“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)
“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน
การเข้าสู่และให้เกียรติ “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:2) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสูงส่ง ในบทนี้ นักเรียนจะมีโอกาสอธิบายความสำคัญนิรันดร์ของพันธสัญญาการแต่งงานพร้อมอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงมุ่งมั่นเพื่อการแต่งงานนิรันดร์ นอกจากนี้นักเรียนจะพิจารณาด้วยว่าตนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมเข้าสู่หรือให้เกียรติพันธสัญญาการแต่งงานของพวกเขา
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
การแต่งงานนิรันดร์คือการเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้า
ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนโดยเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากการสนทนากับคนที่ได้รับการผนึกในพระวิหาร (ดูคำเชื้อเชิญใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) (หมายเหตุ: ท่านอาจต้องติดต่อนักเรียนหนึ่งหรือสองคนก่อนเข้าชั้นเรียนสองสามวันเพื่อขอให้นักเรียนเตรียมแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากการสนทนา)
ท่านอาจถามนักเรียนว่าพวกเขามีคำถามเกี่ยวกับพันธสัญญาการแต่งงานหรือศาสนพิธีผนึกการแต่งงานหรือไม่ (ลองปรับเนื้อหาบทเรียนตามคำถามที่นักเรียนถาม โปรดแน่ใจว่าการตอบคำถามของนักเรียนเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร)
อ่านข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ซึ่งอธิบายว่าท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบเป็นครั้งแรกว่าการแต่งงานสามารถดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์
ข้าพเจ้าเรียนรู้จาก [ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ] ว่าภรรยาในอ้อมอกข้าพเจ้าจะอยู่กับข้าพเจ้าเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดร … ข้าพเจ้าเรียนรู้จากท่านว่าเราน่าจะบ่มเพาะความรักเหล่านี้ พัฒนา และเพิ่มพูนความรักนั้นชั่วนิรันดร ขณะที่ผลของเอกภาพอันไม่สิ้นสุดของเราคือลูกหลานมากเท่าดวงดาวบนท้องฟ้าหรือเม็ดทรายบนฝั่งทะเล … ข้าพเจ้าเคยรักมาก่อน แต่ไม่ทราบสาเหตุ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ารัก—ด้วยความบริสุทธิ์ใจ—ความรู้สึกสูงส่งและทรงเกียรติอย่างยิ่ง (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 297–298)
-
การรู้ว่าการแต่งงานจะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ส่งผลต่อการเลือกและความรู้สึกของเราเกี่ยวกับการแต่งงานในชีวิตนี้อย่างไร?
ทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4 ไปพร้อมๆ กันโดยมองหาความจริงเพิ่มเติมที่โจเซฟ สมิธสอนเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์ จากนั้นท่านอาจถามนักเรียนถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าสำคัญในข้อนี้ พวกเขาอาจระบุความจริงเช่นนี้: การแต่งงานนิรันดร์จำเป็นต่อการได้รับอาณาจักรซีเลสเชียลในระดับสูงสุด คนที่เข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงานสามารถมีการเพิ่มพูนนิรันดร์ได้
-
จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงานเกี่ยวข้องกับอับราฮัมและซาราห์อย่างไร? (ท่านอาจช่วยให้นักเรียนรับรู้ว่าพระเจ้าประทานคำสัญญาอันสูงสุดนี้กับอับราฮัมและซาราห์ รวมทั้งสัญญาว่าพวกเขาจะมีการเพิ่มพูนนิรันดร์ [ลูกหลานนับไม่ถ้วน])
-
พันธสัญญาของการแต่งงานทำให้เราเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ได้อย่างไร?
ให้ดูภาพประกอบที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในพันธสัญญาการแต่งงาน ขอให้นักเรียนอธิบายว่าเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนอะไรเกี่ยวกับแผนภาพนี้ (ดู หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน: “การแต่งงานในพระวิหารไม่ใช่เรื่องระหว่างสามีกับภรรยาเท่านั้น แต่น้อมรับความเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้าด้วย [ดู มัทธิว 19:6]” (“การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 116)
-
การเข้าใจความจริงนี้จะส่งผลต่อการเลือกที่สามีและภรรยาทำอย่างไร?
ถ้านักเรียนในชั้นเรียนของท่านหนึ่งคนขึ้นไปได้รับการผนึกในพระวิหาร ท่านอาจจะถามพวกเขาว่าพวกเขาเต็มใจแบ่งปันความรู้สึกบางอย่างเกี่ยวกับการรับการผนึกในพระวิหารกับชั้นเรียนหรือไม่และพันธสัญญานั้นมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร (ท่านอาจต้องถามนักเรียนเหล่านี้ก่อนชั้นเรียนเพื่อให้พวกเขามีเวลาเตรียมคำตอบ)
ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน:
ข้าพเจ้าจะเตือนท่านให้รักษามุมมองนิรันดร์เอาไว้ ต้องแน่ใจว่าการแต่งงานในอนาคตของท่านเป็นการแต่งงานในพระวิหาร ไม่มีฉากใดที่หวานชื่น ไม่มีเวลาใดศักดิ์สิทธิ์เท่าวันพิเศษนั้นของการแต่งงานของท่าน เวลานั้นและที่นั่นท่านจะเห็นแวบหนึ่งของปีติแห่งอาณาจักรซีเลสเชียล จงระวัง อย่ายอมให้การล่อลวงช่วงชิงพรนี้ไปจากท่าน (ดู “จงเป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 140)
-
เหตุใดหลักคำสอนเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์จึงอาจนำมาซึ่งความรู้สึกอันลึกซึ้งของปีติและความรัก?
ท่านอาจถามนักเรียนที่ยินดีจะอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงเพียรพยายามเพื่อการแต่งงานนิรันดร์
การแต่งงานจะเป็นนิรันดร์สำหรับผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของตน
แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ แจกสำเนาเอกสารประกอบให้กลุ่มละหนึ่งชุด แนะนำให้กลุ่มอ่านสถานการณ์สมมติและสนทนาคำถามด้วยกัน
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนออกมาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาสนทนาในกลุ่ม ขณะนักเรียนแบ่งปันความคิดเห็น ท่านอาจเขียนความจริงบางอย่างที่พวกเขากล่าวถึงไว้บนกระดาน ความจริงเหล่านี้อาจรวมถึงแนวคิดทำนองนี้: การแต่งงานของเราจะเป็นนิรันดร์ก็ต่อเมื่อการแต่งงานนั้นประกอบโดยสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าและเมื่อเราปฏิบัติตามพันธสัญญาการแต่งงาน พระวิญญาณบริสุทธิ์ (พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา) จะทรงเป็นพยานต่อพระบิดาถึงความซื่อสัตย์ของเราต่อพันธสัญญาการแต่งงานของเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมในการรักษาสัญญาและพันธสัญญา
เป็นพยานว่ามีความหวังสำหรับทุกคนที่จะมีการแต่งงานนิรันดร์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้เราทุกคนสามารถกลับใจ รับการให้อภัย ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระองค์ได้ เตือนนักเรียนว่าแม้แต่คนที่ไม่มีโอกาสแต่งงานในชีวิตนี้ก็สามารถผนึกกับคู่ครองนิรันดร์ได้หากพวกเขาซื่อสัตย์
ท่านอาจแสดงคำถามต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกหนึ่งคำถามและเขียนความประทับใจของพวกเขาเกี่ยวกับคำถามนั้น
-
ฉันมุ่งมั่นเพียงใดที่จะแต่งงานในพระวิหาร? ฉันจะทำการเลือกอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นนั้น?
-
ฉันจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการรักษาพันธสัญญาของฉันได้ดีขึ้นอย่างไร? ฉันจะเข้าถึงเดชานุภาพของพระองค์เพื่อช่วยให้ฉันทำและรักษาพันธสัญญาของฉันได้อย่างไร?
สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนากันในบทเรียนนี้ และกระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขารู้สึกหรือเรียนรู้
สำหรับครั้งต่อไป
กระตุ้นให้นักเรียนศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนในบทต่อไป ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้ให้นักเรียนไตร่ตรองขณะศึกษา:
-
พระเจ้าทรงช่วยฉันในการพยายามหาคู่นิรันดร์ในทางใดบ้าง (หรือสำหรับคนที่แต่งงานแล้ว เพื่อสร้างความสัมพันธ์นิรันดร์)?
-
คุณสมบัติเหมือนพระคริสต์ข้อใดมีความหมายต่อฉันมากที่สุดทั้งในคู่สมรสและในตัวฉัน?