“บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การตกของอาดัมกับเอวาและของประทานแห่งสิทธิ์เสรี” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)
“บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน
บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
การตกของอาดัมกับเอวาและของประทานแห่งสิทธิ์เสรี
ศาสดาพยากรณ์ลีไฮสอนว่าการตกของอาดัมกับเอวานำมาซึ่งจุดประสงค์นิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 2:15–25) ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะมีโอกาสอธิบายว่าเหตุใดการตกของอาดัมกับเอวา สิทธิ์เสรี และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อแผนแห่งการไถ่ของพระบิดาบนสวรรค์ นอกจากนี้นักเรียนจะพิจารณาถึงสิ่งที่นักเรียนจะทำได้เพื่อใช้สิทธิ์เสรีของตนได้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ลีไฮสอนเจคอบบุตรชายของเขาเกี่ยวกับผลของการตก
ชี้ให้เห็นว่าชั้นเรียนกำลังเริ่มต้นหน่วยใหม่เกี่ยวกับแผนแห่งการไถ่ของพระบิดาบนสวรรค์ อาจเป็นประโยชน์ในการอธิบายว่ามีชื่อมากมายสำหรับแผนของพระบิดาบนสวรรค์ โดยหนึ่งในชื่อสามัญที่สุดที่ใช้ในพระคัมภีร์มอรมอนคือ “แผนแห่งการไถ่” (ดูตัวอย่างที่ เจคอบ 6:8; แอลมา 12:30, 32–33; 34:31)
แสดงข้อความต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนประเมินโดยอิงตามคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน: การตกของอาดัมกับเอวาเป็นความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุที่น่าสลดใจซึ่งขัดแย้งกับแผนของพระผู้เป็นเจ้า
หลังจากนักเรียนแลกเปลี่ยนความเข้าใจอันลึกซึ้งของตนแล้ว ให้แสดงความจริงต่อไปนี้: การตกของอาดัมและเอวาเป็นส่วนจำเป็นในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์
เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความจริงข้อนี้ ให้เขียนข้อความที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้บนกระดาน (โดยเว้นช่องว่างระหว่างประโยคให้มาก):
หากอาดัมกับเอวาไม่ได้กินผลไม้ …
เพราะทั้งสองกินผลไม้ …
เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน 2 นีไฟ 2:19–25 และระบุถึงผลที่ตามมาหรือผลจากการตกที่นักเรียนสามารถใช้เพื่อเติมข้อความแต่ละข้อให้สมบูรณ์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานใต้แต่ละวลี
ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง:
การตกของอาดัมเป็นการก้าวลงต่ำอีกหนึ่งขั้น แต่ก็เป็นก้าวที่ไปข้างหน้า เป็นก้าวหนึ่งในการเดินนิรันดร์แห่งความก้าวหน้าของมนุษย์ (ใน Conference Report, Apr. 1908, 90)
-
การตกเป็นทั้ง “ก้าวลงต่ำ” และ “ก้าวไปข้างหน้า” ในความก้าวหน้าทางวิญญาณของเราได้อย่างไร? (เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนคำกล่าวของ เอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟน และ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและแบ่งปันประเด็นที่โดดเด่นกับนักเรียน)
-
ความเข้าใจเกี่ยวกับการตกช่วยให้ท่านเห็นได้อย่างไรว่าแม้แต่ความท้าทายของความเป็นมรรตัยก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์?
-
สภาพที่การตกทำให้เกิดขึ้นช่วยให้เรามีโอกาสก้าวหน้าทางวิญญาณและมีปีติอย่างไร? (ดู 2 นีไฟ 2:25)
ดังที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาของท่าน ท่านอาจแสดงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง:
เห็นได้ชัดว่าลีไฮรู้จักการตรงกันข้าม ความวิตกกังวล ความปวดร้าวใจ ความเจ็บปวด ความผิดหวัง และโทมนัส กระนั้นท่านยังประกาศหลักธรรมข้อหนึ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยอย่างกล้าหาญและโดยไม่ลังเลว่า “และมนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” [2 นีไฟ 2:25] ลองนึกดูว่า จากคำทุกคำที่ท่านสามารถใช้อธิบายธรรมชาติวิสัยและจุดประสงค์ของชีวิตเราที่นี่ในความเป็นมรรตัย ท่านเลือกคำว่า ปีติ!
ชีวิตเต็มไปด้วยทางเบี่ยงและทางตัน การทดลองและความท้าทายทุกรูปแบบ เราแต่ละคนคงมีหลายครั้งที่ความทุกข์ยาก ความปวดร้าว และความสิ้นหวังเกือบครอบงำเรา แต่เราอยู่ที่นี่เพื่อมีปีติอย่างนั้นหรือ?
ใช่แล้ว! คำตอบคือใช่อย่างชัดเจน!” (“ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82)
เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุในใจถึงความท้าทายเฉพาะเจาะจงที่นักเรียนเผชิญ ให้ดูคำถามต่อไปนี้และขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำตอบของตนเองสำหรับคำถามข้อนี้และบันทึกความคิดของตน (เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนมาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ตามความเหมาะสม เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)
-
การเข้าใจจุดประสงค์ของการตกสามารถช่วยให้ฉันมองประสบการณ์นี้เป็นโอกาสสำหรับความก้าวหน้าทางวิญญาณและปีติได้อย่างไร?
ลีไฮสอนว่าเรามีอิสระที่จะเลือกเสรีภาพและชีวิตนิรันดร์ผ่านพระเยซูคริสต์
แสดงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน: “[การตก] ทำให้เราได้ใช้ของประทานเพิ่มเติมสองอย่างที่เกี่ยวข้องกันมากจากพระผู้เป็นเจ้า มีค่าเกือบเท่าชีวิต—นั่นคือสิทธิ์เสรีและภาระรับผิดชอบ” (“Constancy amid Change,” Ensign, Nov. 1993, 34)
-
ลีไฮระบุเงื่อนไขอะไรที่ทำให้สิทธิ์เสรีและภาระรับผิดชอบอยู่ในวิสัยที่ทำได้? (หากจำเป็น เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) ท่านอาจขอให้นักเรียนอธิบายสั้นๆ ว่าเหตุใดเงื่อนไขแต่ละอย่างเหล่านี้จึงจำเป็นต่อการมีอยู่ของสิทธิ์เสรี)
อ่าน 2 นีไฟ 2:26–29 ด้วยกัน มองหาวิธีเพิ่มเติมที่สิทธิ์เสรีของเราได้รับผลจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและการที่พระองค์ทรงไถ่เราจากผลของการตก นักเรียนอาจระบุหลักธรรมทำนองนี้จากข้อพระคัมภีร์ข้อนี้: การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้เรามีอิสระที่จะเลือกชีวิตนิรันดร์ แผนของพระบิดาบนสวรรค์ให้เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับเราที่จะเลือกเสรีภาพและชีวิตนิรันดร์โดยผ่านพระเยซูคริสต์หรือจะเลือกการเป็นเชลยและความตายผ่านมาร
พิจารณาว่าคำถามต่อไปนี้ข้อใดอาจช่วยให้นักเรียนของท่านเข้าใจสิทธิ์เสรีได้ดีที่สุด และตัดสินใจด้วยตนเองว่านักเรียนควรกระทำอย่างชอบธรรมเช่นไรในชีวิตของตน (ท่านอาจเลือกคำถามชุดใดชุดหนึ่งต่อไปนี้และกระตุ้นให้นักเรียนบันทึกความคิดและความประทับใจของตน)
-
ท่านคิดว่าการที่เรา “เป็นอิสระตลอดกาล … กระทำด้วย [ตัวเรา] เองและมิถูกกระทำ, นอกจากเป็นไปโดยโทษของกฎในวันสุดท้ายและสำคัญยิ่ง” หมายความว่าอย่างไร? (2 นีไฟ 2:26) อะไรคือสิ่งที่ท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจให้ทำเพื่อให้ท่านสามารถกระทำอย่างชอบธรรมในวันนี้?
-
อะไรคือตัวอย่างบางส่วนของการเลือกเล็กๆ ที่ท่านเลือกในแต่ละวันที่สามารถส่งผลในระยะยาวได้? การเลือกในแต่ละวันแบบใดที่จะช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระเยซูคริสต์และชีวิตนิรันดร์มากขึ้น? อะไรคือการเลือกปัจจุบันบางอย่างที่ท่านกำลังทำซึ่งอาจขัดขวางหรือทำให้การเติบโตทางวิญญาณหรือโอกาสของท่านน้อยลง?
-
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านเรียนรู้จากความผิดพลาดของท่านอย่างไร? (ทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟน ในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน หากจำเป็น) อะไรคือสิ่งที่ท่านสามารถเรียนรู้จากบาปที่ท่านกระทำหรือความผิดพลาดที่ท่านเคยทำ?
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนที่ต้องการแบ่งปันความคิดหรือประจักษ์พยานของตนให้ทำเช่นนั้น อธิบายให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไปหรือพูดถึงบาปเฉพาะเจาะจงที่ตนอาจเคยกระทำ กระตุ้นให้นักเรียนทำตามสิ่งที่ตนเขียนและไตร่ตรองในวันนี้ เป็นพยานให้แก่หลักธรรมในบทเรียนนี้และความปรารถนาของพระเจ้าที่จะช่วยนักเรียนนำทางการเลือกในชีวิตของตน
สำหรับครั้งต่อไป
ชี้ให้เห็นว่าระหว่างชั้นเรียนครั้งต่อไป เราจะสนทนาเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้นักเรียนศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และไตร่ตรองว่าเหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงบรรยายถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ว่าไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ (ดู 2 นีไฟ 9:7; แอลมา 34:10)