สถาบัน
บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ—ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ


“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ—ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)

“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ—ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ

พระเจ้าทรงอธิบายว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็น “ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ” ผู้จะ “ได้รับความนับถืออย่างสูง” จากผู้คนของท่าน (2 นีไฟ 3:7) ถึงแม้พระเจ้าทรงทำคุณประโยชน์ทั้งหมดผ่านโจเซฟ สมิธ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ท่านศาสดาพยากรณ์ บทนี้จะเตรียมนักเรียนให้พร้อมตอบคำวิพากษ์วิจารณ์โจเซฟ สมิธด้วยศรัทธาและเพิ่มพลังความเชื่อมั่นของพวกเขาว่าพระเจ้าทรงขยายความสามารถของคนที่พระองค์ทรงเรียก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธในความอ่อนแอของท่านและทรงขยายความสามารถให้ท่านเป็นผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ

ให้ดูภาพวาดเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธต่อไปนี้

ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา โดย วอลเตอร์ เรน

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันคำและวลีจาก หัวข้อ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนที่บอกว่าโจเซฟรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความสามารถของท่านเองเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ท่านช่วยฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกหนักใจหรือไม่ดีพอจะทำสิ่งที่พระเจ้าหรือผู้รับใช้ของพระองค์ทรงขอให้พวกเขาทำ

อธิบายว่าการที่พระเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธสอนหลักธรรมอันทรงพลังที่สามารถช่วยเราได้เมื่อเรารู้สึกอ่อนแอและไม่ดีพอในการทำงานของพระเจ้า ในพระคัมภีร์มอรมอน ศาสดาพยากรณ์ลีไฮกล่าวถึงคำพยากรณ์ของโยเซฟแห่งอียิปต์ ให้ชั้นเรียนอ่าน 2 นีไฟ 3:6–11, 15 โดยมองหาคำหรือวลีที่พระเจ้าทรงใช้ตรัสถึงศาสดาพยากรณ์ในอนาคตผู้จะชื่อโจเซฟเช่นกัน

  • คำหรือวลีใดบ้างที่พระเจ้าทรงใช้ตรัสถึงโจเซฟ สมิธและงานที่พระองค์จะทรงช่วยเขาทำให้สำเร็จ?

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาจะมีบทบาทอะไรในงานที่จะทรงเรียกให้โจเซฟทำ?

ให้ชั้นเรียนอ่าน 2 นีไฟ 3:13 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1 โดยดูว่าพระเจ้าตรัสถึงโจเซฟ สมิธอย่างไร ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าการเรียก “สิ่งอ่อนแอของแผ่นดินโลก” ให้ทำงานของพระองค์แสดงให้เห็นพระปรีชาญาณของพระเจ้าอย่างไร? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1)

  • เราได้เรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากการที่พระเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธในความอ่อนแอของท่าน?

ให้ดูหลักธรรมต่อไปนี้ที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง:

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

ข่าวสารสำคัญยิ่งประการหนึ่งซึ่งมาจากการที่พระเจ้าทรงใช้โจเซฟ สมิธให้เป็น ‘ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ’ ในยุคสุดท้ายคือ มีความหวังสำหรับเราทุกคนจริงๆ! พระเจ้าทรงสามารถเรียกเราในความอ่อนแอของเราและทรงขยายความสามารถของเราเพื่อจุดประสงค์ของพระองค์ (นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “A Choice Seer,” Ensign, Aug. 1986, 14; เน้นตัวเอน)

  • หลักธรรมนี้จะช่วยให้คนที่ต่อสู้กับความบกพร่องตามประสามนุษย์ที่พวกเขาสังเกตเห็นในตนเอง ผู้นำศาสนจักร และสมาชิกคนอื่นๆ ได้อย่างไร?

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงขยายความสามารถให้ท่านทำงานของพระองค์ทั้งที่ท่านมีความอ่อนแอ? ท่านเคยเห็นพระเจ้าทรงทำเช่นนี้ให้คนอื่นๆ เมื่อใด?

  • โจเซฟ สมิธทำอะไรเพื่อรับเดชานุภาพการทำให้เข้มแข็งของพระเจ้า? (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนคำกล่าวของเอ็ลเดอร์มาร์คัส บี. แนชใน หัวข้อ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

ให้เวลานักเรียนพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนสักครู่และอาจจะบันทึกสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อเชื้อเชิญเดชานุภาพของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตพวกเขาที่จะขยายความสามารถของพวกเขาเพื่อจุดประสงค์ของพระองค์

ชื่อของโจเซฟ สมิธจะ “ทั้งดีและชั่วในบรรดาประชาชาติ”

อธิบายว่าถึงแม้โจเซฟ สมิธทำคุณประโยชน์ทั้งหมด แต่ก็มีคนมากมายกล่าวร้ายและวิพากษ์วิจารณ์ท่าน แต่นี่ไม่ได้ทำให้โจเซฟแปลกใจ เมื่อโมโรไนปรากฏครั้งแรกต่อโจเซฟวัย 17 ปี ท่านทำให้โจเซฟเล็งเห็นอนาคตของตนเอง เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:33 โดยดูว่าผู้คนจะรู้สึกกับโจเซฟอย่างไร

  • เราได้เรียนรู้อะไรจากข้อนี้? (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: ชื่อของโจเซฟ สมิธจะถูกพูดถึงทั้งดีและชั่วในบรรดาคนทั้งปวง)

  • เรากำลังเห็นคำพยากรณ์นี้เกิดสัมฤทธิผลในปัจจุบันในด้านใด?

อธิบายว่าพระเจ้าทรงปลอบโยนโจเซฟในช่วงมืดมิดที่สุดของชีวิตท่านเมื่อท่านถูกคุมขังในลิเบอร์ตี้ มิสซูรี เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:1–3 โดยดูว่าพระเจ้าทรงปลอบใจโจเซฟอย่างไร

  • เราได้เรียนรู้อะไรจากข้อนี้เกี่ยวกับวิธีที่ผู้มีศรัทธาจะตอบสนองต่อโจเซฟ สมิธและพันธกิจการเป็นศาสดาพยากรณ์ของท่าน? (แม้จะมีคนเยาะเย้ยโจเซฟ สมิธ แต่ผู้มีใจบริสุทธิ์จะไม่หันมาต่อต้านท่านแต่จะแสวงหาพรที่มีให้ผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของท่าน)

ขอให้นักเรียนทบทวนคำกล่าวใน หัวข้อ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนจากคนที่รู้จักโจเซฟ สมิธและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาประทับใจ

  • ท่านมีความรู้สึกและประจักษ์พยานอะไรเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ?

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง:

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

คำวิจารณ์ในแง่ลบเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจะเพิ่มขึ้นขณะที่เราเข้าใกล้การเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด ความจริงเพียงครึ่งเดียวและคำหลอกลวงที่แนบเนียนจะไม่ลดน้อยถอยลง จะมีคนในครอบครัวและเพื่อนที่ต้องการความช่วยเหลือของท่าน (นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “โจเซฟ สมิธ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 30)

สนทนาในชั้นเรียนหรือเป็นกลุ่มเล็กว่านักเรียนจะช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่กังวลกับความเห็นในแง่ลบที่พวกเขาเคยได้ยินหรืออ่านเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอย่างไร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา กลุ่มอาจต้องการทบทวนคำกล่าวของเอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นใน หัวข้อ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน อาจช่วยได้เช่นกันถ้ารวมคำถามต่อไปนี้ไว้ในการสนทนา:

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องกระตุ้นให้บางคนศึกษาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้พร้อมกับเชื้อเชิญให้คนนั้นไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเมื่อหาคำตอบให้คำถามเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธและพันธกิจการเป็นศาสดาพยากรณ์ของท่าน

  • ท่านจะกระตุ้นให้คนนั้นทำอะไรเพื่อได้รับพยานทางวิญญาณหรือเสริมสร้างพยานของเขาเกี่ยวกับพันธกิจอันสูงส่งของโจเซฟ สมิธ?

สรุปโดยเป็นพยานถึงความสำคัญของการได้รับพยานทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้าว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงเรียกท่านในความอ่อนแอ และทรงขยายความสามารถให้ท่านเป็นผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอแห่งการฟื้นฟู

สำหรับครั้งต่อไป

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยกังวลและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาหรือไม่ เชื้อเชิญให้พวกเขาศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนครั้งต่อไป ในนั้นพวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่วิสุทธิชนประสบหลังจากการสิ้นชีวิตของโจเซฟ สมิธ และศรัทธาอันน่าทึ่งของคนเหล่านั้นในการตามผู้นำคนใหม่เข้าไปในแดนทุรกันดาร เชื้อเชิญให้นักเรียนเตรียมพร้อมมาสนทนาในชั้นเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากวิสุทธิชนในช่วงท้าทายนี้