สถาบัน
สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 21: การเอาชนะความจองหอง


“สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 21: การเอาชนะความจองหอง” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 21” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 21

การเอาชนะความจองหอง

ภาพ
หญิงสาวอยู่ในห้วงความคิดคำนึง

อันตรายทางวิญญาณประการหนึ่งที่มีการเน้นย้ำไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนคือบาปแห่งความจองหอง จากบันทึกนั้นเราเรียนรู้ว่าความจองหองบ่อนทำลายความปรองดองในครอบครัวของลีไฮ ก่อความแตกแยกในศาสนจักรของพระเจ้า ส่งผลให้เกิดสงครามนับครั้งไม่ถ้วน และในที่สุดจึงนำไปสู่ความพินาศของอารยธรรมชาวนีไฟ ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันเตือนว่า “ความจองหองเป็นบาปสากล เป็นความชั่วร้ายใหญ่หลวง” (“Beware of Pride,” Ensign, May 1989, 6) ขณะที่ท่านศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน ให้หาคำสอนที่สามารถช่วยให้ท่านระบุถึงสัญญาณแห่งความจองหองในชีวิตท่าน นอกจากนี้ให้พิจารณาด้วยว่าคำสอนและแบบอย่างของพระเยซูคริสต์สามารถช่วยให้ท่านเอาชนะความจองหองได้อย่างไร

หมวดที่ 1

ฉันจะตระหนักมากขึ้นได้อย่างไรถึงผลกระทบของความจองหองที่อาจก่อความเสียหายในชีวิตของฉัน?

หลังจากนีไฟสิ้นชีวิต เจคอบประสบปัญหากับความชั่วร้ายที่เพิ่มมากขึ้นในบรรดาชาวนีไฟ พระเจ้าทรงชี้นำให้เจคอบจัดการกับบาปของผู้คน (ดู เจคอบ 1:152:4, 11) ด้วยความเชื่อฟัง เจคอบกล่าวกับผู้คนในพระวิหารเกี่ยวกับบาปของคนเหล่านั้น รวมถึงความร่ำรวยของคนเหล่านั้นที่กำลังนำพวกเขาหันไปจากพระเจ้า

ภาพ
เจคอบสอนชาวนีไฟ
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน เจคอบ 2:12–16 หรือดูวิดีทัศน์เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน “Jacob Teaches about Pride (Jacob 2:3–21)” (5:56) ที่อยู่ใน ChurchofJesusChrist.org ในขณะที่ท่านทำเช่นนั้น ให้มองหาว่าความจองหองมีอิทธิพลต่อทัศนคติที่ชาวนีไฟมีต่อกันอย่างไร

ตอนท้ายของพระคัมภีร์มอรมอน มอรมอนและโมโรไนเป็นพยานว่าความล้มเหลวที่จะกลับใจจากความจองหองนำไปสู่ความพินาศของชาวนีไฟอย่างไร (ดู โมโรไน 8:27) หลังจากเห็นความพินาศ โมโรไนเห็นในนิมิตว่าความจองหองน่าจะเป็นปัญหาของผู้คนในวันเวลาของเราอย่างไร

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน มอรมอน 8:35–37 และพิจารณาว่าความจองหองนำไปสู่บาปอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างไร

ภาพ
เยาวชนขอเงิน

ในปี 1989 ประธานเบ็นสันกล่าวคำปราศรัยสำคัญเรื่องความจองหอง ขณะที่ท่านอ่านข้อความนี้ที่ตัดตอนมาจากคำปราศรัยของท่าน ให้พิจารณาทำเครื่องหมายที่คำและวลีสำคัญที่อธิบายถึงความหมายหลักของความจองหอง

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

พวกเราส่วนใหญ่คิดว่าความจองหองคือการถือเอาตนเองเป็นใหญ่ การอวดอ้าง ความโอหัง อวดดี ความยโส หรือความหยิ่งผยอง ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของบาป แต่ยังไม่ใช่หัวใจหรือแก่นแท้ของบาป

ลักษณะสำคัญของความจองหองคือความเป็นอริ—ความเป็นอริต่อพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นอริต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา ความเป็นอริ หมายถึง “ความเกลียดชัง การเป็นศัตรู หรือสภาพของการต่อต้าน” ความเป็นอริคืออำนาจที่ซาตานปรารถนาจะใช้ปกครองเรา

ความจองหองคือการมีอุปนิสัยการชิงดีชิงเด่นเป็นพื้นฐาน เราทำให้ความประสงค์ของเราแข่งกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า …

คนจองหองไม่สามารถยอมรับผู้มีอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่กำลังชี้นำชีวิตพวกเขา (ดู ฮีลามัน 12:6) …

คนจองหองทำให้ทุกคนเป็นปฏิปักษ์ของพวกเขาโดยใช้สติปัญญา ความคิดเห็น งาน ความมั่งคั่ง พรสวรรค์ หรือเครื่องวัดทางโลกอื่นๆ ของตนต่อต้านผู้อื่น ในถ้อยคำของซี. เอส. ลูอิส: “คนจองหองไม่ได้รับความพอใจจากการมีบางสิ่ง แต่จากการมีมากกว่าคนข้างเคียง … การเปรียบเทียบนี้เองที่ทำให้ท่านจองหอง นั่นคือ ความพอใจจากการอยู่เหนือผู้อื่น ทันทีที่องค์ประกอบของการชิงดีชิงเด่นหมดไป ความจองหองก็หมดตาม” (Mere Christianity, New York: Macmillian, 1952, pp. 109–10) …

ความกลัวต่อการตัดสินของมนุษย์แสดงให้เห็นในการชิงดีชิงเด่นความเห็นชอบของมนุษย์ …

… พวกเราส่วนใหญ่เชื่อว่าความจองหองเป็นบาปของคนระดับสูงที่ดูถูกพวกเรา อาทิ คนร่ำรวย และคนมีการศึกษา (ดู 2 นีไฟ 9:42) แต่มีความเจ็บป่วยยิ่งกว่านั้นในบรรดาพวกเรา—นั่นคือความจองหองจากล่างขึ้นบน ซึ่งประจักษ์ชัดในหลายๆ ด้าน อาทิ การจับผิด ซุบซิบนินทา ลอบกัด พร่ำบ่น ดำเนินชีวิตเกินรายได้ อิจฉา โลภ ไม่ขอบคุณและไม่กล่าวยกย่องใครซึ่งอาจเป็นการให้กำลังใจผู้อื่น ไม่ให้อภัยและริษยา (“จงระวังความจองหอง,” 4, 5)

ภาพ
หญิงสาวมองไปที่เพื่อนคนหนึ่ง
ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

ประธานเบ็นสันตั้งข้อสังเกตว่า “ความจองหองเป็นบาปที่สามารถเห็นในผู้อื่นได้ง่ายแต่ตัวเราไม่ค่อยยอมรับ” (“Beware of Pride,” 5) เลือกคำถามด้านล่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านมากที่สุด และบันทึกคำตอบของท่านในสมุดบันทึกการศึกษาหรือสมุดจดของท่าน

  • ฉันรู้สึกเป็นอริ (ความโกรธ การเป็นศัตรู หรือการต่อต้าน) ในใจของฉันต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือบุคคลอื่นหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น ความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อใจและความสัมพันธ์ของฉันอย่างไร?

  • เมื่อใดที่ฉันมีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นมากที่สุด? เมื่อฉันเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ฉันรู้สึกอย่างไร?

หมวดที่ 2

ฉันสามารถเอาชนะบาปแห่งความจองหองได้อย่างไร?

หลังจากเจคอบเตือนผู้คนของเขาถึงบาปของความจองหอง เขาสอนให้ผู้คนเหล่านั้นทราบความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีเอาชนะความจองหอง

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ขณะที่ท่านอ่าน เจคอบ 2:17–21 ให้มองหาคำแนะนำที่สามารถช่วยให้ท่านเอาชนะความจองหองได้

ภาพ
บุคคลกำลังจัดหาอาหารให้คนไร้บ้าน

ในพระคัมภีร์มอรมอน ชาวนีไฟจองหองหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น หลังจากชนะสงครามอันยาวนานกับโจรแกดิแอนทัน ชาวนีไฟเจริญรุ่งเรืองและในไม่ช้าก็จองหองโดยจัดอันดับตนเองตามความร่ำรวยและการเรียนรู้ของตน บางคนเริ่มข่มเหงผู้ที่โชคดีน้อยกว่าตนเอง (ดู 3 นีไฟ 6:4–12)

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ขณะที่ท่านอ่าน 3 นีไฟ 6:12–14 ให้สังเกตความแตกต่างระหว่างผู้คนที่จองหองกับผู้คนที่ไม่จองหอง ลักษณะเฉพาะแบบใดที่ทำให้กลุ่มคนทั้งสองแตกต่างกัน?

ประธานเบ็นสันสอนวิธีเอาชนะความจองหองดังนี้:

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ยาถอนพิษความจองหองคือความอ่อนน้อมถ่อมตน—ความอ่อนโยน ความว่าง่าย (ดู แอลมา 7:23) …

ขอให้เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตน

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยเอาชนะความเป็นอริต่อพี่น้องชายหญิงของเรา นับถือพวกเขาเสมือนหนึ่งนับถือตนเอง และยกพวกเขาให้สูงเท่าหรือสูงกว่าเรา [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:24]

“เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยรับคำแนะนำและการตีสอน [ดู เจคอบ 4:10]

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง [ดู 3 นีไฟ 13:11, 14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:10]

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (ดู โมไซยาห์ 2:16–17)

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยไปเป็นผู้สอนศาสนาและสั่งสอนพระวจนะที่สามารถทำให้ผู้อื่นอ่อนน้อมถ่อมตน [ดู แอลมา 4:19]

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยไปพระวิหารให้บ่อยขึ้น

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยสารภาพและละทิ้งบาปของเราและเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43]

เราเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยรักพระผู้เป็นเจ้า ยอมให้ความประสงค์ของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ และให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา [ดู 3 นีไฟ 11:11] (“Beware of Pride,” 6–7)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ไตร่ตรองพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อมตนจากพระองค์? เตรียมพร้อมในการแบ่งปันตัวอย่างของท่านในชั้นเรียน

พิมพ์