“บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การมีศรัทธาอยู่เสมอท่ามกลางการต่อต้านและความทุกข์” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)
“บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 17 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
การมีศรัทธาอยู่เสมอท่ามกลางการต่อต้านและความทุกข์
ในช่วง ปี 1837 ถึง 1839 วิสุทธิชนประสบกับวิญญาณแห่งการคุกคามของการละทิ้งความเชื่อในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ และการข่มเหงรุนแรงในมิสซูรี บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนระบุว่าพวกเขาจะหันไปหา วางใจ และพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้เต็มที่มากขึ้นในยามลำบากและมีการต่อต้านได้อย่างไร
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
สมาชิกบางคนในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ทิ้งศาสนจักร ขณะที่คนอื่นๆ ยังคงซื่อสัตย์
เริ่มชั้นเรียนโดยขอให้นักเรียนอธิบายว่าผู้คนที่พวกเขารู้จักได้ตอบสนองต่อการทดลองที่ยากลำบากในชีวิตของพวกเขาอย่างไร ท่านอาจถามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างนั้นด้วย
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงการทดลองที่พวกเขาหรือคนที่พวกเขารักกำลังประสบและให้พิจารณาสิ่งที่พระเจ้าอาจสอนพวกเขาในวันนี้เกี่ยวกับการตอบสนองต่อการทดลองนั้น
-
มีความท้าทายและการทดลองใดบ้างที่วิสุทธิชนยุคแรกประสบในโอไฮโอ? (ท่านอาจบอกให้นักเรียนดูสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมเพื่อช่วยให้พวกเขาจำได้) เราสามารถเรียนรู้อะไรจากคนที่ได้รับผลจากการทดลองในโอไฮโอ?
เตือนนักเรียนว่าในฤดูร้อน ปี 1837 โธมัส บี. มาร์ช ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเดินทางจากมิสซูรีไปเคิร์ทแลนด์เพื่อพบกับสมาชิกของโควรัมนั้นและศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
-
มีความท้าทายและข้อกังวลใดบ้างที่โธมัส บี. มาร์ชเผชิญก่อนเขามาถึงเคิร์ทแลนด์?
อธิบายว่าหลังจากโธมัส บี. มาร์ชและโจเซฟ สมิธพบกันและปรับความเข้าใจกันแล้ว ศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้าให้โธมัส เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหรือทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10–15 ในใจโดยมองหาคำแนะนำและหลักธรรมที่พระเจ้าตรัสสอนโธมัส บี. มาร์ชและสมาชิกคนอื่นๆ ของโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันและสนทนาสิ่งที่พบ
หากจำเป็น ช่วยนักเรียนระบุและสนทนาหลักธรรมจาก ข้อ 13 โดยถามคำถามต่อไปนี้:
-
พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงทำอะไรเพื่ออัครสาวกสิบสองเหล่านั้นที่เลือกจะไม่ทำใจแข็งกระด้างเมื่อศรัทธาของพวกเขาถูกทดสอบ? (หลังจากนักเรียนตอบ ให้ดูหลักธรรมต่อไปนี้หรือเขียนบนกระดาน: ถ้าเราไม่ทำใจของเราแข็งกระด้างเมื่อเราถูกทดสอบศรัทธา พระเจ้าจะทรงอยู่กับเราและช่วยทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราลึกซึ้งขึ้น)
-
บางคนอาจทำใจแข็งกระด้างอย่างไรเมื่อศรัทธาของพวกเขาถูกทดสอบ? อะไรคืออันตรายของการทำเช่นนั้น?
-
ท่านเคยเห็นคนบางคนตอบสนองต่อการทดสอบศรัทธาด้วยใจที่อ่อนโยนและใจที่เปิดกว้างเมื่อใด? ท่านสังเกตว่าอะไรเกิดขึ้นกับคนนั้นเมื่อเขาตอบสนองเช่นนั้น?
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับพรเนื่องจากความซื่อสัตย์ของท่านระหว่างการทดลองของท่านในคุกลิเบอร์ตี้
ให้ดูคำถามต่อไปนี้: เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับคนดี?
ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยสงสัยหรือมีคนถามคำถามนี้หรือไม่ อธิบายว่าโจเซฟ สมิธถามคำถามคล้ายกันนี้หลังจากที่ถูกคุมขังในลิเบอร์ตี้ มิสซูรีโดยไม่ยุติธรรม ขณะที่นักเรียนสนทนาประสบการณ์ของโจเซฟ เชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาจะตอบอย่างไรหากเพื่อนคนหนึ่งถามคำถามนั้นกับพวกเขา
ให้ดูภาพต่อไปนี้ของคุกลิเบอร์ตี้:
ขอให้นักเรียนเล่าเหตุการณ์ที่นำไปสู่การจำคุกของโจเซฟ สมิธในคุกลิเบอร์ตี้ (หากจำเป็น บอกให้นักเรียนทบทวน หัวข้อ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมพอสังเขป)
-
สภาพของโจเซฟ สมิธและคนอื่นในคุกลิเบอร์ตี้เป็นอย่างไร?
เตือนนักเรียนว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใช้เวลามากกว่าสี่เดือนในคุกลิเบอร์ตี้ระหว่างฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำถามที่ท่านศาสดาพยากรณ์ถามในจดหมายที่เป็นการสวดอ้อนวอนนี้
-
คำถามเหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่โจเซฟ สมิธอาจรู้สึกในตอนนั้น?
-
ช่วงเวลานี้อาจเป็นการทดสอบศรัทธาของโจเซฟอย่างไร?
เตือนนักเรียนว่าขณะอยู่ในคุก โจเซฟ สมิธส่งจดหมายสองฉบับไปที่ศาสนจักร แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10; 122:7–9 แล้วแบ่งปันวลีและหลักธรรมที่พวกเขาประทับใจ
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันวลีหรือหลักธรรมที่พวกเขาสนทนาในกลุ่มของพวกเขา ท่านอาจให้ดูหลักธรรมหรือวลีเหล่านี้หรือเขียนไว้บนกระดาน หลักธรรมบางข้อที่นักเรียนระบุอาจพูดหรือสรุปได้ทำนองนี้: เมื่อเราหันไปหาพระเจ้าและพึ่งพาพระองค์ระหว่างการทดลองของเรา พระองค์จะประทานพรเราด้วยการเปิดเผย การปลอบโยน และกำลังใจ หากเรายังคงซื่อสัตย์ ความทุกข์และความยากลำบากจะให้ประสบการณ์เราและเป็นไปเพื่อความดีของเรา
-
หลักธรรมและวลีที่ท่านระบุอาจช่วยบางคนที่กำลังประสบกับความทุกข์หรือการทดลองศรัทธาอย่างไร?
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาของท่าน ท่านอาจให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองและเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
ท่านสามารถมีประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์กับพระเจ้าที่เป็นการเปิดเผยและให้ความรู้อย่างลึกซึ้ง ในประสบการณ์อันน่าเศร้าสลดที่สุดของชีวิตท่าน—ในสภาพเลวร้ายที่สุด ขณะอดทนต่อความอยุติธรรมอันแสนเจ็บปวด เมื่อกำลังประสบอุปสรรคที่ยากจะเอาชนะได้และการต่อต้านมากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา …
… บทเรียนของฤดูหนาวปี 1838–1839 สอนเราว่าทุกประสบการณ์สามารถกลายเป็นประสบการณ์การไถ่หากเรายังคงผูกพันอยู่กับพระบิดาในสวรรค์ของเราผ่านความยากลำบากนั้น บทเรียนความยากลำบากเหล่านี้สอนเราว่าความทุกข์เข็ญแสนสาหัสของมนุษย์เป็นโอกาสของพระผู้เป็นเจ้าที่จะทรงสอนและทรงอวยพรเรา หากเราจะอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ หากเราจะเชื่อและไม่สาปแช่งพระผู้เป็นเจ้าเพราะปัญหาของเรา พระองค์สามารถเปลี่ยนความอยุติธรรม ความไร้มนุษยธรรม และคุกอันเสื่อมโทรมของชีวิตเราเป็นพระวิหาร—หรืออย่างน้อยเป็นสภาวการณ์ที่จะนำการปลอบโยนและการเปิดเผย การมีสวรรค์อยู่เป็นเพื่อนและสันติสุข (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “Lessons from Liberty Jail,” Ensign, Sept. 2009, 28)
-
ท่านคิดว่าการทดลองสามารถเป็นประสบการณ์ “การไถ่” หมายความว่าอย่างไร?
-
การอดทนต่อการทดลองของชีวิตอย่างซื่อสัตย์จะช่วยท่านเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเราพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร?
-
ท่านเคยหันไปหาและพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เต็มที่ยิ่งขึ้นระหว่างการทดลองที่ทดสอบศรัทธาของท่านในวิธีใดบ้าง? ท่านเรียนรู้อะไรจากการทำเช่นนี้?
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันกับเพื่อนร่วมชั้นว่าพวกเขาจะตอบคำถามที่ท่านให้ดูก่อนหน้านี้เกี่ยวกับสาเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับบุตรธิดาของพระองค์ว่าอย่างไร
จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนนำคำหรือวลีที่พวกเขาเลือกจากข้อพระคัมภีร์ที่สนทนาก่อนหน้านั้นไปวางในที่ซึ่งพวกเขาเห็นได้บ่อยหรือท่องจำหรือแบ่งปันลงสื่อสังคม เป็นพยานว่าเมื่อเราหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดในการทดลองของเรา พระองค์จะประทานสันติสุขแก่เรา ปลอบโยนเรา และทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราลึกซึ้งขึ้น
สำหรับครั้งต่อไป
ในตอนจบชั้นเรียน ท่านอาจอธิบายว่าสมาคมสงเคราะห์ องค์กรสตรีที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของโลกทุกวันนี้ จัดตั้งขึ้นในปี 1842 โดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ บอกให้นักเรียนรู้ว่าขณะที่พวกเขาเตรียมเข้าชั้นเรียนครั้งต่อไป พวกเขาจะมีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นว่าองค์กรทั่วโลกนี้จัดตั้งขึ้นอย่างไรและเพราะเหตุใด กระตุ้นให้นักเรียนเตรียมมาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้