“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ—ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)
“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ—ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ
พระเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่า “ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ” ผู้จะทำให้ผู้คนรู้เรื่องพันธสัญญาของพระเจ้า (2 นีไฟ 3:7–8) ทว่าตั้งแต่เริ่มการฟื้นฟู โจเซฟ สมิธยอมรับว่าตนรู้สึกไม่ดีพอ ขณะท่านศึกษาสื่อการเรียนการสอนนี้ ให้พิจารณาว่าท่านจะตอบรับการเรียกจากพระเจ้าด้วยศรัทธาทั้งที่ท่านมีความอ่อนแอได้อย่างไร พิจารณาเช่นกันว่าท่านจะตอบคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์โจเซฟ สมิธเพราะความอ่อนแอของโจเซฟว่าอย่างไร
หัวข้อ 1
ฉันได้เรียนรู้อะไรจากโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับความสามารถของฉันเองในการรับใช้พระเจ้า?
สมัยหนุ่ม โจเซฟ สมิธรู้สึกหนักใจกับการเรียกจากพระเจ้า ท่านพูดถึงตนเองดังนี้
เด็กหนุ่มไร้การศึกษาอย่างข้าพเจ้ายืนโดดเดี่ยว … โดยใช้การเปิดเผยใหม่ต่อสู้กับปัญญาของโลก (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 64)
ข้าพเจ้าเป็นเด็กที่ไม่มีใครรู้จัก, … และชีวิตความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าเป็นชีวิตที่ทำให้เด็กหนุ่ม [อย่างข้าพเจ้า] ไม่มีความสำคัญในโลก … ที่ตกอยู่ในชะตากรรมอันมีความจำเป็นต้องหาสิ่งประทังชีวิตขาดแคลนด้วยแรงงานรายวัน [ของข้าพเจ้า] (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:22–23)
โจเซฟคิดว่า “แปลกอะไรอย่างนี้” ที่ “บุรุษฐานะสูงจะยังมีความสังเกตเพียงพอที่จะปลุกปั่นความคิดเห็นของสาธารณชนให้ต่อต้านข้าพเจ้า, และก่อให้เกิดการข่มเหงอย่างหนัก” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:22–23)
ลองนึกถึงความรู้สึกที่โจเซฟอาจจะเคยมีขณะท่านแปล 2 นีไฟ 3 ในพระคัมภีร์มอรมอนและเรียนรู้จากลีไฮว่าโยเซฟแห่งอียิปต์พยากรณ์ถึง “ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ” ในยุคสุดท้าย
ในการเปิดเผยต่อมาพระเจ้าทรงอธิบายเหตุผลหนึ่งที่พระองค์ทรงเลือกและทรงเรียกโจเซฟเป็นศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู:
ตามจริงแล้ว, พระเจ้าตรัสดังนี้กับเจ้า, ผู้รับใช้ของเรา โจเซฟ สมิธ, เราพอใจมากกับเครื่องถวาย [ของเจ้า] … ; เพราะเพื่อจุดหมายนี้เรายกเจ้าขึ้น, เพื่อเราจะได้แสดงปรีชาญาณของเราออกมาทางสิ่งอ่อนแอของแผ่นดินโลก. (หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1)
ขณะแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์จาก 2 นีไฟ 3 เอ็ลเดอร์ มาร์คัส บี. แนชแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนดังนี้
อาจดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่พระเจ้าจะทรงขอให้คนอ่อนแอทำงานใหญ่ให้สำเร็จ ทว่าคนที่ยอมรับความอ่อนแอของตน ความอ่อนแอนั้นจะผลักดันให้เขาแสวงหาความเข้มเข็งของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้พระองค์ผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งมวลในสวรรค์และแผ่นดินโลกจึงทรงทำให้คนนอบน้อมถ่อมตนในศรัทธาเข้มแข็ง (ดู มัทธิว 28:18; โมไซยาห์ 4:9)
ตั้งแต่วัยเยาว์โจเซฟ สมิธเข้าใกล้พระเจ้าด้วยเหตุดังนี้ …
โจเซฟอธิบายว่าท่านเป็น “เด็กซึ่งไม่มีใครรู้จัก … ที่ตกอยู่ในชะตากรรมอันมีความจำเป็นต้องหาสิ่งประทังชีวิตขาดแคลนด้วยแรงงานรายวัน” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:23) ท่านเกิดมาในชนชั้นล่างทางสังคมและศึกษาในระบบอย่างจำกัด …
โจเซฟรู้สึกรันทดใจอย่างยิ่งที่ขาดการศึกษาจนท่านคร่ำครวญครั้งหนึ่งว่าการถูกขังอยู่ใน “เรือนจำเล็กๆ แคบๆ แทบจะเหมือนความมืดมน อนธการของกระดาษ ปากกา น้ำหมึก และภาษาที่ขาดตกบกพร่อง เปะปะ กระท่อนกระแท่น และไร้ระเบียบแบบแผน” แต่กระนั้นพระเจ้าทรงเรียกท่านให้แปลพระคัมภีร์มอรมอน—ครั้งแรกจัดพิมพ์พระคัมภีร์เล่มนี้ทั้ง 588 หน้า—ซึ่งท่านแปลในเวลาไม่ถึง 90 วัน
ใช่แล้ว สาระสำคัญของพระคัมภีร์—และชีวิตของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ—คือคนอ่อนแอที่แสวงหาพระเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตนในศรัทธา พระองค์จะทรงทำให้คนคนนั้นเข้มแข็ง แม้ยิ่งใหญ่ในงานของพระเจ้า การทำให้เข้มแข็งนี้จะเกิดขึ้นแม้ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย …
… มีอีกบทเรียนหนึ่งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่า นั่นคือ ถ้าเราจะยอมรับความอ่อนแอเหมือนโจเซฟและหันไปพึ่งพระเจ้าในศรัทธาด้วยสุดใจของเรา ตั้งใจจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงทำให้เราเข้มแข็งจากความอ่อนแอด้วย นี่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าความอ่อนแอถูกลบทิ้งในความเป็นมรรตัย—แต่หมายความว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้บุคคลเช่นนั้นเข้มแข็ง (“โจเซฟ สมิธ: ความเข้มแข็งจากความอ่อนแอ,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2017, 55–56, 58)
หัวข้อ 2
คนที่สนิทสนมกับโจเซฟ สมิธพูดอะไรเกี่ยวกับท่านและอุปนิสัยของท่าน?
พระเจ้าทรงประกาศต่อโยเซฟแห่งอียิปต์ว่าลูกหลานของเขาจะนับถือศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟูอย่างสูง (ดู 2 นีไฟ 3:7) ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดประกาศดังนี้
คนที่รู้จักโจเซฟดีที่สุดและอยู่ใกล้ชิดท่านมากที่สุดในตำแหน่งผู้นำศาสนจักรต่างรักและสนับสนุนท่านในฐานะศาสดาพยากรณ์ ไฮรัมพี่ชายท่านเลือกสิ้นชีวิตเคียงข้างท่าน จอห์น เทย์เลอร์ผู้อยู่กับท่านขณะที่ท่านถูกฆาตกรรมกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เหล่าเทพ และมนุษย์ว่าท่านเป็นคนดี น่ายกย่อง และทรงคุณธรรม—ท่านมีชีวิตและสิ้นชีวิตในฐานะคนของพระผู้เป็นเจ้า’ (The Gospel Kingdom [1987], 355; ดู คพ. 135:3 ด้วย) บริคัม ยังก์ประกาศว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีใครบนแผ่นดินโลกรู้จัก [โจเซฟ สมิธ] ดีกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่า นอกจากพระเยซูคริสต์แล้ว ไม่มีใครที่เคยอยู่หรืออยู่บนโลกนี้ดีไปกว่าท่าน” (ใน Journal of Discourses, 9:332) (เปรียบเทียบกับ ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “โจเซฟ ชายผู้เป็นศาสดา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 90)
เจน ซีนเดอร์ ริชาร์ดส์กล่าวถึงบุคลิกภาพและอุปนิสัยของโจเซฟดังนี้
[โจเซฟ สมิธ] เป็นผู้มีบุคลิกภาพดึงดูดที่สุดคนหนึ่งที่ดิฉันโชคดีได้พบ … ในฐานะผู้หยั่งรู้และผู้เปิดเผยท่านไม่หวาดหวั่นและพูดจาเปิดเผย ทว่าอ่อนน้อมถ่อมตน โดยไม่เคยคิดว่าท่านเป็นมากกว่ากระบอกเสียงที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสผ่านท่าน ในฐานะผู้นำของผู้คนท่านกระตือรือร้นและก้าวหน้าตลอดเวลาแต่ถ่อมตนและคำนึงถึงพวกเขาและสภาวการณ์ที่ยากลำบากของพวกเขาเสมอ (Jane Snyder Richards ใน “Joseph Smith, the Prophet,” Young Woman’s Journal, Dec. 1905, 550)
เอ็ดวิน โฮลเด็นเล่าว่าท่านศาสดาพยากรณ์เปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า อยากหนุนใจและเป็นพรแก่ผู้อื่น:
ในปี 1838 โจเซฟกับเยาวชนชายบางคนกำลังเล่นกีฬากลางแจ้งด้วยกัน กีฬาอย่างหนึ่งที่เล่นคือแข่งบอล พวกเขาเริ่มหมดแรงตามๆ กัน เมื่อเห็นเช่นนั้นท่านจึงเรียกพวกเขามารวมกันและพูดว่า “พวกเราไปสร้างกระท่อมไม้ซุงกันเถอะ” โจเซฟกับเยาวชนชายจึงไปสร้างกระท่อมไม้ซุงให้หญิงม่ายคนหนึ่ง วิธีของโจเซฟคือช่วยเหลือเสมอไม่ว่าอะไรก็ตามที่ท่านจะช่วยได้ (The Juvenile Instructor, Mar. 1, 1892, 153)
เอไลซา สโนว์เขียนถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสุจริตของท่านศาสดาพยากรณ์ดังนี้
ดิฉันอาศัยอยู่กับครอบครัวของโจเซฟ สมิธ และสอนหนังสือให้ครอบครัวท่าน ดิฉันมีโอกาสมากพอจะสังเกต “การใช้ชีวิตและการสนทนาของท่านทุกวัน” ในฐานะศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า และยิ่งดิฉันรู้จักท่าน ดิฉันยิ่งชื่นชมท่าน … ในความเลื่อมใสศรัทธาของท่าน ท่านอ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนเด็กเล็ก (เอไลซา สโนว์, “Sketch of My Life,” Relief Society Magazine, Mar. 1944, 136)
แมรีย์ ฟรอสต์ อดัมส์จำความมีน้ำใจครั้งหนึ่งของโจเซฟได้:
ขณะโจเซฟเป็นนายกเทศมนตรีของนอวู วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผิวสีชื่อแอนโธนีถูกจับโทษฐานขายสุราในวันสะบาโตซึ่งผิดกฎ แอนโธนีทำไปเพื่อหาเงินมาซื้ออิสรภาพให้ลูกของเขาที่เป็นทาสทางภาคใต้ เขาซื้อเสรีภาพให้ตนเองกับภรรยาแล้วและตอนนี้ต้องการพาลูกมาอยู่กับพวกเขา แม้มีเหตุอันควรให้แอนโธนีทำเช่นนั้น แต่ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวว่า “ผมเสียใจแอนโธนี แต่ก็ต้องรักษากฎ และเราจะต้องปรับคุณ” อย่างไรก็ดี “วันรุ่งขึ้นบราเดอร์โจเซฟมอบม้างามตัวหนึ่งให้แอนโธนี บอกให้เขาเอาไปขาย และใช้เงินที่ได้ซื้ออิสรภาพให้ลูก” (“Joseph Smith, the Prophet,” Young Woman’s Journal, Dec. 1906, 538)
หัวข้อ 3
ฉันควรตอบสนองอย่างไรเมื่อเจอข้อมูลในด้านลบเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ?
แม้แต่ตอนที่โจเซฟ สมิธยังไม่ได้เริ่มงานฟื้นฟูพระกิตติคุณ ก็มีพยากรณ์แล้วว่าหลายคนจะพูดต่อต้านท่านและกล่าวหาว่าท่านทำชั่วและมีเจตนาชั่ว โจเซฟ สมิธบันทึกคำพยากรณ์ของเทพโมโรไนเมื่อมาปรากฏต่อท่านในปี 1823 ไว้ในประวัติของท่าน ตอนนั้นโจเซฟเพิ่งอายุ 17 ปี
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะวิธีที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะตอบคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธดังนี้
เราควรประหลาดใจหรือไม่กับคนชั่วที่พูดต่อต้าน [โจเซฟ สมิธ]? อัครสาวกเปาโลถูกเรียกว่าเป็นคนบ้าและฟั่นเฟือน [ดู กิจการ 26:24] พระผู้ช่วยให้รอดที่รักของเรา พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าถูกตราหน้าว่าเป็นคนตะกละ คนขี้เมา และมีผีสิง [ดู มัทธิว 11:19; ยอห์น 10:20] …
คนมากมายที่ไม่สนใจงานแห่งการฟื้นฟูไม่เชื่อว่าสัตภาวะจากสวรรค์พูดกับมนุษย์บนแผ่นดินโลก พวกเขาพูดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เทพมอบแผ่นจารึกทองคำให้ท่านแปลโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เพราะความไม่เชื่อดังกล่าว พวกเขาจึงปฏิเสธประจักษ์พยานของโจเซฟอย่างรวดเร็ว และน่าเสียดายที่บางคนยอมทำชั่วด้วยการทำให้ชีวิตท่านศาสดาพยากรณ์เสื่อมเสียและใส่ร้ายป้ายสีท่าน
ต่อคำถามเกี่ยวกับอุปนิสัยของโจเซฟ เราอาจแบ่งปันคำพูดของหลายพันคนผู้รู้จักท่านเป็นส่วนตัวและผู้สละชีวิตของพวกเขาให้กับงานที่ท่านช่วยสถาปนา …
เราอาจเตือนผู้ถามด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไม่มีตัวกรอง “ความจริง” ข้อมูลบางอย่างไม่จริงเลยไม่ว่าจะน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตาม …
เราอาจเตือนผู้ถามว่าข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับโจเซฟ แม้จะจริง แต่อาจถูกนำเสนอในบริบทต่างจากยุคสมัยและสถานการณ์ของท่านโดยสิ้นเชิง …
ผู้เชื่อแต่ละคนจำเป็นต้องได้รับการยืนยันทางวิญญาณถึงพันธกิจจากสวรรค์และอุปนิสัยของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ คนทุกรุ่นต้องทำเช่นนั้น คำถามทางวิญญาณสมควรได้รับคำตอบทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า …
ประจักษ์พยานถึงศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธมาถึงเราแต่ละคนต่างกัน อาจมาขณะท่านคุกเข่าสวดอ้อนวอนทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนยันว่าโจเซฟเป็นศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริง อาจมาขณะท่านอ่านเรื่องนิมิตแรกของท่านศาสดาพยากรณ์ ประจักษ์พยานอาจกลั่นลงมาบนจิตวิญญาณท่านขณะท่านอ่านพระคัมภีร์มอรมอนครั้งแล้วครั้งเล่า … ประจักษ์พยานของท่านถึงศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจะเข้มแข็งขึ้นเมื่อท่านมีศรัทธาและเจตนาแท้จริง (นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “โจเซฟ สมิธ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 28–30)