สถาบัน
บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล


“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล,” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ฝ่ายประธานสูงสุดในขณะนั้นสอนว่า “ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลเสริมกันและกัน ขณะที่อย่างหนึ่งเพิ่มอย่างอื่นเพิ่มตาม” (ดู “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 23) ในบทเรียนนี้นักเรียนจะสามารถอธิบายวิธีพัฒนา ตลอดจนเพิ่มศรัทธาและความหวังของตนในพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และในพระกิตติคุณของพระองค์ นอกจากนี้นักเรียนจะสามารถระบุสิ่งที่ตนทำได้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะแห่งจิตกุศลเหมือนพระคริสต์อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

ใช้ความหลากหลายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน ให้ใช้วิธีสอนที่หลากหลาย เช่น คำถาม การสนทนาในชั้นเรียน เรื่องเล่า แบบฝึกหัดการเขียน การยกตัวอย่างในชีวิตจริง อารมณ์ขันที่เหมาะสม อุปกรณ์ รูปภาพ การอ้างอิงถ้อยคำ การทำงานกลุ่ม งานนำเสนอของครู และกระดานหรือการนำเสนอด้วยภาพและเสียง จำไว้เสมอว่าวิธีสอนเป็นสื่อกลางเพื่อเพิ่มการเรียนรู้และไม่ควรเป็นจุดสิ้นสุดของการเรียนรู้ (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา [2012], 66)

มอรมอนสอนความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับความหวัง

แสดงภาพประกอบของเชือกหลากสีและบล็อกที่ทับซ้อนกัน อธิบายว่าสีต่างๆ ในวัตถุเหล่านี้แสดงถึงศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

เชือกและบล็อกของเล่น
  • วิธีใดที่ทำให้ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลเป็นเหมือนเชือกที่ประสานกันแทนที่จะเป็นบล็อกที่ซ้อนกัน?

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ชี ฮอง (แซม) วองแห่งสาวกเจ็ดสิบ

เอ็ลเดอร์ชี ฮอง (แซม) วอง

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล … เกี่ยวพันกันจนแยกจากกันไม่ออก เราไม่จบที่การสร้างศรัทธา เรามีความหวังต่อจากนั้น หรือหลังจากมีความหวัง สุดท้ายเราพัฒนาจิตกุศล ทั้งหมดทำงานด้วยกัน และเมื่อผสมผสานกัน ทั้งหมดช่วยเราสร้างอุปนิสัยและประจักษ์พยานของเรา (“ศรัทธาความหวัง และจิตกุศล: คุณธรรมผสมผสาน,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2016, 19)

ให้นักเรียนทบทวน โมโรไน 7:33, 38, 40–43 แล้วค้นหาสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับความหวัง

  • เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธาและความหวัง? (นักเรียนอาจพูดความจริงหลากหลายประการ ซึ่งรวมถึงสิ่งต่อไปนี้: ขณะที่เราพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราได้รับความหวังว่าเราจะถูกยกขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์ผ่านการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์)

  • เพราะเหตุใดความหวังจึงเชื่อมติดอยู่กับศรัทธาและการวางใจในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์?

เชิญนักเรียนทบทวน คำกล่าวของประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

  • ท่านสามารถนึกถึงตัวอย่างที่ท่านอาจเคยเห็นในชีวิตของผู้คนที่สะท้อนความจริงที่ประธานบัลลาร์ดสอนได้ไหม?

ท่านอาจแบ่งปันข้อความต่อไปนี้ที่ตัดตอนมาจากจดหมายที่ส่งให้ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันจากเพื่อนที่กำลังดิ้นรนกับปัญหาส่วนตัว:

“ความผิดและความล้มเหลวที่ผมรู้สึกทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะกลับใจ ผมกำลังสูญเสียศรัทธา บาปเป็นสิ่งแรก ตามมาด้วยความสงสัย …

“ความไม่กล้าตัดสินใจอันเจ็บปวด ความลังเลใจ ความไร้ซึ่งหนทาง การเป็นอัมพาตต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง และการอับจนซึ่งความมั่นใจของผมล้วนก่อให้เกิดความทรมานและความเศร้าสลดใจ ครอบครัว อนาคต และศรัทธาของผมอยู่ในความเสี่ยง ผมกำลังสิ้นหวัง” (“A More Excellent Hope,” Ensign, Feb. 1997, 60)

ให้นักเรียนทบทวน อีเธอร์ 12:4, 32 และ คำกล่าวของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และสนทนาว่าผู้เขียนจดหมายฉบับนี้จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูความหวัง

  • สิ่งใดที่ช่วยท่านได้มากที่สุดในการกำหนดให้ความหวังเป็นส่วนหนึ่งอันแข็งขันในชีวิตประจำวันของท่าน?

  • จากสิ่งที่ท่านคิดและรู้สึกในบทเรียนนี้ การเปลี่ยนแปลงใดที่ท่านรู้สึกได้รับการดลใจที่จะกระทำเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของท่านในการประสบกับความหวัง? (ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนบันทึกความคิดและความรู้สึกของตน)

มอรมอนสอนความสำคัญของการแสวงหาของประทานแห่งจิตกุศล

ถามคำถามต่อไปนี้กับนักเรียน:

  • จากการศึกษาและประสบการณ์ของท่าน ท่านจะอธิบายว่าจิตกุศลคืออะไร?

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:43–44, 48 และถามว่า:

  • ท่านคิดว่าศรัทธาและความหวังในพระเยซูคริสต์เชื่อมโยงกับของประทานแห่งจิตกุศลอย่างไร?

  • มอรมอนให้คำปรึกษาแก่เราให้ทำสิ่งใดหากเราปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะได้รับของประทานแห่งจิตกุศล? (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้: หากเราสวดอ้อนวอนด้วยสุดพลังของใจและติดตามพระเยซูคริสต์ เราจะเปี่ยมด้วยจิตกุศล)

ท่านอาจให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อไตร่ตรองช่วงเวลาที่ตนสวดอ้อนวอนทูลขอความช่วยเหลือให้มีจิตกุศล และสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลลัพธ์ที่ตามมา

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งกลุ่มเล็กๆ และแจกเอกสารต่อไปนี้ให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม

ตัวอย่างของจิตกุศลในชีวิตประจำวัน

คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู—บทที่ 27

แสวงหาเพื่อให้เข้าใจจิตกุศลอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยทำกิจกรรมหนึ่งหรือสองอย่างต่อไปนี้เป็นกลุ่ม:

  1. ทบทวน โมโรไน 7:45–47 ระบุคำหรือวลีที่อธิบายถึงจิตกุศล จากนั้นผลัดกันเขียนคำถามต่อไปนี้ให้ครบถ้วน: “จิตกุศลมีลักษณะอย่างไรเมื่อ…” (ตัวอย่างเช่น “จิตกุศลมีลักษณะอย่างไรเมื่อท่านไม่เห็นด้วยกับใครบางคน? เมื่อมีบางคนทำร้ายท่าน?”) ใช้คำสอนใน โมโรไน 7:45–47 เพื่อตอบคำถามที่ท่านตั้งไว้

  2. ทบทวน คำกล่าวของประธานจีน บี. บิงแฮมในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และแบ่งปันตัวอย่างของวิธีที่พระเยซูคริสต์ “เป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของจิตกุศล” (“ฉันจะนำความสว่างแห่งพระกิตติคุณมาสู่บ้านของฉันเลียโฮนา, พ.ย. 2016, 6) ขณะสนทนาถึงตัวอย่างที่แตกต่างกัน ให้ลองถามคำถามกันและกันที่สามารถช่วยให้ท่านนำสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้จากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดมาปรับใช้

  3. ทบทวน คำกล่าวของประธานโธมัส เอส. มอนสันในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และแบ่งปันตัวอย่างของจิตกุศลที่ท่านพบเห็นในชีวิตของคนที่ท่านรู้จัก สนทนาว่าตัวอย่างเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับจิตกุศลและตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้เราเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

ตัวอย่างของจิตกุศลในชีวิตประจำวัน

เอกสารแจกจากครู

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในกลุ่ม

แสดงคำถามต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกคำถามที่ตนรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของตนมากที่สุด กระตุ้นให้นักเรียนบันทึกความรู้สึกหรือความประทับใจที่ได้รับ

  • ใครบ้างที่ควรรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านฉัน? ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้บุคคลนี้รู้สึกถึงความรักของพระองค์?

  • ฉันได้รับพรจากคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เป็นเหมือนพระคริสต์อย่างไร?

  • การแสดงความรักเหมือนพระคริสต์ช่วยให้ฉันใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นเมื่อใด?

  • ปัจจุบันฉันกำลังทำอะไร (หรือไม่ทำอะไร) ที่ปิดกั้นฉันจากการแสวงหา (หรือได้รับ) ของประทานแห่งจิตกุศล?

กระตุ้นให้นักเรียนตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ ได้แก่ ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล เพื่อที่พวกเขาจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้น

สำหรับครั้งต่อไป

ขอให้นักเรียน เตรียมพร้อมสำหรับชั้นเรียนถัดไป เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่พระคัมภีร์มอรมอนนำผู้คนมาสู่พระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้นักเรียนนึกถึงประสบการณ์ที่พวกเขามีกับพระคัมภีร์มอรมอนระหว่างหลักสูตรนี้ ซึ่งเสริมความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานและความสัมพันธ์กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ของพวกเขา