“บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ศรัทธาในพระเยซูคริสต์” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)
“บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน
บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ท่านเคยรู้สึกถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อที่ท่านจะได้เป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นหรือไม่? บราเดอร์ไบรอัน เค. แอชตัน อดีตที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญสอนว่า “หลักคำสอนของพระคริสต์ทำให้เราเข้าถึงพลังทางวิญญาณที่จะยกเราจากสภาพทางวิญญาณในปัจจุบันของเราขึ้นสู่สภาพที่เราจะได้รับการทำให้ดีพร้อมเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด” (“หลักคำสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 106) หลักคำสอนของพระคริสต์หมายถึงการมีศรัทธาในพระองค์และการชดใช้ของพระองค์ การกลับใจ บัพติศมา การรับของประทานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ดู 2 นีไฟ 31:2, 10–21; 3 นีไฟ 27:13–22) ขณะที่ท่านศึกษาหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์โดยเริ่มต้นด้วยศรัทธาในพระองค์ ให้นึกถึงวิธีที่ท่านต้องการเปลี่ยนแปลงและคนที่ท่านต้องการจะเป็น
หมวดที่ 1
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของฉันในพระเยซูคริสต์?
บทสรุปต่อไปนี้จะอธิบายถึงความหมายของศรัทธาในพระเยซูคริสต์:
การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หมายถึงการพึ่งพาพระองค์อย่างสมบูรณ์—วางใจในเดชานุภาพอันไม่มีขอบเขต พระปรีชาญาณ และความรักของพระองค์ รวมถึงการเชื่อคำสอนของพระองค์ หมายถึงการเชื่อว่าแม้เราไม่เข้าใจทุกสิ่ง แต่พระองค์เข้าพระทัย … พระองค์ทรงพร้อมเสมอที่จะช่วยเราตามที่เราจดจำคำวิงวอนของพระองค์: “จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36) (“Faith in Jesus Christ,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org)
อธิการริชาร์ด ซี. เอชลีย์ อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายอธิการควบคุมกล่าวว่า “ศรัทธาคือการเลือก เราต้องแสวงหาและพัฒนา” (“ศรัทธา—การเลือกเป็นของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 39)
ศาสดาพยากรณ์แอลมาสอนเกี่ยวกับหลักธรรมแห่งศรัทธาอย่างทรงพลัง แอลมากังวลเกี่ยวกับชาวโซรัมที่หยุดเชื่อในพระเยซูคริสต์และตกไปจากศาสนจักรของพระองค์ ขณะที่แอลมากับคู่ผู้สอนศาสนาของเขาเดินทางไปสั่งสอนชาวโซรัม แอลมาพบว่าชาวโซรัมบางคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะความยากจนและเปิดรับข่าวสารของเขา เขาต้องการให้ชาวโซรัมเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร (ดู แอลมา 31–32)
ขณะที่สอนชาวโซรัม แอลมาเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืชและอธิบายว่าเมล็ดจะเติบโตขึ้นเมื่อเราปลูกในใจของเรา และตั้งใจบำรุงเลี้ยงผ่านการใช้ศรัทธา (ดู แอลมา 32:26–33)
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดในขณะนั้นให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำอุปมาของแอลมาที่เปรียบเมล็ดพืชเป็นเสมือนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าโดยสอนว่า:
บ่อยเหลือเกินที่เราใช้พระกิตติคุณเหมือนชาวไร่คนหนึ่งที่หว่านเมล็ดในดินตอนเช้าและคาดว่าข้าวโพดจะออกฝักตอนบ่าย …
การรู้ว่าเมล็ดดียังไม่พอ เราต้อง “บำรุงเลี้ยงมันด้วยความใส่ใจอย่างยิ่ง, เพื่อมันจะแตกราก” [แอลมา 32:37] …
… การเป็นสานุศิษย์ไม่ใช่กีฬาที่นั่งดูอยู่อย่างเดียว เราจะคาดหวังพรแห่งศรัทธาโดยยืนอยู่ข้างสนามเฉยๆ ไม่ได้ เราจะมีสุขภาพดีไม่ได้เช่นกันถ้าเรานั่งบนโซฟาดูการแข่งขันทางโทรทัศน์และให้คำแนะนำแก่นักกีฬา (“วิถีทางของสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 93–94)
หมวดที่ 2
การบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าสามารถพาฉันเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร?
แอลมาสอนว่าเมื่อเมล็ดพืชงอกเงยและเริ่มเติบโต เราจะทราบว่าเมล็ดพืชนั้นดีและศรัทธาของเราจะแข็งแกร่ง หลังจากการเติบโตครั้งแรกนี้ แอลมาเตือนว่าอย่า “ละทิ้งศรัทธา” และละเลยการบำรุงเลี้ยงต้นไม้ (ดู แอลมา 32:30–38)
เมื่อแอลมายุติการสอนชาวโซรัมเกี่ยวกับศรัทธา เขาชี้ให้เห็นว่าเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการให้ปลูกในใจของชาวโซรัมคือข่าวสารที่ว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งจะ “ชดใช้บาปของพวกเขา; และว่าพระองค์จะทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตายอีก” (แอลมา 33:22–23) เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนดังนี้:
ในข้อเขียนที่หลักแหลมนี้ แอลมาย้ายผู้อ่านจากบทวิจารณ์ทั่วไปเกี่ยวกับศรัทธาในพระวจนะที่เหมือนเมล็ดพืชของพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นข้อเขียนที่มุ่งเน้นศรัทธาในพระคริสต์อันเป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเติบโตเป็นต้นไม้ที่ออกผล ต้นไม้ที่ผลของมันคือผลซึ่งลีไฮรับรู้แต่แรกว่านั่นคือความรักของพระคริสต์ … พระคริสต์คือเมล็ดพันธุ์ ต้นไม้ และผลไม้แห่งชีวิตนิรันดร์ (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 169)
หมวดที่ 3
ฉันสามารถได้รับพรจากการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ด้วยวิธีใด?
เมื่อโมโรไนทำงานของเขาในพระคัมภีร์มอรมอนเสร็จแล้ว เขาได้รวมโอวาทที่มอรมอนบิดาของเขาเคยให้เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ (ดู โมโรไน 7:1) ในโอวาทนี้ มอรมอนสอนสิ่งที่สามารถบรรลุผลได้ด้วยพลังแห่งศรัทธา
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีที่ศรัทธาของเราในพระคริสต์เสริมกำลังให้กับชีวิตเรา:
การมีศรัทธาที่ไม่สั่นคลอนในพระเยซูคริสต์คือการทำให้ชีวิตเราท่วมท้นด้วยแสงเจิดจ้า ท่านไม่ต้องต่อสู้เพียงลำพังกับปัญหาที่รู้อยู่ว่าท่านแก้ไม่ตกหรือควบคุมไม่ได้ เพราะพระองค์ตรัสว่า “หากเจ้าจะมีศรัทธาในเรา เจ้าจะมีพลังความสามารถทำสิ่งใดก็ตามที่ เราเห็นสมควร” (โมโรไน 7:33; เน้นตัวเอน)
ถ้าท่านหมดกำลังใจ เจ็บปวดทรมานเพราะการล่วงละเมิด ถ้าท่านป่วย โดดเดี่ยว หรือต้องการการปลอบโยนและกำลังใจอย่างมาก ข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างจริงจังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยท่านเมื่อท่านตั้งใจเชื่อฟังกฎทางวิญญาณซึ่งในนั้นกำหนดความช่วยเหลือเอาไว้ พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของท่าน ท่านเป็นลูกของพระองค์ พระองค์ทรงรักท่าน พระองค์จะไม่ทรงทำให้ท่านผิดหวัง ข้าพเจ้าทราบว่าพระองค์จะทรงอวยพรท่าน (“Obtaining Help from the Lord,” Ensign, Nov. 1991, 86)