“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ชีวิตหลังความตาย” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)
“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน
บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ชีวิตหลังความตาย
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า: “เราไม่จำเป็นต้องมองความตายว่าเป็นศัตรู ด้วยความเข้าใจและการเตรียมตัวอย่างเต็มที่ ศรัทธาจะแทนที่ความกลัว ความหวังจะแทนที่ความสิ้นหวัง” (“Doors of Death,” Ensign, May 1992, 74) ในขณะที่ท่านกำลังศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนนี้ ลองพิจารณาดูว่าพระคัมภีร์มอรมอนสอนอะไรเกี่ยวกับความตายและชีวิตหลังความตายซึ่งสามารถช่วยให้ท่าน “เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 12:24)
หมวดที่ 1
เกิดอะไรขึ้นหลังจากเราตาย?
หลังจากโคริแอนทอน บุตรชายคนหนึ่งของแอลมาผู้บุตร ได้ทอดทิ้งการปฏิบัติศาสนกิจและกระทำบาปทางเพศ บิดาของเขาพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับความรุนแรงของการกระทำดังกล่าว แอลมารับรู้ว่าโคริแอนทอนกังวลเรื่องชีวิตหลังความตายและการลงโทษที่รอคอยผู้กระทำบาป แอลมาสอนบุตรชายว่า แม้ผู้คนทั้งหมดจะฟื้นคืนชีวิต แต่เฉพาะคนชอบธรรมเท่านั้นที่จะมีชีวิตอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 40:1, 9–10, 25–26) นอกจากนี้เขายังอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิญญาณของเราระหว่างความตายกับการฟื้นคืนชีวิตด้วย
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนเรื่องนี้เกี่ยวกับวลี “นำกลับบ้านไปสู่พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นผู้ประทานชีวิตให้พวกเขา”:
[วลีนี้] หมายความเพียงว่าการดำรงอยู่ขณะเป็นมรรตัยของพวกเขามาถึงจุดสิ้นสุด และพวกเขากลับไปสู่โลกแห่งวิญญาณที่พวกเขาถูกกำหนดสภาพตามงานของตนเอง โดยให้อยู่กับคนเที่ยงธรรมหรือกับคนอธรรม เพื่อรอการฟื้นคืนชีวิตที่นั่น (โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr. [1958], 2:85)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดพูดถึงโลกวิญญาณดังต่อไปนี้เช่นกัน:
เรารู้จากพระคัมภีร์ว่าหลังจากร่างกายเราตาย เราจะอยู่ต่อไปเป็นวิญญาณในโลกวิญญาณ พระคัมภีร์สอนเช่นกันว่าโลกวิญญาณแบ่งแยกระหว่างผู้ที่เป็นคน “ชอบธรรม” หรือ “เที่ยงธรรม” ขณะมีชีวิตอยู่กับผู้ที่เป็นคนชั่วร้าย และอธิบายเช่นกันว่าวิญญาณที่ซื่อสัตย์บางดวงสอนพระกิตติคุณแก่คนชั่วร้ายหรือคนกบฏ (ดู 1 เปโตร 3:19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:19–20, 29, 32, 37) สำคัญที่สุดคือการเปิดเผยปัจจุบันที่เปิดเผยว่างานแห่งความรอดดำเนินต่อไปในโลกวิญญาณ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:30–34, 58) และถึงแม้เราได้รับการกระตุ้นไม่ให้ผัดวันกลับใจของเราในช่วงชีวิตมรรตัย (ดู แอลมา 13:27) แต่เราได้รับการสอนว่าการกลับใจบางเรื่องเกิดขึ้นที่นั่นได้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:58) (“วางใจในพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 26)
หมวดที่ 2
การเชื่อในการฟื้นคืนชีวิตสามารถทำให้ฉันมีความหวังได้อย่างไร?
เมื่อแอลมาและอมิวเล็คสอนประชาชนชาวแอมันไนฮาห์ ทนายความที่ชื่อซีเอสรอมพยายามบิดเบือนถ้อยคำของอมิวเล็คและทำลายคำสอนของเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เพื่อเป็นการตอบสนอง อมิวเล็คเป็นพยานอย่างกล้าหาญว่าการฟื้นคืนชีวิตและความรอดจากบาปสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านพระเยซูคริสต์เท่านั้น
ซิสเตอร์ซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์ อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญ สอนเกี่ยวกับการเป็นพยานในความสำคัญของการฟื้นคืนชีวิตว่า:
ร่างกายอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ซึ่งเราควรขอบคุณ ต่างทนทุกข์จากข้อจำกัดทางธรรมชาติ คนบางคนเกิดมาพร้อมความพิการและเจ็บปวดเพราะโรคภัยตลอดชีวิต ร่างกายของเราทุกคนจะเริ่มเสื่อมถอยทีละน้อยตามอายุขัย เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เราอยากให้ถึงวันที่ร่างกายจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ เรารอคอยการฟื้นคืนชีวิตที่พระเยซูคริสต์ทรงทำให้เป็นไปได้ … ดิฉันทราบดีว่าโดยทางพระคริสต์ เราจะประสบความบริบูรณ์แห่งความสุขซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อวิญญาณกับธาตุสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก (ดู ค&พ. 93:33) (“ความศักดิ์สิทธิ์ของร่างกาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 17–18)
หมวดที่ 3
ฉันจะทำอย่างไรเพื่อให้พร้อมที่จะพบกับพระผู้เป็นเจ้ามากยิ่งขึ้น?
หลายปีหลังจากการสอนในแอมันไนฮาห์ แอลมาและอมิวเล็ครับอีกพันธกิจหนึ่ง ครั้งนี้ไปยังชาวโซรัมผู้ละทิ้งความเชื่อ แอลมาและอมิวเล็คเริ่มประสบความสำเร็จในหมู่ผู้คนส่วนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากกว่า หลังจากสอนให้ผู้คนมองที่พระเยซูคริสต์และเชื่อมั่นในพลังแห่งการชดใช้ของพระองค์ อมิวเล็คเชื้อเชิญให้พวกเขาเตรียมพบกับพระผู้เป็นเจ้า
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนโดยกล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมตัวในวันนี้เพื่อพบกับพระผู้เป็นเจ้าว่า:
มีอันตรายอยู่ในคำว่า สักวันหนึ่ง เมื่อมีความหมายว่า “ไม่ใช่วันนี้” “สักวันหนึ่งฉันจะกลับใจ” “สักวันหนึ่งฉันจะให้อภัยเขา” …
พระคัมภีร์แสดงให้เห็นชัดเจนถึงอันตรายของการรีรอ … วันนี้เป็นของประทานอันล้ำค่าของพระผู้เป็นเจ้า ความคิดที่ว่า “สักวันหนึ่งฉันจะทำ” อาจปล้นโอกาสของเวลาและพรแห่งนิรันดร์ (“วันนี้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 111)
เมื่อแอลมาผู้บุตรปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนในดินแดนเซราเฮ็มลา เขาถามคำถามมากมายที่กระตุ้นความคิดเพื่อช่วยให้พวกเขาพิจารณาสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการยืนในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 5)