สถาบัน
สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 19: การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในยุคของความชั่วร้าย


“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 19: การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในยุคของความชั่วร้าย” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 19” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 19

การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในยุคของความชั่วร้าย

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้ข้อสังเกตว่า “พระคัมภีร์มอรมอนชี้แจงคำสอนของพระอาจารย์อีกทั้งเปิดโปงกลยุทธ์ของปฏิปักษ์” (“พระคัมภีร์มอรมอน: ชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระคัมภีร์เล่มนี้เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 62; ดู 2 นีไฟ 26–33 ด้วย) หน่วยที่ 6 จะช่วยให้นักเรียนตรวจพบกลยุทธ์ของปฏิปักษ์ได้ดียิ่งขึ้นและพิจารณาสิ่งที่ตนสามารถทำได้เพื่อเสริมพลังตนเองในการต่อกรกับการออกแบบอันชั่วร้ายของปฏิปักษ์ ในบทเรียนนี้นักเรียนจะระบุสิ่งที่ตนสามารถทำได้เพื่อคงไว้ซึ่งความเข้มแข็งขณะที่ตนเผชิญกับการข่มเหง และสิ่งที่ตนสามารถกระทำเพื่อใช้ชีวิตอย่างชอบธรรมในโลกที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

ใช้สถานการณ์ที่เหมือนจริง เมื่อนักเรียนเล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตของตนกับสิ่งที่ตนกำลังศึกษาอยู่ในพระคัมภีร์ นักเรียนจะมีความเตรียมพร้อมมากขึ้นที่จะชื่นชมความสัมพันธ์กันของพระคำของพระผู้เป็นเจ้า และเห็นว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่การกระทำอันมีประสิทธิภาพและชอบธรรมได้อย่างไร สถานการณ์สมมติที่นำเสนอสถานการณ์ในชีวิตจริงและไขคำถาม ข้อกังวล และความท้าทายที่แท้จริงที่นักเรียนต้องเผชิญ สามารถช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงชีวิตของตนกับหลักคำสอนและหลักธรรมต่างๆ ที่พบในพระคำของพระผู้เป็นเจ้า สถานการณ์เหมือนจริงยังสามารถช่วยให้นักเรียนค้นพบด้วยตนเองว่า บางครั้งชีวิตก็ซับซ้อนและคำตอบอาจหาไม่ได้ง่ายเสมอไป

ผู้ติดตามที่ชอบธรรมของพระเยซูคริสต์จะเข้มแข็งขึ้นท่ามกลางการข่มเหง

เพื่อเริ่มชั้นเรียน ท่านอาจแบ่งปันสถานการณ์สมมติต่อไปนี้หรือสถานการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องที่ท่านคิดไว้

อาการิเป็นสมาชิกใหม่ของศาสนจักรที่เพิ่งรับบัพติศมา พ่อแม่ของเธอตัดขาดกับเธอเมื่อเธอรับบัพติศมา ในตอนแรกทุกคนในวอร์ดของเธอเป็นมิตรมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ สมาชิกบางคนพูดสิ่งที่ใจร้ายเกี่ยวกับอดีตของอาการิและแม้กระทั่งล้อเลียนเธอเพราะความกระตือรือร้นที่เธอจะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เธอต้องการเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรแต่เธอรู้สึกท้อแท้อย่างยิ่ง

  • เหตุใดการถูกข่มเหงจากสมาชิกของศาสนจักรด้วยกันเองจึงมีความท้าทายเป็นพิเศษสำหรับอาการิ?

  • ถ้าอาการิหันมาขอความช่วยเหลือจากท่าน ท่านจะพูดหรือทำอย่างไร?

เตือนนักเรียนว่าใน ฮีลามัน 3:24–34 เราอ่านว่ามีผู้คนหลายหมื่นคนเข้าร่วมศาสนจักรและผู้คนเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดความจองหองคืบคลานเข้ามาในใจสมาชิกบางคนของศาสนจักร ผู้เริ่มข่มเหงคนที่ยังคงอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์

เชิญนักเรียนทบทวน ฮีลามัน 3:33–35 และมองหาสิ่งที่ช่วยให้สมาชิกศาสนจักรผู้อ่อนน้อมถ่อมตนยืนหยัดอย่างมั่นคงเมื่อเผชิญกับการข่มเหง พิจารณาว่าคำถามข้อใดต่อไปนี้ที่ท่านสามารถถามเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนของท่านได้ดีที่สุด:

  • คำสอนใดในข้อเหล่านี้ที่อาจช่วยอาการิหรือใครบางคนได้ในสถานการณ์ที่คล้ายกัน? (ท่านอาจเขียนรายการความจริงบางอย่างที่นักเรียนพบ ดังเช่นต่อไปนี้: เมื่อเราอดอาหาร สวดอ้อนวอน และยอมถวายใจของเราแด่พระผู้เป็นเจ้า ความอ่อนน้อมถ่อมตนและศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะเข้มแข็งขึ้น และจิตใจของเราจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ โดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมอันน่าเจ็บปวดของผู้อื่น)

  • การอดอาหาร การสวดอ้อนวอน และการยอมถวายใจของท่านแด่พระผู้เป็นเจ้าส่งผลต่อศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไร? (ดู ฮีลามัน 3:35) การกระทำอันชอบธรรมเหล่านี้ช่วยท่านอย่างไรขณะที่ท่านเผชิญกับพฤติกรรมอันน่าเจ็บปวดของผู้อื่น?

ท่านอาจแสดงคำถามต่อไปนี้และให้เวลาส่วนตัวกับนักเรียนเพื่อประเมินคำถามอย่างน้อยหนึ่งข้อและวางแผนว่าพวกเขาจะตอบสนองต่อการกระตุ้นเตือนที่ตนได้รับอย่างไร:

  • การต้อนรับและผูกมิตรกับผู้อื่นในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ของท่านเป็นอย่างไร?

  • การยอมถวายใจของท่านแด่พระผู้เป็นเจ้าเป็นอย่างไรบ้าง?

  • ท่านอาจเพิ่มศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไรโดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่น่าเจ็บปวดจากผู้อื่น?

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านหรือเชิญนักเรียนมาเป็นพยานถึงพลังอำนาจที่มาถึงเราเมื่อเรากระทำด้วยศรัทธาและยอมถวายใจของเราแด่พระผู้เป็นเจ้า

ขณะที่ชาวนีไฟชั่วร้ายมากขึ้น มอรมอนและโมโรไนยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า

เชิญนักเรียนมาร่วมแบ่งปันตัวอย่างเรื่องราวข่าว แนวโน้มทางวัฒนธรรม และหัวข้อการสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจทำให้การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณในวันเวลาของเราเป็นเรื่องท้าทาย

เชิญนักเรียนทบทวน มอรมอน 1:1–2, 15 และ โมโรไน 9:25–26 โดยมองหาสาเหตุที่เป็นไปได้ว่าเหตุใดมอรมอนและโมโรไนจึงยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าได้ขณะที่ทั้งสองเผชิญกับสังคมชั่วร้ายอย่างมาก

  • มีหลักธรรมใดบ้างที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีคงความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าในช่วงเวลาของความชั่วร้าย? (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้: เราสามารถเอาชนะความชั่วร้ายของโลกนี้ได้เมื่อเราประสบกับพระกรุณาธิคุณของพระเยซูคริสต์และยังคงซื่อสัตย์ต่อพระองค์)

  • ท่านคิดว่าการประสบกับพระกรุณาธิคุณของพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร?

  • การมองที่พระเยซูคริสต์และการประสบกับพระกรุณาธิคุณของพระองค์สามารถช่วยให้เราคงไว้ซึ่งความชอบธรรมขณะที่ความชั่วร้ายรายล้อมเราได้อย่างไร? (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนคำกล่าวของ ประธาน จอย ดี. โจนส์ และ เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

  • ประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระกรุณาธิคุณของพระเยซูคริสต์และศรัทธาของท่านในพระองค์ช่วยให้ท่านเลือกอย่างชอบธรรมเมื่อท่านต้องเผชิญกับความชั่วร้ายอย่างไร?

เตือนนักเรียนว่าใน หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน นักเรียนได้รับเชิญให้ระบุบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพระคัมภีร์มอรมอน หรือใครบางคนที่นักเรียนรู้จักเป็นการส่วนตัวที่เผชิญความชั่วร้ายและยังคงซื่อสัตย์ (หากจำเป็น ให้เวลานักเรียนทบทวนสิ่งที่ตนเขียน) เลือกวิธีที่จะให้โอกาสนักเรียนแต่ละคนแบ่งปันตัวอย่างของตน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของชั้นเรียนของท่าน

แสดงคำถามต่อไปนี้:

  • จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้และรู้สึกในวันนี้ ท่านจะทำอะไรเพื่อเพิ่มความสามารถของท่านที่จะยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในคำมั่นของท่านต่อพระเจ้าขณะที่ท่านเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายของโลก? (กระตุ้นให้นักเรียนบันทึกการกระตุ้นเตือนใดๆ ที่นักเรียนได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และกระทำตาม)

สำหรับครั้งต่อไป

แบ่งปันคำกล่าวนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ: “ความรักเสรีภาพนั่นเองที่สร้างแรงบันดาลใจให้จิตวิญญาณข้าพเจ้า—เสรีภาพของพลเมืองและศาสนาต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 372) ขณะที่นักเรียนศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนถัดไป เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าเสรีภาพทางศาสนามีความหมายอย่างไรต่อนักเรียนและเตรียมพร้อมที่จะพูดคุยถึงสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้เพื่อส่งเสริมหรือรักษาเสรีภาพนั้น