท (ดู “อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 69)

เอ็ลเดอร์มัสสิโม ดี ฟีโอแห่งสาวกเจ็ดสิบเน้นความสำคัญของการมุ่งเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอดด้วย:

เอ็ลเดอร์มัสสิโม ดี ฟีโอ

พี่น้องที่รักทั้งหลาย ถ้าท่านยังไม่มีพลังในการให้อภัย อย่านึกถึงสิ่งที่คนอื่นทำกับท่าน แต่นึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้ท่าน และท่านจะพบสันติสุขในพรของการไถ่อันเนื่องจากการชดใช้ของพระองค์ (“ความรักอันบริสุทธิ์: เครื่องหมายที่แท้จริงของสานุศิษย์ที่แท้จริงทุกคนของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 82)

การให้อภัยและการเยียวยาจะใช้เวลา จงอดทนกับตนเองขณะท่านแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าและของประทานแห่งการเยียวยาของพระองค์

ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

พิจารณาสิ่งที่ท่านเรียนรู้และรู้สึกขณะศึกษาสื่อการเรียนการสอนนี้ บันทึกความปรารถนาและเป้าหมายของท่านเกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัวท่าน ท่านจะเชื้อเชิญพระผู้ช่วยให้รอดให้ทรงช่วยท่านในความพยายามของท่านได้อย่างไร?