“บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)
“บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ
บางครั้งเราค้นพบข้อมูลใหม่ที่ทำให้เราประหลาดใจหรือเกิดคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอน หลักปฏิบัติ หรือประวัติของศาสนจักร วิธีที่ท่านตั้งคำถามและแหล่งที่ท่านหันไปหาคำตอบสามารถเสริมสร้างหรือไม่ก็บั่นทอนศรัทธาของท่าน ขณะศึกษาวิธีได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ ให้ระบุหลักธรรมที่จะช่วยท่านขณะท่านแสวงหาคำตอบในวิธีของพระเจ้า
หัวข้อ 1
จะเป็นอะไรหรือไม่ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับศาสนจักร?
พระคัมภีร์กระตุ้นเราซ้ำหลายครั้งให้ทูลถามพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยากอบ 1:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:63) ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานสูงสุด ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนว่า:
เพื่อนหนุ่มสาวที่รักของข้าพเจ้า เราเป็นผู้คนที่ชอบถามคำถาม เราเป็นเช่นนี้ตลอดมา เพราะเรารู้ว่าการซักถามนำไปสู่ความจริง นี่คือวิธีที่ศาสนจักรเริ่มต้น—จากเด็กหนุ่มผู้มีคำถาม อันที่จริง ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าคนคนหนึ่งจะค้นพบความจริงได้อย่างไรโดยไม่ถามคำถาม … การถามเป็นต้นกำเนิดของประจักษ์พยาน … การถามคำถามไม่ใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอ แต่เป็นที่มาของการเติบโต (“เงาสะท้อนในน้ำ” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณของระบบการศึกษาของศาสนจักร [1 พ.ย. 2009] broadcasts.ChurchofJesusChrist.org)
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงยินดีประทานความรู้และความเข้าใจแก่เรา เราเติบโตทางวิญญาณเมื่อเราถามคำถามและแสวงหาคำตอบด้วยความจริงใจและศรัทธา จำไว้ว่าเมื่อพระเจ้าทรงช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะมีศรัทธาในพระองค์ พระองค์จะไม่ประทานคำตอบให้กับคำถามทุกข้อที่เรามีในชีวิตนี้ อันที่จริง เราไม่ต้องมีคำตอบให้กับคำถามทุกข้อจึงจะได้รับประจักษ์พยานและยืนเป็นพยานถึงความจริง แต่การถามคำถามที่จริงใจจะช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตต่อไป
หัวข้อ 2
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันแสวงหาคำตอบให้กับคำถามและได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณอย่างไร?
หลักธรรมต่อไปนี้จะช่วยท่านแสวงหาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ และไขข้อกังวลในวิธีของพระเจ้า
-
กระทำด้วยศรัทธา
-
พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์
-
แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์
ขณะท่านศึกษาหลักธรรมเหล่านี้ของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณด้านล่าง ท่านอาจจะทำเครื่องหมายข้อความหรือประเด็นสำคัญๆ ที่ท่านประทับใจเพื่อท่านจะสามารถแบ่งปันในชั้นเรียนหรืออ้างอิงภายหลัง
กระทำด้วยศรัทธา
ศรัทธาเริ่มด้วยความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ ทรงทราบทุกสิ่ง และทรงเป็นบ่อเกิดของความจริงทั้งปวง เรากระทำด้วยศรัทธาเมื่อเราเลือกวางใจพระผู้เป็นเจ้าและหันไปหาพระองค์โดยสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจ ศึกษาคำสอนของพระองค์ และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เรา “อย่าสงสัย, แต่จงเชื่อ” (มอรมอน 9:27) เมื่อเรากำหนดแบบแผนการกระทำด้วยศรัทธาในชีวิตประจำวันของเรา เท่ากับเราสร้างฐานมั่นคงบนพระเยซูคริสต์ซึ่งรับประกันว่าเราจะยังเข้มแข็งเช่นเดิมแม้เมื่อเราเผชิญคำถามหรือความท้าทายยากๆ (ดู ฮีลามัน 5:12)
เมื่อท่านพบเจอข้อมูลหรือคำอ้างที่ท่านไม่เข้าใจหรือท้าทายความเชื่อของท่าน ท่านไม่จำเป็นต้องสงสัยประจักษ์พยานของท่านหรือประสบการณ์ทางวิญญาณที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเช่นนั้น เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แนะนำว่า “อย่าตื่นตระหนกและหลบหนี อย่าสูญเสียความเชื่อมั่นของท่าน อย่าลืมว่าท่านเคยรู้สึกอย่างไร อย่าคลางแคลงประสบการณ์ [ทางวิญญาณ] ที่ท่าน [เคย] มี” (“Remember How You Felt,” New Era, Aug. 2004, 6) แต่จง “ยึดมั่นในสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้ว และยืนหยัดจนกว่าความรู้เพิ่มเติมจะมาถึง” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “ข้าพเจ้าเชื่อ” เลียโฮนา พ.ค. 2013 หน้า 94)
ขณะท่าน “ยึดมั่นในสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้ว” พึงจำไว้ว่าเจตคติและเจตนาที่ท่านถามคำถามและแสวงหาคำตอบจะมีผลอย่างมากต่อความสามารถของท่านในการเรียนรู้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ขั้นตอนนี้เรียกร้องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความจริงใจ และเจตนาแท้จริงเพื่อปฏิบัติตามความจริงที่เราได้รับจากพระเจ้า
เมื่อโจเซฟ สมิธเผชิญบรรยากาศทางศาสนาที่เต็มไปด้วย “ความสับสนและความขัดแย้งในบรรดากลุ่มที่แตกต่าง” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8) ท่านอาจท้อง่ายๆ ปล่อยให้ใจท่านเต็มไปด้วยความสงสัย และ “คงอยู่ในความมืดมนและความสับสน” (ข้อ 13) แต่ท่านกลับค้นคว้าพระคัมภีร์และข่าวสารที่พบใน ยากอบ 1:5 ให้ “ทูลขอจากพระเจ้า” ทำให้ท่านประทับใจอย่างสุดซึ้ง ท่านกระทำด้วยศรัทธาโดยเข้าไปในป่าและ “คุกเข่าลงและเริ่มตั้งจิตปรารถนาต่อพระผู้เป็นเจ้า” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15) การสวดอ้อนวอนที่จริงใจของท่านได้รับนิมิตจากสวรรค์เป็นคำตอบ ท่านออกจากป่าโดย “เรียนรู้ [คำตอบของคำถามที่ท่านมีด้วยตัวท่านเอง]” (ข้อ 20)
พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์
เพื่อพินิจแนวคิดเชิงหลักคำสอน คำถาม และประเด็นปัญหาทางสังคมด้วยมุมมองนิรันดร์ เราจะพิจารณาสิ่งเหล่านั้นในบริบทของแผนแห่งความรอดและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเราจะมองสิ่งต่างๆ ดังที่พระเจ้าทอดพระเนตรสิ่งเหล่านั้น (ดู 1 โครินธ์ 2:5, 9–11) วิธีนี้ช่วยให้เรามองสิ่งต่างๆ จากทัศนะของพระเจ้าแทนที่จะมองจากมุมมองทางโลก เราทำได้โดยถามคำถามเช่น “ฉันรู้อะไรบ้างแล้วเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ แผนของพระองค์ และวิธีที่พระองค์ทรงติดต่อกับบุตรธิดาของพระองค์?” และ “คำสอนพระกิตติคุณข้อใดเชื่อมโยงกับหรือทำให้แนวคิดหรือประเด็นนี้กระจ่าง?”
เราควรพินิจคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วยมุมมองนิรันดร์เช่นกัน จะช่วยได้เช่นกันถ้าพินิจคำถามทางประวัติศาสตร์ในบริบทที่เหมาะสมทางประวัติศาสตร์โดยพิจารณาวัฒนธรรมและบรรทัดฐานของช่วงเวลาดังกล่าวแทนที่จะยัดเยียดมุมมองและเจตคติปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านค้นพบบรรพชนคนหนึ่งจากทศวรรษ 1800 ที่แต่งงานเมื่ออายุ 14 หรือ 15 ปี ท่านอาจจะมองว่าคนนั้นแต่งงานเร็วมากหากท่านไม่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกในช่วงเวลานั้น
สำคัญที่ต้องจำไว้ว่ารายละเอียดทางประวัติศาสตร์ไม่มีอำนาจช่วยให้รอดของศาสนพิธี พันธสัญญา และหลักคำสอน การหลงประเด็นเพราะรายละเอียดที่ด้อยความสำคัญจนทำให้ไม่เข้าใจปาฏิหาริย์ของการฟื้นฟูที่กำลังเผยให้ปรากฏก็เหมือนกับการใช้เวลาวิเคราะห์กล่องของขวัญจนลืมนึกถึงความน่าพิศวงของสิ่งที่อยู่ในกล่องนั้น
แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์
สมมติว่าคนแปลกหน้ากล่าวหาคนที่ท่านรักว่าทำผิดบางอย่าง ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าพวกเขากำลังบอกความจริงหรือพวกเขาเข้าใจผิด? จะเกิดอันตรายอะไรถ้าเชื่อคนแปลกหน้าโดยไม่ตรวจสอบเพิ่มเติม?
เราเข้าถึงข้อมูลดีๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตก็ทำให้เราเห็นข้อมูลไม่น่าเชื่อถือมากมายมหาศาลด้วย เพราะอินเทอร์เน็ตไม่กรองข้อมูลเท็จที่หลอกลวงและชักนำให้หลงผิดโดยอัตโนมัติ เราจึงต้องกรองด้วยตัวเราเอง ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเตือนว่า “เราจึงต้องระวังขณะแสวงหาความจริงและเลือกแหล่งค้นคว้า” (“ความจริงและแผน” เลียโฮนา พ.ย. 2018 หน้า 25)
ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ให้ได้ความรู้ทางวิญญาณคือพระองค์ทรงกำหนดแหล่งซึ่งพระองค์ทรงเปิดเผยความจริงและการนำทางแก่บุตรธิดาของพระองค์ผ่านแหล่งนั้น แหล่งที่ทรงกำหนดเหล่านี้ได้แก่ความสว่างของพระคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระคัมภีร์ ผู้นำศาสนจักร และสมาชิกครอบครัวที่ซื่อสัตย์ ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง—ศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกในทุกวันนี้—เป็นแหล่งความจริงที่สำคัญมาก พระเจ้าทรงเลือกและทรงแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ให้พูดแทนพระองค์
เราสามารถเรียนรู้ความจริงผ่านแหล่งอื่นที่ไว้ใจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้แสวงหาความจริงที่จริงใจควรระมัดระวังแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ การฝึกจำแนกแยกแยะ รับรู้และหลีกเลี่ยงแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือสามารถป้องกันเราจากข้อมูลผิดๆ และจากผู้มุ่งหมายทำลายศรัทธา คำถามและแนวทางต่อไปนี้จะช่วยท่านได้ขณะพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล: