“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 20: พรแห่งเสรีภาพทางศาสนา” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)
“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 20” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 20
พรแห่งเสรีภาพทางศาสนา
เสรีภาพทางศาสนาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พระคัมภีร์มอรมอนมีตัวอย่างมากมายของทั้งพรแห่งเสรีภาพทางศาสนาและผลของการจำกัดเสรีภาพทางศาสนา ในบทเรียนนี้นักเรียนมีโอกาสที่จะระบุพรของเสรีภาพทางศาสนาและประเมินสิ่งที่ตนสามารถทำได้เพื่อช่วยรักษาและปกป้องเสรีภาพในวันเวลาของเรา
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
กษัตริย์โมไซยาห์สร้างรูปแบบรัฐบาลที่คุ้มครองเสรีภาพทางศาสนา
หมายเหตุ: สภาพของเสรีภาพทางศาสนาแตกต่างกันไปทั่วโลก เมื่อท่านสนทนาเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนา จงมีความรู้สึกไวต่อสภาวการณ์ของที่ซึ่งท่านอาศัยอยู่ ส่งเสริมให้นักเรียนพูดถึงรัฐบาล ศาสนจักรอื่นๆ และประเพณีทางศาสนาทั้งหมดด้วยความเคารพ
เตือนนักเรียนว่าในการเตรียมเข้าชั้นเรียน นักเรียนจะได้รับเชิญให้สนทนากับผู้นับถือศาสนาอื่นอย่างน้อยหนึ่งคน นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้ถามบุคคลเหล่านั้นว่าเหตุใดศาสนาของเขาจึงมีความสำคัญต่อเขา และบุคคลเหล่านั้นเคยประสบการข่มเหงทางศาสนาหรือไม่ เชิญนักเรียนบางคนมาแบ่งปันสิ่งที่ตนเรียนรู้จากการสนทนาหรือจากประสบการณ์ที่ผ่านมากับผู้นับถือศาสนาอื่น
ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทุกข้อ:
-
ท่านจะนิยามเสรีภาพทางศาสนาว่าอย่างไร? (หากจำเป็น ให้นักเรียนทบทวน บทนำ และ หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
-
เหตุใดท่านจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีสิทธิในการแสดงออกและปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตน? (อาจเป็นประโยชน์ที่จะทบทวน หลักแห่งความเชื่อข้อที่สิบเอ็ด และ คำกล่าวของโจเซฟ สมิธในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
-
ชีวิตของเราจะได้รับผลกระทบอย่างไรหากเราไม่มีอิสระในการแสดงออกหรือปฏิบัติตามความเชื่อหลักของเรา รวมถึงมุมมองทางศาสนาของเราด้วย? มีตัวอย่างอะไรบ้างของการคุกคามเสรีภาพทางศาสนาในวันเวลาของเรา?
เตือนนักเรียนว่ากษัตริย์โมไซยาห์สถาปนากฎหมายเพื่อปกป้องประชาชนในอาณาจักรของตนซึ่งถูกข่มเหงเพราะความเชื่อ ท่านอาจทบทวน โมไซยาห์ 27:1–4 กับนักเรียนและถามว่า:
-
เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาจากถ้อยแถลงของกษัตริย์โมไซยาห์?
ท่านอาจแสดงภาพประกอบและเชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปแนวคิดบางอย่างที่คอริฮอร์กำลังสอน (ดู หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน แอลมา 30:7–9, 11 และค้นหาว่าข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาอย่างไร พิจารณาว่าคำถามข้อใดต่อไปนี้ที่ท่านสามารถถามได้ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนของท่านเรียนรู้อย่างลึกซึ้งมากที่สุด:
-
เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับคุณค่าที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงกำหนดไว้ในเสรีภาพทางศาสนา? (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมทำนองนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์มีสิทธิ์และสิทธิพิเศษเท่าเทียมกันเพื่อที่บุตรธิดาจะมีอิสระในการเลือกรับใช้พระองค์โดยปราศจากการบังคับ รวมทั้งมีอิสระในการเลือกที่จะไม่รับใช้พระองค์)
-
เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญในแผนของพระผู้เป็นเจ้าที่เราจะต้องไม่ถูกบังคับให้เชื่อหรือติดตามพระองค์?
-
สำหรับท่าน การที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะไม่มีวันบังคับท่านให้เชื่อหรือติดตามพระองค์หมายความว่าอย่างไร? สิ่งนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์?
-
เสรีภาพทางศาสนามีประโยชน์ต่อสมาชิกทุกคนในสังคมอย่างไร? เสรีภาพทางศาสนาเป็นประโยชน์กับท่านอย่างไร?
แม่ทัพโมโรไนยกธงแห่งเสรีภาพและเรียกร้องให้ประชาชนรักษาเสรีภาพ
เชิญนักเรียนสองสามคนมาแบ่งปันตัวอย่างว่าเสรีภาพทางศาสนาสามารถถูกคุกคามได้อย่างไร (หากจำเป็น ให้นักเรียนทบทวน หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน แอลมา 46:4, 10 และอธิบายว่าอแมลิไคยาห์คุกคามเสรีภาพของชาวนีไฟรวมถึงเสรีภาพทางศาสนาของชาวนีไฟอย่างไร สอบถามนักเรียนว่าแม่ทัพโมโรไนตอบสนองต่อภัยคุกคามนี้อย่างไร (หากจำเป็น ให้นักเรียนทบทวน แอลมา 46:12–13, 19–20) พิจารณาการสนทนาคำถามต่อไปนี้:
-
เราอาจเรียนรู้หลักธรรมพระกิตติคุณข้อใดเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาจากความพยายามของแม่ทัพโมโรไนและประชาชนของเขา? (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้: เมื่อเราทูลขอพระผู้เป็นเจ้าและเตรียมตัวให้พร้อมที่จะกระทำ พระองค์จะเสริมสร้างเราให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการปกป้องครอบครัว ศาสนา และเสรีภาพของเรา)
-
แม่ทัพโมโรไนและธงแห่งเสรีภาพมีผลต่อผู้คนอย่างไร? เหตุใดเราจึงต้องการความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ในความพยายามของเราที่จะปกป้องเสรีภาพทางศาสนา?
-
การปกป้องเสรีภาพทางศาสนาของแม่ทัพโมโรไนมีความคล้ายคลึงกับการที่พระเยซูคริสต์ทรงปกป้องเสรีภาพในการเลือกของเราอย่างไร?
เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาถึงการกระทำอย่างมีอารยะขณะปกป้องเสรีภาพทางศาสนา ท่านอาจแสดงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด:
เราพึงรักทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดี และแสดงความห่วงใยต่อความเชื่ออันจริงใจของผู้อื่น เราควรฉลาดเมื่อกำลังอธิบายและปฏิบัติตามจุดยืนของเรา และในการจูงใจผู้อื่น เราควรแสวงหาความเข้าใจและการสนับสนุนผู้ที่ไม่เชื่อ และเราต้องสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลและองค์กรนานาชาติที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความดีงามอันสำคัญยิ่ง ซึ่งองค์กรทางศาสนาและผู้เชื่อสามารถบรรลุผลเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งปวง (“Challenges to Religious Freedom” [คำปราศรัยใน Argentina Council for Foreign Relations (CARI), 23 เม.ย. 2015], newsroom.ChurchofJesusChrist.org)
เพื่อช่วยนักเรียนฝึกฝนการป้องกันเสรีภาพทางศาสนา ให้เชิญนักเรียนมาทำงานกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและสนทนากันว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์สมมติต่อไปนี้อย่างไร:
ท่านมีเพื่อนชาวมุสลิมในที่ทำงานที่มักหาสถานที่ส่วนตัวสำหรับละหมาดในช่วงพัก เพื่อนร่วมงานหลายคนเริ่มล้อเลียนการปฏิบัติเช่นนี้ ในที่สุดเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพูดว่า “เขาควรเก็บศาสนาของเขาไว้กับตนเองและไม่ควรนำมาปฏิบัติในที่ทำงาน” เธอหันมาหาท่านแล้วพูดว่า “คุณคิดอย่างไร?”
หลังจากนักเรียนใช้เวลาสนทนาเกี่ยวกับคำตอบของตนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนมาเล่าวิธีที่ตนตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว
ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา
เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมาย ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตั้งข้อสังเกตว่า “ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าหากเราไม่ตั้งเป้าหมายในชีวิตเราและฝึกใช้เทคนิคการดำเนินชีวิตให้บรรลุเป้าหมายจนเชี่ยวชาญ เมื่อเราแก่ตัวและมองย้อนกลับไปดูชีวิตเรา เราจะเห็นว่าเราบรรลุศักยภาพที่มีอยู่เต็มเปี่ยมเพียงน้อยนิดเท่านั้น” (“Do Things That Make a Difference,” Ensign, June 1983, 69–70) เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดและสร้างเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงซึ่งสามารถช่วยให้ตนได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความชอบธรรม เชื้อเชิญให้นักเรียนมาแบ่งปันเป้าหมายกับท่านและพิจารณาวิธีที่ท่านจะสามารถติดตามผลเป้าหมายของนักเรียนได้ เว้นแต่เป้าหมายของนักเรียนมีความเป็นส่วนตัวมากเกินไปที่จะแบ่งปัน
เชื้อเชิญให้นักเรียนกำหนดเป้าหมายเฉพาะของสิ่งที่นักเรียนทำได้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมยิ่งขึ้นสำหรับการปกป้องสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเสรีภาพทางศาสนา (อาจเป็นประโยชน์ที่จะทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนแผนดำเนินการง่ายๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน ท่านอาจแสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของเสรีภาพทางศาสนาเพื่อจบบทเรียน
สำหรับครั้งต่อไป
ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าเพราะเหตุใดความจองหองจึงเป็นหัวข้อหลักในพระคัมภีร์มอรมอน ชี้ให้เห็นว่าประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันตั้งข้อสังเกตว่า “ความจองหองเป็นบาปที่สามารถเห็นในผู้อื่นได้ง่ายแต่ตัวเราไม่ค่อยยอมรับ” (“Beware of Pride,” Ensign, May 1989, 5) เชิญชวนให้นักเรียนทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำสอนเรื่องความจองหองในพระคัมภีร์มอรมอน และวิธีที่ความจองหองอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักเรียน