สถาบัน
สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 17: การเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรของพระเจ้า


“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 17: การเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรของพระเจ้า” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 17” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 17

การเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์ท่ามกลางชาวนีไฟและชาวเลมัน เฉกเช่นพระองค์ทรงทำกับผู้ติดตามของพระองค์ในปาเลสไตน์ พระองค์ทรงเรียกสาวกสิบสองและทรงมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้พวกเขานำศาสนจักรของพระองค์ บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสมุ่งเน้นที่ศาสนพิธีศีลระลึก และระบุสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้เพื่อทำให้ประสบการณ์นั้นมีความหมายและมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นักเรียนยังจะพิจารณาถึงสิ่งที่ตนทำได้เพื่อช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและมีสัมพันธภาพในวอร์ดหรือสาขาของตนด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาศีลระลึกและทรงบัญชาให้ผู้คนพบกันบ่อยครั้ง และไม่ให้ห้ามผู้ใดเข้าร่วมการนมัสการของพวกเขา

แสดงภาพต่อไปนี้และเตือนให้นักเรียนทราบว่าพระเยซูคริสต์ทรงมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแก่สาวกสิบสองคนของพระองค์และทรงจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ท่ามกลางชาวนีไฟและชาวเลมัน (ดู 3 นีไฟ 11:18–22; 12:1; 18:5, 37; 26:17–21)

พระคริสต์กับสานุศิษย์ชาวนีไฟสามคน โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

ชี้ให้เห็นว่าแม้ยังมีแง่มุมต่างๆ อีกมากมายของศาสนจักรที่เราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ แต่บทเรียนนี้จะมุ่งเน้นเพียงสองด้าน แสดงคำถามต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกคำถามที่ตนต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมมากที่สุด:

  • ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ศีลระลึกเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในศาสนจักรของฉันมีความหมายมากขึ้น?

  • ฉันสามารถช่วยสร้างประสบการณ์ที่ให้การต้อนรับและให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่โบสถ์มากขึ้นสำหรับทุกคนได้อย่างไร?

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

การสนทนาและงานมอบหมายกลุ่มเล็กสามารถช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การจัดกลุ่มเล็กๆ สามารถช่วยให้มีนักเรียนจำนวนมากขึ้นที่มีส่วนร่วมและสามารถจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้แบ่งปันความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน กลุ่มขนาดเล็กยังช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะด้านสังคมและการสื่อสารได้ด้วย เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีความหมายในกลุ่มขนาดเล็ก การให้ข้อมูลต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์: (1) แหล่งข้อมูล เช่น คำพูด สำเนาคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญ หรือเอกสารแจกอื่นๆ (2) คำแนะนำที่ชัดเจนและคำถามที่กระตุ้นความคิด และ (3) เวลาที่มากพอสำหรับการสนทนา

เชิญให้นักเรียนจัดกลุ่มเป็นกลุ่มเล็กๆ ( สามถึงสี่คนต่อกลุ่ม ) กับผู้ที่เลือกคำถามเดียวกัน แจกเอกสารที่ตรงกับคำถามให้แต่ละกลุ่ม (เอกสารทั้งสองชุดจะอยู่ที่ส่วนท้ายของบทเรียนนี้) เชิญชวนให้นักเรียนใช้คำถามและแหล่งข้อมูลในเอกสารแจกเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสนทนาที่มีความหมาย ขณะที่กลุ่มนักเรียนกำลังสนทนากัน ท่านอาจต้องการเดินไปรอบห้องเพื่อให้คำแนะนำและการสนับสนุนตามที่จำเป็น

หลังจากให้เวลากลุ่มต่างๆ ในการสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อของตนมากพอแล้ว ให้เชื้อเชิญนักเรียนมาแบ่งปันหลักธรรมบางประการที่ตนเรียนรู้จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานแก่ผู้คน ท่านอาจพบว่าเป็นประโยชน์หากมุ่งเน้นไปที่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเป็นเวลาสองสามนาทีแล้วจึงพูดถึงหัวข้อถัดไป

นักเรียนอาจระบุหลักธรรมทำนองนี้:

  • เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราเป็นพยานในความเต็มใจของเราต่อพระบิดาบนสวรรค์ที่จะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลาและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

  • เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกและพยายามระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา เราจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเรา

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้เราเชื้อเชิญและให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกคนมีส่วนร่วมและช่วยให้พวกเขามาหาพระองค์

ขณะระบุหลักธรรมต่างๆ ท่านอาจขอให้นักเรียนเขียนหลักธรรมเหล่านั้นบนกระดาน ท่านอาจขอให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดหรือคำถามเกี่ยวกับหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่งเหล่านี้

แสดงคำถามต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกคำถามหนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อมาไตร่ตรอง ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนบันทึกความคิดและความประทับใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียนด้วย

  • ฉันจะทำอย่างไรเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับส่วนศีลระลึก และทำให้ศีลระลึกเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายและมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น?

  • ฉันจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกได้รับการต้อนรับและรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์?

สำหรับครั้งต่อไป

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสภาพบางอย่างในโลกรอบตัวนักเรียนซึ่งอาจทำให้การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณมีความท้าทาย กระตุ้นให้นักเรียนศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนถัดไป โดยมองหาสิ่งที่ตนสามารถเรียนรู้ได้จากแบบอย่างของผู้คนในพระคัมภีร์มอรมอนที่พยายามดำเนินชีวิตโดยชอบธรรมแม้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ชั่วร้าย

พรศีลระลึก

คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู—บทที่ 17

คำแนะนำสำหรับผู้นำการสนทนา

ใช้คำแนะนำต่อไปนี้เพื่อดำเนินการสนทนากับสมาชิกในกลุ่มของท่าน กระตุ้นให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีใครรู้สึกกดดันที่จะแบ่งปันความคิดของตน

ฉันสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ศีลระลึกเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในศาสนจักรที่มีความหมายมากขึ้น?

ทบทวน 3 นีไฟ 18:6–12; 20:8–9 และคำสอนจาก เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์และเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้:

  • เราเป็นพยานสิ่งใดต่อพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก?

  • ศีลระลึกทำให้เราใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร? ชีวิตของท่านจะแตกต่างไปอย่างไรเมื่อท่านมุ่งเน้นไปที่พระเยซูคริสต์มากขึ้น และเมื่อท่านรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น?

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เบดนาร์และเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน ศีลระลึกควรส่งผลอย่างไรต่อชีวิตและอุปนิสัยของเราในแต่ละสัปดาห์? มีผู้ใดเต็มใจเป็นพยานถึงพรเหล่านี้จากประสบการณ์ของตนเองบ้าง?

  • สิ่งใดช่วยท่านได้มากที่สุดในการทำให้ศีลระลึกเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายและมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น?

พรศีลระลึก

เอกสารแจกจากครู

ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่ศาสนจักร

คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู—บทที่ 17

คำแนะนำสำหรับผู้นำการสนทนา

ใช้คำแนะนำต่อไปนี้เพื่อดำเนินการสนทนากับสมาชิกในกลุ่มของท่าน กระตุ้นให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีใครรู้สึกกดดันที่จะแบ่งปันความคิดของตน

ฉันจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ให้การต้อนรับและการมีส่วนร่วมมากขึ้นสำหรับทุกคนได้อย่างไร?

ท่านอาจต้องการเริ่มต้นการสนทนาด้วยการระบุเหตุผลทั่วไปสองสามข้อที่ทำให้ผู้คนอาจไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในวอร์ดหรือสาขาของตน ใช้เวลาทบทวน 3 นีไฟ 18:22–25 และคำกล่าวของ ซิสเตอร์แครอล เอฟ. แมคคองกีในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • คำสอนและหลักธรรมใดจากข้อเหล่านี้ที่ท่านคิดว่ามีความสำคัญที่สมาชิกศาสนจักรทุกคนพึงเข้าใจ? เพราะเหตุใด?

  • สิ่งใดมีความหมายสำหรับท่านมากที่สุดในคำกล่าวของซิสเตอร์แมคคองกี? ท่านคิดว่าการ “มอง [ผู้อื่น] ผ่านดวงตาเหมือนพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร? (Carol F. McConkie, “Lifting Others” [วีดิทัศน์], ChurchofJesusChrist.org)

  • แบบอย่างใดจากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของพระองค์ที่จะเชื้อเชิญและให้บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้ามีส่วนร่วมโดยไม่คำนึงถึงสภาวการณ์ของพวกเขา?

  • เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไรเพื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมและเป็นที่เชื้อเชิญมากขึ้นกับสมาชิกและผู้มาเยือนวอร์ดหรือสาขาของเรา? ผู้คนเคยทำอะไรที่ช่วยให้ท่านรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับและมีส่วนร่วมในศาสนจักร?

ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่ศาสนจักร

เอกสารแจกจากครู 2